การรักษาภาวะหลังหมดประจำเดือน ช่วงการหมดระดูในหญิงไทยอยู่ระหว่าง 49-52 ปี เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของชีวิตช่วงหนึ่ง เนื่องจากรังไข่ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศ เริ่มเสื่อมถอยในการทำหน้าที่ ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนเพศ ทั้งเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน จะทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายทั้งทางสรีระทยา และทางจิตใจ การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา หมายถึงมีการร่วงโรยของร่างกายให้เห็น และอาจจะมีอาการแทรกซ้อน เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก ใจสั่น ปวดศรีษะมาก ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจที่พบได้บ่อยๆ คือ อาการซึมเศร้า อาการเหล่านี้ในแต่ละบุคคลจะมีความรุนแรงไม่เท่ากัน บางคนก็มีอาการมากมาย บางคนอาจจะไม่มีอาการเลยก็ได้ ในรายที่มีอาการจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ และร่างกาย ควรจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับทุกคน คือการเปราะบางของกระดูกทั่วร่างกาย
ในปัจจุบันมีวิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้า และช่วงชีวิตสตรีโดยเฉพาะหลังหมดระดูยาวนานออกมามาก การเข้ารับการแก้ไขดูแลเพื่อชะลอผลแทรกซ้อนดังกล่าว เป็นสิ่งที่สตรีวัยหมดระดูทุกคนควรเข้ารับบริการ เพราะสามารถที่จะป้องกันหรือผ่อนหนักเป็นเบาได้
การดูแลสุขภาพทั่วไปหลังหมดประจำเดือน
1.สตรีวัยหมดระดูควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารอย่างถูกส่วนและได้แคลเซียมเสริม เพื่อลดการกร่อนของกระดูก ควรทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี มีงานอดิเรกทำ ควรตรวจสุขภาพร่างกายทุกระยะอย่างสม่ำเสมอ เหล่านี้จะช่วยให้ชีวิตวัยหมดระดูเป็นวัยที่มีความสุขไม่แพ้วัยอื่นๆ
2.มีคำกล่าวกันว่าวัยหมดประจำเดือนน่าจะเป็นวัยทองของชีวิตคือ น่าจะเป็นช่วงที่มีความสุขอย่างมากของสตรี เนื่องจากเป็นวัยที่ผ่านการทำงานมานาน มีประสบการณ์มาก มีฐานะมั่นคง พ้นภาระเลี้ยงดูลูกๆ ภาระการงานน้อยลง แต่สตรีส่วนใหญ่มักมีอาการไม่ปกติ เนื่องจากผลของการขาดฮอร์โมนดังกล่าว ซึ่งในสมัยก่อนถือว่าเป็นธรรมชาติที่แก้ไขไม่ได้ ต้องยอมรับสภาพ ทำให้การย่างก้าวเข้าสู่วัยนี้ดูน่ากลัว
3.ปัจจุบันความเข้าใจต่อวัยหมดระดูดีขึ้นมาก จึงนับว่าเป็นโชคของสตรีวัยนี้ที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์สมกับคำว่า “วัยทองของชีวิต”
4.โรคนี้ไม่ใช่โรคที่มีอันตรายร้ายแรง ควรอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ควรวิตกทุกข์ร้อนจนเกินไป
5.ถ้าพบว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริดกระปรอย หรือออกนานกว่าปกติ หรือกลับมีประจำเดือนครั้งใหม่หลังจากหมดไปนานกว่า 6 เดือนแล้ว ควรแนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล อาจเป็นอาการของมะเร็งปากมดลูกได้
6.ผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลง ทำให้เยื่อบุช่องคลอด บางและระคายเคืองได้ง่าย จะมีอาการคัน และช่องคลอดมักจะแห้ง ทำให้เจ็บปวดเวลาร่วมเพศบางครั้งอาจมีอาการตกขาวร่วมด้วย ถ้ามีอาการตกขาว และคันในช่องคลอด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุอื่นๆ แพทย์จะให้ครีมสเตอรอยด์ทาแก้อาการคัน ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกเจ็บขณะร่วมเพศ ก่อนร่วมเพศควรใช้เยลลี่หล่อลื่น เช่น ยาเยลลี่ เค-วาย ใส่ในช่องคลอดจะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ การกินฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน จะช่วยป้องกันภาวะเหล่านี้ได้ ส่วนในรายที่ไม่ได้กินฮอร์โมน อาจใช้เอสโตรเจนชนิดครีมทาในช่องคลอด 7-10 คืน แล้วต่อไป ทาสัปดาห์ละ 2 คืนหรือคืนเว้นคืนก็ได้ผลเช่นกัน
