โรคติดเชื้อไวรัสฮันทาก่อให้เกิดลักษณะกลุ่มอาการทางเดินหายใจอย่างไรผู้ป่วยจะเริ่มปรากฎอาการภายหลังได้รับเชื้อไวรัสฮันทา 1-3 สัปดาห์ โดยมีอาการไข้สูงหนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อต้นขา สะโพก กล้ามเนื้อหลัง และบริเวณหัวไหล่ อาการไข้หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมักจะรุนแรงมากขึ้น ร่วมกับอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรืออุจจาระร่วง ที่น่าสังเกตคือ มักจะไม่พบผื่นผิวหนัง ไม่พบจุดเลือดออกตามตัว และไม่มีอาการบวมรอบตาหรือแขนขา หลังจากนั้นภายใน 4-5 วันต่อมา ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หอบเหนื่อย ต่อมาจะตามด้วยอาการปอดบวมน้ำ และภาวะช็อก ที่สำคัญความผิดปกติของปอดจะมีการลุกลามอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเป็นชั่วโมง
ในระยะที่เริ่มมีอาการของระบบทางเดินหายใจ การตรวจทางห้องปฎิบัติการจะแสดงถึงการรั่วของสารน้ำออกจากหลอดเลือด ตรวจพบความเข้มข้นของเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น ปริมาณของอัลบูมินในเลือดลดลง การตรวจเม็ดเลือดขาวพบว่า มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น การจำแนกประเภทของเม็ดเลือดขาว จะพบมีปริมาณของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลตัวอ่อนสูงขึ้น ร่วมกับพบมีตัวอ่อนของลิมโฟซัยท์ และมีการลดลงของเกร็ดเลือด การลดลงอย่างรวดเร็วของเกร็ดเลือดจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนจากระยะนำเข้าสู่ระยะปอดบวมน้ำ ในทางปฎิติแพทย์จะนึกถึงโรคนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมน้ำ ซึ่งตรวจพบตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล ลิมโฟซัยท์ และมีการลดต่ำลงของเกร็ดเลือด
เชื้อไวรัสฮันทาสามารถมีชีวิตอยู่ได้ 2-3 วันที่อุณหภูมิห้อง ไวรัสถูกทำลายโดยแสงแดด หรือรังสีอัลตราไวโอเล็ต การทำความสะอาดล้างถูหรือซักล้าง โดยใช้ผงซักฟอกตามปกติ สามารถทำลายเชื้อไวรัสฮันทาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เชื้อไวรัสฮันทามีความสามารถที่จะมีชีวิตในอุณหภูมิที่ต่ำ หรือบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็น การใช้กับดักหนูเป็นมาตราการที่นำมาใช้อย่างได้ผลดีในต่างประเทศ หนูที่ตายแล้วต้องนำมาทำลายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วเผาหรือฝังอย่างเป็นระบบด้วยมาตราการป้องกันการระบาดที่เข้มงวด ไม่แนะนำให้ใช้เครื่องดูดฝุ่นในการทำความสะอาดบริเวณที่อาจมีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากหนูโดยเด็ดขาด
ในทวีปอเมริกาเหนือ การติดเชื้อไวรัสฮันทาส่วนใหญ่ก่อให้เกิดโรคกลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจ เรียกว่า Hantavirus Pulmonary Syndrome (HPS) ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญอย่างหนึ่งในปัจจุบัน จึงได้มีการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในทั่วทุกพื้นที่ และได้มีการติดตามเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด ทำให้อัตราการตายจากการระบาดไม่ปรากฎเป็นข่าวคราวใหญ่โตเท่าใดนัก
บางรายพบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ เช่น เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดแบบไม่มีอาการเจ็บหน้าอก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบรุนแรง ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 ลักษณะภาวะปอดบวมน้ำที่เกิดขึ้นจากโรคติดเชื้อไวรัสฮันทา จะตรงข้ามกับปรากฏการณ์ที่พบในภาวะช็อกจากการติดเชื้อรุนแรงสองประการ ประการแรกพบอัตราหัวใจบีบไล่เลือดลดลง และประการที่สอง พบแรงต้านทานในระบบหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นพยาธิสรรีวิทยาที่น่าสนใจทีเดียว ปัจจุบันหลักฐานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ในทางปฏิบัติต้องเน้นเสมอว่า การวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสฮันทาจะต้องนึกถึงโรคก่อน ร่วมกับหลักฐานการระบาดที่พบในท้องถิ่นอาการและอาการแสดงของโรคจะคล้ายคลึงกับโรคหรือภาวะอื่นๆ ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ปัญหาในการวินิจฉัยโรคเกิดเนื่องจากการขาดข้อมูลทางระบาดวิทยาที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา การตรวจทางไวรัสนิยมใช้วิธี ELISA เพื่อตรวจหาแอนติบอดี้ต่อเชื้อไวรัสฮันทา การแปลผลเลือดทำได้สองอย่าง โดยพิจารณาจากชนิดของแอนติบอดี้ หรือตรวจเลือดสองครั้งดูการเปลี่ยนแปลงของแอนติบอดี้ก็ได้ ถ้าจะให้จำเพาะเจาะจงต้องใช้วิธีพิเศษทางพยาธิวิทยา ส่วนการเพาะเชื้อไวรัสในเซลล์หรือในสัตว์ทดลองนั้นทำได้ยาก จึงไม่ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวินิจฉัย
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์