โรคโปลิโอ (Polio)

โปลิโอ เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ เชื้อนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของประสาทไขสันหลัง เป็นสาเหตุให้ขาพิการไปจนตลอดชีวิต ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้ออย่างถาวร เป็นผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้ มักจะพบโรคนี้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ปัจจุบันพบได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีการให้วัคซีนป้องกันได้อย่างทั่วถึง

          สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ (poliovirus) ติดต่อโดยการกินหรือสูดเอาเชื้อเข้าไปในร่างกาย แล้วทำให้ประสาทไขสันหลังส่วนที่บังคับการทำงานของกล้ามเนื้อเสียไป ถ้าเป็นรุนแรงประสาทสมองจะเสียด้วย เชื้อไวรัสโปลิโอสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่ายมาก โดยผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจะขับถ่ายไวรัสโปลิโอปนออกมากับอุจจาระ แล้วไวรัสผ่านเข้าสู่ร่างกายผู้อื่นทางปาก โดยเชื้ออาจติดมากับมือ หรือปนเปื้อนกับอาหาร หรือน้ำดื่ม หากผู้ที่ได้รับเชื้อโปลิโอยังไม่มีภูมิคุ้มกัน โรคจะมีการติดเชื้อเกือบทุกราย แม้ว่าส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อโปลิโอจะไม่มีอาการ ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้เช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการ ผู้ติดเชื้อโปลิโอทั้งในรายที่มีอาการและไม่มีอาการจะสามารถถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

วิธีการแพร่เชื้อ 

          พบว่าติดต่อได้โดยตรงโดยการใกล้ชิดกับผู้ป่วย และสามารถติดต่อจากนมหรืออาหารที่ปนเปื้อนกับอุจจาระ ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถติดต่อทางแมลง ขยะ หรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระ การติดต่อโดยการรับประทานเชื้อเข้าไปเป็นวิธีการติดต่อที่สำคัญในพื้นที่ที่มีการสุขาภิบาลไม่ดี แต่ในพื้นที่ที่มีการสุขาภิบาลที่ดีหรือในภาวะการระบาด มักพบการติดต่อจากสารคัดหลั่งบริเวณลำคอเป็นสำคัญ เชื้อไวรัสโปลิโอพบได้จำนวนมาก และมีชีวิตอยู่ในอุจจาระได้นานกว่าในสารคัดหลั่งบริเวณลำคอ หลังจากคนได้รับเชื้อจากการกิน ไวรัสโปลิโอจะไปเพิ่มจำนวนในทางเดินอาหาร และตามมาด้วยการมีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด ซึ่งสามารถกระจายเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง และรบกวนการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อต่างๆ เป็นผลทำให้เกิดภาวะอัมพาตของกล้ามเนื้อ ซึ่งมักพบในบริเวณส่วนล่างของร่างกาย เช่น ขาทั้งสองข้าง