7.หลังวัยหมดประจำเดือน เนื้อกระดูกซึ่งมีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ จะลดลงในอัตราที่เร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการลดลงของเอสโตรเจน ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันการสึกหรอหรือลดลงของเนื้อกระดูก ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ และเมื่อปล่อยไว้จนย่างเข้าวัยสูงอายุ หรือหลังหมดประจำเดือน 10-20 ปีขึ้นไป ก็มักจะเกิดปัญหากระดูกแตกหักง่าย เช่น กระดูกสะโพกหักกระดูกข้อมือหักกระดูกสันหลังทรุดหรือหัก ทำให้หลังค่อม อาจทำให้พิการ หรือเป็นภาระแก่ผู้ใกล้ชิดได้ ภาวะกระดูกพรุนพบบ่อยในผู้หญิงที่กินแคลเซียมน้อยตั้งแต่วัยสาว, สูบบุหรี่, ดื่มเหล้า, ขาดการออกกำลังกาย, กินยา สเตอรอยด์เป็นประจำ หรือมีคนในครอบครัวเป็นกระดูกพรุนด้วยภาวะกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้โดยการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม เต้าหู้ ปลาไส้ตัน กุ้งฝอย กุ้งแห้ง งาดำมะเขือพวงผักคะน้า ใบยอ เป็นต้น และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตั้งแต่อายุ 20-30 ปี
8.ส่วนผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงความจำเป็นที่ต้องกิน ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน ซึ่งต้องกินติดต่อกันนานเป็นปี ๆ ฮอร์โมนนี้ยังมีข้อดีในการป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ส่วนผลข้างเคียง เช่นทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด, ความดันโลหิตสูง จะพบได้น้อยมากเนื่องจากเป็นการใช้ฮอร์โมนในขนาดต่ำกว่าที่ใช้อยู่ในยาเม็ดคุมกำเนิดมาก และการกินฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนควบด้วยจะป้องกันผลข้างเคียงเหล่านี้ รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และโพรงมดลูก จากการใช้เอสโตรเจนลงด้วย
9.นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องกินแคลเซียมเสริมวันละ 1 กรัมควบด้วย
การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น
การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวัยใกล้หมดระดู และวัยหมดระดูช่วงต้น เกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่
1.อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบตามตัว มักจะมีอาการร้อนซู่ขึ้นมาทันทีบริเวณหน้า ลำคอ และหน้าอก มักเกิดอาการอยู่นานประมาณ 3 – 5 นาที แล้วก็หายไป บางคนพบมีเหงื่อออกมากร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักมีอาการในช่วงกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับตามมา
2.อาการของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ได้แก่ ช่องคลอดอักเสบ คันช่องคลอด ช่องคลอดแห้ง ทำให้เจ็บเวลามีการร่วมเพศ
3.อาการช่องระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย
4.การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ และอารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เครียด กังวล เหนื่อย เพลีย หมดความต้องการทางเพศ เป็นต้น
5.การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง ในวัยหมดระดูผิวหนังจะบางลง ความยืดหยุ่นลดลง
6.การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อและข้อ พบว่า กำลังของกล้ามเนื้อลดลง มีอาการปวดตามข้อ
การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
การเปลี่ยนแปลงในระยะยาวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในวัยหมดระดูช่วงหลัง มักเกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกาย ได้แก่
1.การเปลี่ยนแปลงทางกระดูก เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูจะมีการสูญเสียกระดูกมากขึ้น แต่ละคนจะมีอัตราการสูญเสียกระดูกที่เร็วช้าแตกต่างกันไป ประมาณ 1 ใน 3 จะสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็ว เกินกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ทำให้มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้เร็ว การสูญเสียกระดูกที่รวดเร็วในอัตรานี้อาจคงอยู่นาน 10–15 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มลดลง
