โรคพาร์กินสัน (Parkinsons disease)

image 47

ในปัจจุบันนี้มีความตื่นตัวในโรคพาร์กินสันเป็นอย่างมาก เนื่องจากการที่มีผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอาทิเช่น ดาราภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวู้ดซึ่งได้แก่ ไมเคิร์ล เจ ฟ็อกซ์ นักมวยชื่อก้องโลกอย่าง โมฮัมเหม็ด อาลี หรือแม้กระทั่งสันตะปาปา โป๊ปจอนห์ พอลที่/2 ที่ล่วงลับไปแล้วต่างก็ออกมาเปิดเผยว่าป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน และได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของโรคพาร์กินสันและการรักษาขึ้นมาด้วย

เนื่องในวันพาร์กินสันโรค ที่จะมาถึงในวันที่ 11 เมษายน 2555 นี้ จึงอยากนำเสนอบทความที่ให้ความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับการรักษา ทั้งจากทางการใช้ยาใหม่ๆ และการผ่าตัดสมอง หรือการผ่าตัดสอดสายเข้าลำไส้เล็กเพื่อปลดปล่อยยาอย่างสม่ำเสมอโดยใช้เครื่องปั้มยาช่วย

          มีการคาดการว่าโดยทางสถิติน่าจะมีผู้ป่วย ป่วยด้วยโรคนี้ในประเทศไทย ประมาณ 40,000 ถึง 50,000 คน โดยบางส่วนอาจยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ตลอดจนยังไม่ได้รักษาอย่างถูกวิธี

อาการของโรคพาร์กินสัน อาการหลักของโรคพาร์กินสันประกอบด้วย 4 อาการหลัก ได้แก่

1.อาการสั่น (Rest Tremor)
2.อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle rigidity)
3.อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia)
4.อาการสูญเสียการทรงตัว (Postural instability)
โดยอาการที่อาจพบร่วมด้วยได้แก่อาการน้ำลายไหล เขียนตัวหนังสือเล็ก เดินไม่แกว่งแขน เดินซอยเท้า เท้าติด ยกเท้าลำบาก หกล้มบ่อย พูดเสียงเบาๆอยู่ในลำคอ นอนไม่หลับ เป็นต้น อาการจะเริ่มจากข้างใดข้างหนึ่งและลามไปอีกข้างหนึ่ง โดยที่อาการสองข้างจะไม่เท่ากัน ข้างที่เริ่มเป็นก่อนจะเป็นมากกว่าข้างที่เป็นทีหลัง ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการสั่น เคลื่อนไหวลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ ไหล่ติด ในรายที่สูงอายุอาจมาด้วยอาการหกล้ม ซึ่งนำไปสู่ภาวะกระดูกหักได้

ขั้นตอนการวินิจฉัย

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายเพื่อการวินิจฉัยแยกโรค อาจต้องตรวจเลือด เพื่อทำสแกนสมองโดย CT หรือ MRI เพื่อหาสาเหตุและวินิจฉัยแยกโรค และเริ่มจากรักษาด้วยยาทดแทนโดปามีนที่ขาดหายไปจากเซลล์สมองเสื่อม มีการตรวจด้วยวิธีใหม่ๆเช่นการทำ F-dopa PET scan หรือ DAT dopaminergic transportation scan จะสามารถเสริมความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคนี้ได้

การรักษา

image 48

          ในปัจจุบันการรักษาด้วยยายังคงเป็นการรักษาที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในช่วงต้นของอาการ โดยยากลุ่มใหม่ๆที่ใช้ในการรักษาจะเป็นยาชนิดออกฤทธิ์ยาว ใช้กินเพียงแค่วันละ 1 ครั้ง ก็สามารถควบคุมอาการได้ 24 ชั่วโมง เช่น pramipexole หรือ ropinirole หรือยาชนิดแผ่นแปะบริเวณผิวหนัง ได้แก่ Rotigotine patch ซึ่งยาชนิดใหม่ทั้ง 3 ตัวนี้ เป็นยากลุ่มโดปามีนอโกนิส(dopamine agonists) ชนิดออกฤทธิ์ยาว ซึ่งถ้าใช้ในระยะเริ่มต้นจะช่วยชะลอการใช้ยา Levodopa ได้ ซึ่งทำให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวเช่นอาการยาหมดฤทธิ์ก่อนเวลาอันควร (wearing off) หรืออาการตัวยุกยิกรำละคร (dyskinesias)ลดน้อยลงได้ ส่วนยาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นยาใหม่ คือยา Rasagiline ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม MAO-B inhibitor ซึ่งนอกจากมีฤทธิ์ในการลดอาการของโรคพาร์กินสันได้แล้ว อาจยังสามารถชลอความเสื่อมของโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย ส่วนยา Stalevo เป็นยาที่มีส่วนประกอบของยา levodopa ร่วมกับ entacapone และ carbidopa ซึ่งสามารถยืดระยะเวลาให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้นานขึ้นกว่าเดิม

