ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2552 มีรายงานพบว่าโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้กระจายไปหลายอำเภอของจังหวัดภาคใต้ตอนล่างของไทย ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2552 มีรายงานพบว่าโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้กระจายไปหลายอำเภอของจังหวัดภาคใต้ตอนล่างของไทย แต่ยังไม่มีรายงานว่ากระจายไปยังเขตอื่นๆ ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะพบโรคนี้มากขึ้น จนถึงขั้นอาจเกิดการระบาดได้ ถ้าไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ และถ้าเกิดการแพร่ระบาดขึ้นแล้ว ก็จะยากแก่การหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรคไข้ปวดข้อยุงลายนี้ ไม่ให้ระบาดไปยังพื้นที่อื่นของประเทศไทย เนื่องจากยุงลายที่เป็นพาหะทั้ง 2 ชนิด คือยุงลายบ้านและยุงลายสวน มีชุกชุมอยู่ทั่วประเทศ
มาตรการที่สำคัญในขณะนี้ ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการลงพื้นที่ โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และอาสาสมัครสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ เร่งให้ความรู้ประชาชนเพื่อรณรงค์ร่วมมือกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างเข้มข้นในช่วงหน้าแล้งนี้
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya disease) เป็นโรคที่ยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันได้ พบว่าเกิดการกลับมาระบาดซ้ำในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของไทย โดยโรคดังกล่าวมียุงเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก แต่มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เมื่อป่วยหากอาการรุนแรงผู้ป่วยจะนอนซม ปวดข้อจนเดินไม่ได้
สถานการณ์โรคในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของไทย
1.สถานการณ์โรคชิคุนกุนยาตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 พบผู้ป่วยในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 5,534 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต
2.การแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาใน พ.ศ. 2551 ที่จังหวัดนราธิวาส พบผู้ป่วยที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2551 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551 พบรายงานผู้ป่วยรวมทั้งหมด 170 ราย ใน 2 จังหวัด คือนราธิวาส ใน 3 อำเภอ ได้แก่ ยี่งอ 99 ราย เจาะไอร้อง 9 ราย และ อ.แว้ง 44 ราย และพบที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี จำนวน 18 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
3.ในประเทศไทยมีการตรวจพบเชื้อชิคุนกุนยาครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาด และเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยแยกเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาได้จากผู้ป่วยโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพมหานคร
4.โรคชิคุนกุนยาจะพบมากในฤดูฝน เมื่อประชากรยุงเพิ่มขึ้นและมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น พบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี ในประเทศไทยพบมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา 6 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2534 ที่จังหวัดขอนแก่นและปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2536 มีการระบาด 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย
การระบาดในประเทศมาเลเซีย-สิงคโปร์
1.การระบาดในประเทศสิงคโปร์เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา 10 ราย ซึ่งทางการสิงคโปร์ได้ออกมาตรการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด ต่อมาพบผู้ป่วยอีกรายโดยไม่ได้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอินเดีย
2.ข้อมูลจนถึงเดือนกุมพันธ์ พ.ศ. 2552 ในประเทศมาเลเซีย พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา 3,263 ราย กว่าครึ่งอาศัยอยู่ในรัฐยะโฮร์ โดยก่อนหน้านั้นพบการระบาดเพียงเล็กน้อยในไม่กี่ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากประเทศอินเดีย และคนมาเลเซียที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศอินเดีย
