การเพิ่มขีดความสามารถและฝึกการปรับตัวให้ลูก

โลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว แต่ละคนจึงต้องเตรียมพร้อม เรียนรู้ และปรับปรุง ตนเองเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมลูกหลานเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและมีศักยภาพในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ อันจะช่วยให้เขาเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุขไม่ตื่นตระหนกกับความเปลี่ยนแปลงจนอาจนำไปสู่ความสูญเสียสมดุลในการมีชีวิต และหากเกิดปัญหาหรืออุปสรรค ที่ไม่คาดคิด เขาเหล่านั้นก็จะสามารถรับมือและหาทางออกได้อย่างสร้างสรรค์ ในทางการแพทย์จึงให้ความสำคัญกับการสร้างเสริม ความสามารถด้านการปรับตัว (Resilience) ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญด้านหนึ่งที่ผู้ปกครองควรปลูกฝังให้ลูกหลานตั้งแต่ยังเยาว์วัย (1)


Resilience สำหรับเด็ก คือ การที่เด็กสามารถปรับตัวหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรค การที่เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการปรับตัวที่แตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับความสมดุลระหว่างปัจจัยเสริมด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือ หากเด็กมีปัจจัยเสริมด้านบวกมากกว่า ก็จะทำให้สามารถแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าการหาทางออกด้วยวิธีที่ผิดพลาดจนก่อให้เกิดผลเสียตามมา (2) เปรียบเสมือนตาชั่งที่มีแขนข้างหนึ่งรับปัจจัยด้านบวก อีกข้างรับปัจจัยด้านลบ หากมีปัจจัยบวกมากกว่า ก็จะสามารถถ่วงให้เกิดความสมดุลได้แม้เวลาที่มีปัญหาอุปสรรคหรือปัจจัยด้านลบถาโถมเข้าใส่ นอกจากนี้ การที่เด็กมีปัจจัยด้านบวกมาก ยังจะสามารถเปลี่ยนความเครียดที่เป็นพิษ (Toxic stress) ให้กลายเป็นความเครียดที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ (Positive stress) อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย
ผู้ปกครองสามารถสร้างเสริมประสบการณ์ที่เป็นปัจจัยด้านบวกให้กับลูกหลานได้ ดังนี้ (3, 4)

  1. สานสัมพันธภาพเชิงบวกผ่านการเข้าใจและตอบสนองได้ตรงกับตัวตนของเด็ก (Stable and committed relationship with a supportive parent) โดยเริ่มจากการที่ผู้ปกครองเข้าใจในความแตกต่างของเด็กแต่ละคน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และความสามารถในการเรียนรู้ แล้วจึงกระตุ้นให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่เหมาะสมกับความแตกต่างนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น หากเด็กมีพื้นอารมณ์แบบต้องการเวลาในการปรับตัวนาน (Slow to warm-up) ผู้ปกครองอาจพิจารณาเตรียมความพร้อมให้กับเด็กก่อนเข้าโรงเรียนด้วยการพาเด็กเข้าไปเดินดูสถานที่ ลองให้รู้จักคุ้นเคยกับเพื่อนและคุณครู รวมทั้งลองให้อยู่ที่โรงเรียนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะเพิ่มให้เด็กไปอยู่ที่โรงเรียนทั้งวัน จะช่วยให้เด็กเริ่มเรียนรู้การปรับอารมณ์ตนเอง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างเด็กและผู้ปกครองได้อีกด้วย การส่งเสริมเช่นนี้จะช่วยให้เด็กรู้ว่าผู้ปกครองเข้าใจเขา และไม่ละทิ้งเขาไปในช่วงเวลาที่ต้องการกำลังใจจากผู้ปกครอง ซึ่งการมีสัมพันธภาพเชิงบวกดังกล่าวนี้ จะทำให้เด็กตระหนักได้ว่าตนเองมีคุณค่าต่อผู้ปกครอง
  2. สร้างคุณค่าในตัวเอง (Building a sense of self-efficacy and mastery) โดยผู้ปกครองสังเกตว่า เด็กมีความถนัดด้านใด แล้วจึงส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านทักษะด้านนั้น ๆ จะช่วยให้เด็กตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเองได้ ตัวอย่างเช่น หากเด็กที่มีความถนัดในการเรียนรู้ผ่านการมองเห็น ผู้ปกครองอาจสอนโดยการทำให้ดู จะทำให้เด็กเข้าใจและสามารถทำได้มากกว่าการใช้วิธีอธิบายให้ฟัง หรือผู้ปกครองอาจจัดหาของเล่นที่ตรงกับความถนัดของเด็ก จะทำให้เด็กสนใจและสามารถต่อยอดความคิดจากของเล่นที่ตนชอบได้มากกว่าของเล่นที่ไม่ตรงกับความถนัด ตัวอย่างเช่น หากเด็กมีความถนัดในด้านภาษา ผู้ปกครองควรส่งเสริมของเล่นที่ใช้ภาษาในการเรียนรู้ อาทิ หนังสือ เกมครอสเวิร์ด เป็นต้น ทั้นี้ เมื่อเด็กทราบความถนัดของตนเองและพัฒนาจนเกิดเป็นจุดเด่นของตนเองได้แล้ว จะทำให้เด็กตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง อันจะนำไปสู่ความมั่นใจในตนเอง และการที่เด็กรู้ว่าตนเป็นคนที่มีคุณค่านี้เองจะเป็นปัจจัยด้านบวกที่ทำให้กล้าปฏิเสธ สิ่งที่คนอื่นชักชวนไปในทางที่ผิดได้
  3. สร้างโอกาสให้รู้จักการปรับตัว (Providing opportunities to strengthen adaptive skills and self-regulatory capacities) โดยผู้ปกครองควรฝึกให้เด็กรับมือกับปัญหาด้วยตนเอง เริ่มจากปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ตามสภาพความเป็นจริง หลังจากนั้นก็ปล่อยให้เด็กเผชิญกับอุปสรรคที่ใหญ่ขึ้นตามวัย เพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กรับมือกับอุปสรรคที่อาจใหญ่ขึ้นในอนาคตได้ ทั้งนี้ มีงานวิจัยทางการแพทย์บ่งชี้เรื่องดังกล่าว โดยมีการแบ่งเด็กเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1)กลุ่มเด็กที่มีความสามารถแต่ไม่เคยต้องเผชิญกับสภาวะยากลำบากที่ต้องปรับตัว (Competence group) (2) กลุ่มเด็กที่ความสามารถและเผชิญกับอุปสรรคที่ต้องปรับตัวอยู่บ่อยครั้ง (Resilient group) และ (3) กลุ่มที่ไม่มีความสามารถและไม่เคยเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องปรับตัวเลย (Maladaptive group) การวิจัยพบว่าเด็กกลุ่มที่ 2 คือ เด็กทีมีโอกาสเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคที่ต้องปรับตัวอยู่บ่อยครั้ง จะมีคะแนน IQ เฉลี่ยดีกว่าเด็กกลุ่มอื่นและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุขได้มากกว่ากลุ่มอื่นอีกด้วย นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่าหากเด็กเผชิญกับอุปสรรคที่เหมาะสม (Positive stress) จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี หากเด็กต้องปรับตัวในสถานการณ์ที่ยากเกินไป จะกลายเป็นปัจจัยด้านลบต่อการปรับตัวของเด็กได้ (Toxic stress) ดังนั้น การสร้างโอกาสให้ลูกหลานรู้จักปรับตัวและเผชิญกับอุปสรรคด้วยตนเองก็ต้องคำนึงถึงระดับที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัยด้วย
  4. สร้างพลังแห่งศรัทธาและความหวัง (Mobilizing sources of faith, hope, and cultural traditions) โดยผู้ปกครองควรให้การเลี้ยงดูลูกหลานผ่านการปลูกฝังความเชื่อในสิ่งทีดีงามและถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยทางการแพทย์ที่ว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยปลูกฝังให้มีความเชื่อ ศาสนา หรือมีวัฒนธรรม จะรับมือกับอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ดีกว่าเด็กที่ไม่มีความเชื่อใด ๆ เลย นอกจากนี้ การเลี้ยงดูให้เด็กมีความเชื่อในสิ่งที่ดีงามและถูกต้อง ยังจะเป็นพลังที่สะสมอยู่ภายในใจให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งเลวร้ายที่อาจผ่านเข้ามาในชีวิตได้อย่างมีความหวัง

