ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมที่นับวันยิ่งจะทำให้ระบบต่างๆ พัฒนาก้าวหน้าและรวดเร็วมากขึ้น จากอดีตเราเคยใช้โทรศัพท์สำหรับพูดติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อถ่ายรูป ถ่ายคลิปวีดีโอ ฟังเพลง หรือแม้กระทั่งเชื่อมต่อกับสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้ ทำให้เห็นทั้งภาพเคลื่อนไหวและได้ยินเสียงของคู่สนทนาของเราในเวลาเดียวกัน ช่วยให้การติดต่อสื่อสารเป็นเรื่องสะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ สำหรับด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น เราเรียกการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลนี้ว่า การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้คำจำกัดความของคำว่า “การแพทย์ทางไกล” หรือ “Telemedicine” หมายถึง การจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมถึงการศึกษาวิจัย และเพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์ (1)
องค์ประกอบที่สำคัญของ Telemedicine มี 4 ประการ(1) ได้แก่
1. เป็นระบบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนด้านการแพทย์
2. เป็นระบบที่ตั้งใจจะเอาชนะอุปสรรคทางภูมิศาสตร์หรือการเข้าถึงบริการทางการแพทย์จากสถานที่ห่างไกล
3. มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหลายชนิดมาใช้
4. มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลลัพธ์ทางการรักษาโรคให้ดีขึ้น
การใช้ระบบ Telemedicine เริ่มต้นในปี ค.ศ.1960 จากแรงผลักดันทางการทหารและเทคโนโลยีทางอวกาศของประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับการใช้อุปกรณ์การสื่อสารที่มีอยู่ในขณะนั้น เช่น การใช้ระบบโทรทัศน์ช่วยในการปรึกษากันระหว่างจิตแพทย์ที่สถาบันทางจิตเวชกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปที่โรงพยาบาลจิตเวช และการให้คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์ไปยังศูนย์การแพทย์ที่สนามบินที่อยู่อีกแห่งหนึ่ง ต่อมาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ก้าวหน้าและหลากหลายทั่วโลกเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาระบบ Telemedicine โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่เปลี่ยนจากยุคอนาล็อก (analog) เข้าสู่ยุคดิจิตอล (digital) รวมไปถึงราคาอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ลดลง เป็นแรงจูงใจที่กระตุ้นความสนใจของสถานพยาบาลต่างๆ ที่จะจัดหาวิธีใหม่ที่มีประสิทธิภาพเพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้ดีขึ้น อีกทั้งการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายช่วยขยายขอบเขตของ Telemedicine ไปยัง Web-based applications เช่น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (electronic mail หรือ e-mail) การประชุมทางไกล (Teleconference) และการปรึกษาทางไกล (Teleconsultation) รวมถึงการใช้สื่อมัลติมีเดีย เช่น รูปถ่ายดิจิตอลและวีดีโอ นำไปสู่การสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่เพื่อใช้ร่วมกับระบบ Telemedicine ในอนาคต (1)
Telemedicine แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ตามลักษณะการรับส่งข้อมูล (2) ดังนี้
1. Store-and-forward telemedicine (Asynchronous) (2,3) เป็นการรับและส่งต่อข้อมูลด้านการแพทย์ เช่น ภาพเอกซเรย์ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ภาพถ่าย หรือคลิปวิดีโอ รวมถึงข้อมูลประวัติผู้ป่วยจากเวชระเบียน ไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา ข้อแตกต่างที่สำคัญของการแพทย์แบบเดิมกับการแพทย์ทางไกลประเภทนี้คือ แพทย์ที่รับข้อมูลจากต้นทางจะไม่สามารถซักประวัติหรือตรวจร่างกายของผู้ป่วยได้โดยตรงแต่อาศัยข้อมูลรายงานประวัติความเจ็บป่วยและข้อมูลภาพหรือวีดีโอที่ได้รับส่งต่อมาเท่านั้น (2) การใช้ Telemedicine ประเภทนี้ทั้งผู้ส่งข้อมูลและผู้รับข้อมูลไม่ได้โต้ตอบในเวลาเดียวกัน แต่จะส่งข้อมูลผ่านทาง e-mail หรือเซิร์ฟเวอร์ของระบบคอมพิวเตอร์ที่จัดไว้ (3) วิธีนี้นิยมใช้เพื่อปรึกษาขอการวินิจฉัยโรค หรือให้คำแนะนำการรักษาเกี่ยวกับโรคผิวหนัง เรียกว่า Teledermatology หรือการรับส่งข้อมูลภาพถ่ายรังสี เรียกว่า Teleradiology หรือการรับส่งข้อมูลภาพชิ้นเนื้อจากกล้องจุลทรรศน์ เรียกว่า Telepathology
