ไปต่างประเทศช่วงโควิด เตรียมอะไรบ้าง ? มีอะไรที่ควรรู้ ?

  • แต่ละประเทศเรียกใช้เอกสารในการเข้าประเทศแตกต่างกันออกไป ควรติดต่อสถานทูตประเทศปลายทางที่ประจำในไทยก่อนเสมอ
  • เอกสารหลักๆ ที่ควรเตรียมนอกจากในภาวะปกติ ได้แก่ ใบรับรองแพทย์ (Fit to Fly Health Certificate) ที่ยืนยันว่าสุขภาพร่างกายพร้อม กับใบตรวจผลโควิดแบบ RT-PCR
  • ใบรับรองผลการตรวจทั้ง 2 ชนิด มักต้องใช้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังผลออก ดังนั้นจึงควรวางแผนขึ้นเครื่องให้ดีก่อน
  • นอกจากนี้สิ่งที่ควรระวังคืออายุของหนังสือเดินทาง (Passport) ควรเหลือมากกว่า 6 เดือน รวมถึงการขอวีซ่าในประเทศต่างๆ ที่มีมากขึ้นด้วย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากประเทศปลายทางมีข้อกำหนดต่างๆ มากมายเพื่อป้องกันโรค

สิ่งสำคัญของการเดินทางช่วงนี้คือความยืดหยุ่นของผู้เดินทาง เพื่อปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ในบทความนี้ จะสรุปข้อมูลที่ควรทราบก่อนเดินทางไปต่างประเทศในช่วงโควิด

ไปต่างประเทศช่วงโควิด ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

การเดินทางไปต่างประเทศช่วงโควิด มีการเตรียมตัวหลักๆ 6 ข้อใหญ่ ดังนี้

1. ตรวจสอบข้อจำกัดของประเทศปลายทาง

สถานการณ์การระบาดของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน รัฐบาลประเทศต่างๆ จึงอาจมีมาตรการ และข้อจำกัดต่างกันด้วย ควรสอบถามกับสถานเอกอัครราชทูตประเทศปลายทางที่ประจำอยู่ในประเทศไทย เพื่อวางแผนการเดินทาง

โดยสิ่งที่ควรสอบถามเบื้องต้น อาจมีดังนี้

  • สถานการณ์การระบาดของประเทศปลายทาง หากมีความชุกของเชื้อโรค จะได้พิจารณาวางแผนผู้ร่วมเดินทาง หรือหาทางหลีกเลี่ยงได้
  • กฎข้อบังคับในขณะนั้น เช่น มีการจำกัดจำนวนคน กิจกรรม หรือสถานที่ที่สามารถทำได้หรือไม่
  • เอกสารที่จำเป็นต่อการเข้าประเทศ เช่น วีซ่า ใบรับรองแพทย์ (Fit to fly) ใบรับรองผลการตรวจโควิด
  • มาตรการกักตัวของประเทศปลายทาง ในบางประเทศอาจต้องทำการเซ็นใบยินยอมอนุญาตกักตัวด้วย
  • ยารักษาโรคประจำตัว แต่ละประเทศอาจมียารักษาโรคประจำตัวบางชนิดที่ผิดกฎหมาย หากคุณมียารักษาโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องใช้ ควรปรึกษาสถานทูตและแพทย์ผู้ดูแล เพื่อพิจารณาหายาทดแทน

2. ตรวจสอบสายการบินที่จะใช้บริการ

เนื่องจากประเทศไทยมีการประกาศมาตรการ และข่าวสารใหม่อย่างต่อเนื่อง ควรตรวจสอบกับสายการบินถึงประเด็นดังต่อไป

  • ระยะเวลาการให้บริการทั้งเครื่องบินขาเข้า และขาออก
  • เอกสารที่ใช้ในการยืนยันตัวตน และรับอนุญาตขึ้นเครื่อง
  • มาตรการป้องกันโควิดของสายการบิน
  • การบริการด้านอาหาร และเครื่องดื่มบนเครื่อง
  • หากมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องพกติดตัว ควรสอบถามกับสายการบินด้วย
  • สอบถามช่องทางการลงทะเบียน หรือเช็กอิน ผ่านช่องทางออนไลน์
  • ข้อห้าม และข้อควรปฎิบัติในช่วงการแพร่ระบาดขณะอยู่ในสนามบิน

