เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่ป้องกันตัวเอง โดยพยายามขจัดสิ่งแปลกปลอม โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัสก็เช่นเดียวกับการติดเชื้ออื่นๆ แอนติเจนของไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายเปรียบเสมือนข้าศึกบุกเข้าโจมตีฐานที่ตั้ง ร่างกายจะใช้กลไกหลายชนิดในการป้องกันการรุกรานของเชื้อไวรัส ตัวไวรัสประกอบด้วยโปรตีนซึ่งเป็นดีเอ็นเอ หรืออาร์เอนเอ อย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว อยู่ในส่วนกลางของตัวไวรัส ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสนั้นๆ และมีเปลือกหุ้มอีกชั้นเป็นสารโปรตีนที่เรียกว่าแคพซิด เชื้อไวรัสต่างไปจากเซลล์ของคน และสัตว์ที่มีชีวิตอื่นๆ ซึ่งในเซลล์จะมีโปรตีนทั้งสองชนิดเป็นส่วนประกอบอยู่ ไวรัสบางตัวอาจมีเยื่อหุ้มบุอีกชั้นซึ่งมีสารไขมันเป็นส่วนประกอบ ไวรัสไม่มีพลังงานสะสมในตัว ไม่มีการแบ่งตัว ไม่มีการเคลื่อนไหวเมื่ออยู่นอกเซลล์ของคน สัตว์ พืช หรือแม้แต่เชื้อโรคที่ได้รับเชื้อเข้าไป มันจะเพิ่มจำนวน และทำให้เกิดโรคได้ก็ต่อเมื่อเข้าไปอยู่ในเซลล์ของโฮสต์แล้วเท่านั้น ซึ่งเซลล์เหล่านั้นทำหน้าที่เหมือนเป็นโรงงานผลิตเชื้อไวรัสไปโดยปริยาย
เชื้อไวรัสสามารถที่จะแบ่งตัว และขยายจำนวนได้ในเซลล์ของร่างกายมนุษย์ โดยเซลล์ที่มีเชื้อไวรัสอยู่ อาจถูกทำลายไป หรืออาจถูกรุกราน ทำให้เซลล์นั้นทำงานได้ไม่เหมือนปกติ ก่อให้เกิดอาการของโรคต่างๆ ได้ อาการ และโรคบางชนิดที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ อาการไอหรือไข้ในเด็กเป็นต้น โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะไม่มียารักษาโดยเฉพาะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นโรคบางโรคที่ทำให้เกิดอาการไม่ร้ายแรง ก็อาจหายไปได้เอง เพียงแต่รักษาตามอาการที่มีอยู่ พักผ่อนให้เพียงพอ หน่วยของไวรัสเองจะมีรหัสกรดนิวคลีอิคที่เป็นดีเอ็นเอ หรืออาร์เอนเอ ก็ได้แล้วแต่ชนิดของไวรัสนั้น หน่วยของไวรัสไม่มีเครื่องมือสำหรับการแบ่งตัวสร้างหน่วยใหม่โดยตัวเอง มันจึงจำเป็นต้องอาศัยเซลที่มีชีวิตอื่นเพื่อทำการยังชีพ และเพิ่มจำนวนตัวเอง ไวรัสจึงคล้ายๆ พยาธิที่คอยเกาะกินเซลล์ที่มีชีวิต และเพิ่มจำนวนขณะอาศัยอยู่ในเซลล์ร่างกายมนุษย์ บางเซลล์อาจถูกทำลาย บางเซลล์ตกอยู่ในสภาพติดเชื้อเรื้อรัง เช่น พวกไวรัสโรคเริม นอกขากนี้ไวรัสบางพวกเลียนแบบเซลล์ปกติของร่างกาย ก่อให้เกิดการแบ่งตัวจนกลายเป็นเนื้องอกขึ้นมาได้ การเลียนแบบเซลล์ปกติของมนุษย์ทำให้การค้นหาเชื้อเพื่อการวินิจฉัย รวมทังการใช้ยารักษาทำลายเชื้อจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ไวรัสทั่วไปตามธรรมชาติจำเป็นต้องเข้าไปเจริญ และทวีแพร่พันธุ์ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น