คนที่มีอาชีพที่ต้องอยู่เวรยาม เช่น แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร หรือยามรักษาการณ์ คงเข้าใจดีถึงการอดหลับ อดนอนว่าเป็นอย่างไรนะครับ อยู่เวรวันนี้ ยังไงพรุ่งนี้ก็ยังได้นอนพัก แต่ใครที่มีมีลูกเล็กๆ ที่มีปัญหาการนอนจะแย่กว่ามากเพราะมันเป็นประสบการณ์อยู่เวร อยู่ยามทุกคืน โดยไม่มีวันได้หยุดพักเลยครับ เมื่อลูกตื่น พ่อแม่ก็ต้องตื่น (พ่อบางคนอาจไม่ตื่น แต่คนเป็นแม่ตื่นแน่) อดนอนหลายคืนแล้ว ทุกเช้าก็ต้องไปทำงานตามปกติ เล่นเอาคุณพ่อคุณแม่หลายคนถึงกับโทรม เดินไปทำงานแบบเบลอๆ เลยครับ ปัญหาการนอนของลูกอาจเริ่มตั้งแต่รับลูกมาจากโรงพยาบาลจนบางทีไปถึงวัย อนุบาลก็ได้ครับ เราลองมาทำความเข้าใจเรื่องการนอนของเด็กกันดีกว่านะครับ
การนอนกับพัฒนาการ
การนอนก็เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็กครับ จากการศึกษาวิจัย เด็ก ทารกจะใช้เวลากับการนอนมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน โดยมักตื่นร้องทุก 3-4 ชั่วโมง ซึ่งสัมพันธ์กับความหิว เนื่องจากเด็กทารกต้องกินนมทุก 3-4 ชั่วโมงนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กทารกจะตื่นกลางคืนทุก 3-4 ชั่วโมง ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องทนเหนี่อยไปก่อนครับ แต่เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะหลับกลางคืนได้นานขึ้น โดยพบว่าร้อยละ70 ของเด็กอายุ 3 เดือนจะเริ่มหลับยาวได้เกือบตลอดคืน และที่อายุ4 เดือนเด็กหลายคนจะหลับต่อเนื่องได้ถึง 8 ชั่วโมง ดังนั้นพอลูกอายุ 3-4 เดือนคุณพ่อคุณแม่หลายคนก็จะเริ่มสบายขึ้น แต่ก็พบว่าเด็กส่วนหนึ่งยังตื่นร้องกลางคืนไปเรื่อยๆ ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่ให้นมลูกบ่อยเกินไป เช่นในตอนกลางวันพ่อแม่ให้นมลูกทุก 1-2 ชั่วโมง หรือให้นมทุกครั้งที่ลูกร้องเด็ก (ซึ่งเราเคยคุยกันไปแล้ว) กลางคืนลูกก็ตื่นร้องบ่อยเพื่อกินนมเหมือนช่วงกลางวัน (Trained night feeders)
อีกปัญหาหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่ตอบสนองต่อการตื่นของลูกทุกครั้งด้วยการให้นม (Trained night crier) อัน นี้พบบ่อยมากจริงๆ ครับ คือเวลากลางคืน ถ้าลูกร้อง ไม่ว่าจะร้องดัง หรือแค่ร้องแอ๊ะๆ ก็รีบเอาขวดนมใส่ปากทันที ถ้าทำอย่างนี้เด็กจะถูกฝึกให้ตื่นร้องมากินนมกลางคืนไปตลอด คราว นี้ล่ะครับ แทนที่จะได้หลับยาวๆ ตามที่ควรจะเป็น ก็เลยร้องตื่นคืนละ 3-4 รอบ พ่อแม่อดหลับอดนอนไปตามๆ กัน การที่เราเอาขวดนมใส่ปากแล้วเด็กทารกหยุดร้องชั่วคราวนั้นเกิดจากกลไกทาง ระบบประสาทที่เรียกว่ารีเฟลกซ์ (Sucking reflex) ครับ โดยเมื่อมีวัตถุเช่นจุกนมหรือหัวนมแม่เข้ามาสัมผัสในปาก ระบบประสาทจะสั่งให้เกิดการดูดโดยอัตโนมัติ เมื่อต้องดูดก็ต้องหยุดร้อง เพราะไม่มีใครสามารถดูดไปด้วยร้องไปด้วยในเวลาเดียวกัน เหตุการณ์ซ้ำๆ แบบนี้ล่ะครับ จะทำให้พ่อแม่หลายคนคิดว่าลูกร้องเพราะหิว เพราะเอานมใส่ปากทีไร ก็หยุดร้องทุกที เด็กเองก็ถูกฝึกให้คุ้นเคยกับการตื่นขึ้นมากินนมตอนกลางคืน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงเงื่อนไขนี้เมื่อลูกร้องกลางคืนก็ควรปฏิบัติตามขั้น ตอนตามที่ได้แนะนำไปแล้วในตอนที่แล้วครับ เช่นหาสาเหตุก่อน เช่นเปียกอุจจาระ ปัสสาวะหรือไม่ อากาศร้อน เย็นเกินไป ถ้าไม่เจอสาเหตุลองตบก้นให้หลับหรืออุ้มปลอบดูก่อน ถ้าไม่หยุดจริงๆอาจให้ดูดน้ำจากขวดนม เด็กหลายคนก็จะหลับต่อได้โดยไม่ต้องให้นม
