เรื่องต้องรู้ใน…เบาหวานและตั้งครรภ์

โรคเบาหวานจากการตั้งครรภ์ คือโรคเบาหวานที่เกิดเฉพาะในคนตั้งครรภ์เท่านั้น เพราะว่าในช่วงตั้งครรภ์ รกจะมีการสร้างฮอร์โมนต่างๆ มากมาย ซึ่งฮอร์โมนส่วนใหญ่มีฤทธิ์ต้านต่ออินซูลิน โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายของแม่ต้องใช้อินซูลินมากกว่าปกติถึง 2-3 เท่า ดังนั้น แพทย์จึงมักตรวจคัดกรองเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์ ตอนอายุครรภ์ประมาณ 24-28 สัปดาห์ ยกเว้นว่ามีความเสี่ยงสูงมากอาจต้องมีการตรวจตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์

ผลกระทบต่อบุตร

          เบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์มักเกิดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งทารกมีการสร้างอวัยวะเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ทำให้เกิดความพิการต่อทารก ส่วนใหญ่แม่ที่เป็นเบาหวานมักคลอดบุตรที่ปกติ โดยเฉพาะในคนที่คุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด แต่การที่แม่เป็นเบาหวาน และยังมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้เกิดผลเสียต่อทารก เพราะระดับน้ำตาลที่สูงจะผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ ส่งผลให้ร่างกายทารกมีการหลั่งอินซูลินมากกว่าปกติทำให้รูปร่างโตกว่าปกติ เสี่ยงต่อการคลอดยาก การบาดเจ็บขณะคลอด นอกจากนี้ การที่แม่คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี อาจส่งผลให้ทารกมีอาการน้ำตาลต่ำหลังคลอด ชัก เหลือง มีปัญหาหายใจลำบากหลังคลอดได้

จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรถ้าเป็นเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์

การรักษาประกอบด้วยการคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด ประกอบด้วยการคุมอาหาร การออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือในบางกรณีถ้าระดับน้ำตาลยังสูงอาจจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้เลย
คือ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ซึ่งพยาบาลให้คำปรึกษาโรคเบาหวานจะสอนถึงวิธีการเจาะเลือด การจดบันทึก การปฏิบัติตัวเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ใช้เจาะเลือด และตรวจวัดระดับน้ำตาลต่างๆมากมาย ใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก และไม่เจ็บมากอย่างที่คิด

ระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสม

  • เวลาที่เจาะเลือด ระดับน้ำตาล (มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)
  • ก่อนอาหารเช้า <95
  • หลังอาหาร 1 ชั่วโมง < 140
  • หลังอาหาร 2 ชั่วโมง < 120

อาหารที่เหมาะสมกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน คือ มีปริมาณแคลอรี่ที่เหมาะสม มีสารอาหารครบถ้วน และเพียงพอ ในคนที่มีน้ำหนักปกติควรได้รับพลังงานประมาณ 30 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัวปัจจุบัน แต่ถ้าอ้วนอาจต้องลดพลังงานลงเหลือ 15-25 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัวปัจจุบัน โดยมีสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรต ต่อโปรตีน ต่อไขมัน คือ 40-50 ต่อ 20-25 ต่อ 30-40 ตามลำดับ

การฉีดอินซูลิน แพทย์จะให้เริ่มเมื่อหลังจากคุมอาหารหรือออกกำลังกายเต็มที่แล้ว ยังมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารเกิน 105 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ หลังอาหาร 2 ชั่วโมง เกิน 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

จะต้องตรวจว่าเป็นเบาหวานเมื่อไหร่

          แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าคุณแม่มีความเสี่ยงของการเกิดเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์มากน้อยแค่ไหน โดยปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานมากขึ้น ได้แก่

  • มีประวัติเบาหวานในญาติสายตรง
  • อายุมาก
  • อ้วน
  • เคยมีประวัติแท้งบุตรโดยไม่ทราบสาเหตุบ่อยๆ
  • เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
  • ผลกระทบต่อการตั้งครรภ์

          ส่วนใหญ่คนที่เป็นเบาหวานสามารถคลอดได้ตามปกติ โดยเฉพาะคนที่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ กรวยไต อักเสบ ครรภ์แฝด น้ำมากกว่าปกติ ทำให้เป็นสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด รวมถึงต้องคลอดโดยการผ่าตัดมากกว่าปกติ

หลังคลอดแล้วจะเป็นเบาหวานอีกหรือไม่

          คนส่วนใหญ่เบาหวานมักหายไปหลังจากคลอดบุตรแล้ว แต่ถ้าคุณแม่เป็นเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานมากขึ้นถึงร้อยละ 30-50 ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดเบาหวานในอนาคตควรจะต้องลดน้ำหนัก ถ้ายังมีน้ำหนักเกินรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันเบาหวานได้

          ถ้าตั้งครรภ์อีกครั้ง ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น ดังนั้นควรจะวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ และปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะตั้งครรภ์อีกครั้ง

โดยปกติหลังคลอด แพทย์จะให้ตรวจความทนต่อน้ำตาล (OGTT) อีกครั้ง หลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อประเมินว่าคุณแม่เป็นเบาหวานหรือไม่ ถ้าไม่เป็นควรจะต้องตรวจเลือดเพื่อดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง

การให้นมบุตร

          ถึงแม้คุณแม่เป็นเบาหวาน คุณแม่ก็สามารถให้นมบุตรได้ การให้นมแม่มีประโยชน์มหาศาล ช่วยให้ลูกแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันต่อความเจ็บป่วย ทั้งยังทำให้แม่ได้ลดน้ำหนักหลังคลอดได้เร็วขึ้น รวมทั้งสร้างความผูกพันที่ยิ่งใหญ่ระหว่างแม่กับลูก

ป้องกันอย่างไร…ไม่ให้เป็นเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์

          ควบคุมน้ำหนักตัวระหว่างการตั้งครรภ์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตราฐาน คือ ประมาณ 10-12 กก. ตลอดการตั้งครรภ์รับประทานอาหารอย่างระมัดระวัง ถูกหลักโภชนาการ เพื่อไม่ให้อ้วนเกินไปผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรปรึกษาสูติแพทย์ เพื่อพิจารณาการตรวจคัดกรองเบาหวานเบื้องต้น

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top