2. Remote monitoring telemedicine หรือ self-monitoring / testing นิยมใช้สำหรับการติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หอบหืด เป็นต้น (2) ตัวอย่างการใช้วิธี Remote monitoring telemedicine ได้แก่ ผู้ป่วยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองโดยใช้เครื่องเจาะน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้ว แล้วส่งผลการตรวจผ่านทางโทรสาร หรือโทรศัพท์ หรือ e-mail มาให้แพทย์เพื่อแนะนำปรับยารักษาโรคเบาหวาน โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิก อีกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่รับประทานยาป้องกันลิ่มเลือด เช่นยา warfarin ซึ่งผู้ป่วยสามารถใช้เครื่องเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อวัดค่าการแข็งตัวของเลือดด้วยตนเอง แล้วส่งผลที่ได้มาให้แพทย์เพื่อพิจารณาปรับยาป้องกันลิ่มเลือด โดยปกติผู้ที่รับประทานยาป้องกันลิ่มเลือดควรตรวจวัดค่าการแข็งตัวของเลือดทุกเดือน หากผู้ป่วยอยู่ต่างจังหวัดหรือไม่สะดวกที่จะมาพบแพทย์ได้ทุกเดือน การใช้ระบบแพทย์ทางไกลวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถติดตามการใช้ยาและปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาพบแพทย์ (2)
3. Interactive telemedicine เป็นการนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้ทันทีในเวลาเดียวกัน (Real-time) เช่น การพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ (2,3) หรือการสื่อสารผ่านระบบ video conference ที่สามารถเห็นหน้าคู่สนทนาทั้งสองฝ่ายได้ วิธีนี้ช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่โรงพยาบาลอื่นสามารถซักประวัติผู้ป่วย สั่งตรวจร่างกาย และประเมินสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่ขอปรึกษาได้ โดยมีแพทย์ที่ขอปรึกษาจากโรงพยาบาลนั้นอยู่กับผู้ป่วยด้วย เพื่อช่วยในการตรวจร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
จากผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก พบว่า Telemedicine ที่ได้รับความนิยมสูงสุดมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่
1. Teleradiology เป็น Telemedicine ที่นิยมนำมาใช้มากที่สุด (1) โดยการส่งต่อภาพถ่ายทางรังสีหรือภาพเอกซเรย์แบบดิจิตอล จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อให้แปลผล วินิจฉัย และ/หรือขอคำปรึกษา
2. Telepathology เป็นการส่งภาพชิ้นเนื้อจากกล้องจุลทรรศน์ หรือส่งรายงานผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา เพื่อให้แปลผล วินิจฉัย และ/หรือเพื่อขอปรึกษาความเห็นเพิ่มเติม
3. Teledermatology เป็นการส่งข้อมูลทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคผิวหนังหรือความผิดปกติของผิวหนัง เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังได้ทำการแปลผล วินิจฉัย และ/หรือเพื่อขอปรึกษาเพิ่มเติม
4. Telepsychiatry เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการประเมินทางจิตเวช และ/หรือการขอปรึกษาผ่านระบบวีดีโอและโทรศัพท์
ประโยชน์หลักของระบบ Telemedicine ประกอบด้วย ประการที่หนึ่งช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ในชนบทห่างไกลสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที อีกทั้งเป็นการขยายงานบริการทางการแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาลให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลได้มากขึ้น ประการที่สองพบว่า Telemedicine เป็นระบบที่มีประสิทธิผลคุ้มค่าการลงทุน (Cost Efficiencies) เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยรวม และเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาโรคเพราะใช้บุคลากรทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาของแพทย์ในการเดินทางเพื่อมารักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยลดระยะเวลาการนอนพักรักษาในโรงพยาบาลได้ ประการที่สามคือ ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการทางด้านการแพทย์จะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลมาที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ผู้ป่วยลดความเครียดจากการเดินทางได้อีกด้วย (4)
