ท่านทั้งหลายคงได้เห็นข่าวการเสียชีวิตของนักมวยชาวฟิลิปปินส์ ริโต ซิสนอริโอ ที่มาชกอุ่นเครื่องกับนักมวยไทย ฉัตรชัย กระทิงแดงยิม ในรุ่น 112 ปอนด์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 และถูกชกน็อคเอาท์ในยกที่ 4 โดยถูกหมัดชุด 3-4 หมัดติดต่อกันที่ศรีษะ และใบหน้าจนหมดสติทันที (หลับกลางอากาศ) ซึ่งต่อมารู้สึกตัวฟื้นขึ้นมา และในระหว่างเดินทางกลับโรงแรมเกิดอาเจียนอย่างรุนแรงจนต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที แพทย์ได้ตรวจพบมีเลือดคั่งในสมองจึงทำการผ่าตัดให้ทันทีและรับตัวไว้รักษาในไอซียู ซึ่งในเวลาต่อมาทราบว่านักมวยท่านนี้ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2550
สถิติการเสียชีวิตของนักมวย
ผมพยายามเปิดดูหนังสือเกี่ยวกับเวชศาสตร์การกีฬาและสอบถามจากแพทย์ศัลยกรรมประสาทบางท่าน ทราบว่าไม่มีตัวเลขสถิติ การเสียชีวิตของนักมวยว่ามีมากเพียงใด รวมทั้งสถิติของนักมวยที่เลิกชกแล้ว มีอาการเมาหมัดอยู่มากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่มีการเสนอข่าวของ นสพ.บางฉบับในช่วงที่มีข่าวการเสียชีวิตของนักมวยฟิลิปปินส์รายนี้ ทราบว่ามีนักมวยชาวไทยรายหนึ่ง คือ ดีเด่น เก่งการุณ อดีตแชมป์ PABA ชาวไทยรุ่น 108 ปอนด์ ได้เดินทางไปชกที่ฟิลิปปินส์เมื่อเดือนมีนาคม 2550 ที่ผ่านมา และกลับมาเมืองไทยมีอาการปวดศรีษะอย่างรุนแรง ซึ่งพบว่าเกิดจากมีเลือดออกในสมองและต่อมาเสียชีวิตเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2550 นอกจากนี้ยังมีข่าวการเสียชีวิตของนักชกชาวอินโดนีเซีย ชื่อ อาวิส อิวี มุลยา อายุ 27 ปี จากเลือดคั่งในสมองภายหลังการชกมวย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 ถ้านับรวมกันก็เป็น 3 รายในช่วงเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งนับว่าสูงน่าตกใจเหมือนกัน ที่เกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กัน
เลือดออกหรือเลือดคั่งในสมองทำให้เกิดอาการอะไรบ้างและเสียชีวิตได้อย่างไร
ธรรมชาติได้สร้างให้เนื้อสมองอยู่ภายใต้กระโหลกศรีษะที่มีความแข็งแรงมากทีเดียว เพราะเนื้อสมองแต่ละส่วนมีความสำคัญในการควบคุมการทำงานของอวัยวะทุกส่วนในร่างกายให้ทำงานสอดประสานกัน ทำให้คนเราใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข และจากการที่เนื้อสมองอยู่ในที่ที่จำกัด มีขนาดพอดีที่ทำให้สมองปกติทำงานได้ดี รวมทั้งอยู่ภายใต้กระโหลกศรีษะที่มีความแข็งแรงมากๆ ดังนั้นหากศรีษะได้รับแรงกระทบกระเทือนจนทำให้เกิดมีเลือดออกมาไม่ว่าจะเป็นภายในเนื้อสมองหรือส่วนที่อยู่รอบๆ เนื้อสมอง ก็จะทำให้เกิดความดันภายในกระโหลกศรีษะสูงขึ้น มีผลในการกดทับเนื้อสมอง หรือที่เรียกว่ามี PRESSURE EFFECT ต่อเนื้อสมอง เนื้อสมองที่ถูกกดก็จะสูญเสียการทำงานในส่วนนั้นไป เช่น หากมีการกดทับเนื้อสมองทางด้านขวา ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนและขาข้างซ้ายก็จะทำให้เกิดอัมพาตครึ่งซีกซ้าย รวมทั้งความดันภายในกระโหลกศรีษะที่สูงขึ้นก็จะทำให้เกิดอาการปวดศรีษะอย่างรุนแรง อาจมีอาการสับสนพูดไม่รู้เรื่องเหมือนปกติ บางรายมีอาเจียนพุ่งอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว หากมีการกดสมองส่วนที่ควบคุมการพูดก็จะทำให้เกิดอาการพูดออกมาลำบาก มือแขนขาอ่อนแรง หากกดส่วนที่ควบคุมการหายใจก็จะทำให้หายใจด้วยตนเองไม่เพียงพอ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจช่วย บางรายอาจหมดสติไม่รู้สึกตัวเพราะเกิดความดันที่สูงและไปกดทับเนื้อสมอง
