โรคบิดชิเกลล่า (shigellosis)

ในระยะเริ่มแรก อาจมีอาการถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรง จนเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดกับเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ พบในคนทุกเพศทุกวัย สามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารสุก ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำสะอาด โรคแทรกซ้อนอื่นๆ พบได้น้อย เช่น เชื้อแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดทำให้เกิดโรคข้ออักเสบเฉียบพลัน หรืออาจทำให้ลำไส้อักเสบรุนแรงจนลำไส้ทะลุ ทำให้เยื่อบุช่องท้องเกิดการอักเสบ โรคนี้ปัจจุบันเรียกว่า “บิดชิเกลล่า” ซึ่งเรียกทับศัพท์อังกฤษตามชื่อเชื้อที่เป็นสาเหตุ ในสมัยก่อนการวินิจฉัยโรคอาศัยการตรวจหาเชื้อในอุจจาระด้วยการส่องตรวจด้วย กล้องจุลทรรศน์ธรรมดา ถ้าเกิดจากเชื้ออะมีบา ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียว สามารถมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ จึงเรียกว่า บิดมีตัว แต่ถ้าเกิดจากเชื้อบิดชิเกลล่า ซึ่งเป็นแบคทีเรียขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ คือตรวจไม่พบตัวเชื้อ จึงเรียกว่า บิดไม่มีตัว
          โดยทั่วไป “โรคบิด” หมายถึง อาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอยบ่อยครั้ง ส่วน “โรคท้องเสีย” หรือโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ตาม นิยาม และความหมายขององค์การอนามัยโลก หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลวหรือมีน้ำมากกว่าปกติ 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้ง หรือถ่ายมีมูกเลือด 1 ครั้ง ในเวลา 1 วัน กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นโรคท้องเสีย อย่างไรก็ตามความหมายของท้องเสียที่ระบุโดยจำนวนครั้งของการถ่ายอาจแตกต่าง ไปจากนี้ในผู้ป่วยบางราย โดยขึ้นอยู่กับลักษณะ และความถี่ของการขับถ่ายในสภาวะปกติของแต่ละคน สำหรับเด็กเล็กที่ดื่มนมแม่อาจถ่ายอุจจาระเหลวๆ บ่อยครั้งได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากและบ่อยครั้งกว่าที่เคยเป็น แสดงว่าเกิดอาการท้องเสียโดยคำจำกัดความนั้น ร่างกายถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ โดยที่ลักษณะอุจจาระนั้น จะมีปริมาณมากและมีส่วนประกอบเป็นน้ำมากกว่าปกติ

