โรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive neurosis) เป็นโรคประสาทชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยพอสมควร ซึ่งมีอาการย้ำคิด หรือย้ำทำเป็นอาการเด่น อาการย้ำคิด เป็นความคิดที่ผุดเข้ามาในสมองโดยไม่ตั้งใจ และทำให้เกิดความกลัว หรือความกังวล ส่วนอาการย้ำทำ เป็นการกระทำ หรือการคิดเพื่อลดความกลัว หรือความกังวลที่เกิดจากอาการย้ำคิด อาการย้ำคิดย้ำทำบางครั้งก็อาจเกิดขึ้นได้ในคนปกติ
โรคประสาท (neurosis) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีพื้นเพของการพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม ซึ่งชักนำให้ตีค่าตัวเอง ความขัดแย้งใจ ตลอดจนการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คนที่เป็นโรคประสาทจะไม่มีอาการหลงผิด หรือประสาทหลอน ยังอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้หลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริงเหมือนคนที่เป็นโรคจิต(psychosis)คนที่เป็นโรคประสาทรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถ และทนต่อสภาพความบีบคั้นได้น้อย วิตกกังวลและขี้กลัว ตื่นเต้นมากเกินไป มักจะเอาแต่ใจตนเอง และสนใจตัวเองมากเกินไป ไม่ยืดหยุ่น และขาดความเข้าใจในปัญหาต่างๆ รวมทั้งไม่มีความพอใจ และไม่เป็นสุข มีอารมณ์เครียดได้ง่ายความย้ำคิดเป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาในสมองโดยไม่ต้องการ ความย้ำทำเป็นการกระทำซ้ำๆ ที่ผู้นั้นอดไม่ได้ที่จะต้องทำแม้ว่าจะดูโง่ๆ ก็ตาม ที่เหมือนโรคประสาทกลัวคือโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำมักเริ่มในช่วงต้นๆ ของวัยผู้ใหญ่แต่ที่ต่างจากโรคประสาทกลัวคือมันพบได้เท่าๆ กันทั้งหญิง และชาย ปัญหานี้มักเกิดในคนที่พิถีพิถันเจ้าระเบียบตลอดเวลาแต่ก็ไม่แน่เสมอไป ความย้ำคิดถึงการกระทำที่เป็นอันตรายมักไม่มีเหตุผล น้อยรายมากที่ผู้ป่วยจะทำตามความคิดนั้น
สาเหตุ
1.อาการย้ำคิดจะมีลักษณะคิดซ้ำๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความคิดอาจเป็นเรื่องแปลก เช่น คิดจะพูดคำหยาบ คิดจะว่าคนอื่น คิดจะทำร้ายคนอื่นโดย ที่ตนเองก็ไม่อยากจะทำเช่นนั้น อยากจะตัดความคิดออกไป ไม่อยากคิดซ้ำๆ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ความคิดมันจะเกิดขึ้นเองโดยไม่สามารถห้ามได้ ถ้าเป็นมากๆ มักจะกลัวว่าจะทำไปอย่างที่คิดจริงๆ ส่วนอาการย้ำทำ จะมีลักษณะพฤติกรรมทำอะไรซ้ำๆ เช่น เปิดปิดประตู เดินหน้าถอยหลัง ตรวจสอบการปิดไฟฟ้า-เตาแก๊ส หรือล้างมือ การกระทำมักจะเกิดจากความวิตกกังวลภายใน เช่น กังวลว่าไม่ได้ปิดประตู – ปิดแก๊ส หรือมือไม่สะอาด เมื่อได้ทำซ้ำๆ แล้วก็จะสบายใจขึ้น
2.สาเหตุของอาการย้ำคิดย้ำทำมีรากฐานสำคัญมาจากความกลัว โดยเรื่องที่ผู้ป่วยมักจะกลัวมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ กลัวโชคร้าย
กับกลัวความสกปรก ผู้ที่กลัวโชคร้าย เช่น กลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะลงโทษทำให้ต้องยกมือไหว้วัดหรือศาลทุกชนิดที่พบเห็น กลัวปิดประตูหน้าต่างไม่เรียบร้อยแล้วขโมยจะขึ้นบ้าน ทำให้ต้องคอยตรวจตราประตูหน้าต่างทั่วบ้านซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายๆ รอบจึงจะเข้านอนได้ ผู้ที่กลัวสกปรก เช่น ล้างมือซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะยังรู้สึกว่าไม่สะอาด อาบน้ำนานมากเพราะกลัวว่าจะล้างสบู่ออกไม่หมด เดินผ่านกองขี้หมาก็ต้องดูรองเท้าซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะกลัวว่าจะเผลอไปเหยียบมันเข้าการที่คนเราจะป่วยเป็นโรคประสาทนั้น มักจะต้องมีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ที่เป็นตัวสนับสนุนทำให้บุคคลป่วยเป็นโรคประสาท เช่น คนๆ นั้นมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ผิดบิดเบือนไป ประเมินค่าหรือให้ความหมายกับสภาพบีบคั้นจิตใจบางอย่างในลักษณะที่เป็นสิ่งที่มีอันตรายหรือคุกคามต่อชีวิตของตนมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น มักจะมีความวิตกกังวลอย่างรุนแรง และมีพฤติกรรมปกป้องตนเอง เมื่อต้องเผชิญกับการคุกคาม และความวิตกกังวล
