หากท่านมีอาการเหนื่อยง่าย

ออกซิเจนเป็นสารที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่ถ้าขาดออกซิเจนคนเราจะถึงแก่กรรมในระยะเวลาอันสั้น การหายใจเป็นการนำออกซิเจนเข้าไปสู่ในปอด และแลกเปลี่ยนกับเลือดที่ไหลมายังปอด ออกซิเจนจะซึมเข้าไปในกระแสเลือด และไหลออกไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในภาวะปกติการหายใจจะเป็นสัดส่วนกับความต้องการออกซิเจนของร่างกาย ปกติแล้วการหายใจควบคุมโดยสมองส่วนกลาง โดยที่เราไม่ต้องคิดที่จะหายใจเอง ในภาวะปกติเราจะไม่รู้สึกเหนื่อย อาการเหนื่อยเป็นความรู้สึกที่บอกตัวเราว่าเราต้องออกแรงหายใจมากกว่าปกติ จะเป็นเพราะเราต้องหายใจเอาอากาศเข้า-ออกเป็นปริมาณมากๆ หรือมีหลอดลมตีบทำให้หายใจลำบากขึ้นก็ได้ คนปกติจะไม่รู้สึกเหนื่อยในขณะที่ใช้ชีวิตและทำงานอย่างธรรมดาประจำวัน แต่จะรู้สึกเหนื่อยเมื่อต้องออกกำลังมาก เช่น ในขณะที่เล่นกีฬา หรือต้องทำงานหนัก เช่น แบกของเป็นต้น การเหนื่อยง่ายถือว่าผิดปกติ ถ้าหากเมื่อออกกำลังหรือทำงานแล้วรู้สึกเหนื่อยในขณะที่คนอื่นๆ ไม่รู้สึกมีอาการเหนื่อยในขณะที่ทำงาน หรือออกกำลังซึ่งแต่เดิมสามารถทำได้โดยไม่มีอาการเหนื่อย ตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเดิน 100 เมตรได้ไม่เหนื่อย แต่ในปัจจุบันเดินแล้วเหนื่อยอาการเหนื่อยอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากโรค และไม่ใช่โรค และอาจเกิดจากโรคที่มีอันตรายถึงตายได้ หากรักษาหรือแก้ไขไม่ทัน

สาเหตุของการเหนื่อยง่ายจากโรคอาจแบ่งเป็น

  • โรคหัวใจ
  • โรคปอด
  • โรคโลหิตจาง
  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • โรคของประสาท และกล้ามเนื้อ

สาเหตุของการเหนื่อยง่ายที่ไม่ได้เกิดจากโรคอาจแบ่งเป็น

  • ร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากการขาดการอกกำลังกาย (Physical unfit)
  • ร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากเพิ่งฟื้นไข้ และขาดอาหาร
  • ร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากพักผ่อนไม่พอ
  • มีความเครียดกังวลมาก ท้อแท้ หรือที่เรียกว่าเหนื่อยใจ

ผู้ที่มีอาการเหนื่อยง่าย ควรจะไปพบแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการเหนื่อยง่ายเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานในการวินิจฉัยหาสาเหตุอาการเหนื่อยนั้นแพทย์จำเป็นต้องซักถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเฉพาะระบบทางด้านปอด และหัวใจ นอกจากนั้นจำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติเพื่อหาสาเหตุของอาการเหนื่อย การตรวจโดยขั้นต้นได้แก่

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
  • ตรวจปัสสาวะ (Urine exam)
  • ตรวจเบาหวาน
  • ตรวจการทำงานของตับ และไต
  • ตรวจระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์
  • เอกซเรย์ปอดและหัวใจ (Chest X-ray)
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • ตรวจสมรรถภาพปอด (Spirogram)
  • การตรวจขั้นต่อไป ถ้ามีการผิดปกติ เช่น

มีประวัติและตรวจร่างกาย แนะนำว่าเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะมีคลื่นหัวใจที่ผิดปกติ และมีหัวใจโตในเอกซเรย์ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจแพทย์ทางด้านหัวใจต่อไป ในกรณีที่พบว่าเป็นโรคเบาหวาน หรือต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ต้องพบอายุรแพทย์ผู้ชำนาญทางด้านต่อมไร้ท่อ กรณีที่ผู้ป่วยมีโลหิตจาง จำเป็นต้องตรวจต่อ เพื่อดูว่าโลหิตจางเป็นจากการเสียเลือด หรือโรคเลือดโดยตรง หรือจากโรคมะเร็ง ซึ่งถ้าตรวจพบ ต้องไปพบแพทย์ผู้ชำนาญโรคเฉพาะทางถ้าเป็นร่างกายอ่อนแอเนื่องจากการขาดกำลัง และอื่นๆ ตามที่กล่าวมา ควรพบแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เข้าโครงการทำ Physical Fitness ถ้าเป็นจากทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นกว่า 50% ของผู้ป่วย อาการเหนื่อยมักจะเป็นจากข้อนี้ อาจลองให้ยาคลายเครียด Reassure แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการทางด้านจิตมาก ก็ควรจะส่งแพทย์ทางด้านจิตเวช ที่มา : นพ.ยศวีร์ สุขุมาลจันทร์
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top