ข้อควรปฏิบัติเพื่อการนอนที่ดีของลูก
- ให้ลูกหลับบนเบาะหรือเตียงเสมอ ไม่อุ้มเดินให้เด็กหลับคาอกแล้วจึงเอาไป วางบนเบาะ คุณพ่อคุณแม่บางคนเมื่อลูกร้องมักจะอุ้มไปมาเป็นชั่วโมงๆ ให้ลูกหลับคาอกขณะอุ้ม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่ถูกต้องครับ วันหลังก็ต้องทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ พ่อแม่บางคนปวดหลังไปเลย เพราะลูกโตขึ้น ก็หนักมากขึ้นเรื่อยๆ
- จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอนหลับ เช่น เงียบไม่มีเสียงรบกวน ปรับอากาศให้เย็นสบายมืดปิดไฟนอนไม่เปิดไฟหรือเปิดทีวีในห้องนอนทิ้งไว้
- ก่อนเข้านอนไม่กระตุ้นหรือเล่นกับลูกมากเกินไป คุณพ่อบางคนทำงานมาก กลับบ้านดึก มาถึงก็พยายามเล่นกับลูกการเล่นกับลูกก็ดีอยู่ครับ แต่ถ้าเล่นใกล้เวลาเข้านอนมาก หรือเล่นจนเด็กสนุกตื่นเต้นมากเกินไป อาจมีผลต่อการนอนหลับได้ อาจเปลื่ยนกิจกรรมเป็นอ่านนิทานให้ฟังสบายๆ ชวนพูดคุยให้เคลิ้มหลับไปจะดีกว่า
ลูกน้อยกลายเป็นมนุษย์ค้างคาว
เด็กทารกบางคนอาจมีปัญหามนุษย์ค้างคาว คือกลางคืนตื่นมาเล่นไม่ยอมนอน แต่พอกลางวันกลับหลับยาว มักเกิดในเด็กเล็ก แรกเกิดถึงอายุ 1-2 เดือน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็คือสมองที่ควบคุมการนอนของเด็กเล็กยังไม่ค่อยพัฒนา เมื่อเด็กโตขึ้นอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ก็มีวิธีช่วยปรับพฤติกรรมการนอนได้บ้าง โดยเวลากลางคืนแนะนำให้ คุณพ่อคุณแม่พยายามตอบสนองลูกให้น้อยที่สุด เช่นพยายามกอดและตบๆ ก้นให้หลับต่อ ถ้าลูกไม่ยอมนอนจริงๆ ก็อย่าตอบสนองโดยการอุ้มเดินไปมา หรือถ้าลูกจะมาเล่นด้วย (ตอนกลางดึก) ก็พยายามอย่าตอบสนอง พอโตขึ้นก็มักจะดีขึ้น นอนเวลากลางคืนได้ตามปกติครับ
ลูกนอนดึก ตื่นสาย
แทบไม่น่าเชื่อว่าผมได้พบเด็กชายอายุ 2 ปีที่นอนดึกมาก คือ กว่าจะนอนเกือบตี1 แล้วไปตื่นเอา 10 โมงเช้า รายนี้พ่อแม่ขายของกลางคืน เลยเลิกงานดึกเกือบเที่ยงคืน ลูกก็รอเล่นด้วยพอจะปิดไฟให้นอนลูกก็ร้องไห้ไม่ยอมจะเล่นต่อ พ่อแม่เห็นลูกร้องมากก็ตามใจ เด็กก็เริ่มนอนดึกขึ้นเรื่อยๆ หรือบางทีปัญหาการนอนของลูกอาจเกิดจากคุณพ่อคุณแม่บางคนมีพฤติกรรมนอนดึก อย่างอื่นเช่นชอบนั่งดูทีวี หรือเล่นคอมพิวเตอร์จนดึก เด็กมักคุ้นเคยกับการนอนดึกตามไปด้วย ผลเสียของการนอนดึกเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต (Growth hormone) ซึ่งจะหลั่งออกมาในสมองเฉพาะเวลานอนหลับตอนกลางคืนเท่านั้น มันจะไม่หลั่งเวลาเช้าหรือสายๆ ดังนั้นเด็กที่ไม่นอนกลางคืน แต่มานอนกลางวัน ฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมาน้อยอาจมีผลกระทบการเจริญเติบโตได้ ดังนั้นเด็กจึงไม่ควรนอนดึกเกิน 4 ทุ่มครับ สำหรับเด็กที่นอนผิดเวลาไปแล้ว อาจปรับพฤติกรรมโดยลองปลุกลูกให้เช้ากว่าปกติ เช่นปกติตื่น10 โมงเช้า ก็ค่อยๆปลุกเร็วขึ้นเป็น 9 โมงครึ่ง วันต่อไปก็เป็น 9 โมงเช้า เด็กอาจง่วงนอนตอนกลางคืนเร็วขึ้น เราก็พยายามค่อยๆ เอาลูกเข้านอนเร็วขึ้นเช่นเคยนอนเที่ยงคืน ก็เลื่อนลงเป็น 5 ทุ่มครึ่ง เป็น 5 ทุ่มพร้อมกับจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอนหลับอย่างที่แนะนำไปแล้วตอนต้น
