โรคไข้เหลืองเป็นโรคติดเชื้อไวรัสแบบเฉียบพลัน ซึ่งจัดเป็นโรคในกลุ่มไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง เป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าร้อยละ 50 หากไม่ได้รับการรักษา แต่ละปีมีผู้ติดเชื้อประมาณสองแสนคนทั่วโลก เสียชีวิตประมาณสามหมื่นคน โรคนี้เกิดจากเชื้อ Yellow fever virus (รูปที่ 1) ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มฟลาวิไวรัส (Flaviviruses) สามารถก่อให้เกิดอาการป่วยในคนและสัตว์จำพวกลิง โรคนี้ระบาดโดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ยุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงป่าในกลุ่ม Haemogogus (พบเฉพาะในทวีปอเมริกา) เป็นพาหะ โดยยุงที่เป็นพาหะนั้นมีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหากินและแหล่งเพาะพันธุ์แตกต่างกัน เช่น บริเวณบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ในป่าทึบ หรือบริเวณแนวเขตระหว่างบ้านเรือนกับป่า การแพร่กระจายของเชื้อโดยมียุงเป็นพาหะเกิดได้สามลักษณะ คือ การติดเชื้อระหว่างสัตว์จำพวกลิงด้วยกัน การติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คน และการติดเชื้อระหว่างผู้ป่วยมาสู่คนปกติ การติดเชื้อและการแพร่กระจายของโรคเฉพาะพื้นที่มักเกิดจากการที่คนเข้าไปในป่าหรืออาศัยอยู่บริเวณแนวเขตป่าทำให้ได้รับเชื้อมาจากสัตว์ผ่านทางยุงป่า เมื่อผู้ติดเชื้อเหล่านี้เดินทางเข้าสู่เขตเมืองที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นก็จะเป็นแหล่งแพร่กระจายของโรคไปสู่ผู้อื่นโดยมียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งเป็นสาเหตุของการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ในปัจจุบันพบการระบาดของโรคไข้เหลืองในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้เท่านั้น โดยมีการระบาดบริเวณตอนกลางของทวีปแอฟริกาและตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ (รูปที่ 2 และ 3) ซึ่งเป็นเขตร้อนชื้นที่ยุงพาหะสามารถวางไข่เพาะพันธุ์ได้ รวมทั้งมีพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์จำพวกลิงซึ่งเป็นตัวกักโรค (Reservoir) อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน
ยังไม่พบการระบาดในทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทย
อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสไข้เหลืองแต่ละรายมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการแบบไม่รุนแรงนั้นจะมีลักษณะอาการไม่แตกต่างจากอาการของโรคติดเชื้ออื่นๆ ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรง เริ่มแรกอาจมีไข้แบบเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อตามตัว อ่อนเปลี้ย หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน ชีพจรเต้นช้าหากตรวจเลือดจะพบว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ หลังจากนั้นอาการของโรคอาจรุนแรงขึ้น โดยพบเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ มีเลือดกำเดาไหล เลือดออกที่เหงือก มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ ผู้ติดเชื้ออาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคไข้เหลือง) หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ผู้ติดเชื้อประมาณร้อยละ 50 มักเสียชีวิตจากภาวะตับและไตวาย
ปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับรักษาโรคไข้เหลืองโดยเฉพาะ การให้ยาไรบาไวริน (Ribavirin) ยาต้านไวรัสอื่นๆ หรืออินเตอร์เฟียรอน (Interferon) แก่ผู้ติดเชื้อ พบว่าไม่ได้ผลในการรักษา การวางแผนการรักษาโดยทั่วไป เน้นการรักษาตามอาการเช่นเดียวกับการรักษาโรคไข้เลือดออก เช่น ให้ยาลดไข้และให้สารน้ำทดแทนภาวะขาดน้ำ รวมทั้งเน้นที่การป้องกันการติดเชื้อ โดยการให้วัคซีนแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของโรคและผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในบริเวณดังกล่าว และการระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด
วัคซีนไข้เหลืองที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นซึ่งเป็นการนำไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ โดยใช้ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous) ปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร แนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณที่มีการระบาดของโรค ได้รับวัคซีนล่วงหน้าอย่างน้อย 10 วัน เพื่อให้ร่างกายมีเวลาสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค โดยร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันโรคได้นานประมาณ 10 ปี เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ท่านจะได้รับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับแสดงเมื่อเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค
ผู้ที่ไม่ควรได้รับการฉีดวัคซีน (absolute contraindication) คือ ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ เนื่องจากมีการใช้ไข่ไก่ฟักในขั้นตอนการผลิตวัคซีน และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอยู่ในภาวะไม่ปกติ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่อยู่ในระยะแสดงอาการหรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับ CD4 ต่ำกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ป่วยที่ตัดต่อมไทมัสหรือมีก้อนที่ต่อมไทมัส ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะหรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนและต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษภายหลังจากการฉีดวัคซีน ได้แก่ ทารกอายุระหว่าง 6 ถึง 8 เดือน หญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอดที่กำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงทางระบบประสาท รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี
