ตอนที่ 3 วิธีการผ่าตัดแก้ไขขาโก่งหรือเข่าโก่ง (หรือเสื่อม)
ผู้ป่วยมีอาการขาโก่งและมีอาการเจ็บปวดในขณะเดินจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับปัจจุบันการแก้ไขข้อเข่าโก่งให้กลับมาตรงเหมือนปกติ (Varus Knee Correction) ที่ได้รับการยอมรับในทางการแพทย์ว่าได้ผลจริงมีเพียง 3 วิธีนี้ดังนี้
1. การฝึกกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรงขึ้น (Active Training Muscle Exercises) โดยยังไม่ผ่าตัด
ทุกหนึ่งก้าวที่ย่างเดินกล้ามเนื้อต้นขาจะต้องผ่อนและถ่ายเทแรงจากน้ำหนักตัวมาที่กระดูกสะบ้าลงมาที่ปลายเท้าเพื่อลดแรงกระเทือนมาที่ข้อเข่าหรือผิวกระดูกอ่อนถ้ากล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแอจะทำให้แรงกระเทือนมาที่กระดูกข้อเข่ามากขึ้น กล้ามเนื้อต้นขา (Quadricep muscles) ที่อ่อนแอมากจะไม่สามารถรับน้ำหนักตัวของเจ้าของได้เลยจึงเกิดความไม่มั่นคงในข้อเข่าเวลาเดินลงน้ำหนักจึงทำให้ข้อเข่าเบ้โก่งออกมากขึ้น ปกติคนเราเดินวันละ 5000 ถึง 8000 ก้าว แรงกระแทกที่ข้อเข่าก็จะค่อยๆทำลายกระดูกอ่อนไปทีละน้อยดังนั้นการรักษาและคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งครับแต่ปัญหาอยู่ที่เราจะทำให้กล้ามเนื้อต้นขากลับมาแข็งแรงให้เร็วที่สุดได้อย่างไร
การออกกำลังกายแต่ละชนิดนั้นได้ประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกันเช่นการวิ่งออกกำลังกายจะช่วยให้ปอดและหัวใจแข็งแรงแต่ข้อเข่าอาจจะพังก่อนวัยเพราะฉะนั้นการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับข้อเข่าคือจะต้องกระตุ้นให้เส้นใยกล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงให้เร็วที่สุดและกระแทกข้อเข่าให้น้อยที่สุดการออกกำลังกายลักษณะนี้เรียกว่าการฝึกกล้ามเนื้อด้วยตัวเอง (Active Training Muscle Exercises)ซึ่งมีรูปแบบที่เฉพาะและสามารถวัดผลความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ดีขึ้นได้การบริหารกล้ามเนื้อด้วยวิธีนี้มีความสำคัญต่อผู้ป่วยทุกช่วงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัญหาโรคกระดูกต่างๆ
2. การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ทั้งแบบเปลี่ยนเต็มข้อและครึ่งข้อ (Knee Arthroplasty)
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีข้อเข่าเสื่อมขั้นสุดท้ายที่แม้จะรักษาด้วยวิธีต่างๆจนครบถ้วนแล้วก็ตามแต่อาการปวดเข่าเรื้อรังก็ไม่ทุเลาหรือมีแนวโน้มว่าจะเดินไม่ได้ผู้ป่วยที่มีความต้องการใช้งานเข่าแบบไม่หนักมากมายอะไรเช่นการเดินออกกำลังกายเบาๆ ยิ่งข้อเข่าผุพังมากหรือยิ่งอายุเกิน 70 ปีพบว่าการผ่าตัดวิธีนี้ยิ่งได้ผลดีและคุ้มค่าที่จะเปลี่ยนเป็นข้อเข่าเทียมครับข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนจะมีอายุการใช้งานเพราะฉะนั้นจึงต้องใช้อย่างทะนุถนอมไม่ควรใช้ในการเล่นกีฬามากๆ หรือ หนักๆ มิเช่นนั้นข้อเทียมก็จะพังเร็วขึ้น ต้องมีการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใหม่อยู่เรื่อยๆ และเนื่องจากข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนมีโอกาสติดเชื้อและอักเสบได้ง่ายกว่าข้อเข่าจริง