โดยยีนของไวรัส และยีนของเซลล์ที่เพาะเลี้ยงไวรัสต้องมีกลไกสอดคล้องต้องกัน ไวรัสจะสามารถเจริญแพร่พันธุ์ไวรัสใหม่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์ และชนิดของไวรัส ดังนั้น แต่ละชนิดของไวรัสจึงทำให้เกิดโรคเฉพาะมนุษย์ สัตว์ แมลง พืช สาหร่ายสีน้ำเงิน รา หรือบัคเตรีต่างๆ กัน การเกาะจับกับเซลล์โฮสต์ เกิดขึ้นเมื่อไวรัสเคลื่อนที่มายึดเกาะกับผิวของเซลล์โฮสต์ตรงตำแหน่งที่เหมาะสม หลังจากไวรัสเกาะติดกับเซลล์โฮสต์ไว้แล้ว เยื่อหุ้มเซลล์จะโอบล้อมหน่วยไวรัสไว้ ไวรัสจึงเข้าสู่ภายในเซลล์ได้ทั้งอนุภาค ขั้นตอนการสลายแคปซิด เซลล์โฮสต์จะปล่อยเอนไซม์มาย่อยสลายส่วนของแคปซิด กรดนิวคลิอิกของไวรัสจะแข่งขันกับโครโมโซมของเซลล์เพื่อควบคุมกลไกทางชีววิทยาของเซลล์ กรดนิวคลิอิกของไวรัสเข้าควบคุมกลไกของเซลล์ให้สร้างส่วนประกอบของไวรัสโดยควบคุมให้เซลล์สร้างเอนไซม์ชนิดต่างๆ ขึ้น จนกระทั่งเกิดเป็นไวรัสโดยสมบูรณ์ เป็นระยะที่ส่วนประกอบต่างๆ ของไวรัสที่สร้างขึ้นจะประกอบตัวเองเป็นจำนวนมาก และยังอยู่ภายในเซลล์ สุดท้ายระยะปลดปล่อยออกจากเซลล์ เป็นระยะที่เซลล์โฮสต์แตก ทำให้ไวรัสใหม่ถูกปล่อยออกมาจากเซลล์ แล้วเข้าสู่เซลล์ข้างเคียงต่อไป
อาวุธร้ายของเชื้อไวรัส
1.แอนติเจนที่ผิวของไวรัส เปรียบเสมือนหน่วยจู่โจมที่เข้ามาประชิดเซลล์ของร่างกาย แอนติเจนบางชนิดปรากฎอยู่ที่โครงสร้างภายในของตัวไวรัสเอง นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัสยังมีอาวุธร้ายแรงอีกชนิดหนึ่ง คือ เอ็นซัยม์ที่ไวรัสสร้างขึ้น ซึ่งมีพิษสงแตกต่างกันไป บางชนิดก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ร่างกายเป็นอย่างมาก บางชนิดช่วยให้การติดเชื้อเป็นไปโดยง่าย และลุกลามแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น
2.ไวรัสทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อผิดเพี้ยน นอกจากการทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อโดยตรงแล้ว ไวรัสยังก่อให้เกิดแอนติเจนใหม่ที่ผิวของของเซลล์ที่ติดเชื้อสร้างขึ้น เนื่องจากอิทธิพลของไวรัสที่เข้าไปอยู่ในเซลล์ แอนติเจนใหม่ที่เกิดขึ้นนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้มีปฎิกิริยาตอบสนองซึ่งนำไปสู่การทำลายเซลล์ที่มีแอนติเจนใหม่นั้น จากการศึกษาทางห้องปฏิบัติการพบว่าไวรัสส่วนใหญ่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้แทบทั้งสิ้น
3.ไวรัสบางชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของตัวเองได้มาก ไวรัสบางชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของตัวเองได้มาก เป็นเหตุให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อครั้งแรก ไม่สามารถป้องกันร่างกายเมื่อมีการติดเชื้อในครั้งหลัง
