อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรังมีหลายระยะ ระยะเริ่มแรกอาการจะน้อยมาก แต่เมื่อเป็นจนถึงระยะปานกลางและระยะรุนแรง อาการจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะไปถึงระยะสุดท้ายอย่างรวดเร็ว ซึ่งการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายนั้น นอกจากผู้ป่วยจะได้รับความทุกข์ทรมานแล้ว ยังเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก การควบคุมอาหารสามารถชะลอการดำเนินของโรคไตวายเรื้อรังได้ โรคไตวายเรื้อรังจะทำให้เนื้อไตเสื่อมไป แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ทำหน้าที่อยู่ได้ โรคไตวายเรื่อรังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ไตที่เสื่อมสภาพไปอย่างเรื้อรังและถาวรแล้วก็จะไม่สามารถกลับมาทำงานได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการล้างไต การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ล้วนแต่เป็นการรักษาที่นำเอาของเสียในเลือดออกเพื่อให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด โรคไตกับโรคไตวายเรื้อรังไม่เหมือนกัน บางคนเข้าใจว่าเมื่อเป็นโรคไตแล้ว ตนเองก็จะเป็นโรคไตวายเรื้อรัง เมื่อทราบว่าเป็นโรคไตต้องสอบถามแพทย์ให้แน่ชัดว่าเป็นโรคไตชนิดใด โรคไตนั้นมีมากมากหลายชนิด บางอย่างรักษาหายขาด บางอย่างจะต้องติดตามการรักษาไปโดยตลอด ไม่จำเป็นว่าเป็นโรคไตแล้วจะเป็นไตวายเรื้อรังเสมอไป

ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของคนเรา หน้าที่หลักของไตคือการกรองของเสียจากเลือดและขับถ่ายออกทางปัสสาวะ รวมทั้งรักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่และความเป็นกรดด่างของเลือด โภชนาการบำบัดโรคไตเพื่อรักษาและยืดอายุการทำงานของไตให้ยาวนานยิ่งขึ้น ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังนานๆ มักปวดและทรมานจนอาจเกิดอาการเครียด นอกจากนี้ยังเกิดภาวะขาดอาหารได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อยลง หรือมีอาการบวมเนื่องจากอาการคั่งของของเสียในร่างกายมากขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยควรกำหนดปริมาณอาหารที่ร่างกายต้องการเพื่อรักษาและยืดอายุการทำงานของไตให้ยาวนานยิ่งขึ้น การควบคุมอาหารที่ถูกต้องมีผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนน้อยลง และชะลอการเสื่อมของไต

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรได้รับพลังงาน 35-40 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องการสารอาหารโปรตีนสูงกว่าคนธรรมดา คือประมาณ 1.2-1.3 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขณะที่คนทั่วไปควรได้รับโปรตีนวันละ 0.8-1.0 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งอาหารจำพวกโปรตีนที่แนะนำให้ผู้ป่วยทานควรเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ประมาณร้อยละ 60 เนื่องจากโปรตีนจากเนื้อสัตว์นั้นเป็นโปรตีนชนิดที่มีกรดอะมิโนครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย เนื้อสัตว์ที่ผู้ป่วยควรทานต้องเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมันเพื่อหลีกเลี่ยงไขมันที่มาจากสัตว์ ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัวและมีโคเลสเตอรอลสูงด้วย เนื้อสัตว์ที่สุกแล้วประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ให้โปรตีนประมาณ 7 กรัม และให้พลังงาน 55 กิโลแคลอรี่ ผู้ป่วยควรทานเนื้อสัตว์วันละประมาณ 9 ช้อนโต๊ะต่อวัน ถ้าผู้ป่วยต้องการดื่มนมแทนเนื้อสัตว์ก็ได้ แต่ควรดื่มมชนิดพร่องมันเนยที่มีไขมันต่ำแทน นมสดพร่องมันเนย 1 แก้ว หรือ 240 มิลลิกรัม จะได้โปรตีน 8 กรัม และพลังงาน 120 กิโลแคลอรี่

