พยาธิแคปิลลาเรีย (Capillaria philippinensis) เป็นพยาธิตัวกลมขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก ทำให้เกิดท้องร่วงรุนแรงและเรื้อรัง Chitwood และคณะได้รายงานพยาธิเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2506 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ถือเป็นรายแรกในโลก สี่ปีต่อมา ระหว่างปี พ.ศ.2510 ถึง พ.ศ.2512 ได้เกิดการระบาดใหญ่บนเกาะลูซอนในประเทศฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดนี้มากกว่า 1000 ราย และเสียชีวิตร้อยละ 30
ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการท้องร่วงเรื้อรัง ซูบผอม และขาดอาหารอย่างรุนแรง จนถึงกับเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษา โรคนี้มีรายงานพบเฉพาะในทวีปเอเชีย เช่นประเทศฟิลิปปินส์ ไทย และญี่ปุ่น และเร็วๆนี้มีรายงานจากประเทศอิหร่านในประเทศไทยมีการพบครั้งแรกเมื่อปี 2516 ที่ อ.บางพลีจ.สมุทรปราการ และในปี 2524 มีรายงานการระบาดที่ อ.บึงไพร จ.ศรีสะเกษ พบผู้ป่วยนับ 100 ราย และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย จากนั้นก็ยังมีรายงานการพบผู้ป่วยโรคพยาธิแคปิลลาเรียเป็นระยะในทุกภาคของ ประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 มีรายงานการระบาดของโรคท้องร่วงเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิแคปิลลา เรียครั้งแรกในไทย ที่หมู่บ้าน อาหวด หมู่ 9 ตำบลดินแดง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 20 ราย และต่อมามีรายงานจำนวนเพิ่มเติมจากการระบาดในจังหวัดศรีสะเกษอีกเป็นจำนวน มาก รายงานส่วนใหญ่ผู้ป่วยอยู่หรือเคยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ นครพนม อุดรธานี มหาสารคาม ภาคกลางพบที่ สมุทรปราการ สระบุรี อยุธยา นครปฐม กำแพงเพชร ภาคเหนือพบที่ เพชรบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่มีนิสัยชอบทานอาหารประเภทดิบๆ สุกๆ เช่น ปลาดิบ โดยเฉพาะก้อยปลา กุ้งดิบ หรือเครื่องในวัวสุกๆ ดิบๆ
สาเหตุ
โรคพยาธิเเคปิลาเรีย เป็นโรคท้องร่วงเรื้อรังที่เกิดจากการกินปลาดิบ นอกเหนือไปจากโรคพยาธิใบไม้ในตับ โรค พยาธิใบไม้ในลำไส้ เเละโรคพยาธิตัวจี๊ด โดยปลาที่นำมาปรุงเป็นอาหารเป็นพวกปลาน้ำจืด ที่ปรุงไม่สุก เช่น ก้อยปลา ก็จะได้รับตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อที่อยู่ในลำไส้ของปลาเข้าไป ในปลาเกล็ดน้ำจืด เช่น ปลาขาวนา ปลาสร้อย ปลาซิว จะมีตัวอ่อนระยะติดต่อในลำไส้ เมื่อกินแบบดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ ตามแบบชาวพื้นเมืองอีสาน พยาธิจะฟักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยพยาธิตัวเมียที่อยู่ในลำไส้คนจะออกลูกได้ทั้งเป็นไข่และเป็นตัว ส่งผลต่อลำไส้เล็กของคนอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้เซลล์บุผนังลำไส้เล็กสูญเสียหน้าที่ในการดูดซึมอาหาร โดยเฉพาะโปรตีน และเกลือแร่ ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ
วงจรชีวิตของพยาธิแคปิลลาเรียยัง ไม่เป็นที่ทราบแน่นอน ตัวแก่ในลำไส้มีขนาดเล็กมาก สีขาว ตัวแก่เพศผู้มีความยาว 2.3 ถึง 3.17 มิลลิเมตร ตัวแก่เพศเมียมีความยาว 2.5 ถึง 4.3 มิลลิเมตร ไข่มีขนาด 45×21 ไมครอน มีรูปร่างคล้ายถั่ว โดยที่ขั้วทั้งสองข้างมีลักษณะแบน พยาธิอาศัยอยู่ในปลาน้ำจืด สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและเจริญเติบโตของตัวอ่อน เข้าใจว่า พวกนกกินปลา เป็นแหล่งเก็บเชื้อ เมื่อสัตว์หรือคนทานปลาดิบๆ เข้าสุ่รางกาย ตัวอ่อนจะเจริญเป็นตัวแก่ในลำไส้เล็กส่วนต้น โดยเฉพาะบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น พบว่ามีการเพิ่มจำนวนในลำไส้คน และเกิดการติดเชื้อภายในร่างกาย นอกจากนี้เชื่อว่ามีการติดเชื้อระหว่างคนกับคนได้
จากการศึกษาในห้องทดลอง พบว่าปลาน้ำจืด 6 ชนิด ได้เเก่ ปลาไน ปลาซิว ปลาตะเพียนขาว ปลากริม ปลาหัวตะกั่ว เเละปลาหางนกยูง สามารถติดเชื้อพยาธินี้ได้ เเต่ไม่ว่าจะเป็นปลาชนิดใดก็ตาม ก็ควรที่จะปรุงให้สุกก่อนนำมารับประทาน
อาการ