แผนที่ทวีปอเมริกาใต้ แสดงบริเวณประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้เหลืองซึ่งอยู่บริเวณตอนบนของทวีป (รูปภาพจากวิกิพีเดีย [5])
กระทรวงสาธารณสุขของไทยประกาศรายชื่อประเทศหรือดินแดนที่เป็น เขตระบาดของโรคไข้เหลืองเมื่อปี 2555 มีทั้งหมด 45 ประเทศคือ ทวีปอเมริกาใต้ 13 ประเทศ
1.บราซิล
2.โบลิเวีย
3.โคลอมเบีย
4.เอกวาดอร์
5.กายอานา
6.เกียนาฝรั่งเศส
7.ปานามา
8.เปรู
9.เวเนซูเอลา
10.ซูรินาเม
11.ตรินิแดดแอนโตเบโก
12.อาร์เจนตินา
13.ปารากวัย
แผนที่ทวีปแอฟริกา แสดงบริเวณประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้เหลืองซึ่งอยู่บริเวณตอนกลางของทวีป (รูปภาพจากวิกิพีเดีย [5])
ทวีปแอฟริกา 32 ประเทศ
1.แองโกล่า
2.เบนิน
3.บูร์กินาฟาโซ
4.บุรุนดิ
5.แคเมอรูน
6.สาธารณรัฐแอฟริกากลาง
7.คองโก
8.โกตดิวัวร์
9.เอธิโอเปีย
10.แกมเบีย
11.กาบอง
12.กานา
13.กีนี
14.กินีบิสเซา
15.อิเควทอเรียลกินี
16.เคนยา
17.ไลบีเรีย
18.มาลี
19.มอริเตเนีย
20.ราวันดา
21.เซาโตเมและปรินซิเป
22.เซเนกัล
23.เซียร์ราลิโอน
24.โซมาเลีย
25.ซูดาน
26.ชาด
27.โตโก
28.ยูกันดา
29.สาธารณรัฐแทนซาเนีย
30.ซาอีร์
31.ไนเจอร์
32.ไนจีเรีย
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพแนะนำให้ ผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ เข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางล่วงหน้าอย่างน้อย 10 วันเพื่อ ให้ร่างกายมีเวลาสร้างภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ ได้ โดยท่านสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้จากหน่วยงานของรัฐและเอกชน ดังต่อไปนี้
หน่วยงานของรัฐที่ให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง
1.สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
2.คลินิกเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพ
3.คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพ
4.คลินิกส่งเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ถนนพรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ
5.กองเวชศาสตร์ป้องกัน กรมแพทย์ทหารอากาศ แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพ
6.กองเวชกรรมป้องกัน กรมแพทย์ทหารเรือ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพ
ที่ทำการแพทย์ตรวจคนเข้าเมือง แจ้งวัฒนะ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารบี (ชั้น 2 ด้านทิศใต้) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพ
7.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
8.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานดอนเมือง ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดอนเมือง กรุงเทพ
9.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือกรุงเทพ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพ
10.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสหลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
11.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือศรีราชา ตำบลทุ่งสหลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
12.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือมาบตาพุด ตำบลห้วยโปร่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
13.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
14.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานภูเก็ต ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
15.ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
16.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ถนนมหิดล ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
17.ศูนย์วัณโรค เขต 10 ถนนศรีดอนชัย ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
หน่วยงานของเอกชนที่ให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง
1.โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย 7 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพ
2.โรงพยาบาลกรุงธน 1 ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี กรุงเทพ
3.โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ถนนคอนแวนต์ สีลม กรุงเทพ
4.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล ซอยสุขุมวิท 3 (ซอยนานาเหนือ) เขตวัฒนา กรุงเทพ
5.โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท ซอยสุขุมวิท 49 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ
เอกสารอ้างอิง
1.Yellow Fever in Chapter 3 Infectious Diseases Related To Travel. http://wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2014/chapter-3-infectious-diseases-related-to-travel/yellow-fever
2.หลักเกณฑ์การตรวจลงตราแก่คนต่างด้าวที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นเขตติดต่อโรคไข้เหลือง http://m.mfa.go.th/main/th/services/1287/19773-หลักเกณฑ์การตรวจลงตราแก่คนต่างด้าวที่เดินทางมาจากป.html
3.การขอรับบริการฉีดวัคซีนเพื่อไปต่างประเทศ http://www.mfa.go.th/fealac/images/LatininformationPic152.doc
4.Yellow fever factsheet. World Health Organization. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs100/en
5.Yellow fever. Wikipedia. http://en.wikipedia.org/wiki/Yellow_fever
6.Monath TP. Treatment of yellow fever. Antiviral Res. 2008;78:116-124.
7.Yellow fever. Centers for Disease Control and Prevention. http://www.cdc.gov/yellowfever
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์
ร.อ. นพ. พันเลิศ ปิยะราช
ระบาดวิทยาคลินิค, ระบาดวิทยาโรคติดเชื้อ
ผู้ปรับปรุง