3. เตรียมเอกสารที่จำเป็นต่อการเดินทางช่วงโควิด

เอกสารหลักๆ ที่ต้องใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศ อาจมีดังนี้

  • ใบรับรองว่ามีสุขภาพพร้อมเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly Health Certificate/Fit to Travel Health Certificate) โดยใบรับรองนี้ไม่ใช่ใบรับรองผลการตรวจโควิดโดยตรง แต่เป็นใบรับรองว่าสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางหรือไม่ ในหลายประเทศต้องใช้เอกสารชิ้นนี้ก่อนขึ้นบิน ควรตรวจสอบกับสถานทูตของประเทศปลายทาง และสายการบินก่อนว่ารายละเอียดเกี่ยวกับใบรับรองสุขภาพนี้เป็นอย่างไร
  • เอกสารที่ใช้ในการยืนยันตัวตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบสุทธิพระสงฆ์ และบัตรประจำตัวคนพิการ
  • หนังสือเดินทาง (Passport) ควรดูให้แน่ใจว่าหนังสือเดินทางยังมีอายุเหลืออีกอย่างน้อย 6 เดือน เพราะบางประเทศอาจไม่อนุมัติให้ผู้ที่หนังสือเดินทางใกล้หมดอายุเข้าประเทศในช่วงนี้
  • ใบรับรองผลการตรวจโควิด (Medical certificate with a laboratory result indicating that COVID -19 is not detected) เป็นใบรับรองตรวจเชื้อโควิดโดยการตรวจแบบ RT-PCR หรือการเก็บตัวอย่างจากการ Swab จมูกและลำคอ โดยในวันขึ้นเครื่องต้องใช้ใบยืนยันนี้หลังออกมาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง สามารถสอบถามสถานที่ให้บริการตรวจได้เลย
  • ใบอนุญาตขับขี่ต่างประเทศ (International Driving Permit: IDP) หากต้องการใช้ ควรติดต่อสถานทูตของประเทศปลายทางก่อนเดินทาง
  • วีซ่า (Visas) หากประเทศปลายทางต้องขอวีซ่าก่อนเข้าประเทศ ควรเผื่อเวลาติดต่อสถานทูตก่อนเดินทาง

ควรถ่ายเอกสารแต่ละชนิดเอาไว้มากกว่า 1 ฉบับ เนื่องจากอาจมีการเรียกเก็บเอกสารจากหลายหน่วยงานของทั้งประเทศไทย และประเทศปลายทาง

4. ตรวจโควิดก่อนขึ้นเครื่อง 1-3 วัน

ประเทศจำนวนมากออกนโยบายเรียกเก็บใบรับรองผลการตรวจโควิดก่อนเข้าประเทศ ควรวางแผนให้ผลตรวจโควิดออกมาก่อนขึ้นเครื่องบิน 1-3 วัน โดยปกติผลตรวจจะออกหลังจากรับการตรวจ 1-2 วัน

  • หากผลตรวจเป็นบวก (เจอเชื้อ) หน่วยงานสาธารณสุขหรือสถานที่ให้บริการอาจจัดทีมไปรับมาทำการรักษา ไม่ควรเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง เพราะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
  • แต่หากผลตรวจเป็นลบ (ไม่เจอเชื้อ) ติดต่อรับใบรับรองการตรวจโควิด และใบรับรอง Fit to fly ได้ที่สถานที่ให้บริการตรวจ
  • นอกจากนี้ แม้จะเดินทางไปถึงประเทศปลายทางแล้วก็ยังอาจต้องทำการตรวจซ้ำ หรืออาจมีการกักตัวตามมาตรการของประเทศปลายทาง

5. เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น

นอกจากของใช้ส่วนตัวที่เตรียมไปเป็นปกติสำหรับการเดินทาง คุณอาจต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ในช่วงการระบาดของโควิด

  • เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป
  • หน้ากากอนามัย ควรเตรียมไปให้เพียงพอสำหรับใส่ตลอดการเดินทาง เพราะหลายสายการบินไม่อนุญาตให้ถอดหน้ากากขณะอยู่บนเครื่อง
  • ทิชชู่เปียก ใช้สำหรับเช็ดพื้นผิวต่างๆ ทั้งก่อนและหลังสัมผัส
  • อุปกรณ์ทางการแพทย์ส่วนตัว เช่น ถังออกซิเจน
  • ยาประจำตัว หากมียาที่จำเป็นต้องซื้อในต่างประเทศ ควรติดต่อสถานทูตประเทศปลายทางเพื่อสอบถามว่ามีตัวยาชนิดที่ใช้ได้หรือไม่

6. ฉีดวัคซีนโรคที่มีโอกาสติดเชื้อ

ตามคำแนะนำของ Centers for disease control and prevention: CDC ผู้ที่เดินทางไปประเทศอื่นๆ ควรรับการฉีดวัคซีนดังต่อไปนี้ เพื่อลดโอกาสในการรับเชื้อต่างถิ่น

  • วัคซีนหัดเยอรมัน (Measles-Mumps-Rubella: MMR)
  • วัคซันโปลิโอ (Polio)
  • วัคซีนอีสุกอีใส (Chickenpox)
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (Diphtheria-Tetanus-Pertussis)

ปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลหากจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเสริมอื่นๆ เช่น ตับอักเสบ

เมื่อถึงสนามบินต้องทำอะไรบ้าง?

สายการบินต่างๆ ล้วนมีมาตรการป้องกันโควิดตามที่หน่วยงานสาธารณสุขกำหนด ผู้โดยสารทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า

นอกจากนี้อาจมีขั้นตอนต่างๆ มากกว่าปการเดินทางในภาวะปกติ จึงควรมาก่อนเวลาอย่างน้อย 30 นาที เพื่อปฎิบัติตามมาตรการดังนี้

ก่อนขึ้นเครื่องบิน

  • เข้าด่านตรวจวัดอุณหภูมิ อาจมีการตรวจหลายจุดภายในสนามบิน เช่น ทางเข้าพื้นที่ต่างๆ ประตูเครื่องบิน
  • ต่อคิวแบบเว้นระยะห่าง ทำให้การเช็กอิน หรือติดต่อพนักงานสายการบินช่วงนี้อาจใช้เวลามากกว่าปกติ เนื่องจากต้องจัดพื้นที่ลดความแออัดภายในสนามบิน
  • หากสายการบินใดสามารถเช็กอินผ่านทางออนไลน์ได้ พนักงานสายการบินอาจแนะนำให้เช็กอินผ่านมือถือเพื่อความรวดเร็ว และลดความแออัด
  • ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งมีบริการตามจุดต่างๆ เพื่อลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อ
  • ตรวจสอบเอกสาร สายการบินอาจตรวจเอกสารการเดินทางต่างๆ เช่น พาสปอร์ต ใบรับรองแพทย์ หรือใบรับรองผลการตรวจโควิด
  • นำสัมภาระขึ้นห้องโดยสาร สามารถพกกระเป๋าถือขึ้นไปได้ 1 ชิ้น และผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือ อีกครั้งก่อนเข้าเครื่อง ภายในกระเป๋าควรมีหน้ากากอนามัยติดสำรอง รวมถึงทิชชู่เปียกเพื่อใช้เช็ดพื้นผิวหากทำได้

ระหว่างอยู่บนเครื่องบิน

  • ผู้โดยสารและพนักงานสายการบินทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาการบิน
  • ผู้โดยสารควรเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่ต้องสัมผัสด้วยทิชชู่เปียก หรือแอลกอฮอล์
  • หลายสายการบินอาจงดจำหน่าย หรือแจกอาหารและเครื่องดื่มระหว่างอยู่บนเครื่อง เพื่อลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อ
  • หากมีอาการเจ็บป่วย ต้องแจ้งกับพนักงานสายการบินทันที เพื่อให้พนักงานสายการบินทำการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี

เมื่อถึงสถานที่ปลายทาง

  • เจ้าหน้าที่อาจตรวจเอกสารเพื่อยืนยันตัวตนอีกครั้ง
  • เจ้าหน้าที่อาจมีการตรวจวัดอุณหภูมิ หรือตรวจโควิดอีกครั้งตามแต่มาตรการ
  • กรณีถูกปฎิเสธไม่ให้เข้าประเทศปลายทาง คุณอาจถูกส่งตัวกลับมายังประเทศต้นทาง ในกรณีกลับมาประเทศไทยจะต้องกักตัวใน State quarantine ไม่น้อยกว่า 14 วัน

