การใส่สายยาง (สำหรับให้อาหาร) เข้าทางรูจมูก

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้เองตามปกติ เช่นเจ็บคอมากเวลากลืนอาหาร คออักเสบรุนแรง มีแผลร้อนในหลายๆ แผลเจ็บจนรับประทานอาหารไม่ได้ แพทย์มักจะให้น้ำเกลือทดแทนโดยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำแต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้เป็นระยะเวลาติดต่อกันนานหลายวัน เช่น การผ่าตัดมะเร็งกล่องเสียง การผ่าตัดกระดูกขากรรไกรและใบหน้าจากการได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงพบว่าการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ นั้น ไม่เพียงพอในการทดแทนการรับประทานอาหารได้ และการให้น้ำเกลือเป็นเวลานานๆอาจก่อให้เกิดเส้นเลือดดำบริเวณนั้นๆ อักเสบ เกิดไข้ขึ้นมาได้แพทย์จึงเปลี่ยนมาให้อาหารทางสายยยางแทน โดยสายยางนั้นจะถูกสอดผ่านจากรูจมูกข้างใดข้างหนึ่งผ่านไปในโพรงจมูกวกลงไปในคอหอย, หลอดอาหาร จนกระทั่งปลายสายยางอยู่ในตำแหน่งของกระเพาะอาหาร และเนื่องจากสายยางนี้มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้เป็นเวลานาน เช่น เกิน 1 สัปดาห์ จึงมักมีคำถามว่า ใส่สายยางอยู่ในร่างกายนานๆจะเกิดข้อเสียอะไรหรือไม่ คำตอบคือ “อาจจะมีข้อเสียได้” เช่น สายยางลื่นหลุดออกจากตำแหน่งของ-กระเพาะอาหาร ทำให้ต้องใส่ใหม่, สายยางก่อให้เกิดจมูก และไซนัสอักเสบได้ เนื่องจากให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุจมูกข้างนั้นๆ ขึ้นมาได้, สายยางอาจทำให้เกิดคออักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบได้, ตัวสายยางอาจไประคายเคืองที่รูเปิดของท่อปรับความดันของหูชั้นกลาง (Eustachian tube) ซึ่งอยู่ด้านหลังของโพรงจมูก และก่อให้เกิดหูอื้อหรือก่อให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบได้, รวมทั้งผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกว่ากลืนน้ำลายได้ไม่ปกติเนื่องจากสายยางนั้นค้ำอยู่ในหลอดอาหาร, อาหารบางส่วนอาจย้อนจากกระเพาะอาหารขึ้นมาในคอหอยได้เนื่องจากสายยางคาอยู่ที่รูเปิดของกระเพาะอาหารกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารจึงทำงานได้ไม่ดีเหมือนสภาวะปกติ

หากผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้เป็นเวลานานวันขึ้นนั้นมักจะเกิดข้อเสียของสายยางนี้ขึ้นได้และอาจมีการสำลักอาหารจากอาหารที่ย้อนขึ้นมาจากกระเพาะแพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการให้อาหารแก่ผู้ป่วยโดยเปลี่ยนจากสายยางในจมูกเป็น “การเจาะกระเพาะ” โดยสอดสายยางจากแผลบริเวณผิวหนังที่หน้าท้องเข้าไปยังกระเพาะโดยตรง

แพทย์หญิง จิราวดี จัตุทะศรี
หูคอจมูก13 บทความ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top