อาหารจำกัดโซเดียม

อาหารจำกัดโซเดียมใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการบวม ถ่ายปัสสาวะน้อย หัวใจวาย น้ำท่วมปอด หรือมีความดันโลหิตสูง เมื่อสั่งให้ “กินอาหารจำกัดโซเดียม” หมายความว่าจะต้องงดอาหารที่มีโซเดียมมาก อาหารที่มีโซเดียมสูงที่ควรระวัง ได้แก่ อาหารที่มีรสเค็มจากการใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสหอยนางรม น้ำบูดู ซุปก้อน ผงปรุงรสต่างๆ คนที่มีปัญหาเรื่องไต ต้องระวังไม่ใส่เครื่องปรุงรสต่างๆ มากในขณะประกอบอาหาร โดยทั่วไปเติมเกลือได้ครึ่งช้อนชาต่อวัน หรือเติมน้ำปลา ซีอิ้วรวมกันได้ไม่เกิน 3 ช้อนชาต่อวัน และต้องไม่เติมเครื่องปรุงรสเหล่านี้เพิ่มในระหว่างการกินอาหาร รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยง อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาหารว่างที่ออกรส เค็ม อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม หมูยอ หมูหยอง อาหารสำเร็จรูป จำพวกโจ๊ก บะหมี่ วุ้นเส้น และขนมขบเคี้ยวต่างทุกชนิด

อาหารที่มีโซเดียมมาก ได้แก่

– อาหารที่มีรสเค็ม เช่น หมูเค็ม เบคอน ไส้กรอก ผักดอง มัสตาร์ด และเนยแข็ง

– เกลือป่น เกลือเม็ด

– น้ำปลา น้ำบูดู ซอสหอย ซอสเนื้อ ซอสถั่ว ซีอิ๊ว

– ซอสที่มีรสอื่นนำและมีรสเค็มแผง เช่น ซอสพริกซึ่งมีรสเปรี้ยวและเผ็ดนำความจริงมีรสเค็มด้วย ซอสมะเขือเทศ ซอสรสเปรี้ยวๆ เป็นต้น รวมทั้งเครื่องปรุงรสที่มีเกลือมาก เช่น ซุปก้อน ผงชูรส ผงฟูู

– อาหารหมักดองเค็ม อาหารตากแห้ง เช่น เนื้อเค็ม กุ้งแห้ง กะปิ ผักดองเค็ม ผลไม้ดองเค็ม ปลาเค็ม หอยเค็ม ปลาแห้ง เต้าหู้ยี้ ปลาร้า ไตปลา ไข่เค็ม

– อาหารดองเปรี้ยว เช่น หลาเจ่า แหนม ไส้กรอกอีสาน หัวหอมดอง หน่อไม้ดอง ผัดกาดเขียวดองเปรี้ยว ผักดองสามรส กระเทียมดองสามรส เป็นต้น
อาหารที่มีรสหวานและเค็มจัด เนื้อสัตว์ปรุงรส เช่น ปลาหวาน กุ้งหวาน หมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง ผลไม้แช่อิ่ม เป็นต้น

– อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่สำเร็จรูป โจ๊กซอง ซุปซอง
อาหารสำเร็จรูปบรรจุถุง เช่น ข้าวเกรียบ ข้าวตังปรุงรส มันฝรั่ง

แนวทางปฏิบัติ

– หลีกเลี่ยงการใช้น้ำปลาโดยอาจเติมซีอิ้วขาวเพียงเล็กน้อยแทน ไม่เติมเกลือหรือน้ำปลาเพิ่มในอาหารที่ปรุงเสร็จ

– ไม่เติมเครื่องปรุงรสใดๆ ที่โต๊ะอาหารเพิ่มอีก เพราะในอาหารปกติที่ทานอยู่ก็จะมีโซเดียมอยู่มากพอสมควรแล้วโดยเฉพาะอาหารทะเล นม ไข่

– ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม ปลาเค็ม เนื้อเค็ม หมูเค็ม และไข่เค็ม

– เวลาซื้ออาหารกระป๋อง ต้องอ่านสลากอาหารเพื่อดูปริมาณสารอาหาร ให้เลือกที่มีเกลือต่ำ

– รับประทานอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ผัก หรือผลไม้ แทนการรับประทานอาหารที่ผ่านขบวนการถนอมอาหาร

