โปแตสเซียมในร่างกาย

โปแตสเซียมเป็นสารเกลือแร่ที่พบส่วนใหญ่ในของเหลวภายในเซลล์ โดยทำงานร่วมกับโซเดียมเพื่อช่วยควบคุมสมดุลของของเหลวในเซลล์ และมีความสำคัญในการควบคุมสมดุลนี้ให้เป็นปกติ อัลโดสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนจากหมวกไตเป็นตัวคอยควบคุมการขับถ่ายโปแตสเซียม การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ คอร์ติโซน หรือ อัลโดสเตอโรน เป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นปัจจัยที่ทำให้โปแตสเซียมในร่างกายลดลง เช่นเดียวกับภาวะท้องร่วงหรืออาเจียนอย่างรุนแรง เหงื่อออกมากเกินไป การผ่าตัดใหญ่หรือบาดแผลใหญ่ ความเครียด เกลือที่มากเกินไปในอาหาร

          สำหรับหน้าที่ภายในเซลล์ของโปแตสเซียม ช่วยควบคุมของเหลวและสมดุลของอิเล็กโทรไลท์ภายในเซลล์ และยังจำเป็นสำหรับการหดตัวของกล้ามเนื้อ และการส่งสัญญาณกระแสประสาท ทั้งเป็นตัวสำคัญในการควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ หากร่างกายขาดโปแตสเซียมนานๆ จะทำให้เกิดมีการสะสมโซเดียมในหัวใจและเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ ทำให้การเผาผลาญกลูโคสไม่ดีพอ เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ กล้ามเนื้อไม่มีแรง เหนื่อยง่ายและนอนไม่หลับ การเต้นหัวใจไม่เป็นปกติ บวม ผนังลำไส้ทำงานผิดปกติทำให้อาหารไม่ย่อยและท้องผูก ไตและปอดทำงานล้มเหลว

          ในทางตรงข้ามความสามารถของไตที่จะขับโปแตสเซียมอาจไม่ดีพอ เป็นผลให้เกิดภาวะโปแตสเซียมมากเกินไป ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ เกิดอาการเจ็บหัวใจ กล้ามเนื้อไม่มีแรงและเกิดเป็นอัมพาต

ประโยชน์ต่อร่างกาย

1. จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตตามปกติ
2. ควบคุมความดันออสโมติคภายในเซลล์ โดยการทำงานร่วมกับโซเดียมเพื่อรักษาภาวะสมดุลน้ำในร่างกาย
3. ช่วยรักษาดุลกรดด่าง โดยร่วมกับฮีโมโกลบิน ฟอสเฟต และคาร์บอเนต ในสภาพเกลือ โดยทำหน้าที่เป็นบัพเฟอร์ให้แก่เม็ดเลือดแดง
4. กระตุ้นการส่งประสาทสำหรับการหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยการทำงานร่วมกับแคลเซียมและโซเดียม และมีบทบาทเฉพาะเกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และทำงานร่วมกับแมกนีเซียมในการคลายตัวของกล้ามเนื้อ
5. โปแตสเซียมมีส่วนสำคัญในการรักษาสุขภาพของผิวหนัง ช่วยให้อาหารแก่กล้ามเนื้ออย่างทั่วถึง และนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง
6. ช่วยร่างกายในการเผาผลาญไขมันและคาร์โบไฮเดรต ช่วยในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสเป็นกลัยโคเจน ซึ่งพร้อมที่จะเก็บที่ตับไว้ใช้ในคราวจำเป็น
7. ช่วยกระตุ้นให้ไตขับของเสียหรือสารพิษออกจากร่างกาย
8. กระตุ้นการทำงานของลำไส้ โดยให้มีการบีบตัวและรัดตัวดีขึ้น
9. ทำงานร่วมกับโซเดียมในการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นไปอย่างปกติ

แหล่งที่พบ

แหล่งที่พบโปแตสเซียมมากที่สุดคือ มันฝรั่งโดยเฉพาะเปลือก และกล้วย นอกจากนี้ยังพบในปลา เนื้อ นม เนย โยเกิร์ต บริวเวอร์ยีสต์ โมลาสหรือน้ำเหลืองอ้อย ข้าวต่างๆ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ รำข้าวสาลี แป้ง ถั่วเหลือง ถั่ว เม็ดอัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน ผักชี ยี่หร่า ผักต่างๆ โดยเฉพาะผักสีเขียว และผลไม้ เช่น กล้วย ส้ม มะม่วง มะละกอ เชอรี่ แอปเปิล ผลไม้แห้ง

ปริมาณที่แนะนำ
– ทารก 3 – 5 เดือน 50 – 925 มิลลิกรัม / วัน
– ทารก 6 – 11 เดือน 425 – 1275 มิลลิกรัม / วัน
– เด็กวัย 1 – 10 ปี 550 – 3000 มิลลิกรัม / วัน
– เด็กโต 11- 18 ปี 1525 – 4275มิลลิกรัม / วัน
– ผู้ใหญ่ 1825 – 5625 มิลลิกรัม / วัน