นอกจากนี้หากการกดทับเนื้อสมองจากเลือดที่ออกไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้เกิดภาวะเนื้อสมองบวม เพราะการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้อสมองและไหลกลับหัวใจไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ ซึ่งยังจะทำให้เนื้อสมองไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติเหมือนเดิม และถ้าเนื้อสมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกตินั่นก็หมายความว่าผู้ป่วยรายนี้คงจะต้องเสียชีวิตไป หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีจากแพทย์
ในกรณีการชกมวย
กรณีการบาดเจ็บที่ศรีษะและสมองที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจรนั้นส่วนใหญ่มักจะเกิดแรงกระแทกอย่างรุนแรงจนทำให้มีบาดแผลหรือมีกระโหลกศรีษะร้าวหรือแตก ซึ่งอาจเห็นได้จากการไปพบแพทย์และแพทย์ส่งผู้ป่วยไปเอกซเรย์กระโหลกศรีษะ ส่วนในกรณีชกมวยนั้น เกิดจากแรงจากหมัดของนักมวยที่ชกเข้าที่ศรีษะคู่ต่อสู้ อาจจะหลายครั้งจนทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นภายใต้กระโหลกศรีษะ ผมคิดว่าคงไม่มีนักมวยรายใดโดยที่มีการสวมนวมอยู่ด้วยแล้วชกศรีษะคู่ต่อสู้จนกระโหลกศรีษะแตก เพราะกระโหลกศรีษะมีความหนาและแข็งค่อนข้างมาก แม้แต่ศัลยแพทย์สมอง เวลาจะเปิดกระโหลกศรีษะยังต้องใช้เครื่องทุ่นแรงช่วย (สว่าน หรือเลื่อยไฟฟ้า หรือใช้แรงลมช่วย) แรงกระแทกจากหมัดหนักๆ หลายๆ ครั้ง อาจทำให้เกิดสมองบวม หรือมีเส้นเลือดบางเส้นภายใต้กระโหลกศีรษะหรือภายในเนื้อสมองแตกจนมีเลือดออก
ภายหลังการชกมวยหากนักมวยมีอาการปวดศรีษะอย่างรุนแรง มีความรู้สึกนึกคิดสับสน ตาพร่ามัว คลื่นไส้อาเจียนพุ่ง มีอาการอ่อนแรงของแขนหรือขาด้านในด้านหนึ่ง นักมวยรายนั้นควรจะต้องถูกนำตัวไปพบแพทย์โดยด่วน
การตรวจและการรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะซักประวัติตรวจร่างกายและส่งนักมวยไปเอกซเรย์สมองด้วยเอกซเรย์ธรรมดา หรืออาจตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือที่รู้กันทั่วไปในขณะนี้คือ การเอกซเรย์ CT SCAN กระโหลกศรีษะและสมองเพื่อทำให้เห็นว่าอะไรเกิดขึ้นที่กระโหลกศรีษะภายใต้กระโหลกศรีษะตลอดจนเนื้อสมอง เพื่อยืนยันว่าเกิดอะไรขึ้นกับส่วนต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งในบางรายในการทำ CT SCAN ครั้งแรกอาจจะไม่เห็นอะไรผิดปกติ หากผู้ป่วยมีอาการที่น่าสงสัย แพทย์อาจจะรับตัวไว้สังเกตอาการในห้องผู้ป่วยหนัก หรือ ไอ.ซี.ยู และหากมีอาการเปลี่ยนแปลงอีก แพทย์อาจจะทำ CT SCAN สมองซ้ำอีกภายหลัง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าตรวจพบความผิดปกติอะไรและควรตรวจเพิ่มเติมอะไรอีกบ้าง
ในกรณีที่แพทย์พบว่ามีเลือดออกมากและกดทับเนื้อสมองหรือในกรณีเนื้อสมองบวม แพทย์จะพิจารณารักษาโดยการเอาเลือดคั่งส่วนที่กดทับนั้นออก หรือการพยายามเปิดกระโหลกศรีษะเพื่อลดความดันที่มีต่อเนื้อสมอง ซึ่งการตัดสินใจที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ระบบประสาท (NEURO – SURGEON) ที่จะพิจารณาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยรายนั้นๆ ในบางรายเนื้อสมองไม่มีความฟกช้ำหรือถูกกดมาก ก็สามารถฟื้นกลับมาทำหน้าที่ตามปกติได้ บางรายเนื้อสมองอาจไม่กลับมาทำหน้าที่เดิมได้ 100 เปอร์เซนต์ ผู้ป่วยรายนั้นอาจมีความผิดปกติอยู่บ้าง ซึ่งการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายอาจไม่เหมือนกันเพราะความรุนแรงที่ไม่เท่ากัน แม้นว่าจะอยู่ภายใต้การดูแลรักษาหรือผ่าตัดโดยแพทย์ท่านเดียวกัน
ผมหวังว่าท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหมัดๆ มวยๆ คงได้ประโยชน์นะครับ ส่วนท่านอื่นๆ ที่อาจมีคนรู้จักประสบอุบัติเหตุและมีบาดเจ็บที่ศรีษะ มีอาการคล้ายๆ ที่ผมกล่าวถึง ก็อย่าลืมแนะนำให้รีบไปพบแพทย์นะครับ
นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (กระดูกและข้อ)
ผู้ประพันธ์