4.การสร้างส่วนประกอบของอาร์เอ็นเอไวรัสทุกขั้นตอนจนถึงการประกอบตัวเองเป็นไวรัสใหม่ จะเกิดขึ้นในไซโตพลาสซึมของเซลล์ แต่ถ้าเป็นไวรัสชนิดดีเอ็นเอ จะจำลองตัวเพิ่มจำนวนในนิวเคลียสของเซลล์แล้วมีการสร้างโปรตีนขึ้นในบริเวณไซโตพลาสซึมโดยอาศัย mRNA ในที่สุดโปรตีนจะถูกถ่ายทอดเข้าไปในนิวเคลียสและประกอบตัวเองเป็นไวรัสใหม่ในนิวเคลียสของเซลล์โฮสต์ เมื่อเซลล์แตกก็จะไปเกาะจับกับเซลล์ใหม่อีก
5.โปรตีนที่เป็นโครงสร้างของไวรัส ทำหน้าที่ป้องกันกรดนิวคลิอิกของไวรัสจากสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เชื้อไวรัสเกาะติดที่ผิวเซลล์ในขั้นตอนการติดเชื้อ และเป็นแอนติเจนของเชื้อไวรัส ไวรัสหลายชนิดมีเอ็นซัยม์ซึ่งเป็นโปรตีนติดตัวไปด้วย การที่ไวรัสบางชนิดต้องมีเอ็นซัยม์ด้วยก็เพราะว่าในเซลล์ของโฮสต์ ไม่มีเอ็นซัยม์เหล่านี้ให้
6.ไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของส่วนเปลือกไวรัส มักอยู่ในรูปของสารฟอสโฟไลปิด ซึ่งได้มาจากเยื่อหุ้มเซลล์ของโฮสต์ ในขณะที่ไวรัสหลุดออกจากเซลล์
วิธีการกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกายมนุษย์
1.วิธีการกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกายมนุษย์ ทำได้โดยภูมิคุ้มกันชนิดทั่วไป และภูมิคุ้มกันจำเพาะ
2.ภูมิคุ้มกันทั่วไปเป็นการกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกายโดยวิธีการง่ายๆ เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมนั้นเป็นครั้งแรก หรือแม้ได้รับอีกในคราวต่อมา เช่น ใช้เครื่องกีดขวางตามธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ ผิวหนัง เยื่อเมือกที่บุตามอวัยวะต่างๆ ขนอ่อนพัดโบก เมื่อสิ่งแปลกปลอมนั้นสามารถผ่านเข้าไปได้ ก็จะถูกร่างกายกำจัดโดยเกิดกระบวนการอักเสบ ที่สำคัญที่สุดก็คือ เซลล์ที่กัดกินสิ่งแปลกปลอม เกิดการเคลื่อนย้ายของฟาโกซัยต์มายังบริเวณที่มีสิ่งแปลกปลอม บริเวณนั้นจะมีลักษณะจำเพาะ คือ ปวด บวม แดง ร้อน และจะพบว่าประมาณ 30-60 นาที หลังจากที่สิ่งแปลกปลอมเข้าไป เม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลจะเป็นพวกแรกที่มาถึงบริเวณนี้ โดยการลอดตัวผ่านออกทางรอยต่อของเซลล์บุหลอดเลือดออกมาในเนื้อเยื่อ เพื่อจะมากิน และทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้น ประมาณ 4-5 ช.ม. หลังจากนั้นเซลล์อีกพวกหนึ่งเป็นเซลล์ที่มีนิวเคลียสเดียว ซึ่งได้แก่ลิมโฟซัยต์ จะมาทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงต่อไป
3.กระบวนการกัดกินสิ่งแปลกปลอมเริ่มจากการประกบติด ต่อมาจะกลืน แล้วจึงมีการย่อยด้วยกลไกภายในเซลล์ จากนั้นจึงปล่อยสิ่งแปลกปลอมที่ถูกทำลายแล้วออกไปจากเซลล์