ระยะฟักตัวของเชื้อ

          โดยปกติประมาณ 7-14 วันในรายที่มีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อ แต่พบว่ามีรายงานตั้งแต่ 3-35 วัน ส่วนระยะติดต่อของโรคนั้น ยังไม่ทราบระยะเวลาการติดต่อที่แน่นอน ไวรัสโปลิโอสามารถตรวจพบได้ในสารคัดหลั่งที่ลำคอ ภายใน 36 ชั่วโมง หรือในอุจจาระภายใน 72 ชั่วโมงหลังการติดเชื้อ ทั้งแบบที่แสดงอาการ และไม่แสดงอาการ และจะพบไวรัสอยู่ที่ลำคอได้นานประมาณ 1 สัปดาห์ และพบในอุจจาระนาน 3-6 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ดังนั้น ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อไวรัสโปลิโอจะสามารถเริ่มแพร่เชื้อต่อไปยังบุคคลอื่นได้ในระยะ 2-3 วันแรก ทั้งก่อนและหลังเริ่มมีอาการแล้ว คนทั่วไปสามารถติดเชื้อไวรัสโปลิโอได้ง่าย แต่น้อยรายที่จะมีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อ อัตราการติดเชื้อและมีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อร่วมด้วย จะเพิ่มมากขึ้นในกรณีที่ติดเชื้อในกลุ่มอายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโปลิโอสามารถคงอยู่ได้ตลอดชีวิตหลังการติดเชื้อครั้งแรก ทั้งแบบแสดงอาการและไม่แสดงอาการ การติดเชื้อซ้ำพบได้น้อย และจำนวนมากเกิดจากไวรัสโปลิโอต่างชนิดกัน ภูมิต้านทานต่อไวรัสโปลิโอสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ทารกได้ในระยะสั้นๆ การฉีดวัคซีนอื่นๆ ให้กับผู้ที่กำลังอยู่ในระยะฟักตัว สามารถกระตุ้นให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อในบริเวณที่ฉีด การตัดต่อมทอนซิลเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาที่บริเวณก้านสมอง การอ่อนแรงของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ในระยะแรกของอาการจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ มักพบอัมพาตของกล้ามเนื้อตามมา ผู้ที่ตั้งครรภ์พบว่ามีการติดเชื้อชนิดมีอัมพาตของกล้ามเนื้อได้ง่ายกว่าปกติ แต่มักไม่ค่อยพบความปกติของทารก

ลักษณะอาการของโรคโปลิโอ 

          มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อโปลิโอจะไม่มีอาการ ผู้ที่ได้รับเชื้อโปลิโอเข้าร่างกาย ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง หรืออาจมีเพียงอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ท้องเดิน แต่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นทางอุจจาระได้ บางรายมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเพียงเล็กน้อย แล้วหายเป็นปกติดี มีเพียงส่วนน้อยที่อาจพิการ หรือตาย ในกลุ่มผู้ที่มีอาการจะมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่อ อาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เจ็บคอ ท้องผูก บางรายอาจปวดศีรษะมาก มีอาการตึงของกล้าม เนื้อบริเวณคอด้านหลัง ตามลำคอและขา รายที่มีอาการรุนแรง กล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรง ตามมาด้วย การเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อ แขน ขา ซึ่งจะทำให้เกิดความพิการได้ ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการอัมพาตของแขนขาทั้งหมด อาการเริ่มแรกมีอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ อาจมีน้ำมูก ท้องอืด คลื่นไส้ ท้องเดิน หรือท้องผูกร่วมด้วย ต่อมาอาจมีอาการคอแข็ง หลังแข็ง กล้ามเนื้อแขนขามีอาการปวดเจ็บ เต้นกระตุก และอ่อนปวกเปียกในเวลาราดเร็ว
ส่วนมากพบที่ขาเพียงข้างเดียว อาการเหล่านี้เกิดขึ้นขณะที่ยังมีไข้

          ในรายที่รุนแรงมากอาจมีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ถ้ากล้ามเนื้อกะบังลมและกล้ามเนื้อหน้าอกเป็นอัมพาต จะทำให้หายใจไม่ได้ มีอันตรายถึงตายได้ ในทารกอาจมีอาการแขนขาอ่อนปวกเปียก โดยไม่มีอาการไข้นำมาก่อนก็ได้ สิ่งตรวจพบ ไข้ ขาอ่อนปวกเปียก แต่ยังรู้สึกเจ็บ เมื่อใช้ค้อนยางเคาะดูรีเฟลกซ์ของข้อเข่าและข้อเท้า จะพบว่ามีน้อยหรือไม่มีเลย ถ้าเป็นมาก จะมีอาการเป็นอัมพาตทั้งตัวและหายใจลำบาก คอแข็ง หลังแข็ง อาการแทรกซ้อน คนที่มีอาการเฉพาะที่ขา ส่วนหนึ่งจะหายและแข็งแรงเป็นปกติ ส่วนหนึ่งอาจจะค่อยๆดีขึ้นจนเกือบปกติ แต่ส่วนหนึ่งจะพิการตลอดไป ถ้าเชื้อโรคลุกลามขึ้นสมอง จะทำให้หยุดหายใจตายได้ หรือไม่ก็มีโรคแทรก เช่น ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปวดบวมน้ำ

