เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ โดยสกัดมาจากใบของต้นโคคา (Erythroxylum coca) ซึ่งเป็นพืชที่มีถิ่นที่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทอย่างแรงและมีคุณสมบัติเป็นยาชาเฉพาะที่ จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ส่วนประกอบทางเคมีของโคเคน เป็นสารประเภท crystalline tropane alkaloid ซึ่งสกัดมาจากใบของต้นโคคา ซึ่งออกฤทธิ์เป็นสารออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และเป็นสารระงับความหิว โคเคนออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของสารซีโรโทนิน ทำให้ผู้ได้รับสารนี้รู้สึกมีความสุข และมีพลังงานเพิ่มอย่างสูงในระยะเวลาสั้นๆ ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดนี้ส่วนใหญ่มีอาการเครียดหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรง พักผ่อนไม่เพียงพอ และต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดลง
โคเคนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
คือ โคเคนเบส (cocaine base) และเกลือโคเคน เกลือโคเคน ได้แก่ โคเคนไฮโดรคลอไรด์ (cocaine hydrochloride) และโคเคนซัลเฟต (cocaine sulfate) โคเคนมีชื่อเรียกในกลุ่มผู้เสพว่า COKE, Snow, Speed Ball, Crack โคเคนสกัดได้จากใบของต้นโคคา ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ลักลอบปลูกมากในประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น เปรู โบลิเวีย และโคลัมเบีย ในใบโคคาจะมีโคเคนอยู่ประมาณร้อยละ 2 ฤทธิ์ในทางเสพติด โคเคนออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท มีอาการเสพติดทางร่างกายเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับวิธีการและปริมาณที่เสพ พบว่ามีอาการทางจิต และมีอาการขาดยาทางร่างกาย แต่มักจะไม่รุนแรง ความรุนแรงของอาการทางจิตที่เกิดจากโคเคน จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปริมาณและความเร็วของโคเคนที่เข้าสู่สมอง หากสูดผงยาเข้าจมูก จะออกฤทธิ์ภายใน 3 – 5 นาที และหากเสพโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำจะออกฤทธิ์ภายใน 15-30 วินาที โดยยาจะออกฤทธิ์อยู่ได้นาน 20 – 30 นาที
อาการของผู้เสพ
1. หัวใจเต้นแรง ความดันโลหิตสูง กระวนกระวาย ตัวร้อนมีไข้ นอนไม่หลับ และมีอาการซึมเศร้า
2. โคเคนทำให้เกิดภาวะสมองตื่นตัว และมีพละกำลัง อาการที่สังเกตเห็นได้ชัดที่สุด ได้แก่ มือสั่น อัตราการเต้นหัวใจเร็วขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น อาจเกิดอาการชัก หมดสติ ระบบการหายใจล้มเหลว และถึงกับเสียชีวิตได้
3. ผนังจมูกขาดเลือด ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกฝ่อ ขาด หรือทะลุ
4. สมองถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการชัก มีเลือดออกในสมอง เนื้อสมองตายเป็นบางส่วน
5. หัวใจถูกกระตุ้นอยู่เสมอ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมลงทีละน้อยจนหัวใจบีบตัวไม่ไหวทำให้หัวใจล้มเหลว
6. ผู้เสพโคเคนมีอาการเคลิบเคลิ้มเป็นสุข ความวิตกกังวลลดลง อาการประหม่าต่อการเข้าสังคมลดลง มีอารมณ์ทางเพศ การเสพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน อาการโรคจิตซึมเศร้า ได้แก่ อาการพูดพล่ามไม่หยุด เปิดเพลงดังสนั่น ไม่กินอาหาร ไม่หลับไม่นอน และมีความแปรปรวนทางอารมณ์อยู่ตลอดเวลา
7. การเสพติดโคเคนทางจิตใจ ผู้เสพจะติดใจในฤทธิ์เคลิบเคลิ้มเป็นสุขในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อไม่ได้เสพ ผู้ติดยาจะมีอาการกระสับกระส่ายกังวลใจอย่างรุนแรง ร่างกายอ่อนล้าและจิตใจหดหู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เสพติดโคเคนส่วนใหญ่จึงมักเสพยาติดต่อกันไปเรื่อยๆ ก่อให้เกิดปัญหาการได้รับยาเกินขนาด ทำให้เกิดอาการพิษของโคเคนขึ้นได้ ทำให้เกิดอาการชัก ระบบการหายใจล้มเหลว หัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองแตก และเสียชีวิตได้
การรักษา
1. โดยทั่วไปอาการขาดโคเคนมักเป็นไม่รุนแรง
2. ให้การรักษาโดยอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าจะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ร่วมกับการให้ยากล่อมประสาทและยารักษาโรคจิต
3. สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาคือการช่วยผู้ป่วยให้สามารถต้านต่อความรู้สึกอยากเสพสารอีกซึ่งมักรุนแรง
บทกำหนดโทษ
1. โทษทางกฎหมาย: โคเคนจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
2. ผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปี – ตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 ล้าน ถึง 5 ล้านบาท
3. ผู้เสพต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6เดือน – 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์