เมื่อกลับจากการเดินทาง

แม้จะไม่มีอาการใดๆ แต่คุณก็มีโอกาสรับเชื้อโควิดในระหว่างการเดินทาง และสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำอาจมีดังนี้

  • คุณและผู้ร่วมเดินทาง ควรกักตัวอย่างน้อย 14 วันเพื่อสังเกตอาการ
  • หากระหว่างกักตัวที่บ้าน มีคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมเดินทางด้วย ควรสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างเท่าที่จะทำได้ภายในบ้าน
  • ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดหลังจากกลับมาแล้ว 3-5 วัน ด้วยวิธี RT-PCR
  • สังเกตอาการตัวเองอย่างต่อเนื่อง วัดอุณหภูมิตัวเองทุกวัน หากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • จดบันทึกอาการในแต่ละวัน เพื่อให้เห็นความแตกต่างในกรณีที่อาการแสดงออกไม่ชัด

ใบรับรองแพทย์ Fit to fly คือ อะไร?

ใบรับรองแพทย์ (Fit to Fly Health Certificate) เป็นใบรับรองแพทย์มาตรฐานที่มีการใช้มานานแล้ว โดยจะยืนยันว่าสุขภาพของคุณพร้อมสำหรับโดยสารด้วยเครื่องบิน

สายการบินในหลายประเทศมีการขอใบ Fit to fly ก่อนเข้า และออกประเทศ โดยส่วนมากจะรับเฉพาะใบที่เพิ่งออกมาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศด้วย

สิ่งที่ใบรับรองแพทย์ Fit to fly ยืนยัน อาจมีดังนี้

  • ยืนยันว่าสุขภาพของคุณพร้อมสำหรับเดินทางด้วยเครื่องบิน เช่น ไม่มีไข้ ไม่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ไม่มีโรคติดเชื้อ
  • ยืนยันว่าสุขภาพด้านร่างกายพร้อมสำหรับเดินทาง เช่น ไม่มีกระดูกหัก
  • ในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ จะยืนยันว่าครรภ์ปกติดี และปลอดภัยสำหรับขึ้นเครื่อง (ในกรณีที่ครรภ์อายุมากกว่า 28 สัปดาห์ ควรต้องขอใบรับรองไม่ว่าสายการบินจะต้องการหรือไม่)
  • อาจมีการระบุหมายเหตุในการเดินทาง กรณีที่ต้องพกอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ถังออกซิเจน

อย่างไรก็ตาม แม้ในใบ Fit to fly จะยืนยันว่าไม่ได้ติดเชื้อโควิด แต่บางประเทศยังคงต้องการใบรับรองตรวจโควิดโดยเฉพาะแยกเป็นอีกใบด้วย ดังนั้นจึงควรสอบถามสถานทูตของประเทศปลายทางก่อนว่าต้องใช้เอกสารทางการแพทย์ชิ้นใดบ้าง

ควรหลีกเลี่ยงอะไรก่อนเดินทางด้วยเครื่องบิน?

หากติดเชื้อโควิดจะไม่สามารถเดินทางได้จนกว่าจะหายดี รวมถึงหากตรวจพบเชื้อก่อนจะเดินทางกลับ ก็จะต้องกักตัวเช่นกัน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อให้มากที่สุด ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้บริการสถานบริการที่มีการอยู่ด้วยกันจำนวนมากเป็นเวลานาน เช่น บาร์ ฟิตเนส โรงภาพยนตร์
  • หลีกเลี่ยงการไปที่ที่มีการชุมนุมของคนจำนวนมาก เช่น ปาร์ตี้ งานแต่งงาน งานศพ อีเว้นท์
  • หลีกเลี่ยงการโดยสารด้วยยานพานะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เช่น รถไฟฟ้า เรือโดยสาร รถบัส

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า แม้จะตรวจไม่พบเชื้อก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการรับเชื้อมาเสมอไป ดังนั้นหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงก่อนเดินทางอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

References

Centers for disease control and prevention, Testing and international air travel, (https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/travelers/testing-air-travel.html), 2 December 2020.