4.ภูมิคุ้มกันจำเพาะเป็นการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่ต้องอาศัยกลไกที่ยุ่งยากกว่าวิธีแรก เกิดขึ้นเมื่อร่ายกายไม่สามารถใช้วิธีแรกกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกไปได้ เซลล์ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านนี้คือ เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยต์ สิ่งแปลกปลอมในที่นี้มีชื่อเรียกใหม่ว่า แอนติเจน การตอบสนองดังกล่าวแบ่งออกเป็นการตอบสนองทางอิมมูนโดยการใช้แอนติบอดี เซลล์ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟซัยต์ชนิดบีเซลล์และพลาสมาเซลล์ นอกจากนี้ยังมีระบบคอมพลีเม้นท์เข้ามาร่วมด้วย
5.ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากเซลล์ เซลล์ที่รับผิดชอบ คือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที-ลิมโฟซัยต์
การก่อภูมิคุ้มกัน
1.การก่อภูมิคุ้มกันเป็นกลไกทางสรีรวิทยา ที่ทำให้ร่างกายรู้จักสิ่งแปลกปลอมเพื่อจะได้สามารถกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นได้ การก่อภูมิคุ้มกันหมายถึงความต้านทานของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมนานาชนิด ในปัจจุบันนี้เราทราบว่าระบบภูมิคุ้มกันมีหน้าที่มากกว่านี้ คือยังทำหน้าที่กำจัดเซลล์ของร่างกายตนเองที่ตายแล้วทำลายเซลล์ที่ชำรุด เซลล์ที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น เซลล์ที่ผ่าเหล่า เซลล์มะเร็ง เป็นต้น
2.เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมภายนอกเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบหมุนเวียนของเลือด ระบบสืบพันธุ์ ร่างกายจะมีกลไก และกรรมวิธีที่จะหยุดยั้งและกำจัดสิ่งแปลกปลอม เช่น มีขนจมูก น้ำเมือก ซิเลีย คอยดักจับไว้ มีการไอจามหรืออาเจียน เมื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย หากยังไม่สามารถยับยั้งสิ่งแปลกปลอมได้ ร่างกายจะมีกลไกขั้นต่อไปโดยใช้เซลล์พิเศษที่เรียกว่า ฟาโกซัยต์ ซึ่งอยู่ในกระแสเลือดหรืออวัยวะบางแห่งเข้ามาทำลายสิ่งแปลกปลอมโดยกระบวนการฟาโกไซโทซิส
3.หากสิ่งแปลกปลอมมีปริมาณมาก หรือมีคุณสมบัติพิเศษเกินความสามารถที่จะกำจัดโดยกลไก 2 ประการที่กล่าวมาแล้ว ร่างกายจะใช้กลไกขั้นสุดท้าย ซึ่งมีความซับซ้อนมากแต่มีประสิทธิภาพสูง นั่นคือการตอบสนองต่อสิ่งเร้าแบบการก่อภูมิคุ้มกัน มนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอื่นๆ จะมีการวิวัฒนาระบบการก่อภูมิคุ้มกันขึ้นมา ระบบนี้เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมีระหว่างโมเลกุลของสารประกอบจำเพาะที่ร่างกายสร้างขึ้น ที่เรียกว่าแอนติบอดี กับสารเคมีแปลกปลอมจากภายนอกร่างกาย ที่เรียกว่าแอนติเจนหรือสารที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับแอนติเจน
