โรคไขข้อพาลินโดรมิก (Palindromic Rheumatism)

โรคไขข้อพาลินโดรมิก (Palindromic Rheumatism)หรือเรียกย่อๆ ว่า PR เป็นโรคข้ออักเสบชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุโดยพบว่ามีข้ออักเสบเป็นๆ หายๆ แต่ละครั้งไม่เกิน 2 วันอาการข้ออักเสบอาจเป็นได้ทั้งข้อเล็ก และข้อใหญ่ครั้งแรกๆอาจเป็นเพียงข้อเดียว ข้อที่อักเสบมีอาการปวด บวม แดง ร้อนซึ่งเป็นลักษณะของการอักเสบ บางคนแนะนำให้สังเกตอาการเด่นของโรคนี้ดังนี้ “ข้ออักเสบ” “เป็นเร็วหายเร็ว” “น้อยข้อ” “เรื้อรังอย่างน้อย 2 ปี”โดยเฉลี่ยพบโรคไขข้อพาลินโดรมิกในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยแต่ก็พบได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวถึงวัยสูงอายุ ชายหญิงพบโรคนี้พอๆ กันเมื่อพิจารณาจากรากศัพท์ คำว่า palindromic มาจากภาษากรีก มีความหมายว่า “กลับมาอีกครั้งหนึ่ง” (to run back, to recur) บ่งบอกถึงลักษณะของโรคนี้ที่เป็นๆ หายๆ เกิดได้รวดเร็วและหายได้รวดเร็วเช่นกัน สลับช่วงปลอดอาการผู้ป่วยโรคไขข้อพาลินโดรมิกบางรายอาการเป็นๆ หายๆ ระยะเวลาไม่สม่ำเสมอส่วนมากเป็นข้อเดียว แต่อาจเป็นหลายข้อก็ได้ บางรายอาจมีอาการขึ้นๆ ลงๆมากบ้างน้อยบ้าง หรืออาการของโรคเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลาที่สม่ำเสมอ

          เมื่อติดตามผู้ป่วยโรคไขข้อพาลินโดรมิกไปเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งจะกลายไปเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดใดชนิดหนึ่งที่พบบ่อยคือจากโรคไขข้อพาลินโดรมิกกลายเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์โรคไขข้อพาลินโดรมิกอาจเปลี่ยนไปเป็นโรคข้ออักเสบอื่นๆ เช่นโรคลูปุสหรือเอสแอลอี โรคข้ออักเสบชนิด SNSA เป็นต้นแต่อีกส่วนหนึ่งก็จะยังคงปวดข้อเป็นๆหายๆ ต่อไปปัจจัยที่อาจทำให้โรคเปลี่ยนแปลงไปยังไม่ชัดเจนแต่ผู้ป่วยที่มีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ในเลือดให้ผลบวกขณะวินิจฉัยมีโอกาสที่จะเปลี่ยนไปเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในอนาคตได้มากกว่าธรรมดา

สาเหตุ

1.ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
2.ผู้ป่วยบางคนสามารถเชื่อมโยงอาการอักเสบของข้อกับเหตุการณ์บางอย่าง เช่น ออกแรงใช้งานข้อนั้นมากๆ
3.บางรายพบว่าอาการอักเสบมีความสัมพันธ์กับภาวะเครียด และการแปรผันทางอารมณ์

อาการ

1.อาการข้ออักเสบเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน โดยจะแตกต่างกันในแต่ละราย โดยทั่วไปพบครั้งละ 1 ข้อ น้อยครั้งที่พบ 2-3 ข้อ หรือหลายข้อ
2.ข้อที่พบบ่อยตามลำดับดังนี้ ข้อเข่า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อไหล่ ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อกลางเท้า ข้อสะโพก ข้อขากรรไกร ข้อสันหลังส่วนคอ และข้อนิ้วหัวแม่เท้า
3.ระยะเวลาการอักเสบตั้งแต่เริ่มจนหายประมาณ 3-7 วัน การอักเสบแต่ละครั้งทำให้ปวดมากและพิการได้ อาการมักเริ่มช่วงบ่ายเย็น ปวดมากตอนกลางคืน
4.เริ่มปวดจนปวดมากที่สุดใน 2-3 ชั่วโมงความรุนแรงของอาการปวดไม่แน่นอน อาจน้อยมากหรือปวดมากจนแทบทนไม่ได้ความถี่ไม่แน่นอน 2-3 ครั้งต่อปี หรือต่อสัปดาห์ก็ได้
5.หนึ่งในสามของผู้ป่วยทั้งหมดจะมีการอักเสบบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้ข้อร่วมด้วย
6.อาจพบผื่นปื้นสีแดงที่ผิวหนังใกล้ข้อ แดงร้อนลูบแล้วเจ็บ แต่ไม่คันและไม่ชา ขนาดของผื่นประมาณ 2-4 ซม.
7.ระยะแรกมักเป็นซ้ำข้อเดิม แต่ต่อมาจะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ บางคนพบว่าระยะแรกไม่บ่อยครั้งละข้อ ต่อไปจะบ่อย และหลายข้อ
8.มักไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย หรืออาจมีแค่ไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย อาจพบว่ามีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ออกกำลังกาย ใช้ข้อมาก ไปนวดมา ความเครียด อารมณ์เศร้า เป็นต้น

