โรคท้าวแสนปม เรียกว่า neurofibromatosis (NF) เป็นโรคพันธุกรรมชนิดหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดความผิดปกติที่กระดูก ระบบประสาท เนื้อเยื่ออ่อน และผิวหนัง ความผิดปกติต่างๆ จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในรายที่รุนแรงจะมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท และอาจเกิดเป็นมะเร็งได้โรคท้าวแสนปมแบ่งเป็นสองชนิดใหญ่ๆ ชนิดแรกเรียกว่า neurofibromatosis 1 (NF-1) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด บางครั้งอาจเรียกว่า peripheral NF ส่วนชนิดที่สอง เรียกว่า neurofibromatosis 2 (NF-2)หรือ central NF โรคท้าวแสนปมชนิดที่ 1 เป็นชนิดที่พบบ่อย พบประมาณ 1 ใน 2,500 ถึง 3,500 คน สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ โดยพบอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ใน 7 อาการ
1.ปานสีกาแฟใส่นมอย่างน้อย 6 ตำแหน่ง
2.พบก้อนเนื้องอกตามผิวหนัง 2 ตุ่มขึ้นไป
3.พบกระที่บริเวณรักแร้ หรือขาหนีบ
4.พบเนื้องอกของเส้นประสาทตา
5.พบเนื้องอกของม่านตา 2 แห่งขึ้นไป
6.พบความผิดปกติของกระดูก
7.มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
1. ปานสีกาแฟใส่นม
มีลักษณะที่เด่นชัด ขอบเขตไม่เรียบ การเปลี่ยนแปลงของสีผิวในปานเท่าๆกัน ส่วนใหญ่จะพบได้มากกว่า 6 ตำแหน่ง แต่ละแห่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1.5 เซนติเมตร ในเด็กเล็กเห็นเพียง5 ตำแหน่ง หรือขนาดมากกว่า 0.5 เซนติเมตร ก็ควรสงสัยว่าเป็นโรคนี้แล้ว ในกรณีที่พบปานสีกาแฟใส่นม มากกว่า 3 ตำแหน่ง พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ในเด็กทั่วไป แต่ถ้าพบเพียง 1 หรือ 2 ตำแหน่ง ถือว่าไม่ผิดปกติแต่อย่างใด
2. ก้อนเนื้องอกตามผิวหนัง
เรียกว่า นิวโรไฟโบรมา เป็นเนื้องอกชนิดไม่ใช่มะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุด อาจพบตุ่มเนื้องอกได้ถึง 9 พันตุ่ม ผู้ป่วยร้อยละ 5 อาจพบมะเร็งของตุ่มที่ผิวหนัง หรือมะเร็งเม็ดเลือด ตัวเนื้องอกประกอบด้วยเซลล์หลายชนิด ได้แก่ ชวานน์เซลล์ ไฟโบรบลาสต์ มาสต์เซลล์ และส่วนที่เป็นหลอดเลือด เกิดขึ้นที่ส่วนใดของเส้นประสาทก็ได้ โดยทั่วไปจัดแบ่งออกเป็นสามชนิด ชนิดติดผิวหนัง ชนิดใต้ผิวหนัง และชนิดเพล็กซิฟอร์ม ชนิดติดผิวหนังและชนิดใต้ผิวหนัง เป็นเนื้องอกที่มีขอบชัด ไม่เฉพาะเจาะจงสำหรับ NF-1 ลักษณะก้อนมีสีน้ำตาล หรืออมชมพู เมื่อกดด้วยนิ้วจะบุ๋มลงไป ส่วนเนื้องอกชนิดเพล็กซิฟอร์มขอบไม่เรียบ ค่อนข้างหนา และเป็นเนื้องอกที่มีความจำเพาะเจาะจงสำหรับโรคนี้
3. กระที่บริเวณรักแร้ หรือขาหนีบ
เป็นลักษณะที่สำคัญที่ช่วยในการวินิจฉัย กระมักเกิดขึ้นในระยะที่เข้าสู่วัยรุ่น และบริเวณกระจะพบก้อนเนื้องอกชนิดเพล็กซิฟอร์มได้บ่อย
4. เนื้องอกของเส้นประสาทตา
ส่วนใหญ่พบเนื้องอกชนิดไกลโอมา แต่ก็มีรายงานว่าเป็นแอสโตรซัยโตมา เมนิงจิโอมา อิเพ็นไดโมมา ได้เหมือนกัน บางรายก่อให้เกิดปัญหาความดันภายในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น บางรายเนื้องอกอาจทำให้ชัก เดินเซ พบความผิดปกติของเส้นประสาทสมอง
5. เนื้องอกของม่านตา
พบเป็นเนื้องอกชนิดฮาร์มาโตมา ลักษณะเป็นรูปโดม พบที่ชั้นผิวของม่านตา ตรวจพบได้จากการส่องกล้องตรวจ ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติแต่อย่างใด ลักษณะดังกล่าวช่วยในการวินิจฉัยโรค
6. ความผิดปกติของกระดูก
มักพบกระดูกต้นขางอก ขาโก่ง บางรายกระดูกใบหน้าผิดปกติ ทำให้เห็นตาโปน กระดูกสันหลังคดงอ ความผิดปกติของกระดูกอาจเกิดจากโรคโดยตรง หรือเกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการเนื้อเยื่อชนิดมีโซเดิร์ม
7. ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ autosomal dominant ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้ โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคคิดเป็นร้อยละห้าสิบ ยีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเส้นประสาทเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ในกรณีของNF-I ความผิดปกติเกิดขึ้นบนโครโมโซมคู่ที่ 17 ส่วนของยีนขนาดใหญ่ เรียกว่า 17q11.2 ซึ่งควบคุมการสร้างโปรตีนชื่อ นิวโรไฟโบรมิน (neurofibromin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีขนาด 327 ดาลตัน และเป็นชนิด tumor suppressor ส่วนกรณีของNF-2 ความผิดปกติเกิดขึ้นบนโครโมโมโซมคู่ที่ 22 ตำแหน่ง 22q11 ปัจุบันยังไม่ทราบว่ายีนดังกล่าวควบคุมการสร้างโปรตีนชนิดใด
ข้อมูลในประเทศไทย
ที่สถาบันโรคผิวหนัง พบผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคท้าวแสนปมชนิดที่ 1 เฉลี่ย 10-15 รายต่อปี ประมาณว่าทั้งประเทศมีผู้ป่วยราว 20,000 คน ส่วนโรคท้าวแสนปมชนิดที่ 2 นั้น พบได้น้อย คือ พบราว 1 ใน 50,000 ถึง 120,000 คน จะไม่มีอาการทางผิวหนัง สามารถวินิจฉัยโรคได้ โดยตรวจพบเนื้องอกของหูชั้นใน และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ปรับปรุง