การผ่าตัดแก้ไข ขาโก่ง หรือ ข้อเข่าโก่ง (เสื่อม) ตอนที่ 1

ตอนที่ 1 ข้อเสียของการ “ขาโก่ง” หรือ “เข่าโก่ง”

เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาปวดเข่าและมาพบแพทย์ บางครั้งแพทย์อาจทักว่าเข่าของผู้ป่วยมีรูปร่างผิดปกติหรือเข่าโก่งอย่างเห็นได้ชัดซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยแปลกใจเพราะอาจเพิ่งผ่านวัยเบญจเพสมาได้ไม่กี่ปีแต่ทำไมเข่าจึงโก่งได้ บางคนเข่าโก่งมากจนเด็กตัวเล็กๆสามารถเดินลอดใต้หว่างขาได้เลยครับผู้ป่วยบางรายพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองว่าเข่าโก่งมาตั้งแต่เด็กแล้วเวลาใส่กางเกงขาสั้นเล่นฟุตบอลก็มักจะถูกเพื่อนๆ ล้ออยู่เรื่อยบางคนก็โทษว่าเป็นจากกรรมพันธุ์ ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลยเข่าโก่งอย่างนี้มาตั้งนานแล้วไม่น่าจะมีผลเสียอะไรแต่ความเป็นจริงทางการแพทย์พบว่าเข่าที่โก่งมากกว่าปกติทำให้เกิดผลเสียครับ

ข้อเสียของข้อเข่าโก่ง มีดังต่อไปนี้

1. กระดูกอ่อนที่ผิวข้อด้านในจะสึกเร็วกว่าปกติ (Medial Compartment knee Joint Destruction)น้ำหนักตัวที่กดลงมาที่ข้อเข่าที่โก่งจะไม่ถูกกระจายไปที่ผิวข้ออย่างที่ควรจะเป็นแต่จะกระจุกตัวอยู่ที่ด้านในของเข่าทั้งสองข้างเมื่อมีแรงกระเทือนที่ข้อเข่าซ้ำๆกันหลายหน (คนเราเดินเฉลี่ยวันละ 5000-8000 ก้าว)บวกกับปัจจัยเสี่ยงที่เจ้าของข้อเข่ามีอายุเพิ่มขึ้นทุกปีแต่กล้ามเนื้อต้นขากลับอ่อนแอลง ทำให้กระดูกอ่อน(cartilage cell) ที่ผิวสัมผัสของข้อเข่ารับแรงกระเทือนนี้ต่อไปไม่ไหวจนกระดูกอ่อนบริเวณดังกล่าวสึกกร่อนมากขึ้นเรื่อยๆข้อเข่าก็จะเอียงแถมยังทำให้มุมเข่าโก่งเพิ่มมากขึ้นอีกแรงกดที่กระดูกอ่อนฝั่งด้านในจึงเพิ่มขึ้นทุกปีเป็นเงาตามตัวเป็นวงจรแบบนี้ไม่รู้จบจนผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวด บวมเข่าสุดท้ายจึงปรากฏอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยควร

2. การเสียเปรียบเชิงกลของกล้ามเนื้อข้อเข่าเมื่อเปรียบเทียบการเดินแต่ละก้าวของคนเราพบว่าคนที่เข่าโก่งจะต้องออกแรงที่กล้ามเนื้อต้นขา(Quadriceps muscle) มากกว่าคนที่เข่าไม่โก่งซึ่งกล้ามเนื้อต้นขามัดนี้มีความสำคัญต่อการเดินและต่อโรคข้อเข่าเสื่อมมากถ้าแนวแรงในการดึงกระดูกบริเวณข้อเข่าของกล้ามเนื้ออยู่ในแนวตรงแรงต้านก็จะน้อยไม่ต้องใช้แรงมากการยกขาก้าวเดินออกไปจึงทำได้ง่ายเหมือนไม่ได้ออกแรง แต่ถ้าเข่าโก่งเมื่อก้าวเดินแต่ละก้าว กล้ามเนื้อต้นขาจะถูกใช้งานอย่างหนักแรงเสียดสีที่เกิดจากกระดูกสะบ้ากดลงบนข้อเข่าเวลามีการเหยียดหรืองอเข่าจะมีเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนเข่าโก่งเมื่อเดินไกลๆ นานๆจะเหนื่อยเร็วกว่า และมีอาการปวดรอบๆกระดูกสะบ้าในเวลากลางคืนครับ

