วันกระดูกพรุนโลก (World Osteoporosis Day 2012)
ปัจจุบันโรคกระดูกพรุนนับเป็นโรคกระดูกเมตาบอลิก (Metabolic bone disease) ที่พบบ่อยที่สุดโดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และพบว่าในปีหนึ่งๆ มีผู้สูงอายุนับล้านคนที่กระดูกสะโพกหักจากการหกล้มธรรมดาและอีกนับล้านคนมีกระดูกส่วนอื่นหัก ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่กระดูกหัก 1 ครั้งจากโรคกระดูกพรุนมักเกิดกระดูกหักซ้ำอีกทั้งหลายโรงพยาบาลเมื่อเจอผู้ป่วยที่กระดูกหักครั้งแรกก็ละเลยการตรวจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีโรคกระดูกพรุนหรือไม่ พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่กระดูกหักครั้งแรก ยังไม่เคยตรวจหรือรักษาโรคกระดูกพรุน
ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลกโดยการริเริ่มของมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (International Osteoporosis Foundation, IOF) จึงได้กำหนดวันกระดูกพรุนโลกขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคมของทุกปีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโรคกระดูกพรุนทั้งด้านการป้องกัน การวินิจฉัย และการรักษา ซึ่งปัจจุบันมี 90 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมกิจกรรมรณรงค์นี้
ข้อความหลักที่ใช้สำหรับรณรงค์ในวันกระดูกพรุนโลกปีนี้ คือ “STOP AT ONE” หักครั้งเดียวพอโดยมุ่งเน้นให้ประชาชนตระหนักว่า
1. กระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนไม่ใช่อุบัติเหตุ
2. การที่กระดูกหักถือว่าเป็นสัญญาณเตือน หักหนึ่งครั้งทำให้หักซ้ำได้อีก
3. ถ้ากระดูกหักเกิดขึ้นเมื่ออายุเกินห้าสิบ จงไปตรวจและรับการรักษา
เรื่องจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน
1. ในกลุ่มคนที่อายุเกิน 50 ปีทั่วโลก ผู้หญิงอย่างน้อย 1 ใน 3 คน และผู้ชายอย่างน้อย 1 ใน 5 คน เคยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน (osteoporosis)
2. ภายในเวลา 1 ปี มีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 คน เคยกระดูกข้อสะโพกหัก จนกลายเป็นคนสูญเสียความสามารถ โดยพบว่าร้อยละ 40 ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง และร้อยละ 60 ต้องการผู้ช่วยเหลือนอกจากนี้พบว่า 1 ใน 5 รายเสียชีวิตภายใน 1 ปีหลังจากกระดูกสะโพกหัก
3. การรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยกระดูกหัก ช่วยลดการเกิดกระดูกหักบริเวณข้อสะโพกได้ถึงร้อยละ 20-25
4. โรคกระดูกพรุนทำให้กระดูกสันหลังทรุด หลังค่อม เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงและคุณภาพชีวิตแย่ลงมาก ผู้หญิง 1 ใน 4 คนที่กระดูกสันหลังทรุดจะเกิดกระดูกสันหลังทรุดเพิ่มขึ้นอีกภายใน 1 ปี
5. ในทวีปยุโรปมีการเสียงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนและผู้ทุพพลภาพมากกว่างบประมาณที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง และมากกว่าโรคเรื้อรังอื่น ๆ
สถานการณ์โรคกระดูกพรุนระดับโลก
ผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนพบร้อยละ 0.83 ของโรคที่ไม่ติดต่อทั้งหมดทั่วโลก และคาดการณ์ว่าทุก ๆ 3 วินาทีจะมีคนกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน 1 ราย และทุก ๆ 22 วินาทีจะมีคนกระดูกสันหลังทรุด 1 ราย ในกลุ่มคนที่อายุเกิน 50 ปีทั่วโลกผู้หญิงอย่างน้อย 1 ใน 3 คน และผู้ชายอย่างน้อย 1 ใน 5 คนเคยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) โดยประมาณการณ์ว่าทั่วโลกมีผู้หญิงที่เป็นโรคกระดูกพรุนประมาณ 200 ล้านรายโดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนตั้งแต่อายุ 60 ถึง 90 ปีมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้สูงตั้งแต่ร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 60 ตามอายุที่มากขึ้น โดยบริเวณที่หักมากที่สุดเรียงตามลำดับคือกระดูกปลายแขน (ร้อยละ 80) กระดูกต้นแขน (ร้อยละ 75) กระดูกข้อสะโพก (ร้อยละ 70) และกระดูกสันหลัง (ร้อยละ 58) สำหรับการหักของกระดูกสะโพก กระดูกสันหลังกระดูกปลายแขน ประมาณร้อยละ 75 เกิดในผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี
ในปี พ.ศ. 2543 มีผู้ป่วยกระดูกหักจากภาวะกระดูกบางประมาณ 9 ล้านรายพบกระดูกข้อมือหัก 1.7 ล้านราย กระดูกข้อสะโพกหัก 1.6 ล้านรายกระดูกสันหลังทรุด 1.4 ล้านราย กระดูกต้นแขนหัก 7 แสนรายโดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยดังกล่าวมีภูมิลำเนาอยู่ในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศแถบคาบสมุทรแปซิฟิก
สถานการณ์โรคกระดูกพรุนระดับภูมิภาค
ทวีปเอเชียซึ่งมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากโดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และในปี พ.ศ. 2593 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนในทวีปเอเชียมากถึงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทั่วโลกที่ประเทศจีนพบผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่อายุมากกว่า 50 ปี จำนวน 69.4 ล้านราย และเกือบ 7 แสนรายที่กระดูกสะโพกหักและพบว่าสตรีวัยหมดประจำเดือนชาวจีนร้อยละ 19-26 มีกระดูกสันหลังคดผิดรูปนอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2593 ประเทศจีนจะมีผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมากถึง 533.3 ล้านคนในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วง 10 ปี พบว่ามีผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักมากขึ้นถึง 1.6 เท่าส่วนประชาชนในประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพบว่ามีภาวะขาดแคลเซียมและขาดวิตามินดี และอีกหลายประเทศในเอเชียยังมีข้อจำกัดในการใช้เครื่อง DEXA (Dual Energy X-ray Absorptiometry) เพื่อตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density หรือ BMD) นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยและรักษาโรคกระดูกพรุนเป็นจำนวนมากแม้แต่ผู้ป่วยความเสี่ยงสูงที่เคยกระดูกหักไปแล้วซึ่งพบมากในพื้นที่ชนบท (โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย)โดยผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักส่วนใหญ่ไม่ได้รับการผ่าตัดแต่รักษาโดยรักษาประคับประคองที่บ้าน
สถานการณ์โรคกระดูกพรุนระดับประเทศ
สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาสถิติโรคกระดูกพรุนเป็นรายปีแต่จากสถิติจำนวนประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความชุกของโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้นเช่นกันโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปจะพบโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าร้อยละ 50
จากการสำรวจผู้หญิงไทยพบภาวะกระดูกพรุนบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar spine) ร้อยละ 15.7-24.7 บริเวณกระดูกข้อสะโพก (femoral neck) ร้อยละ 9.5-19.3 อุบัติการณ์ของกระดูกสะโพกหักในผู้หญิงไทยวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปพบ 289 ครั้งต่อประชากรแสนรายต่อปีและการศึกษาของทางมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติในประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2552 พบอัตราการตายหลังเกิดกระดูกสะโพกหักภายใน 5 ปีมากถึง 1 ใน 3 ในผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิง (มากกว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม)นอกจากนี้ยังพบว่าประชากรไทยยังมีภาวะขาดแคลเซียมและวิตามินดีอีกด้วย
แนวโน้มสถานการณ์โรคกระดูกพรุนในอนาคต
ในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนระหว่างปี พ.ศ. 2533 และ พ.ศ.2543 ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยกระดูกข้อสะโพกหักเพิ่มขึ้นพบประมาณร้อยละ 25 โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุช่วง 75-79 ปี จะพบว่ามีกระดูกข้อสะโพกหักมากที่สุดส่วนกระดูกหักส่วนอื่นพบในผู้ที่มีอายุช่วง 50-59 ปีมากที่สุด ปัจจุบันจากการที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้แนวโน้มในอนาคต ปีพ.ศ. 2593 ทั่วโลกอาจพบอุบัติการณ์กระดูกข้อสะโพกหักในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมากขึ้นถึงร้อยละ 240 และในผู้ชายมากขึ้นถึงร้อยละ 310 โดยผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมากกว่าครึ่งเป็นคนเอเชีย
สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและในอนาคตอาจกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 1 ต่อ 20 ในปี พ.ศ. 2513 เป็น 1 ต่อ 9 ในปี พ.ศ. 2553 และคาดว่าอีก 40 ปีข้างหน้าสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อ 3 ในปี พ.ศ. 2593 จากกราฟข้างต้นแสดงอุบัติการณ์การเกิดกระดูกข้อสะโพกหักในประเทศไทยที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 ถึง 2050 ซึ่งจะเห็นว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคกระดูกพรุนในระยะเริ่มต้น ไม่ปล่อยให้กระดูกหักขึ้นมาเสียก่อนนอกจากนี้ยังต้องเน้นความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนให้มากขึ้น
นพ. วิรชัช สนั่นศิลป์
ผู้ประพันธ์