การรักษา

          ขณะนี้ยังไม่มียารักษาโรคโปลิโอโดยเฉพาะ การรักษาจะเป็นแบบประคับประคอง เช่น ให้ยาลดไข้ และลดอาการปวดของกล้ามเนื้อ ในรายที่มีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อแขน ขา การทำกายภาพ บำบัดจะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อให้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความพิการได้ ในรายที่มีอาการ อัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ ก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยที่ขาพิการ การรักษาทางกายภาพบำบัดรวมทั้งการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินจะช่วยให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองได้ พ่อแม่พี่น้องควรให้ความเห็นใจ เอาใจใส่ดูแลให้เด็กได้รับความอบอุ่นทางจิตใจ

การรักษาในรายที่มีเพียงอาการขาอ่อนปวกเปียก ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อการวินิฉัยที่แน่ชัด หากเป็นโรคนี้จริงก็ให้การรักษาตามอาการ โดยนอนพักอย่างเต็มที่ เอาผ้าชุบน้ำอุ่นประคบตามกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บ แล้วช่วยจับแขนขาให้เคลื่อนไหวไปมา หลังจากนั้น 1 เดือนให้ทำการนวดแบบการนวดคนเป็นอัมพาต และหัดเดิน วิธีการละเอียดควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักกายภาพบำบัด ในรายที่เป็นอัมพาตทั้งตัว หายใจลำบาก ให้รีบส่งโรงพยาบาล อาจต้องทำการช่วยหายใจด้วยวิธีการต่างๆ และรักษาโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

          ที่สำคัญคือการให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับประโยชน์ของการได้รับวัคซีนในเด็ก วัคซีนทั้งแบบฉีดและชนิดหยอด สามารถให้ผลดีในการป้องกันโรคโปลิโอได้ บางประเทศใช้ชนิดฉีดเพียงอย่างเดียว บางประเทศใช้ชนิดหยอดเพียงอย่างเดียว และบางประเทศใช้ทั้งสองอย่างรวมกัน ในสหรัฐอเมริการใช้ชนิดหยอดเพราะต้องการเลียนแบบวิธีการติดเชื้อในธรรมชาติ และสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานทั้งในกระแสเลือดและในลำไส้ ซึ่งสามารถป้องกันการแพร่กระจายของโรคจากผู้ติดเชื้อไปยังคนอื่นได้ ในบางประเทศมีรายงานว่าการใช้วัคซีนชนิดหยอดกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานได้น้อยสำหรับสาเหตุน่าจะเกิดจากการเก็บรักษาวัคซีนได้ไม่ดี หรือการรบกวนจากไวรัสอื่นๆ ในลำไส้ หรือจากสาเหตุอื่นๆ การใช้วัคซีนชนิดฉีดสามารถป้องกันการติดเชื้อที่ลำคอได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อในลำไส้ได้ ดังนั้นจึงใช้เพื่อป้องกันการติดต่อทางสารคัดหลั่งที่ลำคอ วัคซีนชนิดฉีดสามารถให้ร่วมกับวัคซีน DTP หรือเป็นตัวเลือกในการใช้แทนวัคซีนชนิดหยอดได้
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดหยอดในโปรแกรมสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา และสามารถรับวัคซีนสนับสนุนจากโรตารี่สากลได้

