เอฟิดรีน Ephedrine (EPH)

เอฟิดรีนเป็นสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทซิมพาเธติกโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับแอมเฟตามีน และเมธแอมเฟตามีน โดยเอฟิดรีนในธรรมชาติจัดเป็นสารอัลคาลอยด์ที่สกัดจากพืชหลายชนิดใน genus Ephedra (family Ephedraceae) ในกระบวนการผลิตปัจจุบัน สังเคราะห์สารเอฟิดรีนในรูปของเกลือไฮโดรคลอไรด์ และเกลือซัลเฟต นักเคมีชาวญี่ปุ่นชื่อนากาโยชิ นาไก เป็นคนแรกที่สามารถแยกสารเอฟิดรีนจากพืชEphedra vulgaris ได้สำเร็จในปี 1885

          ในตำรับสมุนไพรจีนโบราณ พบว่ามีชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า ma huang (Ephedra sinica) ซึ่งประกอบไปด้วยสารเอฟิดรีนเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ การสกัดสมุนไพรมาทำเป็นตัวยาสามารถใช้พืชในตระกูลเอฟิดราบางชนิดเท่านั้น เนื่องจากพืชในตระกูลเอฟิดราบางสายพันธุ์ไม่มีส่วนประกอบที่เป็นสารอัลคาลอยด์ แต่จากการสำรวจทางพฤกษศาสตร์พบว่าสายพันธุ์ E.sinica ในแถบทวีปเอเชีย มีปริมาณสารเอฟิดรีนสูงสุด
ปริมาณสารอัลคาลอยด์ใน E. sinica แตกต่างกันตั้งแต่ร้อยละ 1-3 ซึ่งในบรรดาสารอัลคาลอยด์ทั้งหมดที่มีอยู่นั้น เป็นสารเอฟิดรีนมากถึงร้อยละ 40-90 ที่เหลือเป็นสารสูโดเอฟิดรีน (pseudoephedrine) นอร์เอฟิดรีน (norephedrine) และนอร์สูโดเอฟิดรีน (norpseudoephedrine) ดังนั้นฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของ E. sinica จึงเกิดขึ้นจากสารเอฟิดรีนที่เป็นส่วนประกอบหลักทั้งสิ้น
          ในตำราแพทย์ฮินดูโบราณ กล่าวถึงสารที่เรียกว่า soma ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นสารเอฟิดรีน แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสกัดมาจากพืชชนิดใด บ้างก็กล่าวอ้างว่าเป็นพืชในตระกูลเอฟิดราชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นไม้พุ่มที่พบได้มากแถบทะเลทรายในบริเวณตอลกลางของทวีปเอเชีย และยังมีชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ squaw tea และ Mormon tea
การผลิตสารเอฟิดรีน
          ปัจจุบันมีรางานระบุถึงอุตสาหกรรมการผลิตสารเอฟิดรีนในประเทศจีน มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแต่ละปีบริษัทต่างๆ ผลิตสารเอฟริดรีนเพื่อการส่งออกมากถึง 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นปริมาณการผลิตจากพืชในตระกูลเอฟิดรามากถึง 30,000 ตัน
การนำเอฟิดรีนมาใช้ในปัจจุบัน
          ปัจจุบันได้มีการนำสารเอฟิดรีนมาใช้เป็นส่วนประกอบของยาบรรเทาอาการคัดจมูก ยาขยายหลอดลม ยาลดความอยากอาหาร ยากระตุ้นพลังเสริมสมรรถภาพร่างกาย ยาช่วยเพิ่มสมาธิในการทำงาน และใช้รักษาภาวะความดันโลหิตลดต่ำที่เกิดขึ้นจากยาชาเฉพาะที่
กลไกการออกฤทธิ์
          สารเอฟิดรีนออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทซิมพาเธติกผ่านทางเส้นประสาททั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีฤทธิ์ขยายหลอดลม บรรเทาอาการคัดจมูก เมื่อนำสารเอฟิดรีนมาผสมกับคาเฟอีน จะทำให้เกิดการกระตุ้นปฏิกิริยาระดับเซลล์ สลายไขมัน และเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ในร่างกายสารเอฟิดรีนเปลี่ยนแปลงไปเป็นนอร์เอฟิดรีน ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง สมองและไขสันหลัง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง การใช้สารเอฟิดรีนติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ ฤทธิ์ดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เกิดการกระตุ้นหลอดเลือดทั่วร่างกายให้หดตัว กระตุ้นกาทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เพิ่มความดันโลหิต และเพิ่มอัตราเต้นของหัวใจ ผลต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย มือสั่น อ่อนแรง หงุดหงิด นอนไม่หลับ ในขนาดที่เป็นพิษ สารเอฟิดรีนจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น อาการทางจิตชนิดหวาดระแวง อาจทำให้ชักและเสียชีวิตได้
อาการทางจิตที่เกิดจากสารเอฟิดรีน
          อาการทางจิตที่เกิดจากสารเอฟิดรีน เรียกว่า Ephedrine psychosis ปรากฏในรายงานทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 1930 รายงานที่มีการอ้างอิงถึงมากที่สุดโดย Whitehouse AM และ Duncan JM ตีพิมพ์ในวารสารจิตเวชของประเทศอังกฤษ Br J Psychiatry ในปี 1987 เสนอผู้ป่วยจำนวน 20 ราย พบว่า 18 ราย ไม่มีประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับโรคทางจิดเวช ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยได้รับสารเอฟริดีนมานานกว่าหนึ่งปี เป็นลักษณะของการเพิ่มขนาดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตเมื่อได้รับเอฟิดรีนในขนาด 510 มิลลิกรัมความผิดปกติทางจิตที่พบได้บ่อยที่สุดคือ อาการหวาดระแวง (paranoid psychosis) ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยมีอาการรับรู้ที่ผิดปกติ บางรายมีอาการเห็นภาพหลอน (visual hallucinations) และหูแว่ว (auditory hallucinations) และเกือบทั้งหมดมีอาการหลงผิด (delusions) ที่จิตแพทย์สามารถตรวจพบได้อย่างชัดเจน

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเสริมอาหาร
          ในสหรัฐอเมริกามีการสำรวจพบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเสริมอาหารหลายชนิดมีส่วนผสมของสารเอฟิดรีนหรือสมุนไพรมาฮวง สินค้าดังลก่าวส่วนหนึ่งวางจำหน่ายในท้องตลาดสำหรับนักเพาะกาย ลดน้ำหนัก เพิ่มพลังงานให้ร่างกาย และเสริมความจำให้ดีขึ้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาดตามรายงานเมื่อปี 2003 ได้แก่ Ripped Fuel, Hydroxycut; Metabolife, Metabolife International, Inc., San Diego, CA; Herbalife, Herbalife, Inc., Century City, CA; Energel, PVL Nutrients, Ltd., Port Coquitlam, BC, Canada; herbal ecstasy, herbal phen-fen

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top