อาหารจำกัดโปแตสเซียม

เนื่องจากโปแตสเซียมถูกขับออกทางไต ไตเสื่อมทำให้เกิดการคั่งของโปแตสเซียม ผู้ป่วยไตวายมักจะมีการคั่งของโปแตสเซียม ถ้าระดับโปแตสเซียมสูงมาก อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ หากต้องการรับประทานผลไม้ ควรรับประทานก่อนการฟอกเลือด การจัดอาหารให้มีโปแตสเซียมน้อย กระทำได้ยากกว่าการจัดให้มีโซเดียมน้อย เพราะธาตุโปแตสเซียมมีในอาหารทั่วไปทั้งสัตว์และพืช ต่างจากโซเดียมซึ่งมีมากแต่ในสัตว์ เช่น เนื้อ นม ไข่

อาหารที่มีโปแตสเซียมมาก ได้แก่

– จำพวกเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ เครื่องในสัตว์ ไข่ และนม

– จำพวกผัก ได้แก่ หัวปลี ผักชี ต้นกระเทียม หัวผักกาดสีแสด ผักที่มีใบสีเขียวเข้ม บร๊อคโคลี่ แครอท มันเทศ ผักบุ้ง เห็ดฟาง มะเขือพวง มะเขือเปราะ ใบแมงลัก โหระพา หน่อไม้ฝรั่ง หอมแดง ผักปวบเล้ง มันฝรั่ง มะเขือเทศ ดอกกระหล่ำ ถั่วต่างๆ ถั่วดำ และถั่วปากอ้าซึ่งมีมากเป็นพิเศษ เมล็ดทานตะวัน ผักที่มีโปแตสเซียมปานกลาง ได้แก่ เห็ดนางฟ้า แตงกวา ฟักเขียว พริกฝรั่ง หัวผักกาดขาว มะเขือเทศสีดา ผักกาดขาวใบเขียว พริกหยวก ผักที่มีโปแตสเซียมน้อย ได้แก่ บวบเหลี่ยม ถัวพู หอมหัวใหญ่ ส่วนผักที่มีโปแตสเซียมน้อยที่สุด คือ เห็ดหูหนู

– ผักที่รับประทานได้ เช่น กะหล่ำปลี แตงกวา บวบ ฟักเขียว ถั่วงอก

– จำพวกผลไม้ ได้แก่ ทุเรียน มะพร้าว กล้วย ลำไย ส่วนผลไม้ที่มีโปแตสเซียมสูงปานกลาง ได้แก่ ฝรั่ง มะขาม กระท้อน ส้ม ลางสาด องุ่น มะม่วง มะละกอสุก ลิ้นจี่ ละมุด ขนุน ลูกพรุน ลูกเกด ลูกท้อ ส่วนผลไม้ที่มีโปแตสเซียมต่ำ รับประทานได้ค่อนข้างมาก เช่น แตงโม และสับปะรดกระป๋อง ผลไม้ที่มีโปแตสเซียมปานกลาง เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง มะละกอสุก มะม่วงสุก มะม่วงดิบ ส้มโอ แอปเปิลแดง สตรอเบอรี่ ลางสาด แคนตาลูป เงาะ ขนุน

– ผลไม้แห้งทุกชนิด เช่น ลูกเกด ลูกพรุน เบ็ดเตล็ด กากน้ำตาล ช็อกโกแล็ต มะพร้าวขูด

– ผักและผลไม้ที่พอรับประทานได้ แต่ปริมาณไม่มาก ได้แก่ ถั่วพู ถั่วผักยาว มะเขือยาว หน่อไม้ตรง ผักคะน้า ถั่วลันเตา มะระ หัวผักกาดขาว มะม่วง มะละกอ องุ่น แตงโม แอปเปิล ชมพู่

แนวทางปฏิบัติ

เมื่อผู้ป่วยต้องกินอาหารจำกัดโปแตสเซียม ต้องจำกัดอาหารทั้งพวกเนื้อสัตว์ พวกผัก และผลไม้ประเภทที่มีโปแตสเซียมสูงๆ
โปแตสเซียมเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีภาวะโปแตสเซียมสูง จึงต้องมีการควบคุมการทานโปแตสเซียมให้น้อยลง

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top