เชื้อไวรัสเอชไอวีที่ระบาดในไทยที่ผ่านมามีเพียง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เอ-อี (A/E) และสายพันธุ์บี (B) โดยสายพันธุ์เอ-อีจะพบสูงถึงร้อยละ 90 ขึ้นไป ทุกปีจะมีโครงการวิจัยเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์เอชไอวี โดยนำเลือดของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นคนไทยมาถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อตรวจหาสายพันธุ์ของไวรัส จากการเปิดเผยของ ศ.ดร.พญ.รวงผึ้ง สุทเธนทร์ หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปรากฏว่าในปีนี้พบความผิดปกติจากตัวอย่างเลือด 2 ราย จากกลุ่มตัวอย่างที่ส่งมาทั้งหมด 44 ราย เนื่องจากถอดรหัสออกมาแล้วพบว่าเป็นสายพันธุ์ไวรัสเอชไอวีที่ต่างออกไปจากเดิม โดยรายแรกเป็นเชื้อเอชไอวีที่ผสมระหว่าง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เอ จี และดี เรียกว่า เอจี-ดี (AG/D) กับรายที่สองเป็นเชื้อเอชไอวีผสม 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เอ อี และจี เรียกว่า เออี-จี (AE/G)
ตัวอย่างทั้งสองรายมาจากหญิงฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล เชื้อเอชไอวีลูกผสม 3 สายพันธุ์ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบมาก่อน สายพันธุ์จีกับดีส่วนใหญ่จะพบในทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะไนจีเรีย ส่วนของไทยจะเป็นเออี ตอนนี้สแกนยีนออกมาแล้ว 500 เบส จากทั้งหมด 1,700 เบส เมื่อศึกษาระดับโมเลกุลครบทั้งหมดแล้ว จึงจะทราบรายละเอียดว่าเป็นเชื้อที่แพร่มาจากพื้นที่ใดของโลก ในเบื้องต้นตั้งสมมติฐานว่าหญิงทั้งสองคนได้รับเชื้อมาจากชาวแอฟริกัน ไม่มีใครรู้เลยว่าสายพันธุ์จีกับดีเข้าไทยตั้งแต่เมื่อใด และที่น่าเป็นห่วงคือ สายพันธุ์เอชไอวีจากแอฟริกาจะมีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสเอดส์ในสารคัดหลั่งมากกว่า ทำให้ผู้สัมผัสติดเชื้อได้ง่ายและแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์จากทวีปอื่น
การพบเชื้อเอดส์พันธุ์ใหม่ 2 ชนิดจากตัวอย่าง 44 ชนิด คิดเป็นร้อยละที่สูงมาก กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ติดเอดส์มาวิเคราะห์ระดับโมเลกุล เพื่อสืบหาสายพันธุ์ลูกผสมว่า มีการแพร่ระบาดมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เสพยาเสพติด และหญิงบริการ เพราะถ้าใครมีเชื้อเอดส์ลูกผสม 3 สายพันธุ์ เมื่อแพร่เชื้อออกไป ผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็จะได้รับเชื้อตัวนี้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นหากผู้ใดมีเชื้อเอดส์เอ-อี หรือบีอยู่ในตัว แล้วได้รับเชื้อเอดส์ลูกผสม 3 สายพันธุ์เข้าไปก็อาจจะกลายเป็นเชื้อผสม 4-5 สายพันธุ์ได้ เพราะเคยมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาแล้วที่แอฟริกา โดยพบผู้ติดเชื้อเอดส์ 5 สายพันธุ์ผสมกัน หรือที่เรียกว่า ซีพีเอกซ์ (CPX)
ยาต้านไวรัสเอดส์
ยาต้านไวรัสที่ผู้ป่วยเอดส์ใช้รักษาในปัจจุบัน สามารถใช้ได้ผลกับเชื้อเอดส์ลูกผสม แต่อาจมีความเสี่ยงจากภาวะดื้อยาได้ง่าย รวมถึงความเจ็บป่วยจากโรคฉวยโอกาสอาจรุนแรงขึ้น นอกจากนี้เชื้อเอดส์ลูกผสม 3 สายพันธุ์มีความเข้มข้นในน้ำเมือก หรือสารคัดหลั่งมาก อาจนำไปในสู่การระบาดของเชื้อเอดส์ระลอกใหม่ได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งศึกษาความเป็นมา และผลกระทบของเชื้อเอดส์ลูกผสมทั้ง 2 สายพันธุ์ใหม่ที่พบในไทย โดยเฉพาะเร่งทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมางบประมาณป้องกันเอดส์จะเน้นไปที่ยาต้านไวรัสและการเผยแพร่ข้อมูลมากกว่าเน้นการวิจัยด้านสายพันธุ์ ทำให้องค์ความรู้ด้านยาสายพันธุ์เอดส์ในไทยมีน้อย นอกจากนี้ ยังต้องควบคุมการแพร่เชื้อเอดส์สายพันธุ์ต่างถิ่น โดยเฉพาะแอฟริกาไม่ให้เข้ามาระบาดในไทยด้วย
