เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 คืออะไร

เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ประกอบไปด้วยเชื้อไวรัสทั้งหมด 68 ซีโรทัยป์ ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดโรคในเด็กซึ่งเป็นโรคที่ไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง ซึ่งการก่อโรคในลักษณะนี้จะคล้ายคลึงกันสำหรับสมาชิกในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส บางครั้งพบการติดเชื้อโดยไม่ปรากฏอาการซึ่งทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยได้ในทางปฏิบัติ ในบางกรณีการติดเชื้ออาจรุนแรงมากขึ้น เช่น ทำให้เกิดอาการผื่น อุจจาระร่วง อาการเหมือนไข้หวัด ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่สำคัญคือ บางครั้งอาจก่อให้เกิดโรคมากกว่าหนึ่งโรคก็ได้ อาการทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คล้ายกับโรคโปลิโอ หรือกลุ่มอาการกิแลงเบอเร่ ถ้าเชื้อลุกลามเข้าไปในเนื้อสมองจะก่อให้เกิดการอักเสบของสมอง ลักษณะเป็นโรคไข้สมองอักเสบ

เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71) เป็นเชื้อที่พบว่าก่อให้เกิดการระบาดสำคัญหลายครั้งหลายหน โดยพบครั้งแรกเมื่อปี 1969 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้น พบระบาดไปทั่วโลก ปรากฏเป็นข่าวเมื่อเกิดการระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล ยุโรป ออสเตรเลีย มาเลเซีย และไต้หวัน การระบาดของ เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เกิดขึ้นได้สองลักษณะ อาจเกิดเป็นการระบาดเล็กน้อยที่มีเด็กป่วยไม่มากและส่วนใหญ่ไม่ทำให้เสียชีวิต อีกลักษณะหนึ่งเป็นการระบาดที่รุนแรง พบเด็กติดเชื้อเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก การระบาดที่รุนแรง พบที่ประเทศบุลกาเรีย ในปี 1975 ประเทศฮังการีในปี 1978 ประทศมาเลเซียในปี 1997 ประเทศไต้หวันในปี 1998, 2000, และ 2001 การระบาดในไต้หวันนับว่ารุนแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1998 ทางการไต้หวันรายงานยอดผู้ป่วย 129,106 ราย แต่ทางองค์การอนามัยโรคคาดว่ายอดผู้ป่วยน่าจะสูงถึง 1,483,977 ราย อาการสำคัญคือ ผู้ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก จากการตรวจเชื้อไวรัสในห้องปฏิบัติการพบว่า เป็นเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 มากถึงร้อยละ 62 การระบาดครั้งนั้นพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากถึง 405 คน เกือบทั้งหมดเป็นเด็ก อัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 20 ในรายที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เมื่อทำการผ่าชันสูตรศพ พบเชื้อไวรัสในไขสันหลังและเนื้อสมองส่วนเมดัลลาของผู้ป่วยแทบทุกราย เด็กมาโรงพยาบาลด้วยอาการไข้สูง 2-4 วัน แล้วอาการของเด็กจะเลวลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเสียชีวิตใน 12-24 ชั่วโมง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ปรากฎอาการของโรคมือเท้าปาก บางรายมีแผลในปาก สำหรับรายที่เสียชีวิต สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในสมองและภาวะปอดบวมน้ำ รวมทั้งเลือดออกในปอด

การติดต่อของเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เป็นการติดต่อจากการกินเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนเข้าไปในร่างกาย แต่ก็มีรายงานที่น่าเชื่อว่า เชื้อนี้สามารถติดต่อทางการหายใจได้เช่นกัน วิธีการติดต่อของเชื้อนี้จะมีผลต่อการเฝ้าระวังโรคเป็นอย่างมาก นอกจากนี้พบว่าภูมิต้านทานของผู้ป่วยจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสมีลักษณะหลายๆ อย่างที่คล้ายกับการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย หลักฐานทางห้องปฏิบัติไวรัสที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การพบว่าเด็กๆ ที่เคยได้รับเชื้อ Coxsackievirus A16 มาก่อนจะสร้างภูมิต้านทานที่ก่อให้เกิดภาวะไวเกินต่อการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสซ้ำในคราวต่อมา หรือที่เรียกว่า hypersensitivity reaction และเป็นสาเหตุที่ทำให้ลักษณะอาการของโรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 จะรุนแรงมากในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ดังที่เห็นได้จากการระบาดครั้งสำคัญๆ ที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ที่ปรึกษา

Scroll to Top