นอกเหนือจากการสร้างเสริมประสบการณ์ที่เป็นปัจจัยด้านบวกให้กับลูกหลานแล้ว การฝึกการบริหารจัดการตัวเอง (Executive function) ยังจะช่วยให้เด็กมีทักษะในการปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย (5) ซึ่งผู้ปกครองสามารถฝึกทักษะการบริหารจัดการตนเองให้แก่ลูกหลานได้เด็กได้ ดังนี้

  1. ฝึกให้รู้จักการควบคุมตนเอง เช่น การยับยั้งชั่งใจ การคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจ การรู้จักรอคอย เป็นต้น
  2. ฝึกให้มีความยืดหยุ่นทางความคิด เช่น รู้จักการปรับเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
  3. ฝึกให้บริหารความจำเพื่อนำมาใช้งาน เช่น จำกติกาของเกมเพื่อสามารถเล่นกับคนอื่นได้ รับผิดชอบงานที่ครูสั่งได้ เป็นต้น
    การที่ลูกหลานจะเติบโตอย่างมีศักยภาพและมีความสุขในสังคมยุคปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งผู้ปกครองจะต้องใส่ใจให้การเลี้ยงดูเพื่อให้เขาเหล่านั้นยืนหยัดในความเป็นตัวตนและยืดหยุ่นกับสภาวะต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ในทุกวันและเวลาของชีวิต ดังนั้น การปลูกฝังให้ลูกหลานมีความสามารถในการปรับตัวและบริหารจัดการตนเองได้ จะทำให้เขาเหล่านั้นเติบโตอย่างมีคุณภาพและศักยภาพ รวมถึงใช้ชีวิตอยู่ได้ในวันที่ไม่มีผู้ปกครองคอยโอบอุ้มเขาอีกแล้ว

    Reference
    1. Masten AS, Obradovic J. Competence and resilience in development. Annals of the New York Academy of Sciences. 2006;1094:13-27.
    2. Masten AS, Tellegen A. Resilience in developmental psychopathology: contributions of the Project Competence Longitudinal Study. Development and psychopathology. 2012;24(2):345-61.
    3. Promoting Resilience [electronic]. www.aap.org/en-us/advocacy-and-policy/aap-health-initiatives/resilience/Pages/Promoting-Resilience.aspx: American Academy of Pediatrics.
    4. The Science of Resilience [Electronic]. www.developingchild.harvard.edu: Center on the Developing Child at Harvard University.; 2015.
    5. Greenberg MT. Promoting resilience in children and youth: preventive interventions and their interface with neuroscience. Annals of the New York Academy of Sciences. 2006;1094:139-50.

    พญ. มัณฑนา ชลานันต์
    กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก
    ผู้ประพันธ์
Scroll to Top