JET LAG (เจ็ทแล็ก)

ในปัจจุบันทุกคนมีการเดินทางด้วยเครื่องบินไปยังประเทศต่างๆมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว การไปทำธุรกิจหรือการไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งรวมทั้งนักกีฬาก็เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่มีการแข่งขันในต่างประเทศสิ่งหนึ่งที่ทางผู้จัดการทีม โค้ชและแพทย์ประจำทีมจะต้องคิดถึงก็คือเรื่อง Jet Lag ซึ่งผมไม่ทราบว่าในภาษาไทยมีคำบัญญัติไว้ว่าอย่างไร แต่หากเขียนตามคำอ่านออกเสียง ดูจะไม่ค่อยเพราะหูเท่าใด (เจ็ทแหล็ก หรือ เจ็ทแหลก) แต่อย่างไรก็ตามขอให้เข้าใจความหมายและเข้าใจวิธีปฏิบัติตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งบุคคลทั่วไปที่ต้องเดินทางและนักกีฬาตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องเดินทางไปประเทศอื่นๆ

ความหมายของ Jet Lag

Jet Lag เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่เดินทางไปยังประเทศต่างๆที่ต้องใช้เวลานานๆหลายชั่วโมงบนเครื่องบิน บินข้ามทวีปเปลี่ยนเวลาตรงข้ามกับที่เคยอยู่ประจำ เช่น กลางวันเป็นกลางคืน ต้องบินผ่าน Time Zones (โซนเวลา) มากน้อยแตกต่างกัน ผู้ที่มีอาการ Jet Lag มักเกิดจากการบินผ่านโซนเวลามากกว่า 3 โซนขึ้นไป นอกจากนี้ทิศทางของการเดินทางก็มีส่วนสำคัญ (บางท่านบินจากตะวันออกไปตะวันตก หรือตะวันตกไปตะวันออก บางท่านบินจากเหนือลงใต้หรือจากใต้ขึ้นเหนือ) ที่ทำให้เกิดอาการ Jet Lag มากน้อยแตกต่างกัน

กลุ่มอาการ Jet Lag ประกอบไปด้วย อาการต่างๆ ดังนี้ คลื่นเหียน วิงเวียน ปวดศรีษะ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง นอนไม่หลับ ง่วง เซื่องซึม สลบไสล หน้ามืด ตาลาย ท้องอืดแน่น เบื่ออาหาร จิตใจไม่แจ่มใส ความสามารถในการทำงานลดลง ซึ่งบางท่านอาจมีไม่ครบทุกอาการ หรืออาการมากน้อยแตกต่างกันออกไป

โซนเวลา (Time Zones) โดยปกติโลกใบนี้ของเรามีการแบ่งโซนเวลาออกเป็น 24 โซนเวลา ซึ่งเท่ากับ 24 ชั่วโมง เวลาของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป มีการเปรียบเทียบกันโดยมีเส้นสมมุติ ที่ลากจากขั้วโลกเหนือไปยังขั้วโลกใต้และผ่านหอดูดาวของเมืองกรีนิช(Greenwich) ประเทศอังกฤษ เรียกว่าเส้น GMT หรือ Greenwich Mean Time ประเทศที่อยู่ด้านตะวันออกของเส้นนี้จะอยู่ในโซนเวลาต่างๆกันไปจากโซนเวลา +1 จนถึงโซนเวลา +12 เช่นประเทศไทยอยู่ในโซนเวลา หรือ Time Zone +7 หมายความว่าถ้าหากประเทศเยอรมันอยู่ในโซนเวลา + 1 และมีเวลา 13.00 น.ประเทศไทยอยู่ในโซนเวลา +7 (ต่างจากประเทศเยอรมัน 6 โซนเวลา) จะมีเวลาเท่ากับ 19.00 น. ในทางตรงข้าม ประเทศที่อยู่ด้านตะวันตกของเส้นนี้ จะอยู่ในโซนเวลาที่เป็นลบ (-) จากโซนเวลา -1 จนถึงโซนเวลา -12 ตัวอย่างเช่นประเทศไทยอยู่ในโซนเวลา +7 และเมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา อยู่ในโซนเวลา -5 ดังนั้นเวลาจึงแตกต่างกันถึง 12 ชั่วโมง เช่นเมืองนิวยอร์คเวลา 13.00 น. ประเทศไทยก็จะเป็นเวลา 01.00 น. และเป็นคนละวันกันด้วย International Date Line (เส้นแบ่งวัน) จากที่กล่าวไว้แล้วว่าโซนเวลาทางด้านตะวันออกของเส้น GMT จะมีจาก +1 จนถึง +12 ในทางตรงกันข้าม โซนเวลาทางด้านตะวันตกของเส้น GMT จะมีจาก -1 จนถึง -12 หากท่านผู้อ่านลองนึกถึงโลกของเราเป็นลูกโลกกลม โซนเวลา +12 และ -12 ก็จะไปอยู่คร่อมกัน เส้นรอยต่อนี้เองที่เราถือกันว่าเป็นเส้นแบ่งวัน หรือ International Date Line

สาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการเจ็ทแล็ก

โดยปกติคนเรามีชีวิตอยู่ที่ใดนานๆร่างกายจะมีการทำงานที่คุ้นเคยกับเวลาของประเทศนั้นๆ เช่น ตื่น 6 โมงเช้า มีกิจกรรมตั้งแต่เช้าจรดเย็นและเข้านอนตอน 23.00 น. การทำงานของอวัยวะต่างๆเป็นไปตามจังหวะเวลา ณ ประเทศที่ตนเองอยู่จนเป็นความเคยชินหรือบางทีเรียกว่า Biological Rhythms บางคนเรียกว่า นาฬิกาชีวิต Biological Clock (Circadian Rhythm) เมื่อมีการเดินทางข้ามโซนเวลามากกว่า 3 โซนขึ้นไปและหากมีการข้ามโซนเวลามากๆก็จะมีเวลาเปลี่ยนแปลงไปมาก กลางวันเป็นกลางคืน มีสิ่งกระตุ้นที่เป็นแสงสว่างแตกต่างกัน Biological Rhythms ในร่างกายของผู้ที่เดินทางปรับตามไม่ทันกับการที่ร่างกายของคนคนนั้นไปอยู่ในโซนเวลาใหม่ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมต่างกันออกไป จนทำให้เกิดกลุ่มอาการดังที่กล่าวข้างต้น

ทิศทางของการเดินทางมีผลอย่างไร

ผู้ที่เดินทางจากเหนือลงใต้หรือใต้ขึ้นเหนือและอยู่ในโซนเวลาเดียวกันจะไม่ค่อยมีผลต่อร่างกาย ส่วนผู้ที่เดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกพบว่าจะมีอาการเจ็ทแล็กมากกว่าเดินทางไปทางทิศตะวันตก โดยพบว่าผู้ที่เดินทางไปทางทิศตะวันตกจะใช้เวลาในการปรับตัวน้อยกว่าถึง 30-50%

ร่างกายใช้เวลานานเท่าใดในการปรับตัว

มีผู้ที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้ได้ให้วิธีคำนวณคร่าวๆว่า หากท่านเดินทางข้ามโซนเวลาเท่าใด ท่านก็จะใช้เวลา (เป็นจำนวนวัน) เท่านั้นในการปรับตัว เช่นจากประเทศเยอรมันมาประเทศไทย อาจใช้เวลาคร่าวๆประมาณ 5-6 วัน ในการปรับร่างกายให้เข้าสู่สภาพปกตินอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นๆที่ทำให้การปรับตัวใช้เวลามากน้อยต่างกัน เช่น วัยและการตอบสนองของแต่ละคน เวลาที่ไปถึงจุดหมายปลายทาง หากเป็นเวลากลางคืนจะปรับตัวได้ง่ายกว่าไปถึงเวลากลางวันที่มีแสงสว่างค่อนข้างมาก

ข้อแนะนำเพื่อช่วยให้เกิดอาการน้อยลง

– ปรับเวลาการเข้านอน-ตื่นนอน ให้ใกล้เคียงกับเวลาในประเทศที่เราจะไป อย่างน้อย 2-3 วัน หากสามารถกระทำได้
– เลือกการเดินทางที่จะไปถึงจุดหมายในเวลากลางคืน
– บางคนแนะนำให้ท่านออกกำลังกายให้มากขึ้น 1 วันก่อนเดินทาง เพื่อที่จะให้ท่านอ่อนเพลียและหลับได้มากบนเครื่องบิน
– ระหว่างที่อยู่บนเครื่องบิน รับประทานอาหารไม่มากเกินไปและที่ย่อยง่าย ไม่ควรดื่ม แอลกอฮอล์ เพราะจะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะทำให้ร่างกายมีน้ำน้อยกว่าปกติ ทางที่ดีควรดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำผลไม้ให้ร่างกายมีน้ำให้เพียงพอโดยดูจากสีของปัสสาวะที่ค่อนข้างใส
– เมื่อไปถึงประเทศเป้าหมายพยายามที่จะเข้านอนตามเวลาที่ควรจะเป็นของประเทศนั้นๆสำหรับนักกีฬาที่จะไปแข่งขัน อาจต้องพิจารณาเดินทางล่วงหน้าให้มากพอสำหรับการปรับตัว หรือบางทีอาจจะไปฝึกซ้อมในประเทศที่อยู่ใกล้ๆ กับประเทศที่เราจะไปแข่งขัน เพื่อให้ร่างกายค่อยๆปรับตัวทีละน้อยไปด้วย ตัวอย่างเช่น ทีมฟุตซอลของไทยที่จะไปแข่งขันชิงแชมป์โลกที่ประเทศบราซิล ก็มีโปรแกรมเดินทางไปฝึกซ้อมที่ประเทศสเปนก่อน 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะเดินทางเข้าบราซิล ก็จะทำให้ร่างกายได้มีโอกาสค่อยๆ ปรับตัว
– การใช้ยาบางตัวเพื่อให้เกิดอาการน้อยลง ผมขอไม่กล่าวถึงชื่อยาไว้ในบทความนี้เพราะคิดว่าหากต้องการทราบหรือต้องการใช้ ผมแนะนำว่าควรไปปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด เพราะมีทั้งคนที่เชื่อว่าได้ผลดี หรือบางคนเชื่อว่าอาจจะไม่ได้ผลมากดังที่มีรายงานเอาไว้

นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (กระดูกและข้อ)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top