อาการ
1.ผู้ที่เป็นโรคประสาทย้ำคิดย้ำจะมีอาการย้ำคิดย้ำทำกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เขาไม่ปรารถนาที่จะคิดหรือต้องการจะทำโดยไม่มีเหตุผล ผู้ป่วยจะมีอาการจดจ่อผูกพันอยู่กับการย้ำคิดย้ำทำมากมายตลอดเวลาเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความรู้สึกผิด และกลัวการลงโทษ
2.ทั้งที่อาการย้ำคิดย้ำทำเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยไม่ต้องการกระทำ ผู้ป่วยต้องการอยากหยุด แต่ก็หยุดไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดีไม่เหมาะสม และไม่มีเหตุผลที่เป็นแบบนั้น
3.บ่อยครั้งมากที่ผู้ป่วยโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำดึงเอาคนในครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ แม่บ้านคนหนึ่งกลัวเชื้อวัณโรคมากจนไม่กล้ากวาดบ้านปล่อยให้ฝุ่นเกาะพื้น เพราะเธอคิดว่าในฝุ่นมีเชื้อโรค และขังลูกให้เล่นอยู่แต่ในคอกทั้งวันไม่ยอมให้คลานไปทั่วบ้านหรือตามทางเดิน
4.อาจพบโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำหลายคนในครอบครัว เคยมีครอบครัวหนึ่ง แม่ และลูกสาว 2 คน นอนเตียงเดียวกัน และมีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำล้างมือ เพราะกลัวสิ่งสกปรกเหมือนกัน ส่วนพ่อกับลูกชาย นอนอีกเตียงหนึ่ง และไม่มีอาการย้ำทำทั้งคู่
ความย้ำทำชนิดเชื่องช้า
โรคประสาทย้ำคิดย้ำทำชนิดที่พบได้บ่อยเป็นความย้ำทำเชื่องช้า ผู้ป่วยใช้เวลาในการทำอะไรๆ นานมาก ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการแต่งตัว ต้องโกนหนวดล่วงหน้าเป็นวันๆ ใช้เวลาในการอาบน้ำนานมาก ความเชื่องช้าเกิดขึ้นกับกิจกรรมประจำวันทุกชนิด
ความย้ำทำเก็บของ
โรคย้ำคิดย้ำทำอีกแบบหนึ่ง คือความย้ำทำเก็บของ อาจเกิดร่วมกับพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำชนิดอื่นได้ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สามารถทิ้งของได้ จะใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการคุ้ยขยะจากการเตรียมอาหารก่อนทิ้งเพื่อป้องกันไม่ให้เผลอทิ้งอาหารที่ยังมีประโยชน์ไป กระดาษเก่าๆ เป็นสิบปีก็ยังเก็บไว้จนไม่มีที่จะเดิน อาจซื้ออาหาร เครื่องกระป๋อง และของอื่นๆ จำนวนมากมาตุนไว้โดยไม่จำเป็น และไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะขาดตลาด ถ้ามีใครมาพยายามเอาของที่สะสมไว้มาหลายยุคหลายสมัยนี้ออกไปจะเกิดความวิตกกังวลมาก
พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับตัวเลข
พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับตัวเลขพบได้บ่อยมาก แต่มักจะไม่ได้รบกวนชีวิตประจำวันมากนัก ผู้ป่วยอาจนับจำนวนตัวอักษรในคำพูดทุกคำเวลาที่คุยกับคนอื่น บางคนคอยนับตัวอักษรบนป้ายบอกทางทุกอัน
ความย้ำคิดกลัวสกปรก
