แผลที่ผิวหนังที่เกิดจากความร้อน อาจมีลักษณะคล้าย ๆ กันได้หลายกรณี เช่นไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ไฟฟ้าช็อต การเสียดสีอย่างรุนแรง หรือการถูกสารเคมี สำหรับกรณีที่เป็นรุนแรง ผิวหนังทุกชั้นอาจถูกทำลายอย่างมาก จนถึงชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ผิวหนังภายนอกอาจเห็นเป็นสีขาวซีด หรือไหม้ดำเหมือนถ่าน และจะไม่มีความรู้สึก
ถ้าหากเสื้อผ้าที่ใส่ยังติดไฟอยู่ ให้จับผู้ใส่นอนลงพื้นและเอาส่วนที่ยังติดไฟอยู่ไว้ด้านบน พยายามดับไฟโดยป้องกันไม่ให้เปลวไฟโดนบริเวณใบหน้าและศีรษะ และรีบประคบเย็นไปบนแผลทันทีที่สามารถทำได้ ต้องพยายามอย่าไอหรือจามใส่แผลไฟใหม้น้ำร้อนลวก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และต้องอย่าลอกหรือเจาะตุ่มพองต่าง ๆ ให้ท่านรีบถอดแหวน สร้อยข้อมือ และรองเท้าออกจากตัวคนไข้ เพราะในไม่ช้าส่วนต่าง ๆ จะบวมมาก จนบางครั้งถอดออกไม่ได้ ท่านต้องไม่เอาวัสดุใด ๆ ที่อาจติดกับผิวหนังได้ง่าย เช่น สำลีไปปิดแผล และไม่ควรใช้ครีมหรือโลชั่นใด ๆ ไปทานวดบริเวณแผล
สำหรับกรณีที่เกิดจากสารเคมีที่อาจทำลายผิวหนัง ให้ใช้น้ำประปาเปิดให้ไหลผ่านแผล เพื่อเจือจางสารเคมีที่อาจติดผิวหนังบริเวณนั้น หากเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่โชกไปด้วยน้ำร้อน น้ำมัน หรือวัสดุเคมีภัณฑ์ใดก็ตาม ให้รีบถอดหรือตัดออก ยกเว้นหากมีผ้าติดแน่นกับแผลให้ทิ้งส่วนนั้นเอาไว้ หลังจากนั้นให้เปิดก๊อกน้ำให้น้ำไหลผ่านส่วนที่เป็นแผล หรือหากแช่ในถังหรือกาละมังใส่น้ำได้จะยิ่งดี โดยแช่ทิ้งไว้ 10 นาที หรืออาจเอาผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นธรรมดา วางไว้บนแผลก่อนก็ได้ ไม่ควรใช้ครีมหรือโลชั่นใด ๆ ทาในระยะนี้ เสร็จแล้วเอาผ้าทำแผลที่สะอาดปิดไว้ ไม่ต้องแน่นมาก หากเป็นส่วนแขนหรือขา ให้ยกส่วนนั้นให้สูงกว่าลำตัว เพื่อจะได้ไม่บวมมาก
การรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือจากสารเคมีภัณฑ์ จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องในเบื้องต้น หากท่านไม่แน่ใจ โปรดนำผู้ป่วยไปพบแพทย์
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์