3. คนที่ข้อเข่าโก่งจะมีโอกาสเกิดเอ็นเข่าด้านในอักเสบและปวดเรื้อรังง่ายกว่าแรงกระเทือนจากการเดินจะถูกเคลื่อนจากกึ่งกลางข้อเข่ามากระจุกรวมตัวกันที่ด้านในทำให้แรงกระเทือนจุดนี้มีมากกว่าปกติส่งผลให้อวัยวะที่อยู่บริเวณนี้ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงนอกจากจะทำให้กระดูกอ่อนเสียหายแล้ว ยังทำให้เอ็นรอบๆเข่าอักเสบได้ง่ายแต่หายยากครับบางคนจึงต้องรับประทานยาแก้ปวดแก้อักเสบติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆซึ่งก็อาจมีผลข้างเคียงจากยา เช่น เป็นโรคกระเพาะหรือภาวะไตวาย

4. ข้อต่อส่วนอื่นจะมีรูปร่างผิดปกติตามมา (Mal-alignment of other Joints)ที่เห็นได้ชัดเวลาผู้ป่วยเข่าโก่งยืนตรงหันหน้าเข้าหากระจกจะเห็นรูปร่างของข้อเท้าที่ต้องบิดตัวกลับเพื่อรับกับข้อเข่าที่โก่งมากขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยเดินได้ถนัดครับแต่การปรับตัวของมุมข้อเท้าแบบนี้ถือว่าผิดธรรมชาติครับทำให้เวลาเดินจะเกิดแรงกระเทือนที่ข้อเท้ามากกว่าปกติและเกิดปัญหากระดูกข้อเท้าสึกและเสื่อมตามมา

รูปร่างของคนแตกต่างกันตามเชื้อชาติช่วงขาของคนเอเชียอาจจะเสียเปรียบคนยุโรป บริเวณที่โก่งกว่าและสั้นกว่าอย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่นหรือไทยหลายครั้งที่เราเห็นผู้คนมากมายที่หน้าตาและรูปร่างส่วนบนสมส่วนดีแต่เมื่อมองช่วล่างก็ต้องประหลาดใจที่เห็นรูปร่างของเข่าที่โก่งและคดอย่างชัดเจน

รูปร่างของเข่าที่โก่งแต่ไม่ปวดก็ไม่จำเป็นต้องรักษาอะไร ยกเว้นว่าเจ้าของร่างกายมีความทุกข์ใจไม่พอใจรูปร่างของเข่าที่โก่งจนไม่กล้าใส่กางเกงหรือกระโปรงขาสั้นไม่กล้าใส่กางเกงยีนส์รัดรูปถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องหาวิธีแก้ไขซึ่งทำได้ด้วยการผ่าตัด

โปรดติดตาม เมื่อไหร่ต้องผ่าตัดแก้ไข”ขาโก่ง”หรือ “เข่าโก่ง” และวิธีการผ่าตัดแก้ไข”ขาโก่ง” หรือ “เข่าโก่ง” (หรือเสื่อม) ในตอนที่ 2 และ ตอนที่ 3

นพ. สมศักดิ์ เหล่าวัฒนา
ศัลยแพทย์โรคกระดูก
ผู้ประพันธ์ นพ. สุทร บวรรัตนเวช
ศัลยแพทย์โรคกระดูก
ที่ปรึกษา

Scroll to Top