คาร์โบไฮเดรต
เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานที่สำคัญแก่เรา เพราะมีราคาถูกกว่าโปรตีนและไขมัน เราสามารถแบ่งคาร์โบไฮเดรตตามแหล่งที่มาได้ดังนี้
1. ธัญญพืช ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และข้าวสาลีที่ใช้ทำขนมปัง ให้คาร์โบไฮเดรต 70-80เปอร์เซ็นต์
2. ถั่วเมล็ดแห้ง ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสงและถั่วดำ นอกจากให้คาร์โบไฮเดรต 60-70เปอร์เซนต์แล้ว ยังมีคุณค่าในการให้สารอาหารประเภทโปรตีนใน จำนวนที่มากพอสมควรอีกด้วย
3. น้ำตาลชนิดต่างๆ ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าวและน้ำผึ้ง
4. พืชผักและผลไม้ พวกนี้จะมีคาร์โบไฮเดรตจำนวนไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ยกเว้นพวกที่มีความหวาน เช่น ทุเรียน กล้วย เป็นต้น
5. อาหารที่มาจากสัตว์ เช่น เนื้อ นมและไข่ พวกนี้จะมีคาร์โบไฮเดรตน้อยปัญหาที่พบในบ้านเรา ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชนบท บางพื้นที่ที่รับประทานอาหารส่วนใหญ่เป็นพวกคาร์โบไฮเดรต ทำให้เกิดการขาดสารอาหารอย่างอื่นๆ ที่สำคัญคือ โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่
ประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรต
1. ช่วยให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวเพื่อทำงานหรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ได้ (คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม จะให้พลังงาน 4 แคลอรี่)
2. คาร์โบไฮเดรตจัดเป็นส่วนประกอบของสารที่ทำหน้าที่สำคัญในร่างกายหลายชนิด เช่น สารจำพวกไกลโคโปตีน (glycoprotein), ไกลโคไลปิด (glycolipid), กรดนิวคลิอิค (nucleic acid) เป็นต้น
3. คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งงานที่เรียกว่าโพลีแซ็กคาไรด์สะสม (Storage polysaccharide) เช่น ไกลโคเจนและแป้ง ซึ่งเป็นเสมือนแหล่งเสบียงที่เก็บตุนพลังงานไว้ เมื่อร่างกายต้องการใช้พลังงานก็จะถูกย่อยให้เป็นกลูโคสเพื่อใช้เผาผลาญให้ได้พลังงานต่อไป
4. คาร์โบไฮเดรตมีความจำเป็นต่อการช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกายให้เป็นไปตามปกติ หากร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอร่างกายจะเผาผลาญไขมันเป็นพลังงานมากขึ้น ทำให้เกิดสารประเภทคีโทนมาคั่ง (ketone bodies) ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
5.คาร์โบไฮเดรตจะช่วยสงวนคุณค่าของโปรตีนไว้ไม่ให้เผาผลาญเป็นพลังงาน หากได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตเพียงพอ
6.คาร์โบไฮเดรตที่เหลือใช้จากการเปลี่ยนไปเป็นพลังงานและสร้างไกลโคเจน ร่างกายจะนำไปใช้ในการสังเคราะห์ไขมันและกรดอะมิโน
7.การทำงานของสมองจะต้องพึ่งกลูโคส (glucose) ซึ่งเป็นตัวให้พลังงานที่สำคัญ
กรดกลูคูโรนิก (glucuronic acid) (อนุพันธ์ของกลูโคส) มีหน้าที่เปลี่ยนสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายเมื่อผ่านไปที่ตับ ทำให้มีพิษลดลงและอยู่ในสภาพที่ร่างกายจะสามารถขับถ่ายออกมาได้
8.ช่วยทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของผนังเซลล์ในแบคทีเรีย เซลล์พืชและสัตว์ เช่น ไคตินในกระดองปู วุ้นในสาหร่ายทะเล และยังทำหน้าที่ทางชีวภาพอื่น ๆ เช่น เฮปาริน จะช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
อาหารจำพวกธัญพืชนอกจากจะมีคาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังเป็นแหล่งที่ให้โปรตีน เกลือแร่ และวิตามินอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
1.https://medthai.com/carbohydrate
2. https://sites.google.com/site/carbohydratesinthediet/thos-thi-di-cak-kharbohidert
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์