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, กพท.ให้ความมั่นใจมาตรการการให้บริการด้านการบินยังเข้มงวด ทั้งสนามบิน การปฏิบัติการบินเส้นทางทั้งในและระหว่างประเทศ ระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, (https://www.caat.or.th/th/archives/53307), 25 กันยายน 2563.

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19), มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร, (https://www.caat.or.th/wp-content/uploads/2020/07/คำสั่งศบค.แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา9_ฉบับบที่6-2.pdf), 30 มิถุนายน 2563.

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), ข้อควรรู้ก่อนเดินทางไปต่างประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19, (https://www.airportthai.co.th/th/19470-2/), 31 สิงหาคม 63.

เที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ในยุคโควิด 19 (เมื่อต้องการท่องเที่ยวในจังหวัดที่สงสัยว่าจะมีผู้ป่วยโควิด 19 และเมื่อเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ทั่วไป)

เที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ  ในยุคโควิด 19 (เมื่อต้องการท่องเที่ยวในจังหวัดที่ส่งสัยว่าจะมีผุ้ป่วยโควิด 19 และเมื่อเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ทั่วไป)

         ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวที่จะถึง ประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ดังนั้น นักท่องเที่ยวควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยว  กรมควบคุมโรคมีข้อแนะนำ ดังนี้

เมื่อต้องการท่องเที่ยวในจังหวัดที่สงสัยว่าจะมีผู้ป่วยโควิด 19

         1. ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศ ได้จากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค https://covid19.ddc.moph.go.th/ หรือ Facebook : “ศูนย์ข้อมูล COVID-19” ของ ศบค. และควรศึกษามาตรการป้องกันควบคุมโรคของจังหวัดดังกล่าวซึ่งอาจมีข้อกำหนดเฉพาะ เช่น การปิดสถานที่ หรือจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว

         2. จัดเตรียมข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดการเจ็บป่วย หรือมีเหตุฉุกเฉินขณะเดินทางท่องเที่ยว เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือศูนย์บริการข้อมูลสําหรับนักท่องเที่ยว

         3. ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ เมื่อเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคโควิด 19 ควรระมัดระวังการเข้าไปในพื้นที่แออัดและการสัมผัสผู้อื่น และควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

         4. เลือกใช้บริการสถานที่พัก ร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน  สถานประกอบการที่ปลอดภัย (Safety and Health Administration : SHA) ควรเป็นสถานที่เปิด มีระบบถ่ายเทอากาศดี หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ปิด หรือมีระบบการระบายอากาศไม่ดี

         5. แนะนำให้เดินทางท่องเที่ยวในวันเวลาที่ไม่แออัด จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อจากผู้อื่น

         6. การเข้าร่วมกิจกรรม ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการรวมกันของคนหมู่มาก หรือสถานที่ปิดหรือมีระบบปรับอากาศ สำหรับกิจกรรมที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น เช่น ปีนเขา ดำน้ำ หรือล่องแก่ง ควรตรวจสอบมาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้และการดูแลทำความสะอาดก่อนการใช้งาน

         7. หากมีอาการไข้ หรือไม่สบาย ควรงดหรือเลื่อนการเดินทาง

         8. ขณะเดินทางท่องเที่ยว ควรเตรียมเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าส่วนตัวให้เพียงพอ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และเมื่อทิ้งหน้ากากอนามัยควรทิ้งในถุงขยะติดเชื้อที่สถานที่นั้นจัดเตรียมไว้ 

         9. เมื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในชุมชน ให้ลงทะเบียนการเข้าและออกสถานที่ตามจุดที่กำหนด หรือสแกน QR Code ไทยชนะ รวมทั้งปฏิบัติตนตามกฎระเบียบของสถานที่นั้น รวมทั้งควรจดบันทึกวัน เวลา สถานที่ที่ไปเที่ยวหรือใช้บริการตลอดการเดินทาง เพื่อประโยชน์ในการติดตามผู้สัมผัส กรณีมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่

10. ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป อย่างน้อย 20 วินาที โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น รวมทั้งการเว้นระยะห่างจากผู้อื่น

11. สำหรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่งมาจากต่างประเทศ ควรงดหรือเลื่อนการเดินทางไปจังหวัดอื่นจนกว่าจะครบ 14 วัน หากเข้าพักโรงแรมควรแสดงหนังสือรับรองการกักตัวครบตามที่ราชการกำหนดให้กับพนักงานโรงแรม

12. หลังเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวแล้ว หากมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่สบาย เช่น เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ท้องเสีย หรือมีภาวะความผิดปกติที่สงสัยว่าอาจจะเกิดจากการท่องเที่ยว แนะนำให้ไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดประวัติการเดินทางท่องเที่ยวให้แพทย์ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง

เมื่อเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ทั่วไป

         1. แนะนำให้เลือกวันเดินทางท่องเที่ยวที่สามารถหลีกเลี่ยงความแออัดของการใช้สถานบริการต่างๆ

         2. เลือกใช้บริการแหล่งท่องเที่ยว ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า หรือรถสาธารณะที่มีความปลอดภัย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานของสถานประกอบการที่ปลอดภัย (Safety and Health Administration : SHA) หรือสถานที่เปิด มีระบบถ่ายเทอากาศดี และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ปิด หรือมีระบบการระบายอากาศที่ไม่ดี

         3. นักท่องเที่ยวควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น เช่น ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ประกอบอาหารหรือก่อไฟในพื้นที่ต้องห้าม หรือให้ลงทะเบียนยืนยันตัวบุคคลก่อนเข้าสถานที่

         4. หากมีอาการไข้ หรือไม่สบาย ควรงดหรือเลื่อนการเดินทาง

         5. สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่อออกจากที่พัก หรือขณะอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งให้ความสำคัญเรื่องการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

         6. รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังการเข้าห้องน้ำ และหลังจากการไอจาม

Reference

https://ddc.moph.go.th/dcd/pagecontent.php?page=604&dept=dcd

คำแนะนำการเตรียมความพร้อมเพื่อการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 สำหรับผู้เดินทางในประเทศไทย (กรณีผู้เดินทางไทยที่เข้ารับการกักตัวในสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนด และบุคคลทั่วไปที่มีความประสงค์เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ)

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และ (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้บุคคล 11 ประเภทเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ประกอบกับมาตรการจัดแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์การระบาดในประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และให้การเดินทางบรรลุตามวัตถุประสงค์ปลอดโรคและปลอดภัย ผู้เดินทางที่มาจากต่างประเทศ และผู้ที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งมีความจำเป็นเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

1. ขณะอยู่ในสถานที่กักกัน (กรณีผู้เดินทางที่มาจากต่างประเทศ)

          1.1 ผู้เดินทางที่มีโรคประจำตัวและความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น วัณโรค เบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี หรือโรคหัวใจขาดเลือดที่อาการไม่คงที่ เมื่อต้องเข้ารับการกักกันตัวในห้องพักคนเดียว  ควรแจ้งปัญหาสุขภาพให้เจ้าพนักงานควบคุมโรครับทราบ หากเกิดภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เช่น น้ำตาล  ในเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หมดสติ หรือภาวะเส้นเลือดสมองอุดตันทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลัน เจ้าหน้าที่จะได้วางแผนเตรียมความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

          1.2 ปฏิบัติตนตามข้อกำหนดของสถานที่กักกันอย่างเคร่งครัด เช่น

                1) เข้ารับการกักกันตัวให้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด

                2) งดพบปะญาติจนกว่าจะพ้นระยะกักกัน หากมีการฝากของเยี่ยมควรเป็นของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นเท่านั้น และหลีกเลี่ยงของฝากประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากผู้ที่อยู่ในระหว่างการควบคุมโรค  ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด ซึ่งสถานที่กักกันได้มีบริการไว้ให้แล้ว

                3) ไม่ออกนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ หากมีความจำเป็นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประสานงาน

                4) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยตนเองภายในห้องพัก และรายงานอุณหภูมิพร้อมอาการมายังเจ้าหน้าที่ตามช่องทางที่กำหนด

                5) สังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ   มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก การรับรสชาติผิดปกติ ครั่นเนื้อครั่นตัว หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลในพื้นที่ทันที และสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา โดยห้ามออกจากห้องจนกว่าจะได้รับอนุญาต

                 6) ล้างมือด้วยนํ้าสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป ทุกครั้งหลังไอ จาม ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องนํ้า

