การป้องกันโรคบาดทะยัก

แม้โรคบาดทะยัก (tetanus) จะมีวัคซีนป้องกัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยก็ยังพบผู้ป่วยอยู่เรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะพบในผู้สูงอายุมากขึ้น ผู้ป่วยบางรายเพียงแค่โดนเข่งบาดมือ ก็เป็นโรคบาดทะยักได้ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าโดนตะปูที่เป็นสนิมตำมีความเสี่ยงจะเป็นโรคบาดทะยัก ความจริงแล้วตัวการสำคัญมิใช่สนิม เพียงแต่ว่าตะปูที่เป็นสนิมมักจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเศษดิน หรืออยู่ในคอกสัตว์ ซึ่งมีเชื้อบาดทะยักอยู่ ตะปูที่ไม่มีสนิม แต่ถ้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้น ถ้าโดนตำเข้า ก็มีโอกาสเป็นโรคบาดทะยักได้เช่นกัน

ลักษณะของโรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยักเกิดจากสารพิษของเชื้อบาดทะยักที่มีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อ และเส้นประสาทผู้ป่วยจะเริ่มเกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบแผล หลังจากนั้น 1-7 วัน การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อจะกระจายทั่วร่างกาย ทําให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อกราม ผู้ป่วยอ้าปากไม่ได้ กลืนน้ำลายลําบาก คอ หลังเกร็ง และปวด หลังจากนั้นกล้ามเนื้อทั่วร่างกายก็จะเกร็งทั้งหมดโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ช่วยหายใจ ทําให้หายใจลําบาก และอาจเสียชีวิตได้จากภาวะหายใจวายบาดแผลที่เสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยัก ได้แก่ บาดแผลที่มีเนื้อตายจํานวนมาก มีการติดเชื้อเป็นหนอง มีสิ่งแปลกปลอมตกค้าง แผลไฟไหม้ การติดเชื้อของสายสะดือ กระดูกหักชนิดแทงทะลุผิวหนัง การติดเชื้อจากทําแท้ง โรคบาดทะยักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดิน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Clostridium tetani เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสร้างสารพิษ ซึ่งสารพิษดังกล่าวจะจับกับเส้นประสาท ส่งผลให้การทํางานของกล้ามเนื้อผิดปกติ เชื้อบาดทะยักมักจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล บางครั้งแผลอาจจะเล็กมากจนไม่เป็นที่สังเกต แผลที่ลึก หรือแผลที่มีเนื้อตายมากจะเกิดติดเชื้อได้ง่าย

การป้องกัน

โดยทั่วไป วัคซีนโรคบาดทะยัก มักจะได้รับกันตั้งแต่เป็นเด็กกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่นั้น วัคซีนบาดทะยักเป็นวัคซีนจำเป็นที่เด็กทุกคนต้องได้รับเลยก็ว่าได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า วัคซีนบาดทะยักจะป้องกันได้เพียงแค่ 10 ปีสำหรับแผลสะอาด และ 5 ปี สำหรับแผลสกปรก ไม่ได้ป้องกันตลอดชีวิต หลังจากช่วงระยะเวลาป้องกันดังกล่าวนั้น ถ้าหากมีแผลเปิดขึ้นมา จะต้องไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิ 1 เข็ม

เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นแล้ว ต้องทำความสะอาดแผล และให้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม เมื่อมีบาดแผลต้องทำแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกด้วยสบู่ล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด พร้อมทั้งให้ยารักษาการติดเชื้อ ถ้าแผลลึกต้องใส่ ท่อระบายด้วย ถ้าเข้าไปในสิ่งแวดล้อมที่สกปรก ควรระมัดระวังไม่ให้มีบาดแผล หรือไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในแผล หรือในกรณีที่เป็นแผลขึ้นมาก็ควรล้างแผลให้สะอาด พบแพทย์เพื่อรับการดูแลบาดแผล รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม และถ้าแพทย์ดูแผลแล้ว เห็นว่ามีโอกาสที่จะเกิดโรคบาดทะยัก ก็จะให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน หรือถ้าดูแล้วแผลน่ากลัวอาจจะเป็นโรคบาดทะยักอาจให้ทั้งวัคซีนและภูมิคุ้มกันทั้งสองอย่างในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน เมื่อมีแผลต้องรีบปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อพิจารณาให้วัคซีนบาดทะยัก tetanus toxoid (T) ป้องกันโรคบาดทะยักให้ครบ และพิจารณาให้ภูมิคุ้มกันชนิด TAT หรือ TIG ในรายที่แผลใหญ่สกปรกมาก ในรายที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วครบ 4-5 ครั้ง ในระยะ 5-10 ปี ให้วัคซีน T 0.5 มล. เข้ากล้ามครั้งเดียว ในรายที่ได้วัคซีนนานเกิน 10 ปี และมีบาดแผลมานานเกิน 24 ชั่วโมง พิจารณาให้ T 0.5 มล. เข้ากล้ามครั้งเดียวพร้อมกับให้ TAT ด้วย ในผู้ป่วยที่หายจากโรคบาดทะยัก ต้องให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบชุด เพราะจะไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเพียงพอ

การปฏิบัติก่อนที่จะไปพบแพทย์

ถ้าสังเกตว่าเด็กไม่ดูดนม และไม่อ้าปาก แสดงว่ามีขากรรไกรแข็ง อย่าพยายามฝืน หรือกรอกนม เพราะอาจจะทำให้สำลักนมเข้าทางเดินหายใจ ทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจอาจถึงตายได้ทันที หรืออาจทำให้เกิดปอดอักเสบได้ ควรหลีกเลี่ยงการจับต้องตัวโดยไม่จำเป็น และอย่าให้มีเสียงดังรบกวนเพราะจะทำให้ชักเกร็งมากขึ้นได้

วัคซีน

การฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิด alum-adsorbed tetanus toxoid เดือนละเข็ม ติดต่อกัน 3 เดือน ทำให้เกิดภูมิต้านทานเกือบเต็มที่ได้นานเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีผู้ป่วยที่มีอายุน้อยละ 7 ปี ควรได้รับวัคซีนรวม บาดทะยัก-คอตับ-ไอกรน และควรฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สูญเสียภูมิต้านทานต่อบาดทะยักหลังจากได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอายุน้อยยังคงมีภูมิต้านทานต่อบาดทะยักอยู่ ถ้าได้รับวัคซีนก่อนการติดเชื้อปฏิกิริยาที่เกิดจากการฉีดวัคซีนบาดทะยักพบได้บ่อย เป็นชนิดไม่รุนแรง เช่น มีไข้ต่ำๆ ปอดบวมเฉพาะที่

การป้องกันบาดทะยักในทารกแรกเกิด

ทำคลอด และตัดสายสะดือให้ถูกต้อง และสะอาด ใช้เครื่องมือที่สะอาดในการทำคลอด เครื่องมือทุกชิ้นจะต้องต้มในน้ำเดือดนาน 1/2 -1 ชั่วโมง รักษาความสะอาดของสะดือโดยการเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% เช็ดวันละ 1-2 ครั้ง ห้ามใช้แป้งหรือผงยาต่างๆ โรยสะดือ ไม่ควรห่อหุ้มพันท้อง หรือปิดสะดือการให้วัคซีนบาดทะยักแก่หญิงมีครรภ์ โดยให้ 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน ครั้งสุดท้ายก่อนคลอดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือนหญิงมีครรภ์ที่ได้รับวัคซีนบาดทะยัก 2 ครั้งตามกำหนด จะสร้างภูมิต้านทานซึ่งจะผ่านไปยังทารกแรกเกิดในระดับที่สูงพอที่จะป้องกันโรคบาดทะยักได้ และภูมิต้านทานจะยังคงอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันได้นานถึง 3 ปีเพื่อให้แน่ใจว่าระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงและอยู่นาน ในปัจจุบันจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนบาดทะยักเข็มที่ 3 ในระยะ 6-12 เดือนหลังเข็มที่ 2 ซึ่งอาจจะให้ในระยะหลังคลอด การได้รับวัคซีนบาดทะยัก 3 ครั้ง จะทำให้ระยะภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน 10 ปีในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดสูง แนะนำให้วัคซีนบาดทะยักแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ 3 ครั้ง โดยสองครั้งแรกห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเดือน ครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top