4.ระบบภูมิคุ้มกันประกอบด้วยเซลล์จากระบบเลือด และระบบน้ำเหลืองซึ่งได้แก่เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ และอวัยวะในระบบต่อมน้ำเหลืองซึ่งเป็นแหล่ง ผลิตเม็ดเลือดขาวและเซลล์บางชนิด อวัยวะในระบบน้ำเหลืองได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง ม้าม ต่อมไทมัส ไขกระดูก เป็นต้น
5.เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยต์ และโมโนซัยต์เป็นเซลล์ที่สำคัญในการต่อต้าน และทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่กระแสเลือด เม็ดเลือดขาวดังกล่าวมีกำเนิดมาจากไขกระดูกและนำไปสร้างเป็นเซลล์จะแปรสภาพไปเป็นแมโครเฟจ ซึ่งทำหน้าที่โอบกลืน และทำลายสิ่งแปลกปลอมหรือแอนติเจน โดยเฉพาะจุลินทรีย์ เชื่อกันว่าเป็นปฏิกิริยาเคมีที่สลับซับซ้อนของแอนติเจนกับโมเลกุลอาร์เอ็นเอ เกิดขึ้นภายในเซลล์แมโครเฟจ แอนติบอดีที่ถูกทำให้หมดฤทธิ์ หรือสมบัติในการทำลายไปนี้จะเป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นทำให้เกิดเซลล์ลิมโฟซัยต์ ชนิดพิเศษที่มีขนาดเล็กจำนวนมากมาย ซึ่งจัดเป็นกลุ่มสำคัญได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทีเซลล์ (T-cell) ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 65 กลุ่มบีเซลล์ (B-cell) มีอยู่ร้อยละ 20 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 15 นั้น จะเป็นเซลล์ชนิดอื่นที่สามารถทำหน้าที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกได้
6.ลิมโฟซัยต์ชนิดทีเซลล์ มีขนาดเล็กอาจมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าไทมอซัยต์ เพราะมีแหล่งสร้างจากต่อมไทมัส โดยมีต้นกำเนิดมาจากไขกระดูก เช่นเดียวกับพวกที่สร้างที่ม้าม ลิมโฟซัยต์ชนิดทีเซลล์มีหน้าที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย อาการแพ้ต่อการต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดต่างๆ แม้เซลล์มะเร็ง และการที่ร่างกายไม่ยอมรับเนื้อเยื่อจากบุคคลอื่น บางครั้งจึงเรียกกลไกภูมิคุ้มกันนี้ว่าระบบทีเซลล์ ทีเซลล์แบ่งตามหน้าที่ได้ 2 ประเภท คือ ทีเซลล์ผู้ช่วย (helper T-cell) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นบีเซลล์ให้สร้างแอนติบอดีจำเพาะขึ้นมาต่อต้าน กับ สิ่งแปลกปลอมจากภายนอกอีกชนิดหนึ่งคือทีเซลล์ผู้ยับยั้ง (suppressor T-cell) ทำหน้าที่กดการทำงานของลิมโฟซัยต์ชนิดอื่นๆ ซึ่งกลไกในการควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่วมกับแอนติบอดีและสารอื่นๆ ในสภาพร่างกายปกติควรมีอัตราส่วนระหว่างทีเซลล์ผู้ช่วยกับทีเซลล์ผู้ยับยั้ง ประมาณ 1:2:2 หากอัตราส่วนผิดไปจากนี้ แสดงว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายยังมีทีเซลล์อื่นๆอีกเช่นทีเซลล์ผู้ฆ่า (killer T-cell) และทีเซลล์ความจำ (memory T-cell)
7.ลิมโฟซัยต์จะกลายเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ขึ้นเรียกว่า พลาสมาเซลล์ ทำหน้าที่ในการสร้างแอนติบอดี เมื่อได้รับการกระตุ้นจากแอนติเจน พลาสมาเซลล์มีอายุเพียง 2 – 3 วันเท่านั้น