ส่วนในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากโรคนี้และยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง ทำให้การปรับยาเป็นไปได้ยากขึ้น จึงมีการรักษาด้วยวิธีใหม่ๆ โดยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ

1.การผ่าตัดสอดสายเข้าทางหน้าท้องสู่ลำไส้เล็ก และเชื่อมต่อสายหน้าท้องกับยา Duodopa ซึ่งเป็นยา Levodopa gel โดยใช้ปั้มยาเข้าสู่ลำไส้เล็กตลอดเวลา ทำให้การดูดซับยาดีขึ้น ใช้ยาขนาดน้อยลงและยาออกฤทธิ์ได้ยาวขึ้นมาก ช่วยลดอาการของโรคพาร์กินสันในระยะรุนแรง และสามารถปรับขนาดของยาที่ให้ได้ตลอดเวลาตามอาการของโรค
2.การผ่าตัดสมอง Deep Brain Stimulation เป็นการฝังสายไฟในสมองส่วนลึก โดยการเจาะผ่านรูเล็กๆ บริเวณกะโหลกศีรษะ และเชื่อมต่อสายเข้ากับแบตเตอรี่ขนาดเล็กที่บริเวณหน้าอก ซึ่งสามารถตั้งโปรแกรมได้ตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย และทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ออกฤทธิ์ได้ยาวขึ้น ภาวะแทรกซ้อนน้อยลง และยังสามารถลดปริมาณยาที่กินอยู่ลงได้ 30-50% ทำให้ภาวะแทรกซ้อนจากยาลดลงด้วย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นกว่าเดิมมากส่วนอาการทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (non motor symptoms) เช่น ความจำหลงลืม การนอนหลับที่ผิดปรกติ ฝันร้าย ประสาทหลอน ความผิดปรกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่นความดันต่ำ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่อยู่ ความเสื่อมทางเพศ ท้องผูก เหล่านี้เป็นอาการที่พบได้ของโรคนี้ และสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้

          ในปัจจุบันโรคพาร์กินสันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม รวมทั้งการเปลี่ยนถ่ายของเซล์ตัวอ่อน(Stem Cell) หรือ วิธีล้างสารตกค้างจากร่างกาย (Chelation) เนื่องจากเรายังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ว่าเกิดจากอะไร แต่ในปัจจุบันนักวิทยาศาตร์และแพทย์ได้มีการตั้งสมมุติฐานและทำการทดลองเพื่อหาสาเหตุของโรคนี้และหาทางหยุดยั้งการเสื่อมของเซลล์สมอง รวมทั้งทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสและความหวังของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้

เอกสารอ้างอิง

  • Parkinson J. An Essay on the Shaking Palsy. London: Whittingham and Rowland for Sherwood, Neely and Jones; 1817.
  • de Lau LM, Breteler MM. Epidemiology of Parkinson’s disease. Lancet Neurol 2006;5:525–535.
  • Obeso JA, Olanow CW, Nutt JG. Levodopa motor complications in Parkinson’s disease. Trends Neurosci 2000; 23(10 suppl)S2–S7.
  • Lang AP, Lozano AE. Parkinson’s disease. N Engl J Med 1998;339:1044 –1053 Stacy M, Jankovic J. Differential diagnosis of Parkinson’s disease and the Parkinsonism plus syndromes. Neurol Clin 1992;10:341–359.
  • Olanow CW, Jenner P, Brooks D. Dopamine agonists and neuroprotection in Parkinson’s disease. Ann Neurol 1998;44(3 suppl 1):S167–S174
  • Rascol O, Perez-Lloret S. Rotigotine transdermal delivery for the treatment of Parkinson’s disease. Expert Opin Pharmacother 2009;10:677–691.
  • Pham DQ, Nogid A. Rotigotine transdermal system for the treatment of Parkinson’s disease. Clin Ther 2008;30:813–824.
  • Eggert K, Schrader C, Hahn M, et al. Continuous jejunal levodopa infusion in patients with advanced parkinson disease: practical aspects and outcome of motor and non-motor complications.Clin Neuropharmacol 2008;31:151–166
  • Chaudhuri KR, Schapira AH. Non-motor symptoms of Parkinson’s disease: dopaminergic pathophysiology and treatment. Lancet Neurol 2009;8:464–474
  • Poewe W. Non-motor symptoms in Parkinson’s disease. Eur J Neurol 2008;15(Suppl 1):14–20

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top