การรักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์ด้วยการผ่าตัด

ในกรณีที่พบเซลที่เป็นเนื้อร้าย แพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดโดยจะพิจารณาตัดต่อมไทรอยด์ในข้างที่มีก้อนอยู่ออกทั้งข้างและอาจส่งชิ้นเนื้อไปตรวจแบบเร่งด่วน หรือที่เรียกว่า Frozen section ซึ่งจะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 20-30 นาทีเมื่อได้รับการยืนยันว่าเป็นเนื้อร้ายอาจพิจารณาตัดต่อมไทรอยด์ข้างที่เหลือออก เหตุผลหลักที่แพทย์ไม่ตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมดตั้งแต่แรกเนื่องจากอาจมีความผิดพลาดจากการตรวจด้วยการเจาะดูดเซลมาตรวจ(FNA) จึงต้องมีการยืนยันผลการตรวจในห้องผ่าตัดอีกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด อย่างไรก็ตาม การทำ Frozen section หรือการตรวจเนื้อทันทีหลังผ่าตัดก็สามารถวินิจฉัยมะเร็งในบางชนิดได้เท่านั้นพยาธิแพทย์จะพิจารณาอย่างรอบคอบหากไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งก็จะรายงานให้แพทย์ที่ทำการผ่าตัดทราบ ซึ่งแพทย์ที่ทำการผ่าตัดก็มักจะหยุดการผ่าตัดไว้เท่านั้น ทำการปิดเย็บแผล แล้วรอผลที่แน่นอนซึ่งจะกินเวลาอีกประมาณ 2-3 วัน หากผลกาตรวจเนื้อด้วยวิธีปกติซึ่งมีความแม่นยำสูงสุด รายงานว่า เป็นเนื้อร้ายผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเป็นครั้งที่สองเพื่อนำต่อมไทรอยด์ออกให้หมด หรืออาจใช้วิธีติดตามการรักษา ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่พบ รวมทั้งลักษณะที่บ่งบอกว่าอาจมีการกระจายตัวไปตามอวัยวะต่างๆ หรือไม่

การรักษาด้วยการผ่าตัด สามารถทำได้ 2 วิธีคือ

1. การผ่าตัดด้วยวิธีปกติ วิธีนี้ แพทย์จะลงแผลตามแนวนอนบริเวณกลางลำคอและเข้าไปตัดต่อมไทรอยด์ในข้างที่มีก้อนออก หรืออาจตัดออกทั้ง 2 ข้างในกรณีพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นมะเร็ง

2. การผ่าตัดด้วยกล้อง โดยการลงแผลขนาดเล็กบริเวณรักแร้ หรือบริเวณแผ่นอก แล้วสอดกล้องและเครื่องมือเพื่อเข้าไปผ่าตัดต่อมไทรอยด์ข้างที่มีก้อนออก วิธีนี้มีข้อดีคือสามารถซ่อนบาดแผลไว้ในบริเวณใต้ร่มผ้าแต่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำในผู้ที่มีก้อนใหญ่กว่า 4-5 ซม. ได้รวมทั้งทำได้เพียงข้างเดียวในการเข้าผ่าตัดแต่ละครั้ง ในบางรายอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดปกติ เช่นกรณีที่มีเลือดออกมากขณะผ่าตัด

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยดมยาสลบ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์เพียงข้างเดียวจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณ 2-4 วัน

โรคแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ได้แก่

  • การเกิดอันตรายกับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงสายเสียง เนื่องจากเส้นประสาทดังกล่าว วิ่งอยู่ใต้ต่อมไทรอยด์ข้างหลอดลมก่อนที่จะวิ่งเข้าไปยังกล่องเสียง หากการผ่าตัดไปทำอันตรายกับเส้นประสาทนี้จะทำให้สายเสียงไม่ขยับ เกิดปัญหาเสียงแหบตามมาการเกิดอันตรายกับเส้นประสาทนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ แบบแรกคือแบบชั่วคราว อาจเกิดจากการช้ำของเส้นประสาท ทำให้หยุดทำงานชั่วคราวซึ่งมักกลับมาทำงานปกติใน 3-8 สัปดาห์ แบบที่สองคือ แบบถาวรเช่นเส้นประสาทช้ำมาก หรือถูกตัดขาด แบบนี้ สายเสียงก็จะไม่ขยับถาวรทำให้เกิดเสียงแหบไปตลอด อย่างไรก็ตาม ร่างกายก็มีกลไกในการปรับตัวด้วยการค่อยๆ ขยับสายเสียงข้างที่ไม่ขยับ เลื่อนเข้ามาในแนวกลางซึ่งทำให้เสียงดีขึ้นบ้าง ขบวนการดังกล่าว อาจใช้เวลาประมาณ 1 ปีสำหรับโอกาสเกิดอันตรายกับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงสายเสียงในปัจจุบันมีไม่มากนัก เนื่องจาก แพทย์ที่ทำผ่าตัดจะระมัดระวังเป็นพิเศษและจะหาเส้นประสาทนี้ให้พบก่อนที่จะทำการตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ออก
  • การมีเลือดออกหลังผ่าตัด ซึ่งพบได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน แพทย์จะใส่ท่อระบายเลือดใต้แผลหลังการผ่าตัดเสมอ จึงมักไม่เป็นปัญหาที่รุนแรงกับผู้ป่วยสามารถแก้ไขได้โดย อาจนำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด และทำการห้ามเลือดอีกครั้ง
  •  การติดเชื้อที่แผลหลังผ่าตัด พบได้บ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากมักมีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดการรักษาหลังผ่าตัด จะเป็นแบบใด ขึ้นอยู่กับผลของการพิสูจน์ชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา
  • หากเป็นเนื้อไทรอยด์โตธรรมดา (Goitre) แพทย์อาจให้ติดตามการรักษา หรือให้รับประทานฮอร์โมนไทรอยด์หลังผ่าตัดประมาณ 6 เดือน
  •  หากเป็นถุงน้ำที่ต่อมไทรอยด์ ไม่ต้องให้การรักษาใดๆ เพิ่มเติม
  • หากเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย ไม่ต้องให้การรักษาใดๆ เพิ่มเติม แพทย์อาจนัดมาทำการตรวจเป็นระยะ
  •  หากเป็นเนื้องอกชนิดร้าย ขึ้นอยู่กับลักษณะและชนิดของเนื้องอกบางชนิดใช้วิธีติดตามการรักษาบางชนิดจำเป็นต้องทำการผ่าตัดครั้งที่สองเพื่อตัดต่อมไทรอยด์ออกให้หมดบางชนิดจำเป็นต้องกลืนน้ำแร่หลังทำการผ่าตัดด้วย

นพ. สมศักดิ์ หวานกิจเจริญ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรค หู คอ และ จมูก
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top