ไข้ (fever)

ไข้เป็นสิ่งบ่งบอกว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งอาจไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องรุนแรงเสมอไป อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 – 38 องศาเซลเซียสขึ้นไปจะถือว่าเด็กเป็นไข้ ไข้เกิดขึ้นได้จากสาเหตุมากมาย ส่วนใหญ่เกิดจากไข้หวัด เด็กมักมีอาการน้ำมูกไหล ไอ หรือเจ็บคอร่วมด้วย ไข้ในเด็กอาจทำให้เด็กงอแง ที่สำคัญอาจมีอาการชักตามมา การดูแลไม่ให้ไข้สูงเกินขีดอันตรายก็สามารถทำได้ โดยการให้เด็กรับประทานยาลดไข้ ร่วมกับการเช็ดตัว ผู้ปกครองเด็กควรใช้ปรอทวัดไข้เพื่อวัดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งเป็นการประเมินประสิทธิภาพของยาลดไข้ และการเช็ดตัว กรณีเด็กที่มีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูงมาก เป็นไข้อยู่หลายวัน มีอาการซึม กระหม่อมตึง หอบ เหนื่อย หรือเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี หากมีไข้ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้ที่แท้จริงต่อไป

ไข้ (fever) หมายถึง การที่อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินปกติ ซึ่งร่างกายคนปกติจะมีอุณหภูมิประมาณ 37 องศาเซลเซียส เมื่อวัดทางปาก ร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีการปรับอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม และไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของอากาศภายนอก ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานของร่างกายเป็นไปได้อย่างปกติค่าอุณหภูมิที่บอกว่าผู้ป่วยมีไข้ที่เหมาะสมที่สุด คือ การวัดในตอนเช้าตรู่ได้อุณหภูมิเท่ากับ 37.2 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า หรืออุณหภูมิเท่ากับ 37.8 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า เมื่อวัดเวลาใดๆ ของวัน

อุณหภูมิร่างกายปกติ

1. อุณหภูมิร่างกายปกติไม่ได้คงที่ตลอดเวลา จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแต่ละช่วงของวัน โดยเฉพาะในช่วง 15.00-17.00 น. อุณหภูมิมักจะสูงสุด และจะค่อยๆ ลดลงจนต่ำสุดในเวลา 23.00-01.00 น. และจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเช่นนี้ทุกวัน การเปลี่ยนแปลงของ อุณหภูมิร่างกายเช่นนี้สังเกตเห็นได้ชัดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

2. เวลาเช้าอุณหภูมิของร่างกายจะต่ำกว่าอุณหภูมิตอนบ่ายหรือเย็น

3. อุณหภูมิร่างกายยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ หรือการออกกำลังกาย และขึ้นกับระดับฮอร์โมนในร่างกายด้วย

4. ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิร่างกายอยู่ที่สมองส่วนฮัยโปธาลามัส มีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิรับสัญญาณจากบริเวณต่างๆ ของร่างกาย และคอยควบคุมให้ร่างกายเก็บความร้อน สร้างความร้อน เพิ่มหรือลดความร้อน โดยถ่ายเทความออกไปมากขึ้น

5. peo-optic region เป็นตำแหน่งหนึ่งในสมองส่วนฮัยโปธาลามัส ที่มีบทบาทเป็นแกนกลางของการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย จากการศึกษามากมายที่ทำต่อเนื่องกันนานกว่า 60 ปี ทำให้มีหลักฐานแน่ชัดว่าเซลล์ประสาทในบริเวณนี้ ไวต่ออุณหภูมิ และเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิทั้งทางสรีรวิทยาและพฤติกรรม

6. สารที่ทำให้เกิดไข้ อาจมาจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย หรือเกิดขึ้นภายในร่างกายเอง โดยจะเกิดปฏิกิริยาภายในและเกิดสารที่ออก ฤทธิ์บริเวณสมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิ และส่งสัญญาณมาทางระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัว ส่ง ผลต่อเนื่องให้การระบายความร้อนในร่างกายออกทางผิวหนังลดลง