8.มีเซลล์บางเซลล์แปรสภาพไปเป็นเซลล์ที่มีขนาดเล็กอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า เซลล์ความจำ มีอยู่จำนวนน้อยแต่มีอายุยาวนานในกระแสเลือดเซลล์ความจำมีหน้าที่เป็นยามคอยจับตาดูแอนติเจนจำเพาะที่ยังเหลืออยู่หรือเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายอีก เซลล์ความจำจะจำได้อย่างแม่นยำ และสร้างแอนติบอดีจำเพาะขึ้นมาต่อต้าน และทำลายแอนติเจนอย่างรวดเร็ว
9.บีเซลล์ในระบบน้ำเหลืองมีต้นกำเนิดมาจากม้าม จะมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก
ภูมิคุ้มกันจำเพาะชนิดแอนติบอดี
1.แอนติบอดีที่จำเพาะต่อไวรัสทำหน้าที่ต่อต้านไวรัสในระยะที่มิได้อยู่ภายในเซลล์ พบว่าแอนติบอดีชนิด IgM และ IgG เมื่อจับกับแอนติเจนของเชื้อไวรัสแล้ว จะกระตุ้นให้เกิดการทำลายผ่านทางระบบคอมพลีเมนต์ชนิดคลาสสิคัล แต่หากเป็นแอนติบอดีชนิด sIgA เช่นบริเวณเยื่อเมือกต่างๆ จะไม่มีการกระตุ้นคอมพลีเมนท์ทางนี้
2.การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อจุลชีพ จุลชีพที่จะผ่านเข้าสู่ร่างกาย อาจผ่านเข้าทางผิวหนัง หรือเยื่อบุต่างๆ ซึ่งเป็นที่ๆ มีการป้องกันด้วยคุณสมบัติทางกายภาพของผิวหนังและเยื่อบุเอง โดยเป็นด่านแรกของระบบการป้องกันการเข้าสู่ร่างกายจากจุลชีพ ซึ่งจะเป็นแบบภูมิคุ้มกันตั้งแต่เกิด ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ ประกอบด้วยเซลล์ชนิดฟาโกซัยต์ เช่น เซลล์แมโครฟาจ เซลล์เดนไดรติก และแกรนูโลซัยต์ เป็นต้น ทำหน้าที่กิน และทำลายสิ่งแปลกปลอม แอนติบอดีชนิด IgA และสารหลั่งที่เคลือบตามเยื่อบุ มีลัยโซซัยม์ แลคโตเฟอริน หรือภาวะเป็นกรด หรือการเคลื่อนไหวที่บริเวณของผิวเยื่อบุ เช่น การทำงานของซีเลียที่เยื่อบุ การไอ การปัสสาวะจะพัดพาจุลชีพออกมา โดยปกติตามเยื่อบุ และผิวหนังก็มีจุลชีพอยู่แต่ไม่ผ่านเข้าสู่ร่างกาย เพราะระบบภูมิคุ้มกันตั้งแต่เกิดนี้ จุลชีพที่สามารถผ่านเข้าร่างกายทางชั้นผิวหนังหรือเยื่อบุต้องมีคุณสมบัติพิเศษที่จะผ่านการทำลายด้วยกลไกต่อต้านชนิดไม่จำเพาะเจาะจง หรือเป็นภาวะที่ผิวหนัง และเยื่อบุขาดคุณสมบัติที่จะป้องกัน เช่น เป็นแผล
3.การเกิดภาวะอักเสบเป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันชนิดไม่จำเพาะที่สำคัญ เกิดจากกลุ่มเซลล์ที่ถูกทำลายโดยจุลชีพ เซลล์ชนิดฟาโกซัยต์ที่จับกินจุลชีพ หรือสิ่งแปลกปลอม และมาสต์เซลล์ที่ถูกกระตุ้นจากระบบคอมพลีเม้นท์ โดยที่เซลล์ต่างๆ เหล่านี้จะหลั่งสารเคมีต่างๆ ที่ทำให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ มาสต์เซลล์หลั่งฮิสตามีนทำให้เส้นเลือดขยายตัว และผนังเส้นเลือดเปิดให้เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ถูกกระตุ้นออกมาจากเส้นเลือดเข้าสู่ตำแหน่งที่มีจุลชีพมากขึ้น