การผ่าตัดต่อมน้ำลายหน้าหู (Parotidectomy)

ต่อมน้ำลายหน้าหู เป็นต่อมน้ำลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัว ต่อมน้ำลาย จะมีเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงใบหน้า วิ่งผ่านกลางต่อม ทำให้แบ่งต่อมน้ำลายหน้าหูได้เป็น ส่วนตื้น และส่วนลึก โดยใช้เส้นประสาทนี้เป็นตัวแบ่ง

การผ่าตัดต่อมน้ำลายหน้าหู มี 2 แบบ

แบบแรก เป็นการผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายที่อยู่ในชั้นตื้นกว่า เส้นประสาทที่มาเลี้ยงใบหน้าออก (Superficial Parotidectomy) โดยทั่วไปมักทำการผ่าตัดแบบนี้

แบบที่สอง เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาต่อมน้ำลายออกทั้งหมด คือออกทั้งชั้นตื้นและชั้นลึกต่อเส้นประสาท (Total Parotidectomy) ปกติจะทำในกรณีที่เป็นเนื้องออกในชั้นลึก หรือเป็นเนื้อร้าย

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อมน้ำลายหน้าหูได้แก่

เป็นเนื้องอกของต่อมน้ำลาย ทั้งชนิดไม่ร้าย และชนิดร้ายแรง หรือเป็นมะเร็ง ทำผ่าตัดเพื่อตัดต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในต่อมน้ำลาย ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง ในกรณีที่เป็นต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง

การผ่าตัดต่อมน้ำลายหน้าหู มีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญดังนี้

1. การเกิดอันตรายกับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงใบหน้า เป็นได้ทั้งแบบชั่วคราว (มีโอกาสเกิดประมาณ 10%) และแบบถาวร(มี โอกาสเกิดประมาณ 5%) หากเป็นแบบชั่วคราว อาการจะดีขึ้นภายในระยะเวลา 2-6 เดือน โดยอาจมีอาการปิดตาไม่สนิท ปากเบี้ยวเวลายิ้ม ในระหว่างที่รอการฟื้นต้วของเส้นประสาท ควรทำกายภาพบำบัดของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อฝ่อ การเป็นแบบถาวร แพทย์อาจพิจารณาทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การผ่าตัดเพื่อดึงกล้ามเนื้อ เพื่อให้ใบหน้าไม่ผิดรูป หรือการผ่าตัดเพื่อต่อเส้นประสาท เป็นต้น

1. Description: image มีเหงื่อออกที่บริเวณแก้มข้างที่ผ่าตัด ขณะเคี้ยวอาหาร (Frey’s Syndrome) บางรายอาจเป็นแค่ชื้นๆ แต่ บางราย อาจเป็นมากถึงขนาดเหงื่อหยดเป็นเม็ดๆ ขณะที่กินอาหารได้ โดยทั่วไป การผ่าตัดต่อมน้ำลายมี จะมีโอกาสเกิดภาวะนี้ประมาณ 30-40 % มักเกิดในช่วง 1-12 เดือนหลังการผ่าตัด มีสาเหตุมาจาก เส้นประสาทที่มาเลี้ยงต่อมน้ำลาย มีการเชื่อมต่อกลับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงต่อมเหงื่อบริเวณแก้ม ทำให้ขณะกินอาหาร มีการกระตุ้นต่อมน้ำลายเพื่อสร้างและปล่อยน้ำลาย ก็จะมีการกระตุ้นต่อมเหงื่อที่แก้มร่วมไปด้วย อาจแก้ไขโดยใช้ยากำจัดกลิ่นใต้วงแขนชนิดครีม ทาบริเวณแก้ม เพื่อทำให้ต่อมเหงื่อบริเวณดังกล่าวฝ่อลง หากไม่ได้ผล อาจทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อหาเนื้อเยื่อรอบๆ มากั้นไม่ให้เส้นประสาทเหล่านี้ มีการเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยการฉีดโบท๊อกซ เพื่อให้ต่อมเหงื่อบริเวณแก้มหยุดทำงาน ได้ผลค่อนข้างดี

2. อาการชาบริเวณใบหู เกิดจากมีการตัดเส้นประสาทที่รับความรู้สึกบริเวณใบหู เนื่อง จากทางเดินของเส้นประสาทนี้ ขวางต่อมน้ำลาย แพทย์จึงจำเป็นต้องตัดออก หลังผ่าตัด ใบหูจะชาหรือไม่ค่อยรู้สึกอยู่นาน 6-12 เดือน หลังจากนั้นเส้นประสาทรอบๆ จะงอกมากทดแทน ทำให้อาการชาน้อยลง อาการชาใบหูนี้ ไม่เกี่ยวเนื่องกับการได้ยินแต่อย่างใด

3. การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด มักไม่เป็นปัญหา เนื่องจากจะมีการเตรียมให้ปราศจากเชื้อในแผลที่จะทำผ่าตัด รวมทั้งการให้ยาปฏิชีวนะทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด

4. เลือดออกใต้แผลผ่าตัด มักไม่เป็นปัญหาเนื่องจากแพทย์มักใส่ท่อระบายเลือด หลังผ่าดัด และจะนำท่อนี้ออกหลังผ่าตัด 2-3 วัน

5. น้ำลายขังใต้แผล (Seroma) เกิดจากต่อมน้ำลายชั้นลึก สร้างน้ำลายออกมาขังใต้แผล และทำให้มีน้ำลายซึมออกมาที่แผลได้ ป้องกันและรักษาได้โดยการทำแผล เจาะดูดน้ำลายออก และใช้ผ้าพันบริเวณแผลให้แน่น เพื่อไม่ให้มีน้ำลายตกค้าง

6. อาการอ้าปากได้น้อยลง ส่วนใหญ่เป็นแบบชั่วคราว เกิดมาจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวอาหาร สามารถรักษาได้โดยการบริหารอ้าปาก

7. แผลเป็นหลังการผ่าตัด โดยปกติ แผลมักเห็นชัดขึ้นภายใน 3 เดือนแรก และจะค่อยๆ จางหายไปในระยะเวลา 1 ปี

ทั้งหมดนี้ เป็น ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในการผ่าตัดต่อมน้ำลาย หากมีข้อสงสัยประการใด อย่าลืมสอบถามแพทย์ที่ให้การรักษาก่อนการผ่าตัดนะครับ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top