7. เวลามีไข้ มือ เท้าจะเย็น แต่ศีรษะจะร้อน บาครั้งมือเท้าซีดและเขียว เนื่องจากผิวหนังขาดออกซิเจน ถ้าอุณหภูมิที่ผิวหนังต่ำมาก ก็ จะเกิดการสั่นของกล้ามเนื้อ ดังที่เห็นว่าเวลามีไข้แล้วหนาวสั่น การสั่นของกล้ามเนื้อทำให้มีการสร้างความร้อนมากขึ้น ถ้าความ ร้อนในร่างกายถูกสร้างขึ้นมาก อุณหภูมิในร่างกายก็จะสูงขึ้นมาก อาจจะทำให้ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิเสียการทำงานไปและไม่ตอบ สนองต่อยาลดไข้

การวัดไข้

1. โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เทอร์โมมิเตอร์ จะช่วยจำแนกความหนักเบาของไข้ได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่มีอุปกรณ์ให้ใช้หลังมือสัมผัสหน้าผาก ลำตัว หรือบริเวณอื่นก็พอรู้สึกได้คร่าวๆ

2. การวัดอุณหภูมิทางทวารหนักเป็นการวัดอุณหภูมิของแกนร่างกายที่แม่นยำมากที่สุด อุณหภูมิที่ได้จากการวัดทางทวารหนักสูงกว่าตำแหน่งอื่นๆ เนื่องจากมีการสร้างความร้อนขึ้นโดยแบคทีเรียในอุจจาระ

3. การวัดอุณหภูมิทางปากเป็นวิธีที่ง่าย มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วสอดคล้องตามอุณหภูมิของแกนร่างกาย แต่การวัดอุณหภูมิทางปากต้องการความร่วมมือของผู้ถูกตรวจ จึงใช้ไม่ได้กับผู้ป่วยทุกราย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ที่ไม่ร่วมมือ และผู้ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่

4. การวัดอุณหภูมิทางแก้วหูโดยใช้รังสีอินฟราเรด เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก ปัจจุบันนิยมใช้กันมากในหอผู้ป่วยหนักและคลินิกต่างๆ แก้วหูเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการวัดอุณหภูมิของแกนร่างกาย เนื่องจากถูกหล่อเลี้ยงด้วยแขนงของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย

5. การวัดอุณหภูมิทางรักแร้เป็นวิธีที่เหมาะสม และแม่นยำในทารกแรกเกิด แต่ไม่ดีในเด็กโต และผู้ใหญ่

6. ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิที่วัดทางทวารหนักสูงกว่าค่าที่วัดทางปากในเวลาเดียวกัน 0.4 องศาเซลเซียส และสูงกว่าค่าที่วัดทางแก้วหู 0.8 องศาเซลเซียส

ลักษณะของไข้

1. ไข้สูงลอยอยู่ตลอด คือ อุณหภูมิจะสูงอยู่ระดับหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงบ้างก็เพียงเล็กน้อย ไม่ลดถึงระดับปกติ

2. ไข้ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างอุณหภูมิสูงกับอุณหภูมิระดับปกติ

3. ไข้ขึ้นๆ ลงๆ แต่ไม่ลงถึงระดับปกติ

4. ไข้ขึ้นหลายๆ วัน แล้วลดเป็นวัน แล้วกลับขึ้นอีก

5. ไข้ต่ำๆ ตลอด ไม่ลดลงระดับปกติ

6. ไข้อาจจำแนกตามระดับอุณหภูมิได้เป็น 3 ระดับ คือ ไข้ต่ำ อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 37.0 ํc – 38.9 ํc ไข้ปานกลาง อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 38.9 ํc – 39.5 ํc และไข้สูง อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 39.5 ํc – 40.0 ํc