การดูดซึมโปแตสเซียม

          ร้อยละ 90 ของปริมาณโปแตสเซียมที่ร่างกายได้รับ จะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วจากลำไส้เล็กตอนต้น และถูกขับออกส่วนใหญ่ทางปัสสาวะและเหงื่อ มีเพียงเล็กน้อยที่ถูกขัยออกทางอุจจาระ

การประเมินภาวะสมดุลโปแตสเซียม

1. การประเมินภาวะสมดุลโปแตสเซียมใช้การวิเคราะห์ปริมาณในพลาสมา เมื่อปริมาณสมดุลโปแตสเซียมในเลือดต่ำ จะมีผลต่อระบบความสมดุลของสารน้ำในร่างกาย และมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งมีผลต่อการเต้นของหัวใจ อาจจะเป็นสาเหตุให้หัวใจหยุดการทำงานได้ ในทางตรงกันข้าม ภาวะสมดุลโปแตสเซียมสูงในเลือด อาจเป็นผลมาจากความบกพร่องในการทำงานของไต หรือในกรณีที่มีการเสียน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุทำให้หัวใจหยุดทำงานได้เช่นกัน
2. ปริมาณโปแตสเซียมในปัสสาวะเป็นดัชนีบ่งชี้ที่ดีของสมดุลโปแตสเซียม จากการตรวจปริมาณโปแตสเซียมในปัสสาวะ 24 ชั่วโมงของแต่ละบุคคล ปรากฏว่ามีค่าความเปลี่ยนแปลงในแต่ละวันประมาณร้อยละ 24 โปแตสเซียมเพียงส่วนน้อยที่ขับถ่ายออกมาทางอุจจาระซึ่งจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของอุจจาระ ในการประเมินภาวะโภชนาการของโปแตสเซียมโดยใช้วิธีการเก็บปัสสาวะ จำเป็นต้องติดตามดูแลใกล้ชิด เพื่อที่จะให้ได้ปริมาตรปัสสาวะถูกต้องครบถ้วน หรืออาจใช้สาร PABA เป็นเครื่องมือช่วยประเมินความถูกต้องในการเก็บปัสสาวะทำนองเดียวกันกับการประเมินปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ

ภาวะขาดโปแตสเซียม

       อาการระยะเริ่มแรกของภาวะขาดโปแตสเซียม ได้แก่ อ่อนเพลีย และการทำงานของกล้ามเนื้อประสาทเสื่อม การตอบสนองช้า กล้ามเนื้อหย่อน ในวัยรุ่นสิวจะเกิดในคนชรา ผิวจะแห้ง นอกจากนั้นการขาดโปแตสเซียมจะเป็นสาเหตุทำให้ระบบประสาทผิดปกติ นอนไม่หลับ ท้องผูก หัวใจเต้นช้าและผิดปกติ กล้ามเนื้อจะค่อยๆ ถูกทำลาย เมื่อการขาดโปแตสเซียมทำให้ไม่มีพลังงานที่ไปกล้ามเนื้อ ทำให้ค่อยๆเป็นอัมพาตในที่สุด
          ปริมาณโปแตสเซียมในร่างกายสามารถวัดได้จากการตรวจเลือด แต่ก็มีคนบางกลุ่มซึ่งมีน้อยมากที่ขาดโปแตสเซียมได้ ซึ่งต้องมีสาเหตุมาจากการสูญเสียจากสภาวะบางอย่าง เช่น การสูญเสียน้ำจากร่างกาย อาเจียนหรือท้องร่วง เป็นระยะเวลานาน หรือการใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์ ยาระบาย ทำให้ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำกว่ามาตรฐาน โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย การทำงานของกล้ามเนื้อเสื่อม กล้ามเนื้อไม่มีแรง

การได้รับโปแตสเซียมมากเกินไป

           สภาวะการมีโปแตสเซียมมากเกินไป พบได้น้อย เพราะไตสามารถควบคุมระดับได้ดี ดังนั้นสภาวะนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อมีความผิดปกติในการทำงานของไต หรือได้รับโปแตสเซียมทางเส้นเลือดในอัตราเร็วเกินไป ซึ่งมีผลทำให้ระดับโปแตสเซียมในเลือดมาก ซึ่งมักจะเป็นพร้อมกับเมื่อไตล้มเหลว
           ผู้ป่วยที่มีโพแทสเซียมเกินอาจมีอาการผิดปกติในการรับความรู้สึกทางผิวหนังเช่น เป็นแผลไหม้ คัน ระคายเคืองของหนังหุ้มศีรษะ หน้า ลิ้น กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
           ภาวะเป็นพิษจากการได้รับโปแตสเซียมมากเกินไป เช่น ในทารก หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ทำให้
เกิดระคายเคืองกับระบบทางเดินอาหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีสมรรถภาพของไตทำงานได้ไม่ดี จะมีผลทำให้เกิดโปแตสเซียมในเลือดสูง เพราะไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้ ปริมาณโปแตสเซียมสูงในร่างกายจะทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
         

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top