ปัจจุบันมีโรงพยาบาล 2 แห่งในประเทศไทยที่ให้การรักษาพยาบาลโดยใช้ Telemedicine คือ โรงพยาบาลอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และ โรงพยาบาลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทั้งสองแห่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย และสถานีอนามัยที่ตนเองรับผิดชอบเป็นลูกข่าย (ปัจจุบันสถานีอนามัยเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) โรงพยาบาลอ่าวลึกอาศัยสัญญาณโทรศัพท์และระบบอินเทอร์เน็ตของการสื่อสารแห่งประเทศไทยในการส่งข้อมูลผู้ป่วย ส่วนโรงพยาบาลแม่สะเรียงใช้ระบบการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม ซึ่งทั้งสองแห่งใช้งานผ่านระบบ Video conference เหมือนกัน (5)
สำหรับภาคเอกชน มีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่นำระบบ Telemedicine มาใช้ ล่าสุดคือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพที่นำนวัตกรรม ROBO DOCTOR หรือคุณหมอหุ่นยนต์จากประเทศสหรัฐอเมริกา มาเสริมศักยภาพการรักษาพยาบาล ซึ่งจะเริ่มใช้กับโรงพยาบาล 4 แห่งของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้แก่ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ (ซอยศูนย์วิจัย) โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน และโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โดยเริ่มนำร่องใช้สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เนื่องจากโรคกลุ่มนี้เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากเท่าใด ยิ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น(6) ซึ่งทั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลาง ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลเครือข่าย รวมถึงผู้ป่วยและญาติ สามารถซักถามโต้ตอบกันแบบเห็นหน้า ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาแบบ Real Time Interactive
ระบบ Telemedicine หรือระบบการแพทย์ทางไกล เป็นอีกรูปแบบของระบบบริการทางการแพทย์ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางได้ทันท่วงทีโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาไกล นอกจากนี้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางก็จะได้รับการช่วยเหลือทั้งด้านการตรวจรักษา การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์ ตลอดจนการศึกษาต่อเนื่องทางการแพทย์ เป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และระบบบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคลอบคลุมประชากรในส่วนต่างๆ ของประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ประชากรของประเทศมีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่สุด
เอกสารอ้างอิง
1. WHO. Telemedicine: Opportunities and developments in Member States: report on the second global survey on eHealth 2009. Geneva, World Health Organization, 2010.
2. Types of Telemedicine. [Online]. Available from http://www.news-medical.net/health/Types-of-Telemedicine.aspx Accessed on February 28, 2012.
3. What is Telemedicine? [Online]. Available from http://www.telemedicine.com/whatis.html Accessed on February 28, 2012.
4. Telemedicine Defined. American Telemedicine Association. [Online]. Available from: http://www.americantelemed.org Accessed on February 9, 2012.
5. ชญานิศวร์ กุลรัตนมณีพร เกื้อ วงศ์บุญสิน และ Gerald J. Kost. โทรเวชกรรม (Telemedicine) ในประเทศไทย. สมาคมนักประชากรไทย. การประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2549.
6. ข่าวประชาสัมพันธ์: เครือโรงพยาบาลกรุงเทพเสริมประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลด้วย ROBO DOCTOR คุณหมอหุ่นยนต์. โรงพยาบาลกรุงเทพและบริษัท N Health. 2555
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์