สาเหตุของไข้

1. การติดเชื้อที่มีการอักเสบเฉพาะที่ เช่น คออักเสบ ลำไส้อักเสบ ข้ออักเสบ การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และโปรโตซัว เช่น ไข้หวัด ไข้มาลาเรีย ไข้จากแผล ฝีหนอง

2. การติดเชื้อซึ่งไม่มีอาการเฉพาะที่ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น โรคติดเชื้อบางชนิด อาจไม่มีไข้ เช่น โรคเรื้อน กลากเกลื้อน พุพองตามผิวหนัง เป็นต้น โรคติดเชื้อจาก แบคทีเรีย รา ไวรัส ยีสต์ โปรโตซัว เป็นต้น

3. การกระตุ้นจากเหตุผิดปกติบางอย่างในร่างกายที่ไม่ใช่การติดเชื้อ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจะมีไข้ร่วมกับอาการอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต เกิดจากการอักเสบ เนื้องอกหรือมะเร็ง

4. ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิได้รับการกระทบกระเทือนจากความผิดปกติในสมองโดยตรง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองแตก การผ่าตัด เป็นต้น

5. การแพ้ยาหรือเซรุ่ม ปฏิกิริยาภายหลังการได้รับเลือด

6. สาเหตุอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายกลางแดด ยาบางชนิด เนื้อเยื่อถูกทำลาย ความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะขาดน้ำ

การรักษา

1. รักษาต้นเหตุของการเกิดไข้ หากอาการไข้ มีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรง ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดไข้ การลดไข้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการรักษาเท่านั้น

2. การใช้ยาลดไข้ อาจเป็นพวกแอสไพริน พาราเซตามอล

3. การเช็ดตัวลดไข้

การเช็ดตัวลดไข้

1. การใช้น้ำอุ่นเช็ดตัว เพราะจะช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายได้มาก วิธีทางกายภาพสำหรับการลดไข้เพิ่มการสูญเสียความร้อนโดยการนำ การพา และการระเหย การระเหยเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ผู้ป่วยที่มีไข้สูญเสียความร้อน โดยไม่ทำให้เกิดอาการหนาวสั่น

2. ไม่ควรใช้น้ำเย็น หรือน้ำแข็งเช็ดตัว เพราะทำให้หลอดเลือดหดตัว ระบายความร้อนออกยากและยังทำให้เกิดอาการหนาวสั่น ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นได้

3. ควรเช็ดที่ศีรษะ และลำตัวส่วนที่ร้อน

4. ไม่ควรเช็ดส่วนมือและเท้าที่เย็น

5. ผู้ป่วยที่กำลังมีไข้ ไม่ควรสวมเสื้อผ้าหนา เพราะจะทำให้ความร้อนระบายออกได้ยาก แต่ถ้าผู้ป่วยหนาวสั่น ควรใส่เสื้อผ้า เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ แต่ต้องไม่หนาจนเกินไป

6. ผู้ป่วยเด็กที่มีไข้จากภาวะขาดน้ำควรแก้โดยการให้ดื่มน้ำมากๆ หรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

ยาลดไข้

1. ยาลดไข้เป็นเพียงยาบรรเทา ไม่ใช่ยารักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ เมื่อกินยาหนึ่งครั้ง ยาจะออกฤทธิ์ลดไข้อยู่ได้นาน 4-6 ชั่วโมง หากสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ยังไม่หาย เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วไข้ก็จะปรากฏใหม่

2. ยาที่นิยมใช้ได้แก่ แอสไพริน พาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์

3. ยาออกฤทธิ์ที่สมอง โดยยับยั้งการเปลี่ยนกรดอะแรคชิโดนิกไปเป็นสารพรอสตาแกลนดิน ฤทธิ์นี้สำคัญมากในการลดไข้ เนื่องจากการสร้างพรอสตาแกลนดิน E2 ที่สมองส่วนฮัยโปธาลามัส เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการที่ทำให้เกิดไข้ พาราเซตามอลมีฤทธิ์น้อยมากต่อการยับยั้งเอนไซม์ซัยโคลออกซิเจนเนสในเนื้อเยื่อส่วนปลาย จึงไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