สาเหตุ
1.เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae ไวรัสชิคุนกุนยามีความใกล้ชิดกับ O’nyong’nyong virus และ Ross River virus ที่พบในประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้สมองอักเสบ eastern equine encephalitis และ western equine encephalitis
2.เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้
3.ระยะฟักตัวของโรคโดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน
4.ระยะติดต่อเป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้ป่วยไข้สูง ประมาณวันที่ 2 – 4 เนื่องจากเป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาอยู่ในกระแสเลือดมากที่สุด
ที่มาของชื่อไวรัส
ชื่อของเชื้อไวรัสชิคุนกุนยามาจากคำในภาษา Makonde ซึ่งเป็นภาษาของชนพื้นเมืองในแอฟริกา อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแทนซาเนียและทางตอนเหนือของประเทศโมแซมบิก รากศัพท์พื้นเมืองเดิมเรียกว่า kungunvala ซึ่งมีความหมายเป็นภาษาอังกฤษว่า “that which bends up” สอดคล้องกับลักษณะอาการปวดข้อของโรค
เชื้อไวรัสชิคุนกุนยามักถูกเปรียบเปรยเหมือนเป็นลูกพี่ลูกน้องกับเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกที่สำคัญในประเทศไทย
อาการของโรค
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออกบริเวณผิวหนังได้
ความแตกต่างระหว่างโรคไข้เลือดออกเดงกีกับโรคชิคุนกุนยา
1.ในโรคชิคุนกุนยา ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี ผู้ป่วยมักจะมาโรงพยาบาลเร็วกว่า ส่วนระยะของไข้สั้นกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี ผู้ป่วยที่มีระยะไข้สั้นเพียง 2 วัน พบในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกีโดยส่วนใหญ่ไข้ลงใน 4 วัน
2.ถึงแม้จะพบจุดเลือดได้ที่ผิวหนัง และการทดสอบทูนิเกต์ให้ผลบวกได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบจำนวนทั้งที่เกิดเองและจากทดสอบน้อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
3.ไม่พบผื่นเลือดออกที่มีลักษณะวงขาวๆในโรคชิคุนกุนยา แต่พบผื่นแบบผื่นแดงนูนราบ และพบอาการตาแดงในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
4.พบอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและปวดข้อในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
5.ในโรคชิคุนกุนยา เนื่องจากไข้สูงฉับพลัน พบการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึงร้อยละ 10-15
การวินิจฉัย
1.ลักษณะอาการ ได้แก่ ไข้สูง ผื่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เลือดออกตามผิวหนัง
2.ตรวจนับเม็ดเลือดพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดปกติ ซึ่งสามารถแยกจากไข้เดงกีได้
3.ตรวจพบแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อในเลือดจากการตรวจปฏิกิริยาน้ำเหลืองสองครั้งด้วยวิธี Haemagglutination Inhibition (HI) โดยระดับแอนติบอดีเพิ่มขึ้น 4 เท่า ถ้าตรวจเลือดครั้งเดียว ต้องพบระดับแอนติบอดีมากกว่า 1: 1,280
4.ตรวจพบภูมิคุ้มกันชนิด IgM โดยวิธี ELISA
5.ตรวจพบเชื้อได้จากเลือด โดยวิธี PCR หรือโดยการแยกเชื้อ
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงสำหรับโรคชิคุนกุนยา ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง เช่น ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน
ผลการศึกษาวิจัยในระยะหลังพบว่า ยาคลอโรควิน (chloroquin) ได้ผลดีในการบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคชิคุนกุนยา และมีคุณสมบัติต้านไวรัสชิคุนกุนยาได้อีกด้วย
งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย ใช้ยาคลอโรควินขนาดวันละ 250 มิลลิกรัม พบว่าได้ผลดีมาก เช่นเดียวกับงานวิจัยที่อิตาลี และฝรั่งเศสเมื่อปี 2006 ซึ่งพบว่าการรักษาด้วยยาคลอโรควินได้ผลดีเช่นกัน
การป้องกัน
1.การป้องกันโรคชิคุนกุนยาที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด
2.ใช้สารไล่ยุง DEET, icaridin, PMD หรือ IR3535
3.สวมใส่เสื้อผ้าที่ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ติดมุ้งลวดในบ้าน หรือทายากันยุงขณะทำงานและออกนอกบ้าน
4.ยาทากันยุงชนิดที่มีส่วนผสมของไพรีธรอยด์ช่วยป้องกันได้พอสมควร