สาเหตุ

1. โรคบิดชิเกลล่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียใน Genus Shigella จัดอยู่ใน Family Enterobacteriaceae เป็นแบคทีเรียที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ชนิดแกรมลบ รูปท่อน ต้องการออกซิเจนในการดำรงชีวิต และไม่สร้างสปอร์
2. เชื้อชิเกลล่าเป็นแบคทีเรียก่อโรคลำไส้ที่สำคัญ และรู้จักกันดีมาเป็นเวลานาน โดยในครั้งแรกเชื้อชิเกลล่าถูกจัดให้เป็นกลุ่มที่เกิดโรค bacillary diarrhea (dysentery) มาตั้งแต่คริสศตวรรษที่ 19 โดยเป็นสาเหตุให้เกิดอาการถ่ายอุจจาระมีเลือดออก และไม่มีเลือด โดยปกติมักพบสาเหตุเริ่มมาจากการแพร่ทางน้ำ ส่วนใหญ่พบในอุจจาระ การติดเชื้อเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อปนอยู่ จำนวนเชื้อที่กินเข้าไปเพียงเล็กน้อยประมาณ 200-1,000 ตัว ก็สามารถก่อโรคได้ ซึ่งต่างจากเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารชนิดอื่นๆ ที่ต้องใช้ปริมาณมากกว่า เชื้อสามารถเข้าไปแบ่งตัวและสามารถทำลายเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ เมื่อเซลล์ตายจะทำให้เกิดการอักเสบ เป็นหนอง และเกิดแผลในลำไส้
3. เชื้อชิเกลล่าแบ่งออกเป็น 4 ซีโรกรุ้ป คือ A, B, C และ D ในปัจจุบันนี้ S. dysenteriae มีทั้งหมด 12 Type (type 1 – 12) ส่วน S. boydii มีทั้งหมด 18 Type (type 1 – 18) ในประเทศไทยพบ S. sonnei มากที่สุด รองลงมาได้แก่ S. flexneri ส่วนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มักพบ S. flexneri และ S. dysenteriae 1
4. เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ภายใน 1-4 วัน จะมีไข้ ท้องเดิน อาเจียน และมีเลือดปนออกมาในอุจจาระภายใน 12-72 ช.ม. ภายหลังจากเริ่มมีอาการ ส่วนมากเป็นอยู่ 3-7 วัน คนเป็นพาหะของเชื้อชิเกลล่าได้ดี ยังไม่เคยมีรายงานว่าพบในสัตว์ (ยกเว้นลิง) ผู้ ป่วยโรคบิดชิเกลล่าที่หายแล้วหรือผู้ได้รับเชื้อแต่ไม่เกิดโรคจำนวนหนึ่ง จะมีเชื้อในอุจจาระต่อไปเป็นเวลาหลายเดือน แต่ไม่พบว่าเป็นพาหะเรื้อรังแบบเชื้อทัยฟอยด์
5. การแพร่ระบาดของเชื้อชิเกลล่า มักเป็นการกระจายแบบบุคคลสู่บุคคล ส่วนการติดเชื้อมักพบการปนเปื้อนในอาหาร และน้ำ เชื้อชิเกลล่าทั้ง 4 ซีโรกรุ้ปเป็นสาเหตุให้เกิดท้องร่วงได้ทั้งหมด การติดต่อของเชื้อมาสู่คน สามารถพบเชื้อได้จากทางเดินอาหารของคน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มักไม่พบในสัตว์ คนที่เป็นพาหะเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ อีกทั้งสามารถพบเชื้อได้จากน้ำ และอาหารที่ไม่สะอาดได้

การเพาะเชื้อชิเกลล่า

1. เชื้อชิเกลล่าเป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปท่อน เป็นแอโรบิคแบคทีเรียไม่สร้างสปอร์ ไม่เคลื่อนไหว จัดอยู่ในสกุล Enterobacteriaceae oxidase negative เชื้อชิเกลล่าสามารถอยู่ในอุจจาระที่ติดตามเสื้อผ้า และโถส้วมได้นานหลายวัน
2. เชื้อชิเกลล่าถูกทำลายได้ง่ายด้วยกรด เช่น กรดฟอร์มิก กรดอะซิติก และบิสมัธซัลฟัยต์ เชื้อนี้ทนต่ออุณหภูมิต่ำได้ดี ขึ้นกับความชื้นที่แตกต่างกัน
3. ในบางสปีชีย์ สามารถสร้างแก๊ซจากการ ferment carbohydrate ได้แก่ S. flexneri 6, S. boydii 13 และ S. boydii 14 ในกรณีที่เปรียบเทียบกับเชื้อ Escherichia เชื้อชิเกลล่าจะมีอัตราการใช้คาร์โบฮัยเดรตต่ำกว่า
4. อาหารเลี้ยงเชื้อ ในระดับ low selective ได้แก่ MaeConkey (MAC) อาหารเลี้ยงเชื้อ moderate to high selective ได้แก่ XLD agar, SS agar, DHL agar, Hektoen Enteric agar (HE) Desoxycholate citrate agar (DCA) สำหรับ SS agar ถ้าใช้ต้องระวังในแง่ที่อาจยับยั้งบางสายพันธุ์ของ S. dysenteriae 1
5. โคโลนีมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ลักษณะกลม ขอบเรียบ ผิวเรียบมัน ไม่มีสี ไม่ทึบแสง เจริญได้ดีบนอาหารเลี้ยงเชื้อ MacConkey agar, SS agar, DHL agar บางครั้งโคโลนีที่พบอาจเป็นลักษณะผิวเมือก ส่วน S. dysenteriae type 1 มักจะมีโคโลนีขนาดเล็กนูน โดยเฉพาะบน XLD จะมีขนาดเล็กและมีสีแดงหรือชมพู มากกว่าเชื้อชิเกลล่ากลุ่มอื่นๆ