เชื้อไวรัสเอชไอวี
1.เชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นเชื้อที่กลายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก เกิดมิวเตชันแทบตลอดเวลา ในร่างกายของผู้ติดเชื้อจะพบเชื้อไวรัสเอชไอวีสายพันธุ์ต่างๆ ในตัวคนเดียวกัน การจัดจำแนกชนิดของเชื้อไวรัสเอชไอวีใช้ข้อมูลรหัสพันธุกรรมที่มีความคล้ายคลึงกัน สามารถแบ่งออกเป็น types, groups และsubtypes
2.เชื้อไวรัสเอชไอวีตรวจพบครั้งแรกในเลือดของผู้ป่วยชาวคองโกในปี 1959 ปัจจุบันพบว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีมี 2 ชนิด คือ HIV type 1 (HIV-1) และ HIV type 2 (HIV-2) จากการศึกษาจีโนมของไวรัสเอชไอวีทั้งสองชนิด ย้อนหลังไปหลายสิบปี พบว่าเชื้อไวรัสเอชไอวี HIV-1 เริ่มติดต่อสู่คนครั้งแรกเมื่อประมาณปี 1930 ส่วนเชื้อไวรัสเอชไอวี HIV-2 เริ่มติดต่อสู่คนครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1940-1950 เชื้อไวรัสเอชไอวีทั้งสองชนิดมีลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับไวรัสก่อโรคในลิงที่มีชื่อเรียกว่าไวรัสเอสไอวี (SIV) ย่อมาจาก simian immunodeficiency virus ทั้งนี้คำว่า simian หมายถึงสัตว์จำพวกลิง
3.ความแตกต่างระหว่าง HIV-1 และ HIV-2 เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-2 ติดต่อได้ยากกว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-1 ระยะเวลาระหว่างการติดเชื้อครั้งแรกกับเมื่อปรากฏอาการของโรคของเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-2 นานกว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-1 เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-1 เป็นสาเหตุสำคัญของโรคเอดส์ทั่วโลก โดยทั่วไปหากไม่ได้ระบุว่าเป็นเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-2 มักจะหมายถึงเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-1 โดยปริยาย เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-2 พบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นรายงานจาก West Africa เชื้อไวรัสเอชไอวีทั้งสองชนิดติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ เลือดและผลิตภัณฑ์จากเลือด และติดต่อจากมารดาสู่ทารก เมื่อเกิดเป็นโรคเอดส์ขึ้นแล้ว ลักษณะอาการของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวีทั้งชนิด HIV-1และ HIV-2 ไม่แตกต่างกัน
4.ที่มาของเชื้อไวรัสเอชไอวี เชื้อไวรัสเอชไอวีทั้งสองชนิด มีที่มาแตกต่างกัน โดยเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-1 มาจากลิง chimpanzee ที่อาศัยอยู่ในแถบแอฟริกากลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pan troglodytes ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-1 กลายพันธุ์มาจากเชื้อไวรัสเอสไอวีในลิง ที่เรียกว่า SIVcpz เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-2 มาจากลิงคนละชนิดกัน โดยเป็นลิงท้องถิ่นที่เรียกว่า sooty mangabey ซึ่งอาศัยอยู่ตามชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกจาก Senegal ถึง Ivory Coast ต่อมาพบว่าเชื้อ HIV-2 กลายพันธุ์มาจากเชื้อไวรัส SIVsm สำหรับลิง sooty mangabey มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cercocebus atys ทั้งนี้และทั้งนั้นพบว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-1 และ HIV-2 มีชิ้นส่วนดีเอ็นเอเหมือนกันร้อยละ 40-60