ดังนั้นถ้าสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อในร่างกาย เช่น จะไปถอนฟันมีแผลยุงกัดเป็นหนองต้องมีการรับประทานยาป้องกันการติดเชื้อก่อนทุกครั้งครับเพื่อป้องหันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปยังข้อเข่าเทียม การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าโก่งวิธีนี้จึงไม่เหมาะกับคนอายุน้อยหรืออายุน้อยกว่า 70 ปีลงมาโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังต้องใช้งานเข่ามากๆ อยู่เว้นแต่สภาพเข่าที่พังมากถึงที่สุดแล้วจึงจะเลือกการผ่าตัดนี้เป็นวิธีสุดท้ายครับ แต่แนะนำให้ใช้วิธี “การผ่าตัดดัดเข่า” ซึ่งถ้าแก้ไขได้ทันเวลาก็จะช่วยให้ผู้ป่วยที่เข่าเสื่อมและมีขาโก่งหรือเข่าโก่งรอดพ้นจากการถูกผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมครับ
การรักษาข้อเข่าโก่งวิธีนี้โดยเฉพาะคนที่มีกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าไม่แข็งแรงและมุมโก่งข้อเข่าไม่มากนักจะทำให้ขาและเข่าที่โก่งกลับมาตรงได้ในระดับหนึ่งและวิธีการรักษานี้ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมหรือการผ่าตัดดัดเข่าอีกด้วยทำให้ข้อเข่าที่ได้รับการผ่าตัดฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้นและช่วยถนอมข้อเข่าหลังผ่าตัดให้เจ้าของสามารถใช้เข่าได้นานแสนนานครับ
3. การผ่าตัดดัดเข่าให้ตรงขึ้น (High Tibia Osteotomy หรือ HTO)
การผ่าตัดวิธีนี้เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั่วโลกว่าได้ผลดีมากและเหมาะสำหรับผู้ใหญ่ที่อายุน้อยจนถึงผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยเข่าโก่งที่ยังต้องใช้เข่าอย่างหนักในการทำงานหรือเล่นกีฬาเพราะหลังจากผ่าตัดดัดเข่าเรียบร้อยแล้วผู้ป่วยยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬาหรือวิ่งออกกำลังกายเหตุที่ยังสามารถใช้เข่าทำงานหนักได้เพราะข้อเข่าที่ผ่าตัดไม่ได้เปลี่ยนเป็นข้อเทียมแต่เป็นข้อเข่าจริงที่ถูกปรับลดแรงกระแทกจากการทำผ่าตัดทำให้เข่าตรงขึ้นครับ
การผ่าตัดดัดเข่าเป็นการแก้ไขตรงจุดที่มีการโก่งของข้อเข่าคือบริเวณกระดูกส่วนขาด้านล่างข้อเข่า (ส่วนบนของหน้าแข้ง) วิธีการผ่าตัดแบบนี้มีข้อดีคือ
- ไม่มีการผ่าตัดเข้าไปในข้อเข่าทำให้โอกาสติดเชื้อหรือกระทบกระเทือนข้อมีน้อยกว่า
- ไม่มีการใส่ข้อเทียมเข้าไปจึงยังคงมีข้อเข่าจริงของผู้ป่วยอยู่
- ไม่มีการตัดทำลายกระดูกหรือเลาะกระดูกอ่อนทิ้งซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แต่จะมีการตัดเป็นเส้นบางๆเพียงให้ผ่านกระดูกหน้าแข้งส่วนบนเพื่อแยกออกจากกันเท่านั้นโดยมีการปรับมุมให้เข่ามีรูปร่างตรงและหายโก่งก่อนจะนำมาประกบเหมือนเดิม
- สามารถแก้ไขผลเสียที่เกิดจากเข่าโก่งที่กล่าวมาข้างต้นได้ทั้งหมด
- สามารถปรับให้กระดูกอ่อนที่ผิวข้อเข่าฝั่งด้านในส่วนที่ดีที่ยังเหลืออยู่มาใช้งานแทนฝั่งด้านในที่สึกหรอไปแล้ว
- เป็นการถนอมข้อเข่าของตัวเองที่ยังดีไม่ให้ถูกตัดทิ้ง
- หลังจากผ่าตัดและย้ายแรงกดด้วยวิธีนี้แล้วพบว่าไขกระดูกและกระดูกอ่อนที่เคยถูกทำลายจากการกดทับยังสามารถงอกฟื้นฟูกลับมาปกติเหมือนเก่าได้ครับ (Regeneration of cartilage cell and bone marrow)
