ที่มาและความสำคัญ
สุขภาพกายและสุขภาพจิต จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมไปด้วยกัน ผู้ที่มีโรคทางกายเรื้อรัง จิตใจก็จะเป็นส่วนสำคัญที่คอยประคองให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ และร่วมมือในการรักษา เพื่อต่อสู้โรคทางกายต่อไปอย่างมุ่งมั่น แต่หากมีปัญหาทางจิตใจที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ก็จะส่งผลซ้ำเติมโรคทางกายที่เป็นอยู่ จนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือแม้กระทั่งไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป จึงเป็นที่มาของ “วันสุขภาพจิตโลก หรือ World Mental Health Day” ซึ่งถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2535 โดยการริเริ่มของ ริชาร์ด ฮันเตอร์ (Richard Hunter) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการใหญ่ของสหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health) ตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 20 ปีที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็น วันสุขภาพจิตโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ รณรงค์ให้ประชากรทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต และปัญหาการเจ็บป่วยทางจิต โดยแต่ละปีจะมีการคัดเลือกประเด็นหลักที่มีความสำคัญในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อให้ทั่วโลกได้ตื่นตัวและเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหา และช่วยกันป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุกลาม สำหรับปีพุทธศักราช 2555 นี้ ประเด็นหลักที่ใช้รณรงค์คือ “ปัญหาโรคซึมเศร้า” โดยกำหนดข้อความรณรงค์คือ “โรคซึมเศร้า: วิกฤติโลก” หรือ “Depression: A Global Crisis”
การที่ปีนี้สหพันธ์สุขภาพจิตโลกได้ให้ความสำคัญกับปัญหา “โรคซึมเศร้า” เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันมีประชากรที่ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จากรายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี พ.ศ. 2547 ระบุว่า โรคซึมเศร้า พบสูงมากเป็นลำดับที่ 3 ของโรคที่คุกคามคนทั่วโลก (Global burden of diseases) และในอนาคตอีก 18 ปีข้างหน้า (ซึ่งก็ตรงกับปี พ.ศ. 2565 นี้) คาดการณ์ว่า โรคซึมเศร้าอาจจะขึ้นนำเป็นอันดับหนึ่ง
ประเด็นสำคัญที่สหพันธ์สุขภาพจิตโลกต้องการนำเสนอในปีนี้คือ ต้องการให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ จึงต้องการให้ผู้ที่กำลังทุกข์ทรมานด้วยโรคซึมเศร้า มีกำลังใจที่จะเข้ารับการรักษา และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องมากขึ้น ทั้งนี้สอดคล้องกับข้อมูลทางการแพทย์ที่ว่า หากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ต่อเนื่อง จะทำให้อาการของโรคยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาด้านการเรียน การทำงาน และการเข้าสังคมแล้ว ยังทำให้อาการของโรคมีโอกาสกำเริบซ้ำได้เร็วขึ้น และการพยากรณ์ของโรคในระยะยาวเลวลง
ระบาดวิทยาปัญหาสุขภาพจิต และสถานการณ์ปัจจุบัน
เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทย พบว่าในปีงบประมาณ 2554 โรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ โรควิตกกังวล รองลงมาคือ โรคจิต (psychosis) และ โรคซึมเศร้า ตามลำดับ3 ซึ่งเมื่อพิจารณาย้อนไปในปีงบประมาณ 2553 นั้น กลับพบว่า โรคจิต เป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุด รองลงมาคือ โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า4 นอกจากนี้ ข้อมูลอัตราการป่วยจากโรคที่สำคัญ ในปีดังกล่าวพบว่า “โรคจิตและพฤติกรรม” พบมากเป็นอันดับสี่ รองจากโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน5 สำหรับอัตราการฆ่าตัวตายพบว่ามีแนวโน้มลดลง โดยเพศชายมีสัดส่วนของอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าเพศหญิง6
อัตราการดื่มสุรามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น7 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสืบเนื่องอื่นๆ อีกหลายปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจราจร โรคตับและตับแข็งเรื้อรัง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาพฤติกรรมในวัยรุ่น เช่น การใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร พฤติกรรมรุนแรงทางสังคมทั้งการชกต่อยและการใช้อาวุธ รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาโรคซึมเศร้าและการทำร้ายตัวเอง
สำหรับระดับความเครียดของคนไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2553 และแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2554 โดยผลสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ถึง ปี พ.ศ. 2555 พบว่า กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดเสี่ยงที่พบผู้ที่มีความเครียดสูงมากที่สุด สาเหตุของความเครียดที่พบมากที่สุดเกิดจาก ปัญหาการเงิน รองลงมาคือ ปัญหาการงาน ปัญหาความไม่สงบของบ้านเมือง ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ8
บทวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์สุขภาพจิตในอนาคต
ปัจจุบันแนวโน้มของโรคที่ไม่ติดต่อ (Noncommunicable disease) จะเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ.2551 ที่ระบุว่า ประชากรจำนวน 36 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 63 เสียชีวิตจากโรคที่ไม่ติดต่อ9 ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันความรู้และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้โรคติดต่อ (Communicable disease) สามารถรักษาให้หาย และถูกควบคุมได้มากขึ้น ผู้คนจึงมีอายุเฉลี่ยนานขึ้น รวมไปถึงวิถีชีวิตและพฤติกรรมในการดำรงชีวิตหลายอย่างที่เปลี่ยนไป เช่น วิถีชีวิตที่เร่งรีบ การนิยมบริโภคอาหารที่บั่นทอนสุขภาพ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่มากขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ไม่ติดต่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด การเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายเรื้อรังนั้น จำเป็นต้องอาศัยการปรับตัวปรับใจให้รับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิต10 และส่งผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ในอนาคตแนวโน้มการเกิดโรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า อาจสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มการดื่มสุรา และการใช้สารเสพติด ก็อาจมากขึ้น เนื่องจากมีการใช้สุราหรือสารเสพติดเพื่อบรรเทาความเครียดนั่นเอง
ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้นก็คือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ พบว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้เกิดสภาวะการว่างงาน และรายได้ที่ลดลง1 ผลที่เกิดตามมาคือ ภาระหนี้สิน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อจิตใจ ทำให้เกิดความเครียด และอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมา เมื่อไม่ได้รักษา และยังคงเผชิญกับปัญหาเดิมต่อไป จะยิ่งทำให้อาการแย่ลง จนบางรายเกิดความคิดที่อยากทำร้ายตัวเองได้
ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคทางจิตเวช ในเบื้องต้นเราจึงควรฝึกสำรวจจิตใจตนเอง โดยหมั่นทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับความเครียดที่เกิดขึ้น และหาวิธีจัดการกับความเครียดนั้น รวมถึงการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำ อาจเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ความเครียดส่งผลกระทบต่อโรคทางกาย และเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตใจซ้ำเติมอีกด้วย
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์