มักเกิดร่วมกับความย้ำทำล้างและพฤติกรรมย้ำติดย้ำทำชนิดหลีกเลี่ยง ผู้ป่วยอาจรู้สึกสกปรกทุกครั้งที่ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ หรือหลังจากเข้าไปใกล้สุนัข และต้องล้าง หรืออาบน้ำเป็นชั่วโมงหลังจากนั้น บางรายมีพฤติกรรมย้ำติดย้ำทำที่ซับซ้อนในการซักเสื้อผ้า ล้างห้อง คนที่รู้สึกว่าสุนัขสกปรก อาจหมดเวลาไปกับการหลีกเลี่ยงสุนัข ขนสุนัข หรือแม้กระทั่งตึกที่เคยมีสุนัขอยู่ ความกลัวแบบย้ำคิดไม่ใช่ความกลัวสิ่งนั้นตรงๆ แต่จะกลัวผลที่จินตนาการไปว่าจะเกิดจากมันมากกว่า
การวินิจฉัย
โดยทั่วไปจะถือว่าป่วยเป็นโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ เมื่ออาการย้ำคิดย้ำทำนั้นเป็นมากจนทำให้เกิดปัญหาหนึ่งใน 3 อย่างต่อไปนี้
1.อาการเป็นมากเลิกคิดเลิกทำไม่ได้จนทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ทรมานมาก
2.อาการเป็นมากจนทำให้เสียงานเสียการเพราะมัวแต่ย้ำคิดย้ำทำ หรือต้องคอยหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะมากระตุ้นให้เกิดอาการย้ำคิด
3.อาการต่างๆ ทำให้ต้องทำอะไรที่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้เช่น ต้องกินเหล้ากินเบียร์เพื่อลดความเครียด โกรธ และทำร้ายตัวเอง หรือบางรายเกิดอาการซึมเศร้าอยากตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
การรักษา
- จิตแพทย์สามารถรักษาโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำได้
- การรักษาส่วนใหญ่ใช้หลักการเดียวกับการรักษาโรคประสาทกลัวแต่มักจะใช้เวลานานกว่า และมักต้องรับไว้ในโรงพยาบาล 2-3 สัปดาห์ ตามด้วยการรักษาช่วงสั้นๆ ที่บ้านโดยมีคนในครอบครัวมาช่วยร่วมรักษาด้วย
- โปรแกรมที่ออกแบบเพื่อทำให้ผู้ป่วยเกิดความคุ้นเคย และกำจัดพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำอย่างเป็นระบบตัวต่อตัว ทั้งนี้คนในครอบครัวจำเป็นต้องเข้ามาร่วมมืออย่างใกลัชิดในการรักษาปัญหาย้ำคิดย้ำทำ การเข้าเผชิญจริงๆ โดยมีคนทำให้ดูก่อน โดยผู้รักษาทำให้ดูก่อนโดยละเอียดแล้วให้ผู้ป่วยทำตามบ้าง มีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ
- การทำการรักษาเป็นกลุ่มโดยเอาผู้ป่วยหลายๆ ราย และครอบครัวมารักษาด้วยกัน เพื่อถกกันถึงความลำบากที่แต่ละคนได้รับมา และวิธีที่พวกเขาใช้แก้ปัญหา ระหว่างการพบกันพวกเขาจะทบทวนความคืบหน้า และหาวิธีในการลดพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำที่ยังเหลืออยู่
- ญาติๆ มักถูกดึงเข้าไปช่วยผู้ป่วยทำพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำด้วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำให้มันเป็นมากขึ้น และวิถีชีวิตของครอบครัว และการเลี้ยงลูกอาจเสียหายมาก พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำที่พบบ่อย ได้แก่ การล้าง และการตรวจตราซ้ำๆ ต่อการเปื้อน หรือสิ่งอันตราย การกังวลเกี่ยวกับผม การชักช้าอย่างมาก และการเก็บสะสมของที่ไม่มีประโยชน์ทุกชนิด
- การรักษาโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำใช้หลักการเดียวกับที่ใช้รักษาโรคประสาทกลัว แต่อาจใช้เวลานานกว่า เพราะอาการย่อยๆ แยกออกไปอาจเกี่ยวพันกับชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ผู้ป่วยอาจได้รับการบอกให้จงใจเข้าเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ และไม่ทำพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำนั้นให้นานที่สุด และหัดทนความไม่สบายที่เกิดขึ้น ต้องให้ความสนใจกับรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆที่อาจเกี่ยวข้อง และญาติๆ อาจเป็นผู้ช่วยที่มีค่ามากในการจัดการ โดยคอยเฝ้าดูและชมเชยความคืบหน้า และไม่ยอมทำพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำใดๆ ครอบครัวอาจช่วยในการหาวิธีแก้ปัญหาโดยพบกับครอบครัวอื่นๆ ในกลุ่มแก้ปัญหาศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์