การผ่าตัด HTO มี 3 แบบต่างกันที่วิธีการยึดกระดูกเข่าที่ตัดและปรับให้ตรงอยู่นิ่งๆเพื่อให้กระดูกเชื่อมกันสมบูรณ์อย่างรวดเร็วโดยป้องกันไม่ให้เข่ากลับมาโก่งเหมือนเดิม
3.1 หลังผ่าตัดดัดกระดูกแล้วใส่เฝือกต่อ (HTO with Long Leg Cast)
ทุกหลังผ่าตัดดัดกระดูกข้อเข่าให้ตรงขึ้นจะมีการใส่เฝือกทั้งขาเพื่อรอให้กระดูกขาที่ตรงขึ้นอยู่นิ่งติดกัน หลังผ่านไปประมาณ 2 -3 เดือนกระดูกก็จะติดกันสนิท หลังถอดเฝือกจึงเริ่มเดินลงน้ำหนักได้แต่การใส่เฝือกแบบนี้มีข้อเสียตรงที่เราต้องใส่ทั้งขาคลุมเหนือเข่าทำให้งอเข่าไม่ได้ กล้ามเนื้อรอบขาก็อาจจะลีบเล็กลงไปได้มากและผู้ป่วยก็มักจะทนอยู่ในเฝือกนานๆไม่ได้จึงไม่เป็นที่นิยมแต่สามารถนำมาใช้เพื่อเสริมการรักษาของวิธีที่สองและสามครับ
3.2 การผ่าตัดดัดกระดูกโดยยึดด้วยโลหะภายในผิวหนัง (HTO with Internal Fixation)
หลังการผ่าตัดมีการยึดดามกระดูกด้วยแผ่นโลหะและสกรูโลหะหลายตัวด้านในกระดูก
วิธีผ่าตัดแบบนี้มีข้อดีตรงที่ว่าไม่มีโลหะโผล่พ้นผิวหนังออกมาเกะกะด้านนอก แต่มีข้อด้อยที่มีแผ่นโลหะและสกรูยึดตรึงอยู่ที่กระดูกของผู้ป่วยไปตลอด อย่างไรก็ตามถ้าจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในเข่าข้างนี้อีกหลายปีต่อมาแพทย์จะต้องเอาแผ่นโลหะและสกรูทั้งหมดออกก่อนไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้เนื่องจากแนวโลหะที่ค้างอยู่จะชนกันกับวัสดุข้อเทียมที่จะใส่เข้าไปใหม่ในกระดูกซึ่งอาจใช้เวลาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนานขึ้นเนื่องจากจะต้องเสียเวลาเอาโลหะเดิมออกก่อน
3.3 การผ่าตัดดัดกระดูกโดยยึดด้วยโลหะภายนอกผิวหนัง (HTO with External Fixator)
เทคนิคนี้คือการใช้เข็มสว่านเล็กๆ (Drill) เจาะผ่านผิวหนังบริเวณด้านล่างของข้อเข่าเพื่อทำให้เกิดรอยโค้งเรียงติดกันเพื่อที่แพทย์จะได้ดัดกระดูกเข่าให้กระดูกเเยกออกจากกันเเละปรับให้เข่ากลับมาตรงจากนั้นจึงยึดกระดูกด้วยหมุด (Pin) ที่มีรูปร่างเหมือนเข็มเจาะทะลุกระดูกจากด้านนอกผิวหนัง 4 ตัว ก่อนจะยึด Pin ทั้งหมดนี้ด้วยโลหะรูปร่างทรงกระบอกขนาดใหญ่ด้านนอกผิวหนังโดยซ่อนอยู่ในหว่างขาทำให้กระดูกอยู่นิ่งจนเชื่อมยึดติดกันแข็งแรง
เมื่อกระดูกข้อเข่าที่ยืดตรงขึ้นติดกันเเข็งแรงดีตามเวลาที่ครบกำหนดแล้วแพทย์ก็สามารถถอดโลหะจากภายนอกได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเพิ่มเติมทำให้ไม่มีโลหะเหลือค้างอยู่ในร่างกายเเม้เเต่ชิ้นเดียวแต่ข้อด้อยของเทคนิคนี้ก็คือผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สะดวกตรงที่มีโลหะขนาดใหญ่เกะกะด้านนอกชั่วคราวประมาณ 6-8 สัปดาห์และต้องดูแลความสะอาดของโลหะที่อยู่ด้านนอกอย่างดีครับ
การเลือกวิธีหนึ่งวิธีใดนั้นโดยเฉพาะการผ่าตัดใช้วัสดุภายในหรือการยึดตรึงกระดูกโดยใช้เหล็กจากภายนอกมีข้อบ่งชี้ที่อาจจะแตกต่างกันจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องปรึกษากับแพทย์เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมสำหรับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
นพ. สมศักดิ์ เหล่าวัฒนา
ศัลยแพทย์โรคกระดูก
ผู้ประพันธ์ นพ. สุทร บวรรัตนเวช
ศัลยแพทย์โรคกระดูก
ที่ปรึกษา