โรคหนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria gonorrhoeaเชื้อนี้จะทำให้เกิดโรคเฉพาะที่บริเวณเยื่อเมือก เช่น เยื่อเมือกในท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก เยื่อบุมดลูก ท่อรังไข่ ทวารหนัก เยื่อบุตา เยื่อเมือกในลำคอ ปัจจุบันพบว่าความชุกของโรคหนองในลดลง เนื่องจากมีการใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้น จากการรณรงค์ให้ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria gonorrhoeae เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุท่อปัสสาวะในผู้ชาย และทางปากมดลูกและท่อปัสสาวะของผู้หญิง ทำให้เกิดโรคโดยเชื้อแบคทีเรียเกาะจับเซลล์เยื่อบุชนิดที่ไม่มีขนโบก และสร้างสารพิษ lipopolysaccharide endotoxin รวมทั้งสร้างเอ็นไซม์ IgA proteases ทำให้ความสามารถในการก่อโรคเพิ่มมากขึ้น
ระยะฟักตัว 1 – 14 วัน แต่ที่พบบ่อยคือ 3 – 5 วัน โรคหนองในติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะทางปาก ช่องคลอดหรือทางทวาร การร่วมเพศทางปากจะทำให้เชื้อสามารถติดต่อจากปากไปอวัยวะเพศ หรือจากอวัยวะเพศไปยังปาก หากช่องคลอดหรืออวัยวะดังกล่าวปนเปื้อนหนองที่มีเชื้อก็สามารถติดเชื้อนี้ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการร่วมเพศ ถ้ามีคู่ขามาก ก็จะยิ่งมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น การจับมือหรือการนั่งฝาโถส้วมไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ
อาการ
ผู้ชาย จะมีอาการปัสสาวะแสบและมีหนองไหล บางรายอาจมีอาการน้อย หรือถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการแทรกซ้อนได้ มักจะเกิดอาการหลังจากได้รับเชื้อไปแล้ว 2-5 วัน อาการเริ่มแรกจะรู้สึกระคายเคืองท่อปัสสาวะ หลังจากนั้นจะมีอาการปวดแสบเวลาปัสสาวะ แล้วจึงตามด้วยมีหนองสีเหลืองไหลออกจากท่อปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด อัณฑะบวม หรือมีการอักเสบ
ผู้หญิง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น เป็นหนองหรือมูกปนหนอง ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อยอาจมีอาการอักเสบที่ท่อปัสสาวะ ปากมดลูก ช่องทวารหนัก ถ้าเป็นมากจะมีอาการแทรกซ้อน เช่น เป็นฝีของต่อมบาร์โทลิน, เชื้อโรคอาจลุกลามเข้าสู่โพรงมดลูก ปีกมดลูก ทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ จนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรืออาจเป็นหมันได้ ผู้หญิงที่ได้รับเชื้อนี้จะมีอาการช้ากว่าผู้ชายโดยเฉลี่ยจะเกิดอาการหลังได้รับเชื้อแล้ว 1-3 สัปดาห์
นอกจากนี้ ทั้งชายและหญิงอาจติดโรคที่ลำคอหากมีการร่วมเพศทางปาก
สำหรับทารกแรกเกิด เชื้อหนองในอาจเข้าตาทำให้ตาอักเสบ ขณะคลอดผ่านช่องคลอดมารดาที่มีเชื้อหนองในอยู่ เมื่อเชื้อหนองในเข้าตาเด็ก จะทำให้ตาอักเสบ ถ้าไม่รีบรักษาตาอาจบอดได้ ดังนั้น ทารกเกิดใหม่จะต้องได้รับการหยอดตาด้วยยาปฏิชีวนะทุกราย เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ดวงตา
ถ้ามีการกระจายของเชื้อในกระแสเลือดจะทำให้เกิดการอักเสบของข้อ ที่พบบ่อยคือ ข้อบริเวณข้อมือ หรือเท้า อาจพบที่ข้อศอก หรือหัวเข่าได้ รอยโรคที่ผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการอักเสบที่เส้นเลือดของผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นตุ่มหนองอยู่บนฐานสีแดง กดเจ็บ มักพบที่บริเวณมือ เท้า และแขนขาส่วนปลาย
การติดเชื้อหนองในระหว่างตั้งครรภ์จะจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนล่างได้แก่ บริเวณท่อปัสสาวะ บริเวณด้านข้างของท่อปัสสาวะ ต่อมบาร์โทลิน บริเวณปากช่องคลอด หรือบริเวณปากมดลูก หญิงตั้งครรภ์อาจพบว่ามีการติดเชื้อหนองในบริเวณคอหอยและทวารหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการมีพฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนไปในระหว่างตั้งครรภ์ได้แก่ มีการร่วมเพศทางปากและทางทวารหนักเพิ่มขึ้น ดังนั้นในหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหนองในควรทำการเพาะเชื้อหนองใน ตอนมาฝากครรภ์ครั้งแรก และอีกครั้งตอนอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์
การวินิจฉัย
โรคหนองในสามารถให้การวินิจฉัยได้จากลักษณะประวัติอาการ การตรวจหนองด้วยการย้อมหาเชื้อ การเพาะเชื้อต้นเหตุ เทคนิคใหม่ PCR สามารถตรวจได้ทั้งจากหนองและปัสสาวะ ทั้งนี้แพทย์จะตรวจหาโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ในผู้ชายอาจเกิดภาวะต่อมลูกหมากอักเสบ อัณฑะอักเสบ ท่อปัสสาวะตีบ ทำให้ปัสสาวะไม่ออกและทำให้เป็นหมันได้ สำหรับผู้หญิง อาตเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
ปวดประจำเดือน แท้ง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ
แนวทางการรักษา
โรคหนองในรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่ม Cephalosporin และ Quinolone อาจเป็นชนิดรับประทานหรือชนิดยาฉีด ยาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ Cefixime, Ceftriaxone, Ciprofloxacin, Ofloxacin, Levofloxacin เป็นต้น
เนื่องจากเชื้อมีการดื้อยามากขึ้น จึงต้องรับประทานยาให้ครบ และตรวจซ้ำตามที่แพทย์แนะนำผู้ป่วยโรคหนองในแท้มักจะมีหนองในเทียมร่วมด้วย จึงต้องรักษาพร้อมกันทั้งสองโรคต้องนำหรือแนะนำให้คู่สามี-ภรรยาไปตรวจรักษาด้วย
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์