อารมณ์เครียดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
1. เกิดจากสภาพพื้นฐานทางจิตใจของคนแต่ละคน ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดความเครียดได้มากน้อยไม่เหมือนกัน เด็กบางคนเกิดมาพร้อมกับระบบประสาทที่อ่อนไหว ตื่นตัว และเครียดกังวลได้ง่าย บางคนจิตใจหนักแน่นไม่ค่อยหวั่นไหว แม้มีเหตุการณ์ที่น่ากลัวก็ไม่เกิดปฏิกิริยามาก
2. การถูกเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น ถ้ามีเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กเกิดความกลัว หวาดหวั่น เกิดความไม่มั่นคงในอารมณ์ ก็จะฝังใจทำให้เกิดความเครียดเมื่อโตขึ้นได้ง่าย
3. การคิดที่ไม่ดี คิดในแง่ร้าย คิดกังวลล่วงหน้ามากเกินไป ถ้าถูกฝึกให้คิดเช่นนี้มากเกินไปจะติดเป็นนิสัยทำให้เกิดอารมณ์เครียดได้ง่าย
4. การดำเนินชีวิตที่แข่งขัน เร่งรีบ ต่อสู้กันมากเกินไป ขาดการพักผ่อน ทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความเครียด
สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดโรคเครียดได้ทั้งสิ้
อาการ
โรคเครียดไม่ใช่โรคจิตหรือโรคประสาท แต่เป็นโรคทางกายซึ่งเป็นผลจากความเครียด ความเครียดเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น การทำงาน การเรียน เหตุการณ์ในครอบครัวหรือลักษณะการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ แข่งขัน ต่อสู้ ทำให้เกิดความเครียดได้ทั้งสิ้น
คนปกติมีกลไกการปรับตัวเพื่อเอาชนะความเครียดได้ แต่คนบางคนมีความไวต่อความเครียดสูง คนบางคนชอบดำเนินชีวิตซึ่งทำให้เกิดความเครียด หรือคนบางคนมีวิธีคิดไม่ดี ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย
เมื่อจิตใจเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากจนอาจทำงานเรรวน ทำให้อวัยวะภายในร่างกายซึ่งถูกควบคุมโดยประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติไปด้วย เช่น มีการหลั่งกรดออกมาในกระเพาะอาหารมากเกินไป ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร กลายเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นผลจากความเครียด
ความเครียดยังอาจทำให้เกิดโรคทางกายได้อีกหลายระบบ เช่น โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหอบหืด, โรคผิวหนัง, โรคปวดศีรษะไมเกรน, โรคปวดหลังปวดคอ
การรักษา
โรคเครียดเป็นโรคที่รักษาได้ โดยการหาสาเหตุและแก้ไขตามสาเหตุนั้น วิธีการมีดังนี้
1. การรู้จักแบ่งเวลาให้พอเหมาะ มีเวลาทำงานประมาณ 8 ชั่วโมง เวลาผ่อนคลายสนุกสนาน หย่อนใจประมาณ 8 ชั่วโมง
2. รู้จักจังหวะการดำเนินชีวิต ให้เคร่งเครียดจริงจังน้อยลง ลดภาระการงาน-การเรียน ที่ทำ ให้เครียดลงบ้าง
3. มีเวลาทำจิตใจให้สงบบ้าง เช่น สวดมนต์ หรือ ทำสมาธิ
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน
5. มีคนที่สามารถพูดคุยรับฟังปัญหาต่างๆ ได้ ปรับทุกข์หรือปรึกษาปัญหาที่หนักใจอยู่
6. ใช้ยาช่วยตามอาการ เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งให้
7. การรักษาแบบจิตบำบัด เพื่อช่วยให้รู้จักตัวเอง หาวิธีเปลี่ยนแปลงตนเองบ้าง เพื่อให้รู้จักคิดได้ดี ผ่อนคลายตนเองได้ ปรับตัวให้เก่งขึ้นและมีความสนุกกับการดำเนินชีวิตต่อไปได้
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์