อหิวาตกโรค (cholera)เป็น โรคติดต่อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio cholerae) เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน เชื้อจะเข้าไปอยู่บริเวณลำไส้ และจะสร้างพิษออกมา ทำปฏิกิริยากับเยื่อบุ ผนังลำไส้เล็กทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อุจจาระเป็นน้ำสีซาวข้าว ร่างกายเสียน้ำ และเกลือแร่อย่างรวดเร็ว และรุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ โรค นี้พบเป็นโรคประจำถิ่นที่เกิดระบาดขึ้นเป็นครั้งคราวในอัฟริกา เอเชีย ยุโรปตะวันออก และอินเดีย เป็นโรคนำเข้าของประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรปตะวันตก
การระบาดไม่ค่อยเกี่ยวพันกับการเดินทางทางอากาศสถานการณ์ของอหิวาตกโรคตลอดปี 2550 กระทรวง สาธารณสุขพบผู้ป่วยที่ยืนยันติดเชื้ออหิวาตกโรค จำนวน 988 ราย เสียชีวิต 7 ราย อัตราตายร้อยละ 0.7 ซึ่งถือว่าต่ำมาก ทางกระทรวงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งที่มี และไม่มีรายงานผู้ป่วย เร่งควบคุมป้องกันโรคอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ให้แยกผู้ป่วยดูแล และค้นหาเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ และผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการในชุมชนละแวกเดียวกัน เป็นเวลา 10 วัน ขณะนี้มี 2 จังหวัดที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง ได้แก่ ยะลา พบผู้ป่วยรายล่าสุดเมื่อ 26 ธันวาคม 2550 และที่กรุงเทพมหานคร พบผู้ป่วยรายล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 ทั้งนี้ อหิวาตกโรคมีการระบาดทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนหลายประเทศก็มีรายงานโรคเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับไทย
สาเหตุ
1. กินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรค หรือพิษของเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารกระป๋องที่เสียแล้ว
2. ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ Vibrio cholerae O group 1 (ไบโอทัยป์ eltor หรือ classical)
3. สายพันธุ์ Vibrio cholera non O group 1 จะทำให้เกิดอาการเหมือนโรคอหิวาต์ระบาดได้อย่างจำกัด บางครั้งอาจจะมีไข้ และอุจจาระมีมูกปนเลือด แต่ไม่เคยเกิดการระบาดใหญ่
4. เชื้อต้นเหตุ เกิดจากเชื้อบัคเตรีรูปแท่งที่มีลำตัวโค้งงอ ที่ชื่อว่า Vibrio cholerae แบ่งย่อยเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดแท้หรือคลาสสิก และชนิดอ่อนหรือเอลทอร์
5. ใน อุจจาระของผู้ป่วยโรคอหิวาต์จำนวน 1 ซีซี จะมีเชื้ออหิวาต์ 1 พันล้านตัว ในอุจจาระของผู้ที่มีเชื้ออหิวาต์ แต่ยังไม่มีอาการถ่ายเหลวขนาดน้ำหนัก 1 กรัม จะมีเชื้อโรคดังกล่าวประมาณ 1,000 ตัว โดยเชื้ออหิวาต์เพียง 2 ตัว หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่อยู่ในสภาพชื้นๆ จะสามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 9 ชั่วโมง สามารถเพิ่มจำนวนได้มากถึง 137,000 ล้านตัวระยะฟักตัวประมาณ 2-3 วัน แต่อาจพบได้ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ถึง 5 วัน
อาการ
1. ผู้ที่ได้รับเชื้อ จะเกิดอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงถึง 5 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดอาการภายใน 1-2 วัน
• เป็นอย่างไม่รุนแรง พวกนี้มักหายภายใน 1 วัน หรืออย่างช้า 5 วัน มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ วันละหลายครั้ง แต่จำนวนอุจจาระไม่เกินวันละ 1 ลิตร ในผู้ใหญ่อาจมีปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนได้
