ไฝ

ไฝ (nevi)ที่พบเห็นโดยทั่วไปอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือมาเป็นภายหลังก็ได้ ในบางรายอาจพบเห็นไฝตั้งแต่วัยเด็กก็เป็นได้ ไฝเกิดจากการรวมกลุ่มของเซลล์สร้างสี ที่เรียกว่า เมลาโนซัยต์ ซึ่งมีหน้าที่สร้างเม็ดสี เรียกว่า เมลานิน (melanin) ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดสีผิว ไฝเป็นตุ่มเนื้อที่มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันได้หลายแบบ ปกติมีสีออกน้ำตาลไปจนถึงน้ำตาลดำ สีที่เห็นนั้นเกิดจากสีเมลานิน ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้ผิวหนังของเรามีสีนั่นเอง โดยทั่วไปแล้วไม่ค่อยพบไฝตั้งแต่แรกเกิด มักค่อยๆ ปรากฏให้เห็นในช่วงอายุ 20 ปีแรก ในบางคนไฝบางเม็ดอาจเริ่มโผล่มาให้เห็นเมื่ออายุ 40 ปี หรือมากกว่านั้นก็ได้ ไฝเกิดได้ทุกตำแหน่งบนผิวหนัง อาจเกิดเป็นตุ่มเดี่ยวๆ หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

          แรกเริ่มแล้วไฝจะเป็นจุดดำหรือน้ำตาล ราบแลดูคล้ายกระ เมื่อเวลาผ่านไป ไฝจะค่อยๆโตและนูนขึ้น บางครั้งมีเส้นขนงอกออกมา ไฝบางเม็ดเมื่อทิ้งไว้นานๆ อาจค่อยๆ หดหายไปได้เอง บางเม็ดก็ไม่หาย บางเม็ดเป็นตุ่มนูนมีก็านขนาดเล็กยึดติดกับผิวหนัง ไฝอาจมีสีดำคล้ำขึ้นเมื่อถูกแสงแดด หรือระหว่างการได้รับยากินบางตัว ไฝอาจมีสีเข้มและโตขึ้นในช่วงวัยรุ่นและในระหว่างตั้งครรภ์ สำหรับไฝแบบใดที่อาจเป็นอันตรายหรือควรไปพบแพทย์นั้น ก็คือ ถ้าไฝมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขนาด รูปร่าง และสี หรือมีเลือดออกจากไฝ คัน และเจ็บปวด ควรไปพบแพทย์ผิวหนังทันที เพราะไฝนั้นอาจเป็นมะเร็งของผิวหนัง เรียกว่า “มะเร็งไฝดำ” (malignant melanoma)

ไฝเป็นเนื้องอกที่พบบ่อยที่สุดของมนุษย์

ไฝมีหลายชนิด ชนิดที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ Nevocellular nevus หรือที่เรียกว่า Pigmented Nevus ซึ่งมีหลายลักษณะด้วยกัน คือ อาจจะเป็นจุดเรียบ ๆ สีน้ำตาล หรือ เกือบดำโดยมากมีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร ถึง 1 เซนติเมตร รูปร่างกลมหรือรี หรือเป็นตุ่มนูนสีน้ำตาลหรือดำ ผิวเรียบหรือขรุขระ หรืออาจจะเป็นชนิดไม่มีสีเลยก็ได้ บางครั้งอาจขนงอกอยู่บนไฝด้วย ไฝประเภทต่างๆ ส่วนมากไม่มีอันตราย แต่ส่วนใหญ่คนมักจะนิยมเอาออกเนื่องจากเหตุผลทางด้านความสวย หรือความเชื่อทางด้านโหราศาสตร์

ในส่วนของแพทย์เองแนะนำให้เอา ไฝ ออกเฉพาะเมื่อมีลักษณะที่บ่งชี้ว่า ไฝ อาจจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ โดยสังเกตจากการเปลี่ยนแปลง เช่น ไฝโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ลักษณะสีเปลี่ยนแปลงไป สีไม่สม่ำเสมอ มีเลือดออก มีการอักเสบ เจ็บปวด หรือขอบเขตของ ไฝ ไม่เรียบ