สารพรอสตาแกลนดินทำให้เส้นเลือดขยายตัว เกิดไข้และเจ็บปวด และสารลิวโคทรัยอีนมีคุณสมบัติดึงดูดเซลล์เม็ดเลือดขาวให้มายังบริเวณที่มีสารนี้อยู่ ทั้งพรอสตาแกลนดิน และลิวโคทรัยอีนสร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาว และเซลล์ทั่วไปที่ถูกกระตุ้นโดยจุลชีพ นอกจากนี้เซลล์เม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะลิมโฟซัยต์ และมาโครฟาจที่มายังบริเวณที่ติดเชื้อจะหลั่งซัยโตคายน์ที่สำคัญในการตอบสนองแบบไม่จำเพาะ ได้แก่ interleukin 1 (IL-1) และ tumor necrosis factor (TNF) ที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไข้ และที่สำคัญ คือ กระตุ้นให้มีเซลล์เม็ดเลือดขาวมามากขึ้น เพื่อการเกิดการตอบสนองระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะต่อไป หรือถ้าจุลชีพสามารถถูกทำลายหมดจะกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไป
4.ตัวรับแอนติเจนทั้งบีเซลล์ และทีเซลล์ จะมีโมเลกุลตัวรับที่ผิวเซลล์เพื่อจับกับแอนติเจน สำหรับบีเซลล์ เป็นโมเลกุลของอิมมูโนโกลบูลินที่เกาะที่ผิวเซลล์ ส่วนของทีเซลล์เรียกว่าทีซีอาร์ CD3 เป็นโมเลกุลที่ซับซ้อนกว่า ที่จะจำ และจับกับแอนติเจนที่หลากหลายถูกนำเสนอโดยเซลล์นำเสนอแอนติเจนเท่านั้น
5.การกระตุ้นบีเซลล์ให้สร้างแอนติบอดี บีเซลล์จะจับกับแอนติเจนที่จำเพาะด้วยตัวรับที่ผิวเซลล์ และนำส่วนแอนติเจนเข้ามาในเซลล์ เปลี่ยนแปลง และนำเสนอที่ผิวเซลล์ร่วมกับโมเลกุล HLA class II ซึ่งทำให้ทีเซลล์ผู้ช่วยมาจับและถูกกระตุ้นด้วยแอนติเจนที่ถูกเสนอจากบีเซลล์ ต่อมาทีเซลล์หลั่งสารลิมโฟคายน์ที่ไปสั่งให้บีเซลล์เปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นเซลล์พลาสมา เพื่อสร้างแอนติบอดีต่อไป เมื่อเริ่มได้รับจุลชีพครั้งแรกแอนติบอดีจะถูกสร้างขึ้นมากจนถูกตรวจพบได้ภายใน 7-10 วันหลังจากที่ได้รับจุลชีพปริมาณของแอนติบอดีจะค่อยๆเพิ่มขึ้น และลดลงจนใกล้ระดับเมื่อเริ่ม เรียกการตอบสนองแบบนี้ว่าเป็นชนิดปฐมภูมิ เมื่อได้รับจุลชีพนั้นอีกครั้งระดับแอนติบอดีนี้จะสูงจนตรวจพบได้ภายใน 24 ชั่วโมง เรียกการตอบสนองแบบนี้ว่าชนิดทุติยภูมิ แอนติบอดียับยั้งการติดเชื้อ ด้วยการจับกับจุลชีพนั้น โดยใช้ส่วนปลายโมเลกุลอิมมูโนโกลบุลินรูปตัว Y จับกับจุลชีพ ถ้าเป็นไวรัส จะทำให้ไวรัสนั้นไม่เข้าสู่เซลล์เป้าหมาย และกระตุ้นระบบคอมพลีเม้นท์ทำลายจุลชีพ หรือกระตุ้นระบบ ADCC