• เป็น อย่างรุนแรง อาการระยะแรก มีท้องเดิน มีเนื้ออุจจาระมาก ต่อมามีลักษณะเป็นน้ำซาวข้าว เพราะว่ามีมูกมาก มีกลิ่นเหม็นคาว ถ่ายอุจจาระได้โดยไม่มีอาการปวดท้อง บางครั้งไหลพุ่งออกมาโดยไม่รู้สึกตัว มีอาเจียนโดยไม่มีคลื่นไส้ อุจจาระออกมากถึง 1 ลิตร ต่อชั่วโมง และจะหยุดเองใน 1-6 วัน ถ้าได้น้ำและเกลือแร่ชดเชยอย่างเพียงพอ แต่ถ้าได้น้ำและเกลือแร่ทดแทนไม่ทันกับที่เสียไป จะมีอาการขาดน้ำอย่างมาก ลุกนั่งไม่ไหว ปัสสาวะน้อย หรือไม่มีเลย อาจมีอาการเป็นลม หน้ามืด จนถึงช็อค ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การวินิจฉัย
• จากลักษณะประวัติอาการความเจ็บป่วย ร่วมกับความรุนแรงของโรคในระดับต่างๆ
• การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ dark field หรือ phase-contrast ตรวจอุจจาระ หรืออาเจียนของผู้ป่วยจะเห็นลักษณะการเคลื่อนไหวของ vibrio ถ้าเติมแอนติซีรั่มจำเพาะลงไปเชื้อจะหยุดเคลื่อนไหวทันที
• เพาะเชื้อด้วยอาหารพิเศษ
• ทดสอบซีโรโลยีจะพบระดับแอนติบอดีขึ้นในซีรั่มคู่
การรักษา
1. ให้ สารน้ำทดแทนทางปาก หรือเส้นเลือดดำ ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง และไม่อาเจียน อาจให้กินน้ำต้มสุกที่ละลายน้ำตาลและเกลือสำหรับผู้ท้องร่วง ถ้าเป็นรุนแรง ต้องให้น้ำเกลือจำนวนมากเข้าเส้นเลือด ถ้าเลือดมีภาวะเป็นกรดต้องแก้ไขภาวะดุลกรดด่างของร่างกาย
2. ให้ยาเตตร้าซัยคลิน ไทรเมโธพริม หรือ ซัลฟาเมธอกซาโซล
• ไม่ต้องแยกกักผู้ป่วย ยกเว้นในพื้นที่ไม่ใช่โรคประจำถิ่น
• ระวังเรื่องสิ่งขับถ่าย ฆ่าเชื้อโรคโดยต้มน้ำให้เดือดหรือเติมคลอรีน
• ค้นหาแหล่งเชื้อโรคและผู้สัมผัสเพื่อพิจารณาให้ยาบำบัดรักษาข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการท้องเสีย
1. งดอาหารที่มีรสจัดหรือเผ็ดร้อน หรือของหมักดอง
2. ดื่มน้ำชาแก่แทนน้ำ บางรายต้องงดอาหารชั่วคราวเพื่อลดการระคายเคืองในลำไส้
3. ดื่มน้ำเกลือผง สลับกับน้ำต้มสุก ถ้าเป็นเด็กเล็กควรปรึกษาแพทย์
4. ถ้าท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบนำส่งแพทย์ด่วน
การป้องกัน
1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆและดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหาร ควรล้างสะอาด
ทุกครั้งก่อนใช้ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง สุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม
2. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร หรือก่อนปรุงอาหารและหลังเข้าส้วม
3. ไม่ เทอุจจาระ ปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรี่ยราด ต้องถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และกำจัดสิ่งปฏิกูลโดยการเผาหรือฝังดิน เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค ต้องป้องกันไม่ให้อุจจาระลงไปแปดเปื้อนในน้ำดื่ม น้ำใช้ จัดหาน้ำสะอาดสำหรับบริโภคให้เพียงพอ ดื่มน้ำต้ม และน้ำนมสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ หรือการพาสเจอไรซ์ก่อน
4. ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง
5. หลีก เลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค การแนะนำประชาชนให้มีความรู้เกี่ยวกับการติดโรคและวิธีป้องกันโรค หัดให้เป็นนิสัยในการล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงหรือกินอาหารและหลังจากเข้า ส้วม แนะนำ และจัดสร้างส้วมให้ถูกหลักสุขาภิบาล
6. สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคต้องรับประทานยาที่แพทย์ให้จนครบ
7. การฉีดวัคซีนอหิวาตกโรคให้ผลป้องกันโรคไม่สมบูรณ์
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์