อ้วนหรือไม่อ้วน ดูจากอะไร?
เดิมเราคิดว่าคนน้ำหนักมากแปลว่าอ้วน ต่อมาเราก็ทราบว่าดูแต่ตัวเลขน้ำหนักอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูดัชนีมวลกาย หรือที่เรียกว่า Body Mass Index (BMI) ที่คำนวณจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรสองครั้ง โดยมีเกณฑ์ที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ค่า BMI ปกติจะอยู่ในช่วง 18.5 ถึง 22.9 และหากคำนวณได้ค่า BMI ตั้งแต่ 23.0 ถึง 24.9 เราก็จะบอกว่ามากกว่าปกติเล็กน้อย และเมื่อมีค่า BMI ตั้งแต่ 25.0 ขึ้นไปก็จะเรียกว่าอ้วน ส่วนใครที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 30.0 ก็จะจัดอยู่ในกลุ่มอ้วนมาก แต่ค่าดัชนีมวลกายก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการประเมินสุขภาพเท่านั้น ไม่สามารถระบุความเสี่ยงสุขภาพได้ เนื่องจากบางคนนั้นอาจมีค่าดัชนีมวลกายสูง แต่ไม่ใช่คนที่เป็นโรคอ้วน หรือบางคนผอมมีค่าดัชนีมวลกายต่ำแต่ไขมันสูงก็เป็นไปได้ จึงต้องดูปัจจัยอื่นเสริมด้วย
จากงานวิจัยที่ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพได้ทำการศึกษาเรื่อง กิจกรรมทางกาย (Physical activity) ของพนักงานโรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่จำนวน 301 ท่านและทำการวัดค่าสัดส่วนไขมันในร่างกาย ด้วยเครื่อง Inbody รุ่น R20 ซึ่งสามารถประเมินร้อยละของไขมัน กล้ามเนื้อ โดยบันทึกข้อมูลได้ 300 ท่าน
พบว่ากลุ่มพนักงานที่มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์ไม่อ้วน 156 ท่าน มี 53 ท่าน หรือ 34% ที่มีสัดส่วนไขมันในร่างกายเกินเกณฑ์
เราเรียกผู้ที่มีค่า BMI หรือ น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีสัดส่วนไขมันเกินนี้ว่าเป็นกลุ่ม Normal “BMI Obesity” หรือ “ Normal Weight Obesity” หรือ “คนน้ำหนักปกติที่อ้วน” แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร ผลการศึกษาวิจัยนี้ ทำให้เราเห็นความจริงข้อหนึ่งว่า คนที่มีค่าน้ำหนักหรือ BMI อยู่ในเกณฑ์ปกติก็เป็นคนอ้วนได้
ในทางกลับกัน กลุ่มผู้ทีมีค่า BMI เกินเกณฑ์ 123 ท่าน พบผู้ที่มีสัดส่วนไขมันไม่เกินเกณฑ์จำนวน 20 ท่าน (16%) กลุ่มนี้อาจน้ำหนักตัวสูงจากการออกกำลังกาย จึงมีมวลกล้ามเนื้อมากแต่ใช่คนอ้วน
อย่าเผลอมองแต่ตัวเลขน้ำหนักตัว จนลืมดูปัจจัยอื่นด้วย นอกจากประเมินรูปร่างและสุขภาพของตัวเองเบื้องต้น
แนะนำให้การออกกำลังกาย และเพิ่มกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
Authors : วรุฒ ชัยวงษ์ ชัยยศ คุณานุสนธิ์