                 7) ซักล้างทำความสะอาดเสื้อผ้าตนเองทุกวัน หรือนำเสื้อผ้ามาใส่ถังที่จัดไว้หน้าห้องเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ซักล้าง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของสถานที่กักกันแต่ละแห่ง

                 8) ทิ้งขยะมูลฝอยในถังขยะติดเชื้อที่จัดไว้ให้หน้าห้อง

                 9) ทำความสะอาดภายในห้องพักด้วยตนเอง และนำขยะมูลฝอยทิ้งในถังขยะติดเชื้อที่จัดเตรียมไว้ให้

                 10) ไม่บ้วนนํ้าลาย เสมหะ สั่งนํ้ามูกลงบนพื้น

                 11) ไม่ดื่มสุรา หรือเสพของมึนเมาในสถานที่กักกัน

          1.3 เมื่ออยู่ในสถานที่กักกัน จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด 19 โดยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 3 – 5 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 11 – 13 ของระยะเวลาที่ถูกกักกัน

2. หลังออกจากสถานที่กักกัน และเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย

ผู้เดินทางที่มาจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 รวม 3 ครั้ง แล้วก็ตาม (ก่อนเดินทาง 1 ครั้ง และระหว่างอยู่ในสถานกักกัน 2 ครั้ง) เมื่อออกจากสถานกักกัน ท่านยังมีความเสี่ยง ติดเชื้อโควิด 19 เมื่อเข้าสู่พื้นที่ชุมชน และสำหรับผู้ที่อยู่ในประเทศไทยมีความประสงค์จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้น จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและปฏิบัติตามมาตรการ/คำแนะนำในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ดังต่อไปนี้

         2.1 ตรวจสอบสถานการณ์ในจังหวัดที่จะเดินทางไปหรือจังหวัดที่เดินทางผ่าน ซึ่งมีมาตรการควบคุม แบบบูรณาการที่จำเป็นแตกต่างกันตามพื้นที่สถานการณ์ (ข้อมูล ณ 18 กุมภาพันธ์ 2564) ได้แก่        

พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

พื้นที่ควบคุม

พื้นที่เฝ้าระวังสูง

พื้นที่เฝ้าระวัง

                 ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดมาตรการในแต่ละพื้นที่ได้จากเฟสบุ๊ค “ศูนย์ข้อมูล COVID-19” ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.)

          2.2 งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดเว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น

          2.3 เตรียมความพร้อมด้านเวลาการเดินทางให้ยืดหยุ่น จัดเตรียมอุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง  ส่วนบุคคลให้เพียงพอตลอดการเดินทางท่องเที่ยว และเตรียมวิธีการสื่อสารกับหน่วยงานสาธารณสุขและครอบครัวในกรณีฉุกเฉิน

          2.4 ผู้เดินทางจะต้องตระหนักในการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเต็มความสามารถ ตามคำแนะนำ ต่อไปนี้

                1) ปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล D-M-H-T-T ได้แก่

                    – Distancing (D) หมายถึง เว้นระยะระหว่างกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น

                    – Mask wearing (M) หมายถึง สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เมื่อออกจากที่พัก หรือขณะอยู่ร่วมกับผู้อื่น

                    – Hand washing (H) หมายถึง เน้นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังการเข้าห้องน้ำ และหลังจากการไอจาม

                    – Testing (T) หมายถึง ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และตรวจหาเชื้อโควิด 19 (เฉพาะกรณี)

                    – Thai Cha na (T) หมายถึง ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ

                2) เลือกใช้บริการแหล่งท่องเที่ยว ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า หรือรถสาธารณะที่มีความปลอดภัย ผ่านการรับรองมาตรฐานของสถานประกอบการที่ปลอดภัย (Safety and Health Administration : SHA)

                3) เมื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในชุมชน ให้สแกน QR code ไทยชนะ หรือลงทะเบียน  การเข้าออกสถานที่ตามจุดที่กำหนด เพื่อประโยชน์ในการติดตามผู้สัมผัสกรณีมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงปฏิบัติตนตามกฎระเบียบของสถานที่นั้น

                4) หมั่นสังเกตอาการตนเองระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก  จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งอาการเจ็บป่วยและประวัติการเดินทางโดยละเอียด

https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2//files/%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%A9.pdf

Scroll to Top