5.ประวัติการค้นพบเชื้อไวรัสเอชไอวี ในระยะแรกๆ พบว่า มีปัญหาในการตรวจแยกเชื้อไวรัสเอชไอวี เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อจะตายทุกวัน จนกระทั่งในปี 1984 Montagnier และGallo สามารถแยกเชื้อไวรัสเอชไอวีได้เป็นครั้งแรก อีกสองปีต่อมา ในปี 1986 พบว่า เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-2 สามารถตรวจพบได้เลือดของผู้ป่วยที่มาจากชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก
จีโนมของเชื้อไวรัสเอชไอวี
เชื้อ HIV-1 เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส จีโนมมีความยาว 9 กิโลเบส ประกอบไปด้วยยีน 9 ชนิดควบคุมการสร้างโปรตีน โปรตีนของเชื้อไวรัสเอชไอวี ได้แก่ โปรตีนโครงสร้าง หรือที่เรียกว่า structural proteins ได้แก่ Gag, Pol, และ Env โปรตีนควบคุมการทำงานของไวรัส เรียกว่า regulatory proteins ได้แก่ Tat, Rev โปรตีนที่ทำหน้าที่เสริม หรือ accessory proteins ได้แก่ Vpu, Vpr, Vif, และ Nef
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-1
ชนิดหลักๆ ของเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-1 ได้แก่ M (main), N (new), และ O (outlier)
M group
1.ในกลุ่ม M group ซึ่งพบได้มากถึงกว่าร้อยละ 90 ทั่วโลก แบ่งเป็น 9 ชนิดย่อย เรียกว่า clades กำหนดให้เรียกเป็นลำดับตัวอักษร A-D, F-H, J, และ K
2.ในสหรัฐอเมริกาและทางยุโรปตะวันตก พบเชื้อไวรัสเอชไอวี Clade B มากที่สุด แตกต่างจากเชื้อไวรัสเอชไอวีที่พบในเอเชียและแอฟริกา
3.ความหนาแน่นของเชื้อไวรัสเอชไอวีพบมากที่สุดในทวีปแอฟริกา บริเวณส่วนที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา
4.ยาต้านไวรัสที่ผลิตในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้ผลดีในการทำลายเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด clade B เมื่อนำยาต้านไวรัสไปใช้ในบริเวณอื่นๆ การตอบสนองต่อการรักษาอาจแตกต่างไปได้บ้าง รวมทั้งกลไกการดื้อยาที่เกิดจากมิวเตชั่น
5.ความแตกต่างและความหลากหลายของสายพันธุ์เชื้อไวรัสเอชไอวี มีความสำคัญในการพัฒนาวัคซีนเป็นอย่างมาก
สายพันธุ์ของ HIV-1 ทั่วโลก
1.เชื้อไวรัสเอชไอวีแต่ละชนิดแบ่งออกได้เป็น groups โดยแต่ละ group ยังแบ่งย่อยลงไปเป็น subtypes และ CRFs (Circulating Recombinant Forms)
2.เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด HIV-1 แบ่งเป็น 3 groups ได้แก่ “major” group M, outlier” group O และ “new” group N เชื้อไวรัสเอชไอวีแต่ละกรุ๊ปมีที่มาจากเชื้อในลิง simian immunodeficiency virus ที่แตกต่างกัน และติดต่อมายังมนุษย์ในเวลาต่างๆกัน
3.เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด Group O พบน้อยมาก เฉพาะในแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกาใต้บางแห่งเท่านั้น ส่วนเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด group N ซึ่งถูกค้นพบในปี 1998 ที่ประเทศคาเมรูน ถือว่าเป็นเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดที่พบน้อยมาก มากกว่าร้อยละ 90 ของเชื้อไวรัสเอชไอวีที่พบในปัจจุบันเป็นเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด group M
4.เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด group M แบ่งเป็น 9 subtypes (or clades) of ได้แก่ A, B, C, D, F, G, H, J และ K
5.บางครั้งเชื้อไวรัสเอชไอวีสองชนิดในคนเดียวกัน อาจก่อให้เกิดสายพันธุ์ผสมชนิดใหม่ เรียกว่า hybrid virus ส่วนใหญ่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในนาน แต่ก็มีชนิดที่สามารถติดเชื้อไปยังคนอื่นๆได้ เรียกว่า “circulating recombinant forms” หรือ CRFs ยกตัวอย่างเช่น CRF A/B เป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด subtype A และเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด subtype B
6.ระบบการจำแนกชนิดและสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเอชไอวีมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลวิชาการที่เกิดขึ้นใหม่ๆ บางครั้งมีการกล่าวถึงสายพันธุ์ย่อย A1, A2, A3, F1 และ F2 แทนที่จะเรียกว่า A และ F
7.การกระจายของ HIV-1 subtypes และ CRFs เกิดขึ้นทั่วโลก แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน คือ เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด subtype A และเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด subtype C
subtypes E
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด CRFs A/E เกิดจากสายพันธุ์ผสมระหว่างเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด subtype A และเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด subtype E แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตรวจพบ pure form ของเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด subtype E ได้เลย ดังนั้นการเรียกเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดsubtype E จึงไม่ถูกต้อง ที่ถูกควรเรียกว่า CRF01_AE
subtypes I
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดหนึ่ง ตรวจพบที่ Cyprus ถูกเรียกว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด subtype I ต่อมาพบว่าเป็นเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิด recombinant form A/G/I ปัจจุบันจึงไม่เรียกว่าเชื้อไวรัสเอชไอวชนิด subtype I อีกต่อไป
Subtype A and CRF A/G
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย A และเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย CRF A/G พบมากที่แอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย A ยังพบระบาดในรัสเซียอีกด้วย
Subtype B
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย B เป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย พบมานานกว่าสายพันธ์อื่นๆ ปัจจุบันพบเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย B ประมาณร้อยละของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในยุโรป
Subtype C
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย C พบมากที่แถบแอฟริกาใต้ แอฟริกาตะวันออก อินเดีย และเนปาล เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย C เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นการระบาดที่รุนแรง ตรวจพบเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย C ในผู้ติดเชื้อครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
Subtype D
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย D พบประปรายแถบแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันออก
CRF A/E
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย A/E พบมากในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นกำเนิดมาจากแอฟริกากลาง
Subtype F
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย F พบได้ที่แอฟริกากลาง อเมริกาใต้ และยุโรปตะวันออก
Subtype G and CRF A/G
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย G และCRF A/G พบที่แอฟริกาตะวันตก แอฟริกาตะวันออก และยุโรปตอนกลาง
Subtype H
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย H พบเฉพาะแอฟริกากลางเท่านั้น
Subtype J
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย J พบประปรายแถบอเมริกากลาง
Subtype K
เชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดย่อย K พบเฉพาะที่ประเทศคองโก และคาเมรูน เท่านั้น
นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ปรับปรุง