โปลิโอป้องกันได้โดยการสร้างภูมิคุ้มกัน

          โดยได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดกินตามกำหนดนัดปกติให้ครบ 5 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1, 2, 3 เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน ครั้งที่ 4 ห่างจากครั้งที่ 3 ประมาณ 1 ปี ครั้งที่ 5 ห่างจากครั้งที่ 4 ประมาณ 3 – 4 ปี และรับวัคซีนโปลิโอเพิ่มเติมทุกครั้งเมื่อมีการรณรงค์ นอกจากนี้ต้องป้องกันการติดเชื้อ ยับยั้งโรคแพร่กระจาย โดยการล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดื่มน้ำสะอาด อีกทั้งต้องถ่ายอุจจาระลงส้วมทุกครั้ง และล้างมือหลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง

          มาตรการควบคุมโรคระหว่างประเทศ เนื่องจากโปลิโอเป็นโรคที่อยู่ภายใต้การเฝ้าระวังขององค์การอนามัยโลก หน่วยงานสาธารณสุขในระดับชาติ ต้องเป็นผู้รายงานภาวะการระบาดไปยังองค์การอนามัยโลกด้วยวิธีที่เร็วที่สุด และจะต้องส่งรายงานการระบาดตามไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยในรายงานจะต้องประกอบด้วย แหล่งที่มาของการระบาด ลักษณะและความรุนแรงของการระบาด รวมถึงการบอกชนิดของไวรัสโปลิโอ ที่เป็นสาเหตุของการระบาด นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคก่อนเดินทาง

          การเกิดโรคโปลิโอพบได้ทั่วโลกในช่วงก่อนจะมีโครงการใช้วัคซีนป้องกันอย่างกว้าง จะพบมากในบริเวณที่เป็นเขตอบอุ่น และประเทศที่พัฒนาแล้ว พบผู้ป่วยทั้งแบบประปราย และแบบที่มีการระบาด และมักพบในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง แต่อาจพบแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละปี โปลิโอเป็นโรคที่พบในเด็กและวัยรุ่น แต่บางครั้งในพื้นที่ที่มีการพัฒนามาตรฐานการดำรงชีวิต อาจพบโปลิโอได้ในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนในขณะที่เป็นเด็ก ในพื้นที่ที่พบโปลิโอเป็นโรคประจำถิ่น มักพบมีภูมิต้านทานต่อไวรัสโปลิโอทั้ง 3 ชนิด จากการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ก่อนมีโครงการใช้วัคซีนป้องกันโปลิโอในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี จะเกิดโปลิโอชนิดอัมพาตเป็นส่วนใหญ่ ในประเทศที่มีการใช้วัคซีนป้องกันโปลิโออย่างแพร่หลายแล้ว พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียนในกลุ่มที่มีเศรษฐกิจฐานะต่ำ และกลุ่มผู้นับถือศาสนาบางนิกายที่ปฏิเสธการรับวัคซีน

          ในช่วงปี 1987-1979 พบโรคโปลิโอในสมาชิก ของกลุ่มผู้นับถือศาสนาเดียวกันในเนเธอร์แลนด์ แคนาดา และอเมริกา การใช้วัคซีนทั้งแบบที่เชื้อมีชีวิต และเชื้อตายแล้ว มีผลทำให้ลดอัตราการป่วยด้วยโรคอัมพาตของกล้ามเนื้อทั่วโลกลงได้ ช่วงปี ค.ศ.1978-1988 ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมในยุโรปมีรายงานผู้ป่วยโปลิโอประมาณ 227 รายต่อปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 ไม่มีรายงานผู้ป่วยโปลิโอที่เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอในธรรมชาติ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในช่วง ปี ค.ศ. 1980-1987 มีรายงานผู้ป่วยด้วยโปลิโอที่มีอัมพาตของกล้ามเนื้อประมาณ 9 รายต่อปี ในกลุ่มประเทศที่พัฒนา แล้วโรคโปลิโอที่เกิดจากไวรัสโปลิโอในธรรมชาติได้ถูกกวาดล้างไปจนหมด ผู้ป่วยส่วนน้อยที่ยังพบอยู่มักเกิด จากไวรัสโปลิโอที่ใช้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น หรือเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโปลิโอมาจากที่อื่น

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top