นอกจากนี้เด็กส่วนใหญ่จะมีการนอนกลางวัน ซึ่งปกติแล้วเด็กทารกมักมีนอนกลางวัน (nap) ประมาณ 1-2 ครั้งต่อวัน ครั้งละ1-2 ชั่วโมง ส่วนเด็กอายุ 2-3 ปีก็จะมีนอนกลางวัน ประมาณ 1 ครั้งต่อวัน ถ้าเด็กมีปัญหานอนดึก ให้ลองสำรวจว่านอนกลางวันกี่ครั้ง เวลาใดบ้าง ที่ผมเคยเจอบ่อยๆ ก็คือเด็กบางคนมีนอนกลางวัน 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 อาจเป็นตอนเย็นหรือหัวค่ำ เช่นถ้านอนตอน 6 โมงเย็นถึง 1 ทุ่มไปแล้ว ก็จะทำให้เด็กนอนดึกขึ้นเช่นนอน 5 ทุ่มหรือเที่ยงคืน ดังนั้นควรปรับการนอนกลางวันให้เหลือครั้งเดียว เอาเฉพาะที่ง่วงจริงๆ และเลื่อนเวลานอนตอนเย็นหรือหัวค่ำไปเป็นนอนช่วงบ่ายแทน
ร้องตกใจกลางคืน (Sleep terror)
ลักษณะการร้องแบบนี้มักพบบ่อยในเด็ก 2-6 ปี ครับ เด็กมักกรีดร้องเหมือนร้องตื่นตกใจ บางคนหลับหูหลับตาร้อง บางคนมีเหงื่อออก หัวใจเต้นแรง การร้องมีลักษณะเฉพาะคือมักเกิดช่วงหัวค่ำ หลังการหลับไม่นาน ต่างจากฝันร้ายซึ่งมักเกิดตอนเช้ามืด ดังนั้นการร้องแบบนี้ไม่ใช่ฝันร้ายนะครับ เป็นคนละแบบกัน คุณพ่อคุณแม่หลายคนพอเห็นลูกร้องตกใจตื่นกลางดึกก็มักรีบอุ้มขึ้นมาและเขย่า ปลุกให้ตื่น ซึ่งไม่ควรทำครับ เพราะการร้องแบบนี้เกิดในช่วงของการนอนที่เรียกว่า Non REM Sleep เป็น ช่วงซึ่งเด็กจะจดจำเหตุการณ์ไม่ได้ เมื่อเด็กถูกพ่อแม่เขย่าตัวปลุกให้ตื่นขึ้นมาก็จะยิ่งตกใจ ที่ควรทำก็คือพยายามตอบสนองลูกให้น้อยที่สุด เช่น พยายามกอดและตบๆ ก้นให้หลับต่อ ถ้าลูกร้องมากจริงๆ ก็อุ้มปลอบได้บ้างแล้วรีบให้กลับไปนอนโดยเร็วครับ พอลูกโตขึ้นอาการร้องนี้มักจะค่อยๆ ดีขึ้นครับ แต่ถ้าลูกร้องมากผิดปกติก็ควรปรึกษาแพทย์ครับ
ฝันร้าย (Nightmare)
ไม่ว่าใครก็คงจะเคยฝันร้ายกันนะครับ ฝันร้ายมักเริ่มเกิดในช่วงอายุ 3-6 ปี ซึ่งช่วงวัยอนุบาลมักมีเรื่องของจินตนาการค่อนข้างมากอยู่แล้ว ฝันร้ายมักเป็นเรื่องตื่นเต้นน่ากลัว เช่น หนีผี ปีศาจ ตกจากที่สูง หรือเรื่องความตาย ฝันร้ายมักเกิดในช่วงการนอน REM Sleep ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถจดจำเหตุการณ์ได้ และมักเกิดเวลาเช้ามืดครับ ซึ่งแตกต่างจากการร้องตกใจกลางคืน(Sleep terror) ซึ่งมักเกิดช่วงหัวค่ำ หลังจากนอนไม่นาน
ปัญหาการนอนในเด็กเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย และแตกต่างจากปัญหาการนอนของผู้ใหญ่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการนอนของลูก คอยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น หรือถ้ามีปัญหาก็ปรึกษาแพทย์เพื่อคำแนะนำที่ถูกต้อง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะช่วยให้พัฒนาการและสุขอนามัยของลูกดีขึ้นครับ