เซลล์ไฝ

          ไฝมีหลายชนิด หลายสี สีดำพบบ่อยที่สุด มักพบเห็นไฝเป็นตุ่มนูนเดี่ยวๆ ขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว ประกอบด้วยเซลล์ไฝ ส่วนใหญ่มักพบบริเวณใบหน้า และคอ บางครั้งเซลล์ไฝมารวมกันเกิดปื้นนูนคล้ายปาน บางรายใหญ่ขนาดครึ่งลำตัวมีขนขึ้นยาวด้วย เรียกว่า ไฝยักษ์ ไฝชนิดนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กลายเป็นมะเร็งได้ จึงควรตัดไฝใหญ่ๆ ออก โดยวิธีการผ่าตัด และต้องเอาผิวหนังจากที่อื่นมาปิดทดแทน แต่ถ้าเป็นไฝเม็ดเล็กๆ รักษาโดยการผ่าตัดออกด้วยวิธีผ่าตัดธรรมดา หรืออาจเอาออกโดยใช้แสงเลเซอร์ก็ได้

          ไฝส่วนใหญ่ที่แพทย์ตัดออกให้มักเป็นในแง่ความสวยงามเท่านั้น บางคนมาตัดไฝเพื่อให้โหงวเฮ้งดีขึ้น โดยมากใช้วิธีตัดออกแล้วเย็บผิวหนังบริเวณนั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและไม่สิ้นเปลืองนัก หากแพทย์ไม่แน่ใจว่าไฝนั้นเป็นมะเร็งของผิวหนังหรือไม่ ก็จำเป็นต้องส่งชิ้นเนื้อที่ตัดออกมาไปให้พยาธิแพทย์ส่องกล้องตรวจดูว่า มีเซลล์มะเร็งปนอยู่หรือไม่ ไฝบางอย่างมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมะเร็งมากกว่าไฝทั่วๆไป เช่น ไฝที่เป็นตั้งแต่กำเนิด โดยเฉพาะไฝที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “congenital pigmented nevi” ไฝชนิดหนึ่งที่มีสีไม่สม่ำเสมอ ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า “dys-plastic nevi” มีโอกาสเป็นมะเร็งของผิวหนังได้มากกว่าปกติ ไฝพวกนี้มักมีขนาดใหญ่กว่าไฝปกติ ซึ่งมักมีขนาดเล็กกว่ายางลบที่ติดดินสอ และมีลักษณะไม่สม่ำเสมอ

ไฝชนิด dys-plastic

          เชื่อกันว่าไฝที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 0.6 เซนติเมตร มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้สูงกว่าไฝที่มีขนาดเล็กกว่านั้น ไฝชนิด dys-plastic นี้มักมีสีไม่สม่ำเสมอ มีตรงกลางค่อนข้างสีดำน้ำตาลและมีขอบสีจางกว่า ไฝชนิดนี้มักมีประวัติครอบครัวร่วมด้วย มีการประมาณว่าคนอเมริกันหนึ่งคนในทุกๆ 25 คนมีไฝชนิดนี้ ผู้ที่มีไฝชนิดนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งของผิวหนังที่เกิดจากไฝมากกว่า 10 เท่า ของผู้ที่เป็นไฝทั่วไป หากมีข้อสงสัยว่าเป็นไฝแบบไหน และจะมีอันตรายหรือไม่ ก็ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง

การรักษา

  • การรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ แพทย์จะทายาชาไว้ประมาณ 45 นาที แล้วจึงใช้แสงเลเซอร์ในการรักษา โดยใช้เวลาประมาณ 10–15 นาที
  • การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีด แล้วจึงทำการผ่าตัดโดยใช้เวลาประมาณ 30–45 นาที ในการผ่าตัดไฝออก ปัจจุบันพบว่าโดยทั่วไปมีการรักษากันเอง โดยใช้น้ำปูนผสมสบู่ทาบ้าง ใช้กรดกัดบ้าง ซึ่งมีน้อยรายนักที่โชคดี ไฝ หลุดไปโดยไม่มีแผลเป็น แต่ส่วนใหญ่กรดมักจะทำลายกัดผิวหนังลึกเกินไป จนเกิดเป็นรอยบุ๋มหรือแผลเป็นนูนขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขได้ยาก อาจจะดีขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือแก้ไขไม่ได้เลย

          หากมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของไฝ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความสวยความงาม หรือในแง่ว่าไฝจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อการรักษาและรับคำแนะนำที่ถูกต้อง ไฝที่มีสีแปลกๆหลายๆสี เช่น สีแดง ขาว น้ำเงิน หรือดำอยู่ในเม็ดเดียวกัน มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งของผิวหนังได้สูงกว่าปกติ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top