อาการ

1. ผู้ป่วยโรคบิดชิเกลล่า จะมีอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอย ประมาณชั่วโมงละ 1-3 ครั้ง มีอาการปวดหน่วงที่ก้นคล้ายถ่ายไม่สุด มูกที่ออกมาจะมีกลิ่นเหม็นไม่มาก คนไข้มักจะมีอาการไข้ตัวร้อนร่วมด้วย และมักจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำแบบท้องเสียนำมาก่อนที่จะถ่ายออกเป็นมูก อาการถ่ายเป็นน้ำอาจเป็นรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะขาดน้ำก็ได้
2. อาการทางคลินิกที่พบได้บ่อย คือ ไข้สูง เกิน 38.5 องศาเซลเซียส นำมาก่อน 2 – 3 วัน โดยไข้อาจนานประมาณ 2 – 3 วัน ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ 2 – 3 ครั้ง ต่อมาถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดเบ่งเหมือนถ่ายไม่สุด ถ่ายกระปิดกระปรอย อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ในเด็กอาจมีอาการชักร่วมด้วย

การวินิจฉัย

          จากการซักถามประวัติอาการและตรวจร่างกาย ถ้าแน่ใจว่าเป็นโรคบิดชิเกลล่า ก็จะให้ยารักษา ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจต้องทำการตรวจอุจจาระ และเพาะเชื้อ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ลำไส้ ใช้เครื่องส่องตรวจทวารหนัก เป็นต้น แล้วทำการรักษาตามสาเหตุที่พบ

เมื่อใดควรไปพบแพทย์

1. อาการปวดท้องรุนแรงหรืออาเจียนมาก หรือกดเจ็บตรงหน้าท้องมาก
2. อาการเป็นบิดนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือน้ำหนักลด
3. กินยา 48 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ทุเลา
4. ประวัติแพ้ยาซัลฟาและเพนิซิลลิน
5. วิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะรักษาตนเอง

การรักษา

1. พิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าไม่เคยแพ้ยากลุ่มซัลฟา ให้กินโคไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) ผู้ใหญ่ครั้งละ 2 เม็ด เด็กโตครั้งละ 1 เม็ด เด็กเล็กใช้ชนิดน้ำครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น ถ้ามีประวัติแพ้ยากลุ่มซัลฟา แต่ไม่แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน ให้กินอะม็อกซีซิลลิน (amoxycillin) ขนาด 250 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่ครั้งละ 1 เม็ด (เด็กครั้งละ 1-2 ช้อนชา) วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
2. ถ้ามีไข้ ให้กินยาลดไข้-พาราเซตามอล
3. ถ้ามีภาวะขาดน้ำ (ปากคอแห้ง ปัสสาวะออกน้อย) ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่
4. โดยทั่วไปหลังกินยารักษา 24-48 ชั่วโมง อาการจะค่อยๆ ทุเลา ควรกินยาอย่างน้อย 5 วัน
5. หลักการรักษาโรคท้องเสียนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนและความถี่ของการ ถ่ายอุจจาระ ถ้าหากผู้ป่วยถ่ายจำนวนมากและบ่อย ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจจะมีอาการช็อคหมดสติได้ อาการไข้ และปวดท้องร่วมกับอาการท้องเสีย ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจจะมีการติดเชื้อในลำไส้ร่วมด้วย ก็ควรจะไปหาแพทย์เช่นกัน แต่ถ้าอาการท้องเสียไม่รุนแรง การรักษาด้วยตนเองโดยการรับประทานอาหารอ่อน หรืออาจดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไป ซึ่งเกลือแร่นี้อาจเป็นเกลือแร่ผง ซึ่งต้องมาละลายกับน้ำต้มสุก หรือเป็นน้ำเกลือแร่ที่ผสมแล้วก็ได้ ไม่ควรดื่มนม ควรงดผักผลไม้ชั่วคราวจนกว่าอาการท้องเสียจะดีขึ้น ไม่ควรกินยาแก้ท้องเสียจำพวกยาที่ทำให้หยุดถ่ายโดยไม่จำเป็น เพราะอาจมีผลเสียทำให้มีท้องอืดหรืออาการแทรกซ้อนอื่นๆ