2.การเปลี่ยนแปลงของหัวใจและหลอดเลือด พบว่าในวัยหมดระดูจะมีอุบัติการณ์และความชุกของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น มีไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
ผลของภาวะหลังหมดประจำเดือนที่มีต่อระบบต่างๆ
1.ทำให้ผนังบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตได้ไม่ดี หรืออาจทำให้ประจำเดือนมามาก ผิดปกติหรือขาดหายไปได้หลายๆ เดือน ในบางรายอาจมีอาอารเลือดออกผิดปกติได้
2.พบว่าประมาณร้อยละ 50-70 ของวัยนี้จะเกิดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่ออกตอนกลางคืนหรือเวลาหลับ และส่วนใหญ่รู้สึกว่าอาการที่กล่าวนี้ค่อนข้างน่ารำคาญเพราะทำให้ตกใจตื่น จึงทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ หลับไม่สนิท ส่งผลให้ปวดศีรษะตามมา
3.ต่อมที่สร้างเมือกที่หล่อเลี้ยงช่องคลอดลดลง ทำให้ช่องคลอดรู้สึกแห้ง และเจ็บในขณะมีเพศสัมพันธ์
4.เกิดปัญหาการนอนไม่หลับ จนอาจทำให้เกิดภาวะความวิตกกังวล เครียด หงุดหงิด และอารมณ์แปรปรวน
5.ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในกระแสเลือด โดยมีการศึกษาพบว่าระดับของโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL (low density lipoprotein) จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่โคเลสเตอรอลดีชนิดเป็นประโยชน์ที่เรียกว่า HDL (high density lipoprotein) ลดลง เหตุนี้เองจึงทำให้สตรีวัยทองมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอด เลือดหัวใจอุดตันได้สูงกว่าปกติถึง 7 เท่า
6.สตรีที่หมดประจำเดือนใหม่ๆ จะมีผลทำให้ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีแรก ดังนั้นการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงเป็นสาเหตุทำให้ เกิดโรคกระดูกพรุนซึ่งจะทำให้เกิดอาการกระดูกหักหรือกระดูกแตกได้ง่าย
7.ทางด้านจิตใจ ก่อให้เกิดความวิตก กังวล ความกลัว หงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียว ขาดความเชื่อมั่น ในตนเอง หวาดระแวง และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดระดู
ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดระดู แบ่งตามลักษณะการใช้ออกเป็น
1.ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว จะเป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วย เอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยบรรเทาอาการของวัยหมดระดู มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดทาบริเวณผิวหนังชนิดแผ่นแปะ
2.ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ยังมีมดลูกอยู่ เป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วย เอสโตรเจน และโปรเจสโตเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ฮอร์โมนชนิดนี้สามารถแบ่งได้เป็น
- ชนิดที่ใช้เป็นรอบๆ (Cyclic regimen) เป็นการให้เอสโตรเจน 21 วันและใน 12 วัน หลังจะมีโปรเจสโตเจนร่วมด้วย จะมีช่วงที่ไม่ต้องใช้ฮอร์โมน 7 วัน ทำให้มีระดูสม่ำเสมอ ชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้กับผู้ที่อยู่ในวัยเปลี่ยน หรือวัยหมดระดูช่วงต้น
- ชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง (Continuous combined regimen) เป็นการให้เอสโตรเจนในปริมาณที่เท่ากันทุกวันเพื่อให้ไม่ต้องมีระดู ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่หมดระดูมานานมากกว่า1ปีขึ้นไป
3.ฮอร์โมนทดแทนอื่นๆ เป็นฮอร์โมนที่ไม่ใช่เอสโตรเจน แต่สามารถป้องกัน และรักษาการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดูได้ ได้แก่
- Tibolone
- Raloxifene
- สารสกัดจากพืช (Phytoestrogen)
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์