เทคนิคการผ่าตัดแผลเป็นน้อย ในโรคพังผืดรัดเส้นประสาทฝ่ามือ (Minimal Scar Surgery Technique In Carpal Tunnel Syndrome (CTS))

โรคพังผืดรัดเส้นประสาทฝ่ามือ (Carpal Tunnel Syndrome) เป็นโรคที่พบได้บ่อยครับ มักเกิดขึ้นกับ ผู้หญิง วัยกลางคน โดยจะมีอาการเริ่มต้น คืออาการชาปลายนิ้วเวลาใช้งานฝ่ามือติดต่อกันเป็นเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ขับรถ จับเตาหลิวปรุงอาหาร หรือแม้แต่การใช้มือจับโทรศัพท์ นิ้วที่พบว่ามีอาการอยู่บ่อยๆ คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ครับ หลัง จากที่มีอาการเพียงครั้งคราว ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการรักษาอย่างถูกต้อง อาการชาที่เกิดจะเป็นหนักมากขึ้น นานขึ้น และมีอาการปวดตามมา อาการปวดจะร้าวขึ้นมาจากข้อมือ และ ลามไปต้นแขนข้างนั้นได้

ถ้ายังคงเพิกเฉย ฝืนทนอาการปวด และชาได้ กล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือก็จะเริ่มเหี่ยว ลีบเล็กลง จนเห็นได้ชัด และแรงของข้อมือ และนิ้วมือจะลดลง ไม่มีกำลังที่จะจับสิ่งของเล็กๆให้อยู่ที่มือได้เนื่องจากที่ฝ่ามือคนเรา จะมีเส้นประสาทที่สำคัญเส้นหนึ่งที่เราเรียกว่า เส้นประสาทมีเดี้ยน (Median Nerve) เส้นประสาทเส้นนี้ นอกจากจะมีหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนางแล้ว ยังมีหน้าที่กระตุ้นทำให้ กล้ามเนื้อฝ่ามือมีกำลัง และเคลื่อนไหวตามปกติ เมื่อมีพังผืดที่หนาตัวไปรัดเส้นประสาท อาหารหล่อเลี้ยงที่มากับ เส้นเลือดแดง ก็จะขาดหายไป เพราะ เลือดไม่สามารถวิ่งผ่านในจุดที่ถูกกดทับได้ เซลล์ประสาทก็จะค่อยๆเสื่อมถอยลง และมีอาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ตามมาในการรักษา สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการวินิจฉัยโรคครับ เพื่อจะบอกให้เราทราบว่า เป็นโรคนี้จริงหรือเปล่า และเป็นโรคนี้ในขั้นไหน การตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการใช้เครื่องมือตรวจที่เราเรียกว่า EMG (Electro Myo-graphic Test) มีความจำเป็นจะช่วยยืนยันความถูกต้องมากขึ้น เพื่อที่จะดำเนินการักาต่อไป

ในการรักษานั้น แบ่งเป็นสามวิธี คือ

การทานยา

ในกรณีที่เพิ่งเริ่มมีอาการไม่นาน เช่น มีอาการชาเพียงเล็กน้อย หรือ เป็นครั้งคราว การทานยาเพื่อลดอาการอักเสบ ลดอาการบวม ของเส้นประสาท (Anti-inflammation Medicines) หรือการทานยาบำรุงปลายเส้นประสาท เช่น วิตามินB (Vitamin B Complex and Concentration Vitamin B12) ก็อาจจะรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ครับ โดยมีอัตราการหายสูงถึง 60-70%

การฉีดยา

การฉีดยากลุ่มสเตอรอยด์ เข้าไปที่ฝ่ามือ ตรงบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดอยู่ ยากลุ่มนี้จะช่วยลดอาการบวม และอาการอักเสบของเส้นประสาทได้ ข้อดีของยาฉีดกลุ่มนี้ มีผลข้างเคียงน้อย ลดอาการปวด และอาการชาได้อย่างรวดเร็ว สามารถใช้ฉีดในผู้ป่วยตั้งครรภ์ที่มีพังผืดรัดเส้นประสาทฝ่ามือได้ เนื่องจากสตีตั้งครรภ์ไม่สามารถทานยาแก้อักเสบชนิดใดเลย เพราะจะมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ส่วนข้อเสียของยากลุ่มนี้ก็มีนะครับ เช่น ต้องเจ็บตัวเล็กน้อย และการรักษาแบบนี้ยังคงเป็นการ รักษาที่ปลายเหตุครับ เนื่องจากว่า ไม่สามารถลดพังผืดที่รัดเส้นประสาทที่ฝ่ามือได้หมดไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อหมดฤทธิ์ยา อาการก็อาจจะกลับมาเป็นใหม่ได้ อัตราการหายจาการฉีดยา จึงใกล้เคียงกับการทานยาครับ