5.กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเฉพาะแหล่งน้ำขัง เริ่มจากในบ้านก่อน ไม่ว่าจะเป็นแจกันดอกไม้ที่ใส่น้ำไว้ ขาตู้ใส่น้ำกันมด ตุ่มใส่น้ำไม่ปิดฝา จากนั้นขยายอกบริเวณรอบบ้าน เช่น ขวดพลาสติก แก้วพลาสติกที่มีน้ำขัง ยางรถยนต์เก่าและแอ่งน้ำตามธรรมชาติ ฯลฯ
6.ร่วมมือช่วยกันในชุมชนดูแลไม่ให้เกิดน้ำขังขึ้น จะเห็นได้ว่ามาตราการป้องกันยุงลาย นอกจากจะป้องกันไข้เลือดออกแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคชิคุนกุนยาได้อีกด้วย
วัคซีน
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา
การศึกษาวิจัยวัคซีนชิคุนกุนยาเมื่อปี 2000 พบว่าวัคซีนที่ใช้ในการวิจัยไม่ได้ผลในการป้องกันโรค เนื่องจากเชื้อชิคุนกุนยาเกิดภาวะต้านวัคซีนมากถึงร้อยละ 98 ภายหลังได้รับวัคซีน 28 วัน
วัคซีนดีเอ็นเอเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่นำมาศึกษาการผลิตวัคซีนสำหรับเชื้อชิคุนกุนยา โดยออกแบบเป็นวัคซีนชนิดผสม ใช้ลำดับสารพันธุกรรมของเปลือกหุ้มตัวไวรัสมาเป็นสารกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี ในเบื้องต้นพบว่าได้ผลดีมากในหนูทดลอง ทั้งระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นและสามารถกระตุ้นการทำหน้าที่ของเม็ดเลือดขาวชนิด T cell ได้เป็นอย่างดี
ประวัติของโรคชิคุนกุนยา
1.Chikungunya (pronounced as chik’-en-GUN-yah) disease โรคชิคุนกุนยา พบเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1952 ในดินแดนที่ราบสูง Makonde Plateau ทวีปแอฟริกา บริเวณพรมแดนระหว่างประเทศ Tanzania และ Mozambique.
2.ชื่อโรค “chikungunya” มาจากคำในภาษา Makonde language มีความหมายว่า “that which bends up” สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้ออย่างมาก
3.ชื่ออื่นๆ ได้แก่ Chicken guinea, Chicken gunaya และ Chickengunya
4.แม้ว่าชื่อโรคจะพ้องกับคำว่า “Chicken” แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับไก่แต่อย่างใด
5.รายงานทางการแพทย์สองฉบับตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1955 บรรยายลักษณะของโรคนี้เป็นครั้งแรก “An epidemic of virus disease in Southern Province, Tanganyika Territory, in 1952-53. II. General description and epidemiology” โดย W.H.R. Lumsden และ “An epidemic of virus disease in Southern Province, Tanganyika Territory, in 1952-53. I. Clinical features.” โดย M. Robinson เป็นรายงานการติดเชื้อที่ Makonde Plateau ซึ่งพบว่ามีความคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่
6.ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 เป็นต้นมา พบลักษณะการระบาดของโรคชิคุนกุนยาเป็นรอบๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 1960 ถึง 1982 ในประเทศแอฟริกา และเอเชีย จากนั้นโรคนี้หายไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งกลับมาระบาดอีกครั้งนับแต่ปี ค.ศ. 1999 นับจากปีค.ศ.2003 พบการระบาดบ่อยขึ้นมากใน south India
รายงานผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา
1952 – รายงานการระบาดใน Makonde Plateau
1955 – Marion Robinson และ W.H.R. Lumsden พบเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา และบรรยายลักษณะของโรคเป็นครั้งแรก
1963/64 – พบในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมือง calcutta, maharashtra และ vellore พบผู้ป่วยมากกว่า 100,000 รายที่เมือง lakhs เสียชีวิตมากกว่า 200 ราย
1969 – รายงานผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาที่ประเทศ Srilanka
1975 – พบโรคชิคุนกุนยาที่ประเทศ Vietnam และ Myanmar
1982 – รายงานผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาที่ประเทศ Indonesia
2005/2006 – พบโรคชิคุนกุนยาที่ Reunion Islands มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 ราย และพบรายงานผู้ป่วยจากรัฐทางใต้ของประเทศอินเดีย ได้แก่ Kerala, Karnataka, Tamil Nadu และ Andhra Pradhesh
2007/2008 – มีรายงานโรคชิคุนกุนยากระจายไปทั่วประเทศอินเดีย ระบาดไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น Maldives และ Pakistan ในช่วงปลายปี 2008 พบโรคนี้ที่ประเทศ Italy, Singapore และ Australia
นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์