เรื่อง “ปวดหลัง” ที่ทุกคนควรทราบ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่าผู้ใหญ่ที่เป็นอดีตผู้นำของประเทศไทย มีอาการปวดหลังอย่างรุนแรงขณะที่ท่านปฏิบัติหน้าที่ของท่าน อาการรุนแรงมากถึงขนาดแพทย์ต้องรีบนำท่านไปรักษาที่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ซึ่งแพทย์ได้ให้การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหลังอักเสบและให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งในเวลาต่อมาทราบว่ามีอาการดีขึ้นมากแล้ว ไม่ได้เป็นมากถึงขนาดต้องรับไว้รักษาแบบผู้ป่วยใน ผมเห็นว่าน่าจะนำปัญหาเรื่องปวดหลังมาทำความเข้าใจในหมู่คนไทย โดยเฉพาะแฟนๆคอลัมน์นี้ ซึ่งน่าจะมีวัยอยู่ในช่วงที่อาจจะพบปัญหาเรื่องปวดหลังได้ง่าย
“ปวดหลัง” ไม่ใช่ชื่อโรค
“ปวดหลัง” ไม่ใช่ชื่อโรคนะครับ หลายท่านอาจพบเห็นข้อความหรืออาจจะได้ยินคนพูดกันว่า “โรคปวดหลัง” ผมขอยืนยันกับท่านผู้อ่านทุกท่านว่า คำว่า “ปวดหลัง” ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นเพียงอาการหนึ่งที่ผู้คนในโลกนี้จะต้องมีอาการอย่างน้อยก็ 1 ครั้ง ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเกิดอาการนี้กับมนุษย์ที่เป็นสัตว์ 2 เท้า สัตวแพทย์จะไม่พบเจ้าของสัตว์เลี้ยง พาสัตว์เลี้ยงของตนเองมาเพื่อรักษาอาการปวดหลัง สำหรับอาการปวดหลังที่จะกล่าวถึงในสัปดาห์นี้ จะขอพูดถึงเฉพาะอาการปวดหลังบริเวณระดับบั้นเอว จะไม่กล่าวถึงปวดหลังบริเวณสะบักหรือตำแหน่งอื่นๆ
บริเวณหลังมีส่วนประกอบหรืออวัยวะอะไรอยู่บ้าง
ถ้าเรามองแผ่นหลังของคนเรา ตรงแนวกลางที่เป็นร่อง จะเป็นแนวของกระดูกสันหลังที่เชื่อมต่อจากฐานกระโหลกศีรษะ ลงไปจนถึงกระดูกเชิงกราน กระดูกสันหลังบริเวณคอมี 7 ปล้อง ระดับหน้าอกมี 12 ปล้อง ระดับบั้นเอวมี 5 ปล้อง ระหว่างปล้องจะมีหมอนรองกระดูกคั่นอยู่ เพื่อไม่ให้กระดูกต่อกระดูกชนกัน ทำหน้าที่คล้ายโช๊คอัพ หมอนรองกระดูกจะมีลักษระคล้ายๆวุ้นหนาๆ มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย
สองข้างของกระดูกสันหลังจะเป็นที่อยู่ของกล้ามเนื้อหลังมัดใหญ่เป็นแนวยาวทั้ง 2 ข้าง กล้ามเนื้อหลังจะมีความหนามากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล เป็นกล้ามเนื้อที่สามารถสร้างให้เกิดความแข็งแรงให้เกิดความแข็งแรงได้ กล้ามเนื้อหลังเหล่านี้จะต้องยืดหยุ่นให้ดี เพราะกิจวัตรประจำวันของมนุษย์เรา เช่น ก้มหลัง ยกของ เอี้ยวลำตัว ยืน นั่งเก้าอี้ หรือนั่งยองๆ จะต้องมีการใช้งานกล้ามเนื้อหลังอยู่เสมอ ท่านอาจจะไม่เชื่อก็ได้ว่า เวลามนุษย์เรานั่งอยู่บนเก้าอี้นั้น แรงที่มากระทำที่ตัวหมอนรองกระดูก และตัวกล้ามเนื้อจะมากกว่าเวลายืนหรือเดิน
สาเหตุของอาการปวดหลัง (ระดับบั้นเอว)ปวดหลัง (ระดับบั้นเอว) มักพบได้ค่อนข้างบ่อยในคนที่มีอายุ 35-40 ปี ขึ้นไป การที่บอกว่าเป็นอาการอย่างหนึ่งนั้นเพราะว่าสาเหตุของการปวดหลัง (ระดับบั้นเอว) นั้นอาจเกิดจากความผิดปกติต่างๆ อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
กล้ามเนื้อบริเวณหลังระดับบั้นเอวมีการอักเสบเกิดขึ้น อาจเกิดจากการใช้หลังอย่างไม่ถูกวิธี เช่น ก้มหลังยกของหนัก ทำงานในท่าที่ก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ เอี้ยวลำตัวเพื่อไปหยิบหรือยกสิ่งของ จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังระดับบั้นเอวนั้นถูกดึงรั้งหรือยืดออกมากไป จนเกิดการฉีกขาดของใยกล้ามเนื้อบางส่วนจนทำให้กล้ามเนื้อเกิดการอักเสบ มีอาการปวดหลัง กล้ามเนื้อหลังมีการหดตัวและเกร็งจนบางครั้งเราเรียกว่า หลังแข็งหรือยอกหลัง เดินเหมือนหุ่นยนต์เพราะหลังจะตรง และก้มหลังไม่ได้ ปวดมากมักจะเกิดกับผู้ที่มีกล้ามเนื้อหลังที่ไม่มีความยืดหยุ่น (No Flexibility) เพราะไม่มีการบริหารกล้ามเนื้อที่เราเรียกว่าการ Stretching (การยืด) ของกล้ามเนื้อหลัง จึงทำให้เมื่อมีการเคลื่อนไหวในท่าที่ผิดไปจากเดิมมากๆ ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อหลังได้ง่าย
ความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ ปกติในคนเราจะมีไต 2 ข้างซึ่งอยู่ด้านหลังของช่องท้อง ค่อนไปทางด้านหลัง มีท่อไตให้ปัสสาวะที่กรองออกจากไต 2 ข้างให้ลงไปอยู่ที่กระเพาะปัสสาวะ และต่อไปที่ท่อปัสสาวะ ความผิดปกติที่ไตและท่อไต เช่น นิ่ว ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ ผู้ป่วยมักมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับปัสสาวะด้วย เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะติดขัดหรือนิ่วที่มีการอุดตัน อาจมีอาการปวดอย่างแรง
ความผิดปกติในระบบกระดูกสันหลัง ที่พบได้บ่อยคือ การที่หมอนรองกระดูกที่คั่นอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละปล้อง มีการเสื่อมสภาพในบางรายอาจมีการเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทที่หลัง จะมีผลทำให้มีปัญหาปวดหลังเรื้อรัง และหรือมีความปวดร้าวลงไปที่ขาทั้ง 2 ข้างได้ กรณีหมอนรองกระดูกสันหลัง และตัวกระดูกสันหลังมีการเสื่อมสภาพไป อาจทำให้มีการปวดร้าวไปที่ก้น สะโพกและต้นขาได้ นอกจากนี้การติดเชื้อวัณโรคที่หมอนรองกระดูกสันหลัง และมีการทำลายของกระดูกสันหลัง พบได้มากเหมือนกันในบ้านเรา ก็เป็นสาเหตุของการปวดหลังได้
อาการปวดหลังที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป
มนุษย์เราเมื่อมีอายุ 20 ปีขึ้นไป เราจะพบว่า “หมอนรองกระดูก” จะมีความเสื่อมไปตามวัย การทำหน้าที่เหมือนเป็นโช๊คอัพจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งจะเกิดขึ้นกับทุกๆ คน “กล้ามเนื้อหลัง” จะถูกใช้งานตลอดทั้งวัน แม้แต่การนอนหลับเวลากลางคืน หากที่นอนของท่านยุบตัวหรือนิ่มเกินไป กล้ามเนื้อหลังก็จะอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม โอกาสเกิดการอักเสบหรือยอกหลังก็มีได้ง่าย ตื่นนอนตอนเช้า ลุกขึ้นจากเตียง ยืนแปรงฟัน แต่งตัว การยืน การเดิน การนั่ง การเอี้ยวตัว การออกกำลังกาย เล่นกีฬา ล้วนแล้วแต่ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้วในผู้ที่อ้วนลงพุงหรือกล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง ก็จะเป็นตัวการทำให้กล้ามเนื้อหลังต้องถูกใช้งานมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดหลังยอก มีการอักเสบ เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อหลังอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดอาการปวดมากๆ ได้
ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดอาการปวดหลัง (จากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ)
ก่อนอื่นท่านต้องยอมรับความจริงก่อนว่า ตัวท่านเองมีโอกาสปวดหลังได้จากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ เพราะมีความเสื่อมของหมอนรองกระดูก เกิดขึ้นในตัวเราไม่มากก็น้อยและการใช้งานกล้ามเนื้อของหลังของท่านจากกิจวัตรประจำวันดังที่กล้าวมาแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อได้ตลอดเวลา ดังนั้น ท่านจะต้องรู้ว่าที่นอนที่ดีควรไม่ยุบตัว ท่านต้องรู้จักวิธีลงนอน และลุกจากที่นอนให้ถูกวิธี การยืนแปรงฟันควรทำอย่างไร การก้มเงยในกิจกรรมต่างๆ การย่อตัวใส่รองเท้า การยกของ การนั่งในรถนานๆ การนั่งทำงาน เก้าอี้ที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ความรู้เหล่านี้ ท่านจะต้องทราบ และพยายามปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ จึงจะทำให้อาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบมารบกวนท่าน นอกจากนี้การบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Sit Up Exercise) อย่างถูกวิธีและการบริหารกล้ามเนื้อหลัง (Back Muscle Exercise) ก็จะช่วยเสริมการป้องกันได้เช่นกัน สวัสดีครับ
นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (กระดูกและข้อ)
ผู้ประพันธ์