การผ่าตัด

การผ่าตัดเป็นการไปเลาะเอาพังผืดที่กดทับเส้นประสาทโดยตรง ทำให้เลือดสามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงเส้นประสาทให้ฟื้นฟูได้ใหม่ การผ่าตัดต้องมีข้อบ่งชี้ทางกสรแพทย์ที่สมบูรณ์ โดยที่แพทย์ผู้ผ่าตัด ทั่วไปจะใช้วิธีการผ่าตัดมาตรฐาน คือการเปิดแผลที่ตรงกลางฝ่ามือตามยาว แต่ปัญหา ยังไม่จบครับ เพราะผู้ป่วยบางคนกลับมีปัญหาแผลเป็นที่เกิดขึ้นที่ผิวหนังตรงบริเวณรอยมีด ที่ผ่าตัด ถึงแม้ว่าการผ่าตัดจะได้ผลดี หายจากอาการนิ้วชา มีกำลังฟื้นฟูเหมือนเก่า แต่กลับมีแผลเป็นนูนใหญ่ที่ผิวหนัง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อคนไข้ได้ครับ โดยเฉพาะเวลาต้องใช้ฝ่ามือทำงานต่างๆ เนื่องเพราะที่ผิวหนังฝ่ามือนั้น เป็นส่วนที่ไวมากต่อความรู้สึกสัมผัส การมีแผลเป็น นูนขึ้นมาบริเวณนี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึก เจ็บเสียวที่ผิวหนังฝ่ามือ จน ทำให้การใช้งานของฝ่ามือไม่สะดวกสบายเหมือนเก่า แต่พอจะมีวิธีป้องกันครับ คือการใช้เทคนิคผ่าตัดที่จะก่อให้เกิดแผลเป็นขึ้นน้อย เทคนิคการผ่าตัดชนิดนี้ เรา อาจจะเรียกว่า Minimal Scar Surgeryก็ได้ครับ

Minimal Scar Surgery Technique (เทคนิคการผ่าตัด แบบแผลเป็นน้อย) จะประกอบด้วยวิธีการผ่าตัด 2 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้

1.Minimal Scar Incision โดยเปิดแผลที่ผิวหนัง แต่ไม่กรีดแผล ตรงกลางฝ่ามือครับ แต่เปิดแผลไปตามเส้นลายมือ (ดังรูป) ที่หมอดูเรียกว่า เส้นของอายุ โดยจะเป็นการกรีดให้เส้นอายุยาวขึ้นทางด้านล่างมาทางข้อมือ เนื่องจากเส้นลายมือ เป็นส่วนผิวหนังที่เป็นรอยบุ๋มลึกลงไปอยู่แล้ว การกรีดแผลบริเวณนี้ จึงทำให้รอยแผลที่เกิดจากการผ่าตัดกลมกลืนกับลายมือ ถ้าไม่สังเกตุก็จะไม่ทราบว่า เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน อีกทั้งถ้ามีแผลเป็นเกิดขึ้น เนื่องเพราะปัจจัยอื่น ก็จะไม่เกิดขึ้นมาก เหมือนผิวหนังที่ตึงมากส่วนอื่นๆ

2.Minimal Scar Technique ประกอบด้วย

  • Anatomical Opening การ เปิดแผลชั้นในกล้ามเนื้อถูกตำแหน่งตามกายวิภาคของฝ่ามือ จะทำให้โอกาสไปตัดขาดเส้นเลือดเล็กๆลดลง ทำให้เสียเลือดน้อยลง และ สามารถลดพังผืด แผลเป็นที่เกิดจากการสมานเส้นใยกล้ามเนื้อที่ถูกตัดขาดโดยไม่จำเป็นลงไปได้ ครับ
  • No Cautery Machine ไม่ มีการใช้ เครื่องจี้ไฟฟ้า เพื่อหยุดเลือดที่ออก เนื่องจากการใช้ เครื่องจี้ไฟฟ้า ก็คือการใช้ความร้อนไปเผาเนื้อเยื่อให้ละลายและอุดแผลเลือดออก แต่มีผลให้ ทำให้เนื่อเยื่อข้างเคียงถูกความร้อนเผาตามไปด้วย และทำให้เกิดแผลเป็นตามมา การผ่าตัดโดยไม่ใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า ทำให้ผู้ป่วยมีพังผืดแผลเป็นน้อยลง และลดอาการปวดระบมแผลผ่าตัด ซึ่งถ้าเปิดแผลตามกายวิภาคข้างต้นอย่างถูกต้อง โอกาสเสียเลือดก็จะน้อยอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจี้ไฟฟ้าเลยครับ

Minimal Size of Suture Material การ ใช้ไหมเย็บแผลขนาดเล็กมาก (บางครั้ง ต้องใช้ไหมขนาดที่ใช้เย็บแผลที่ใบหน้ามาใช้) และการลดรอยห่างของแผลเย็บแต่ละเข็ม ทำให้แผลเป็นที่เกิดขึ้นไม่เป็นรอยตะขาบ และสามารถทำให้ขนาดแผลเป็นที่จะเกิดขึ้นลดลง

Minimal Movement Stabilization การ ใส่เฝือกอ่อนชั่วคราว ลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ ทำให้แรงดึงตัวของแผลผ่าตัดลดลง ลดโอกาสที่จะเกิดพังผืดแผลเป็น นอกจากนั้นยังส่งผลทำให้เส้นประสาทฝ่ามือลดอาการบวมและฟื้นคืนได้เร็วกว่า ครับ

เหนือสิ่งอื่นใด ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากครับ ที่จะทำให้เกิดแผลเป็น เช่น เรื่องของกรรมพันธ์ เช่น คนผิวคล้ำก็จะมีแนวโน้มขึ้นแผลเป็นได้มากกว่า การดูแลรักษาความสะอาดไม่ให้แผลติดเชื้อ การไม่ใช้มือข้างที่ผ่าตัดก่อนเวลา และอื่นๆข้อที่สำคัญ คือนอกจากจะมีแผลเป็นเกิดขึ้นน้อยแล้ว เส้นประสาทฝ่ามือต้องฟื้นฟู กลับมาสู่ปกติด้วยนะครับ จึงจะถือว่า ประสบความสำเร็จในการรักษาโรคนี้ครับสบายกายคลายปวดข้อนะครับ

นพ. สมศักดิ์ เหล่าวัฒนา
ศัลยแพทย์โรคกระดูก
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top