4. แอสไพรินในขนาดปกติ ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากกินมากเกินขนาด อาจทำให้มีไข้สูง ซึม ชัก และถึงกับเสียชีวิตได้ แอสไพรินอาจระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหาร จึงควรรับประทานทานหลังอาหารทันที

5. พาราเซตามอลในขนาดปกติ ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่ในขนาดสูง จะทำให้ตับถูกทำลาย และตับวายได้ ในผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 2 เม็ดทันทีที่รู้สึกมีอาการไข้ หลังจากรับประทานยาแล้ว 4 ชั่วโมงสามารถทานยาซ้ำได้ ถ้ายังมีอาการไข้ แต่ไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันมากกว่า 3 วันโดยไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องจากแพทย์

6. ควรให้ยาลดไข้เมื่อไข้สูงเท่านั้น และให้ในขนาดที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ห้ามให้ถี่กว่า 4 ชั่วโมง หากให้ยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ควรให้เด็กดื่มนำมากๆ ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ ถ้าภายใน 2-3 วันอาการไข้ยังไม่ทุเลา ควรพาไปพบแพทย์

อาการแทรกซ้อน

1. อาการแทรกซ้อนของไข้ที่ต้องระวัง คือ อาการชักจากไข้สูง ซึ่งพบในผู้ป่วยเด็กช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี

2. เด็กที่เคยชักเวลามีไข้สูงหรือพ่อ แม่ พี่ๆ มีประวัติชักเมื่อไข้สูง ต้องระวังการมีไข้เป็นพิเศษ โดยเช็ดตัวและให้ยาลดไข้เพื่อป้องกันไม่ให้ไข้สูง

3. ถ้าเด็กมีไข้สูงมาก การให้ยาลดไข้จะไม่ค่อยได้ผล ควรเช็ดตัวให้ไข้ลดเสียก่อน

สมุนไพรลดไข้

สมุนไพรลดไข้ส่วนใหญ่ จะมีฤทธิ์ลดไข้อย่างเดียว ไม่มีฤทธิ์แก้ปวดควบคู่เหมือนยาแผนปัจจุบัน และพบว่าสมุนไพรจำพวกนี้มักจะมีรสขมรับประทานยาก ทั้งวิธีใช้ส่วนใหญ่เป็นวิธีต้ม ไม่มีการกลบกลิ่น รส อาจพิจารณานำมาใช้กับอาการไข้ปานกลางหรือต่ำ เป็นไข้ที่ไม่นานเกิน 7 วัน และไม่มีอาการร่วมกับไข้ที่รุนแรง เช่น หนาวสั่นมาก ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอก หรือปวดท้องรุนแรง

1. บอระเพ็ด ใช้เถาสดครั้งละ 2 คืบครึ่ง หรือ 30-40 กรัม ตำคั้นเฉพาะน้ำหรือต้มกับน้ำ 3 ส่วนเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มจนหมด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น หรือดื่มเมื่อมีอาการ รูปที่ 669

2. ชิงช้าชาลี ใช้เถาสดยาว 2 นิ้วต่อครั้ง ต้มน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหาร วันละ 1-2 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการ

3. ย่านาง ใช้รากแห้งครั้งละ 1 กำมือ หรือ 15 กรัม ต้มน้ำดื่มก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง

4. ลักกะจั่น ใช้แก่นที่มีสีแดงหรือที่เรียกว่า จันทน์แดง ประมาณ 5-10 ชิ้น แต่ละชิ้นกว้างยาวประมาณ 2×3 นิ้ว สับให้มีขนาดเล็กพอ ประมาณ ต้มกับน้ำ 6 ถ้วย เคี่ยวให้เหลือ 4 ถ้วย แบ่งดื่มครั้งละครึ่งถ้วยเมื่อมีไข้ หรือใช้ยาประสะจันทน์แดงชนิดผง ละลายน้ำสุก ครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ

ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

Scroll to Top