การวินิจฉัย

1.การวินิจฉัยโรคไขข้อพาลินโดรมิก ใช้ลักษณะประวัติอาการเป็นสำคัญ
2.อาการข้ออักเสบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการกลับเป็นซ้ำ ข้อที่อักเสบเพียงข้อเดียวหรือ 2-3 ข้อ
3.แพทย์สังเกตอาการข้ออักเสบอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
4.อาการข้ออักเสบเกิดขึ้นมากกว่า 5 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี
5.ข้อที่อักเสบในแต่ละครั้งน้อยกว่า 2 ข้อ
6.ตรวจภาพรังสีไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด
7.วินิจฉัยแยกโรคจากโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่โรคข้ออักเสบจากผลึกเกลือ เช่น เกาต์หรือเกาต์เทียมซึ่งวินิจฉัยจากการเจาะข้อ และมีวิธีการรักษาต่างกัน
8.ผู้ป่วยที่ปวดข้อจำนวนมากขึ้น เป็นระยะเวลานานขึ้น หายยากขึ้นหรือเอกซเรย์พบการทำลายข้อก็ต้องเปลี่ยนการวินิจฉัยเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังวิธีการรักษาก็จะเปลี่ยนไป

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

1.โดยทั่วไปจะปกติ
2.บางรายมี ESR สูงในช่วงที่มีอาการ
3.ตรวจสารน้ำในข้อพบเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งไม่บ่งชี้ชัดเจน (WBC 150-12700, PMN 2-60, Lym 3-46, Mono 8-24)

การรักษา

1.ในกรณีที่ไม่ได้รักษาอะไร ก็อาจจะหายไปได้เองใน 1 วัน หลังจากนั้นก็จะมีข้ออักเสบอีกเป็นๆ หายๆ ช่วงที่หาย ก็จะหายสนิทเป็นปกติ
2.หลักการรักษาที่สำคัญคือ ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป การรักษาเพียงทำให้อาการน้อยลง เมื่อหยุดยา ก็จะเป็นใหม่
3.พิจารณาใช้ยาแก้ปวด หรือยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น voltarenไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็ควรจะหายเป็นปกติ กรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อย หลายๆ เดือนเป็นครั้ง รักษาเฉพาะช่วงที่เป็นก็พอ ให้ NSAIDs เริ่มเร็ว จะหายเร็ว หากไม่ได้ผลให้ corticorsteroidพิจารณาให้ prednisolone ขนาดยา 5-20 มิลลิกรัมต่อวัน จะได้ผลดีมาก เมื่ออาการหายก็หยุดยาได้ทันที
4.ถ้าเป็นบ่อยมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาต้านมาลาเรีย หรือเกลือทองคำ จนกว่าอาการจะดีขึ้น แล้วค่อยพิจารณาลดยาลง
5.กรณีที่เกิดขึ้นบ่อย เช่น เป็นทุกสัปดาห์ การใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs หรือ steroid อาจไม่เพียงพอ เพราะแค่ทำให้โรคสงบแต่ไม่ได้ป้องกันการเป็นซ้ำ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วย chloroquine 250mg หรือ hydroxychloroquine (200-400mg) ต่อวัน ให้รักษาเหมือนกับโรครูมาตอยด์พอให้ยา 2-3 เดือนอาการจะดีขึ้น ความรุนแรงดีขึ้น ความถี่จะลดลงหากให้หลายๆ เดือนไม่ดีขึ้นให้เปลี่ยนไปฉีดสารเกลือทองคำ จะได้ผลดีหากอาการผู้ป่วยมีลักษณะไปทางรูมาตอยด์ และไม่ได้ผลดีหากอาการบ่งไปทางลูปัส บางรายอาจต้องใช้ยากดอิมมูน เช่น azathiopine, cyclophosphomideร่วมด้วย
6.ส่วนยา colchicines, sulfasalazine และ metrotrexateมักไม่ได้ผลในการป้องกันโรคไขข้อพาลินโดรมิก

พยากรณ์โรค

1.ช่วงที่มีการอักเสบจะปวดมาก และพิการชั่วคราว เนื่องจากใช้การข้อนั้นไม่ได้ เช่น ที่เข่าเดินไม่ได้
2.อาการปวด ทั้งความรุนแรง และระยะเวลาก็แล้วแต่ละรายต่างกันไป
3.จากการติดตามผู้ป่วยในระยะยาว พบว่าร้อยละ 50 จะปวดแบบ palindromic ไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 33 จะกลายเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ร้อยละ 15 โรคสงบหายไปเองและที่เหลือประมาณร้อยละ 5 จะเป็นโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอย่างอื่น เช่น SLE, spondilitis, psoriatic arthritis, Sjogren syndrome เป็นต้น

การป้องกัน

เนื่องจากยังไม่ทราบตัวกระตุ้นที่แน่ชัด ในปัจจุบันจึงยังไม่ทราบวิธีป้องกันที่ได้ผลดี

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top