ส่วนมากเป็นในผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 20-40 ปี อาการ ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำเรื้อรังนานนับ เดือน บางครั้งถ่ายอุจจาระวันละ 10-15 ครั้ง อุจจาระมีกากอาหารที่ไม่ย่อย มีไขมันลอย ท้องร้องโครกคราก โดยเฉพาะตอนกลางคืน ผู้ป่วยมักไม่มีไข้ ช่วงแรกรับประทานอาหารได้ดี แต่น้ำหนักตัวลดลงอาจถึง 10 กก.ในเวลาไม่กี่เดือนถ้ามีอาการรุนแรงจะพบ ภาวะซีด เบื่ออาหาร ร่างกายซูบผอม กล้ามเนื้อลีบ อ่อนเพลีย ใบหน้าบวม ท้องโต มานน้ำ ขาและเท้าบวมกดบุ๋ม บางรายความดันโลหิตต่ำ เกิดภาวะช็อก หากตรวจไม่พบพยาธิในอุจจาระ อาจถูกสงสัยว่าเป็นโรคไต ตับ หัวใจ เอดส์ หรือมะเร็งลำไส้ เนื่องจากมีอาการคล้ายกัน การวินิจฉัยโรคที่ล่าช้า ทำให้รักษาไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยกรณีที่โรครุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเกิดการสูญเสียโปรตีนทางลำไส้ มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ สูญเสียการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน ถ้าเป็นรุนแรงและทิ้งไว้นาน ผู้ป่วยอาจถึงกับเสียชีวิตได้
พยาธิสภาพของโรคนี้ จะ พบว่าผนังลำไส้เล็กหนา พื้นผิวนูน ลำไส้มักจะพองและมีของเหลวขังอยู่ภายใน ตรวจของเหลวเหล่านี้พบตัวแก่ ตัวอ่อน และไข่ ของพยาธิชนิดนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบของเหลวชนิดเดียวกันนี้ได้ที่ กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ทางเดินหายใจส่วนต้น และลำไส้ใหญ่ เมื่อตรวจชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบตัวแก่และตัวอ่อนฝังตัวที่บริเวณกระเปาะของเยื่อบุผิว บางครั้งส่วนปลายของตัวแก่ไชทะลุถึงชั้นกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ ในชั้นนี้อาจพบตัวอ่อนและไข่ฝังอยู่ด้วย โดยทั่วไปผิวโบกของลำไส้มักจะแบนราบและหดหายไป
พยาธิสภาพดังกล่าวเป็น สาเหตุทำให้การดูดซึมอาหารเป็นไปด้วยความลำบาก ทำให้ผู้ป่วยเกิดสภาวะขาดอาหารได้ นอกจากนี้ยังพบช่องว่างในซัยโตพลาสม์ของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อลาย และไต เนื่องจากเกิดภาวะโปแตสเซียมต่ำในเลือด ที่ตับพบการตายของเซลล์บริเวณส่วนกลางของโลบูล และพบการเปลี่ยนแปลงของสารไขมันในตับ นอกจากนี้ยังอาจพบร่วมกับพยาธิอื่นๆ ได้ เช่น พบพยาธิปากขอ พยาธิในตับ พยาธิไส้เดือนกลม พยาธิแส้ม้า และพยาธิใบไม้ในตับ เป็นต้น
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโดยการตรวจอุจจาระพบไข่ ตัวแก่หรือตัวอ่อนของพยาธิ์ชนิดนี้หรือตรวจชิ้นเนื้อพบตัวแก่หรือตัวอ่อนภายในลำไส้ ซึ่งในทางปฏิบัติการวินิจฉัยโรคทำได้อย่างยากลำบาก เพราะต้องตรวจอุจจาระซ้ำหลายครั้ง จากการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทางคณะวู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอยแก่นได้ค้นพบวิธีการตรวจวินิจฉัย และพัฒนาวิธีอิมมิวโนบลอทติ้ง เพื่อตรวจหาแอนติบอดี้ ที่พยาธิแคปิลลาเรียสร้างขึ้นในซีรั่มผู้ป่วย แทนการตรวจหาปรสิตจากอุจจาระ และวิธีการใหม่นี้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำถึงร้อยละ 100
ผลงานวิจัยเรื่อง “ศักยภาพ ของ Trichinella spiralis antigen ในการวินิจฉัยทางน้ำเหลือง วิทยาต่อโรค capillariasis philippinensis ในคน โดยวิธี immunoblot analysis” (Potential of Trichinella spiralis Antigen for Serodiagnosis of Human capillariasis philippinensis by Immunoblot Analysis) โดยรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย มาลีวงษ์ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ และรองศาสตราจารย์ ดร.นิมิตร มรกต ได้รับรางวัลชมเชยสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จากสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2549
การรักษา
โรคนี้สามารถทำให้รักษาให้หายขาดได้ ด้วย การกินยาฆ่าพยาธิ ติดต่อกันนาน 10 วัน เป็นอย่างน้อย และให้โปรตีนเสริมเป็นไข่ขาวต้มสุก ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทน อาการถ่ายเหลวจะดีขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ ผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนเพลีย จึงต้องให้น้ำเกลือเเร่ เเละอาหารที่มีโปรตีนสูงๆ ร่วมด้วย ยาที่ให้ผลดีที่สุด คือ mebendazole เเละ albendazole
การป้องกันโรค
โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการกินปลาน้ำจืดที่ปรุงสุกเเล้ว การถ่ายอุจจาระลงส้วมให้ถูกสุขลักษณะ
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์