การรักษากระดูกหักมีหลายวิธี
การเลือกวิธีใดขึ้นอยู่กับ
– อายุของผู้ป่วย
– ตำแหน่งของกระดูกที่หัก
– ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้กระดูกแตกมากน้อยต่างกัน
– กล้ามเนื้อที่ปกคลุมชอกช้ำมากเพียงใด
– เส้นประสาทหรือเส้นเลือดถูกทำลายหรือไม่
– อาชีพที่แตกต่างกันของผู้ป่วยแต่ละราย
ดังนั้นแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและคิดตัดสินใจเลือกวิธีที่เหมาะสมแก่คนไข้เป็นรายๆ ไปวิธีการรักษามีดังนี้
การรักษาโดยการเข้าเฝือก
การเข้าเฝือกเป็นการทำให้กระดูกอยู่นิ่ง กระดูกจะต่อเชื่อมกันได้เอง แพทย์อาจจะต้องดึงกระดูกให้เข้าที่ ถ้าหากกระดูกหักแล้วเคลื่อนที่ออกไปมาก บางครั้งต้องฉีดยาชาเฉพาะที่หรือดมยาสลบเพื่อไม่ให้เจ็บปวด เฝือกที่ใส่จะต้องกระชับพอดี ดังนั้นเมื่อส่วนที่หักเริ่มยุบบวม เฝือกจะหลวมใน 1-2 สัปดาห์ จำเป็นต้องเปลี่ยนเฝือกเป็นระยะ ๆ ถ้าหากเฝือกหลวม จนกว่ากระดูกจะติดดี ซึ่งในแขนจะใช้เวลาใส่เฝือกประมาณ 3-6 สัปดาห์ และขาประมาณ 6-12 สัปดาห์
การรักษาโดยการผ่าตัด
การผ่าตัดมีความจำเป็นต้องทำในรายที่กระดูกหักแล้วมีบาดแผลทะลุถึงภายนอก ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ถ้าไม่ล้างทำความสะอาดแผลให้ดี
สำหรับกรณีที่ไม่มีบาดแผลแล้วจำเป็นต้องทำผ่าตัดมีได้ 2 กรณีคือ
กระดูกหักในตำแหน่งที่รักษาด้วยการเข้าเฝือกไม่ได้ เช่นข้อสะโพก กระดูกต้นขา เป็นต้น อีกกรณีหนึ่งคือ กระดูกหักและเคลื่อนที่ไปมาก เมื่อดึงกลับเข้าที่ได้แล้วไม่สามารถใช้เฝือกควบคุมการเคลื่อนที่ได้ หรือกรณีไม่สามารถดึงกลับเข้าที่เดิมได้ ก็จำเป็นต้องรักษาโดยการทำผ่าตัด แล้วดามด้วยโลหะ
วิธีการดามโลหะมีหลายประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของกระดูกที่หักและวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษา
การักษาโดยวิธีอื่นๆ เช่น การดึงถ่วงด้วยน้ำหนักจนกระดูกติด หรือการผ่าตัดโดยการยึดตรึงกระดูกให้อยู่กับที่โดยต่อเป็นโครงยึดจากภายนอก แพทย์ผู้รักษาอาจเลือกใช้วิธีการเหล่านี้เฉพาะในรายที่จำเป็นเท่านั้น
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์