ผมได้มีโอกาสพบกับกรรมการฝ่ายการแพทย์ท่านหนึ่งของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย จากประเทศกาตาร์ ในการประชุมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผมทราบว่าท่านเป็นผู้บริหารของโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งน่าสนใจมากที่ประเทศเล็กๆในแถบตะวันออกกลาง มีประชากรไม่กี่ล้านคนและแน่นอนนักกีฬาหรือคนที่เกี่ยวข้องกับการเล่นกีฬาก็คงมีไม่มากเท่าใด แต่ได้มีผู้บริหารของประเทศมีวิสัยทัศน์ในการเปิดโรงพยาบาลลักษณะนี้ขึ้นมา ผมจึงศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมและขอนำมาเล่าสู่กันฟังในคอลัมน์นี้
โดฮา เอเชี่ยนเกมส์ 2006
ประเทศกาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่เมืองโดฮา ในปีค.ศ.2006 ซึ่งผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมในฐานะแพทย์ประจำทีมฟุตบอลทีมชาติไทยด้วย และได้มีโอกาสเข้าพักในหมู่บ้านในเอเชี่ยนเกมส์ ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยบริเวณที่สร้างหมู่บ้านนักกีฬาและสนามกีฬา ได้เรียกเป็น แอสไพร์โซน (Aspire Zone) หรือเมืองแห่งกีฬา (Sports City) และโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาก็อยู่ในบริเวณพื้นที่เหล่านี้และตั้งชื่อรพ.ว่า Aspetar เป็นรพ.เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์การกีฬา (Orthopaedic and Sports Medicine Hospital)
ประเทศกาตาร์ ถือว่าเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตค่อนข้างดีและสูงกว่าในกลุ่มประเทศจีซีซีด้วยกัน ว่ากันว่าเฉลี่ยแล้วการเติบโตสูงถึงปีละเกือบ 30% ของจีดีพี มาตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายให้กาตาร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินและเทคโนโลยีในแถบนั้น โดยพยายามพัฒนาในเรื่องระบบการศึกษาและการก่อสร้างตึกรามบ้านช่อง ให้เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา
โรงพยาบาลแอสปิตาร์ เป็นรพ.ขนาด 50 เตียง ถูกตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนและช่วยเหลือนักกีฬาทีมชาติกาตาร์ ตลอดจนผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศนี้ ที่มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทำธุรกิจมากมาย โดยพยายามที่จะจัดบริการทางการแพทย์ให้ครอบคลุมทุกเรื่องเกี่ยวกับกีฬาเวชศาสตร์และออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ) และตั้งเป้าหมายที่จะให้เป็นศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศด้านออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์การกีฬาที่ทั่วโลกจะต้องให้การยอมรับ โดยมีเป้าหมายในปี 2010 (2553) ดังนี้
– มีความเป็นเลิศในด้านการป้องกันและการรักษาการบาดเจ็บทางการกีฬาให้ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติจากองค์กรระดับโลก ทั้งเจซีไอ (JCI) ของสหรัฐอเมริกาและเอฟไอเอ็มเอส (FIMS) ของสหพันธ์กีฬาเวชศาสตร์นานาชาติ
– มีโปรแกรมการเรียนการสอนระดับหลังปริญญาที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
– มีการทำวิจัยด้านเวชศาสตร์การกีฬาที่นานาชาติให้การยอมรับ
– เป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในโรงพยาบาล
– มีการเรียนการสอนด้านเวชศาสตร์การกีฬาระดับประเทศ
– มีความคุ้มทุนภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่เริ่มก่อตั้ง
การบริการทางออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์การกีฬา
โรงพยาบาลได้รับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลก โดยมีแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักวิทยาศาสตร์การกีฬาและพนักงานของโรงพยาบาล ถือสัญชาติมากกว่า 50 สัญชาติ ในจำนวนพนักงานประมาณ 500 คน โดยตั้งเป้าหมายเพื่อจัดบริการทางการแพทย์ด้านนี้ให้มีระดับที่สูงสุด เพื่อรักษาคนในประเทศกาตาร์และประเทศใกล้เคียง รวมทั้งจากนานาชาติด้วย ทั้งนี้จะเน้นให้ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยล่าสุดของโลก และมีบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะในการดูแลเรื่องฟิตเนส โภชนาการ จิตวิทยาและการฝึกซ้อม โดยจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่นักกีฬาหรือผู้ที่มาใช้บริการ
ด้านออร์โธปิดิกส์ เน้นเรื่องการดูแลรักษาและผ่าตัดการบาดเจ็บของระบบกระดูกและข้อ กล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆ ตลอดจนการทำวิจัยทางการแพทย์ มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดแบบเปิดและการผ่าตัดผ่านกล้อง (Arthroscopic Surgery) โดยมีห้องผ่าตัดที่ทันสมัยเป็นระบบดิจิตอลจำนวน 4 ห้อง มีเตียงรับผู้ป่วยในได้ 50 คน
ด้านเวชศาสตร์การกีฬา เน้นเรื่องการป้องกัน การวิเคราะห์โรคเมื่อมีการบาดเจ็บ การรักษาการบาดเจ็บจากกีฬา โดยใช้ทีมงานและเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีการทำงานร่วมกับสถาบันทางเวชศาสตร์การกีฬาในระดับนานาชาติ ที่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก เช่น มหาวิทยาลัยจากออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา มีผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาทุกแขนง ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา นักวิทยาศาสตร์การกีฬาด้านสรีรวิทยาออกกำลังกาย นักโภชนาการ นักจิตวิทยา นักชีวกลศาสตร์ ตลอดจนทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด นักอาชีวบำบัดที่ครบทีม มีโครงการที่เน้นในเรื่องการตรวจร่างกายนักกีฬาก่อนเข้าร่วมการแข่งขันและโครงการดูแลด้านหัวใจสำหรับนักกีฬาเป็นการเฉพาะ
การดูแลรักษาพยาบาลจะทำเป็นลักษณะทีมเวิร์ค สหสาขา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มารับบริการ
ฝ่ายสนับสนุนทางการแพทย์
ที่สำคัญได้แก่การบริการด้านเอ็กซเรย์หรือรังสีวิทยา เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคการบาดเจ็บทางการกีฬา ที่ต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเอ็มอาร์ไอ ตลอดจนต้องมีแพทย์เอ็กซเรย์ ที่มีความรู้ความสามารถในการอ่านฟิล์มและแปลผลเกี่ยวกับกระดูก ข้อต่อ เนื้อเยื่อและเอ็น ตลอดจนกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ มีการตั้งห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็ป) ที่เพียบพร้อมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สำหรับตรวจดูค่าสารต่างๆในเลือด เพื่อสนับสนุนการรักษาพยาบาล ตลอดจนการวิจัยค้นคว้าเพื่อความเป็นเลิศของนักกีฬา ตลอดจนแผนกเภสัชกรรมที่สนับสนุนในเรื่องของยาที่ทันสมัยในการนำมาใช้ในรพ.แห่งนี้
ผมได้นำการจัดตั้งโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาในกาตาร์มาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ เผื่อว่าในอนาคตของประเทศไทยอาจจะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลหรือศูนย์การแพทย์ที่ครบวงจรในเรื่องเกี่ยวกับการบาดเจ็บจากกีฬา เพราะในปัจจุบันเรามีการดูแลรักษานักกีฬาอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆรวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีบริการด้านออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์การกีฬาอยู่แล้ว โดยรวมการให้บริการอยู่ในโรงพยาบาลที่รักษาในทุกๆเรื่อง สวัสดีครับ
นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (กระดูกและข้อ)
ผู้ประพันธ์