ความไวต่อยาปฏิชีวนะ

1. จากรายงานของ WHO National Salmoenella and Shigella Center (NSSC) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ได้ทดสอบยืนยันเชื้อจากห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ ผลการทดสอบการดื้อยาต้านจุลชีพด้วยวิธีแผ่นยาต้านจุลชีพ (disc diffusion method ) โดยใช้ยาต้านจุลชีพ 5 ชนิด คือ แอมพิซิลิน (AMP ; 10 mg) , คลอแรมเฟนิคอล (C ; 30 mg) , เซโฟทาซิน (CTX ; 30 mg) , ไตรเมทโทปริม/ซัลฟาเมทท็อกซาโซล (SXT ; 1.25/23.75 mg) นอร์ฟลอกซาซิน (NOR ; 10 mg)
2. พบว่า S. dysenteriae (2 ตัวอย่าง) , S.flexneri (508 ตัวอย่าง) , S.boydii (25 ตัวอย่าง) , S.sonnei (636 ตัวอย่าง) และ Shigella rough strain (3 ตัวอย่าง) มีการดื้อต่อยา AMP เป็น 2 , 358 , 6 , 379 และ 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 100 , 70 , 24 , 60 และ 100 ตามลำดับ) , C เป็น 0 , 281 , 4 , 87 และ 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0 , 55 , 16 , 14 และ 100 ตามลำดับ) CTX เป็น 0 , 96 , 5 , 18 และ 0 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0 , 19 , 20 , 3 และ 0 ตามลำดับ) , SXT เป็น 1 , 351 , 22 , 446 และ 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 50 , 69 , 88 , 70 และ 100 ตามลำดับ)
3. จากการทดสอบการดื้อต่อยา NOR ไม่พบว่ามีเชื้อชิเกลล่าสายพันธุ์ใดดื้อต่อยานี้เลย
4. และจากการศึกษาพบว่าการลดลงของผู้ป่วยที่ติดเชื้อชิเกลล่า เกิดเนื่องจากการมีสุขลักษณะในเรื่องการขับถ่าย และการบริโภคอาหารที่ถูกต้องมากขึ้น ทำให้อัตราการป่วยด้วยโรคนี้ลดลงได้ แต่ยังพบ S. flexneri และ S. sonnei ได้มากกว่าเชื้อชิเกลล่าสายพันธุ์อื่นๆ ตามลำดับ
5. ส่วนผลการทดสอบการดื้อยาพบว่า S. flexneri มีรูปแบบการดื้อยาในระดับที่สูงกว่าเชื้อชิเกลล่าสายพันธุ์อื่นๆ

การป้องกัน

1. สุขวิทยาส่วนบุคคลที่ถูกต้อง
2. ล้างมือฟอกสบู่ ภายหลังเข้าห้องน้ำ
3. ไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยโรคบิดเข้าทำงานสัมผัสอาหาร
4. ระวังการแพร่เชื้อให้คนอื่น โดยถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
5. ล้างมือให้สะอาดก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
6. ควรแยกสำรับอาหารจากคนอื่น หรือถ้าจำเป็นต้องกินร่วมกับคนอื่น ควรใช้ช้อนกลาง
7. เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และเครื่องใช้ส่วนตัว อย่าใช้ปะปนกับคนอื่น

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top