บางท่านคงเคยสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกเนื่องจากปวดหูอย่างมาก รวมทั้งอาจมีเสียงกุกกัก-ก๊อกแก๊ก ในหูข้างที่ปวดร่วมด้วยบางครั้งปวดจนน้ำตาไหลและอาจหาอุปกรณ์อะไรบางอย่างเช่น ไม้แคะหูมาเขี่ยในรูหู ยิ่งเขี่ยยิ่งเจ็บและปวดมากขึ้นจนแทบทนไม่ไหวรับประทานยาแก้ปวดยาแก้อักเสบก็ไม่ทุเลา จึงต้องรีบไปพบแพทย์เมื่อได้รับการตรวจจึงพบว่ามีแมลงหรือสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ อยู่ในรูหู เช่นมด เห็บ หมัดซึ่งมันได้กัดหรือทำร้ายเนื้อเยื่อในรูหูจึงทำให้มีอาการปวดมากๆ
สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปอยู่ในรูหูนั้น มีทั้งที่มีชีวิต เช่น แมลง มด แมลงสาป เห็บ หมัด และสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่นเมล็ดถั่ว ทราย ลูกปัด ตุ้มหู ขนไก่ ขนนก ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านั้นอาจเข้าไปอยู่ในหูด้วยความตั้งใจ เช่น เด็กเล็กๆหยิบเอาเมล็ดถั่วเขียวใส่รูหูตัวเอง หรืออาจไม่ได้ตั้งใจ เช่น เศษสำลีจาก Cotton bud ตกค้างอยู่ในรูหูภายหลังจากที่ผู้ป่วยทำความสะอาดหูตัวเองหรือมดไต่เข้าไปโดยที่คนไข้ไม่ทันได้ระวังตัว
และเนื่องจากสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้มีการขยับตัวจึงทำให้เกิดเสียงต่างๆ ขึ้นในหูข้างนั้นๆ ได้แก้วหูและรูหูของคนเรามีเส้นประสาทมาเลี้ยงมากมายเพราะฉะนั้นคนไข้จึงรู้สึกเจ็บได้มากๆโดยเฉพาะถ้าสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นกัดหรือกระแทกเนื้อเยื่อในรูหูถ้าสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นขยับตัวไปมาตลอดเวลาสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต สิ่งแรกที่ผู้ป่วยควรทำคือ หยอดหูด้วยน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันทาผิวสำหรับเด็ก (baby oil) เพื่อให้มันตายหรือหยุดเคลื่อนไหวแมลงส่วนใหญ่จะเสียชีวิตได้จากการขาดอากาศหายใจ เมื่ออยู่ในน้ำมันแต่มักพบว่าเห็บและหมัดมีความอดทนสูงกว่าแมลงอื่นๆจึงยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้เห็บและหมัดนอกจากจะกัดเนื้อเยื่อในรูหูของผู้ป่วยทำให้รู้สึกเจ็บแล้วบางครั้งยังคงวางไข่ไว้ในรูหูอีกด้วย
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจรูหูและเยื่อแก้วหู และคีบเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากรูหูบางครั้งสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้อาจทำให้เกิดแผล หรือเนื้อเยื่ออักเสบได้จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเข้าหูเนื่องจากความชื้นจะทำให้การอักเสบลุกลามมากยิ่งขึ้นและแผลหายช้ารวมทั้งอาจทำให้เกิดหนองในรูหูได้ สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้และการอักเสบที่เกิดขึ้นอาจทำให้หูอื้อได้บ้างแต่อาการหูอื้อที่เกิดขึ้นมักจะไม่รุนแรงและอาการหูอื้อจะหายไปเมื่อได้นำสิ่งแปลกปลอมออกจากหูรวมทั้งได้รับการรักษาอาการอักเสบที่มีอยู่ให้หายไปด้วยอาการอักเสบในหูที่เกิดจากสิ่งแปลกปลอมนั้นมักจะรักษาให้หายสนิทได้โดยใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 1 สัปดาห์ถ้ารับประทานยาหรือใช้ยาหยอดหูแล้วไม่ทุเลาควรรีบกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์