6.การกระตุ้นทีเซลล์ เมื่อเซลล์นำเสนอแอนติเจนกินจุลชีพหรือสิ่งแปลกปลอม แอนติเจนจะถูกเปลี่ยนแปลง และนำเสนอที่ผิวเซลล์ร่วมกับโมเลกุล HLA class II ที่ไปจับกับทีเซลล์ผู้ช่วย ทำให้มีการหลั่งลิมโฟคายน์ซึ่งจะไปทำให้ทีเซลล์ผู้ช่วยชนิดต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ทีเซลล์ผู้ช่วยเพิ่มจำนวน และเปลี่ยนแปลงเป็นทีเซลล์ความจำ ทีเซลล์ชนิด CTL จะไปทำลายเซลล์ติดเชื้อที่มีแอนติเจนของจุลชีพนั้นเสนอที่ผิวเซลล์ร่วมกับโมเลกุล HLA class I จุลชีพชนิดภายในเซลล์ เมื่อถูกกินด้วยมาโครฟาจจะไม่ถูกทำลาย แต่จะอยู่ในเซลล์ และเพิ่มจำนวนได้ แอนติบอดีจะไม่สามารถจัดการทำลายจุลชีพที่อยู่ภายในเซลล์ได้ จำเป็นต้องใช้เซลล์ CTLs มาทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสนี้
7.เมื่อบีเซลล์ และทีเซลล์ถูกกระตุ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์จดจำ เมื่อเวลาผ่านไป หากมีการนำเสนอแอนติเจนชนิดเดิมอีกครั้ง ระบบภูมิคุ้มกันที่มีเซลล์ความจำ ก็จะเข้ามาทำลายแอนติเจนนั้นอย่างรวดเร็ว การเกิดภาวะภูมิคุ้มกันระยะยาวอาจเกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ หรือจากการได้รับวัคซีน ในระยะแรกของการติดเชื้อ ปริมาณเซลล์ CTL จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณไวรัสที่เพิ่มขึ้น จนถึงจุดสูงสุดซึ่งทำให้ปริมาณไวรัสในเลือดลดลง และความสัมพันธ์ของปริมาณ CTLs กับปริมาณไวรัสจะแปรผกผันกันตลอดระยะเวลาของการติดเชื้อ
1.กลไกการทำงานของแอนติบอดีต่อไวรัสมีหลายประการ บางชนิดสามารถลบล้างความสามารถของไวรัสในการก่อการติดเชื้อ ไวรัสที่มีแอนติบอดีจำเพาะจับอยู่ไม่สามารถจับกับเซลล์ของร่างกาย ไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ร่างกาย และไม่สามารถลอกหลุดโปรตีนที่หุ้มกรดนิวคลิอิกของเชื้อไวรัสได้
2.วิธีการทำให้ไวรัสแตกสลาย ร่างกายมนุษย์มีระบบคอมพลีเม้นต์ร่วมในการทำงานกับแอนติบอดีเพื่อทำให้ไวรัสแตกสลาย กลไกดังกล่าวเกิดขึ้นกับไวรัสที่มีเปลือกเป็นสารประเภทไขมัน ได้แก่ ไวรัสเริม โคโรนาไวรัส อะรีนาไวรัส พารามิกโซไวรัส และมิกโซไวรัส นอกจากนี้คอมพลีเมนต์ยังทำงานร่วมกับแอนติบอดีช่วยทำให้เซลล์ของร่างกายมนุษย์จับกินไวรัสได้ วิธีดังกล่าวเรียกว่า opsonization และเซลล์ที่ทำหน้าที่จับกินไวรัสนี้มีชื่อเรียกว่าฟาโกซัยท์
3.ร่างกายสามารถสร้างแอนติบอดีต่อเอ็นซัยม์ของไวรัสบางชนิด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ผิวของไวรัส ทำให้ไวรัสที่เพิ่มจำนวนแล้ว และอยู่ภายในเซลล์ของร่างกายไม่สามารถออกมาจากเซลล์ได้ วิธีการนี้ถือว่าช่วยขัดขวางการแพร่กระจายของไวรัสได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่นแอนติบอดีต่อเอ็นซัยม์นิวรามินิเดสของไวรัสไข้หวัดใหญ่
4.จะเห็นได้ว่าร่างกายสามารถกำจัดไวรัสได้หลายวิธีผ่านทางระบบแอนติบอดีซึ่งร่ายการสร้างขึ้นภายหลังการติดเชื้อนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีกลไกภูมิคุ้มกันจำเพาะด้านเซลล์ที่มีบทบาทสำคัญในการทำลายไวรัส รวมทั้งเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสอีกด้วย
นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์