ไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจ

ไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจไวรัสเป็นจุลชีพชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถผ่านแผ่นกรองได้ง่ายดายกว่าแบคทีเรียซึ่งไม่สามารถผ่านได้ ปัจจุบันพบว่าไวรัสมีมากมายหลายร้อยชนิด ไวรัสที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในคน ไวรัสของสัตว์ ไวรัสของพืช ไวรัสของแบคทีเรีย และไวรัสของเชื้อรา ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในคนนั้นมีหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งสามารถแบ่งชนิดของไวรัสตามหลักวิทยาศาสตร์ได้หลายวิธี อาทิเช่น แบ่งตามชนิดของสารพันธุกรรม ได้แก่ ไวรัสชนิดดีเอ็นเอ (DNA-virus) หรือไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA-virus) แบ่งตามขนาดหรือแบ่งตามชนิดที่มีเปลือกหุ้มหรือไม่มีเปลือกหุ้ม แบ่งเป็นกลุ่มตามระบบหรืออวัยวะที่ก่อให้เกิดโรค ได้แก่ ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วง ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบ ไวรัสที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดไข้ และผื่นไวรัสที่ต้องอาศัยยุงในการนำให้เกิดโรค เช่น ไวรัสเดงกี่ที่เป็นสาเหตุของไข้เลือดออก และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี เป็นต้น

          โรคติดเชื้อไวรัสเป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในเด็กวัยแรกเกิดจนถึง 6 ปี และส่วนใหญ่มักพบในเด็กก่อนวัยเรียน บางครั้งเป็นถึงปีละหลายครั้ง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาจมีความรุนแรงแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของไวรัส และภูมิต้านทานของเด็กด้วย ไวรัสบางชนิดอาจทำให้เกิดไข้ต่ำๆ ไอ มีน้ำมูกใสๆ และจะหายไปเองภายใน 2-3 วัน แต่ไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสอินฟลูเอ็นซ่าที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้เกิดอาการรุนแรง ไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ และเด็กบางคนอาจถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อไปได้หลายวัน ภูมิต้านทานของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเด็กมีร่างกายแข็งแรง เขาจะสร้างภูมิต้านทานได้ดี และจะฟื้นไข้ได้เร็วกว่าเด็กที่มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวอยู่เดิม หากเด็กที่มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวอยู่เกิดเจ็บป่วยเป็นหวัดขึ้นมา จะฟื้นไข้ช้า และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น เกิดภาวะหลอดลมอักเสบ หรือปอดบวมได้

Influenza viruses

          1.ไวรัสไข้หวัดใหญ่มี 3 ชนิด A, B และ C ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A ก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ และสัตว์หลายชนิด เช่น ม้า สุกร นก ไก่ เป็นต้น โรคไข้หวัดใหญ่ที่พบในมนุษย์มีสาเหตุเกิดจาก type A ประมาณร้อยละ 80 นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่ทั่วโลกด้วย ที่สำคัญไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A มีการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของฮีแมกกลูตินิน และนิวรามินิเดสไปจากเดิมมากจนกระทั่งเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ขึ้นอยู่เรื่อยๆ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบรองลงมาจาก type A ก่อการติดเชื้อเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น มักพบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B มีการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของฮีแมกกลูตินินเช่นกัน แต่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากพอที่จะจัดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด C พบว่ามีรายงานการติดเชื้อในมนุษย์ และสุกร แต่ไม่ค่อยมีความสำคัญ มนุษย์ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการอย่างอ่อน

          2. คุณสมบัติของไวรัสชนิดนี้ค่อนข้างแตกต่างไปจาก type A และ B แอนติเจนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ H และ N โดยแอนติเจนฮีแมกกลูตินิน (hemagglutinin, H) ทำหน้าที่ในการจับกับโปรตีนตัวรับบนผิวเซลล์ ทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์ได้ โปรตีนตัวรับพบได้ในเมือกที่ปกคลุมทางเดินหายใจ และพบบนผิวเม็ดเลือดแดงด้วย

          3. ฮีแมกกลูตินินมีคุณสมบัติในการทำให้เม็ดเลือดแดงของมนุษย์หมู่เลือดโอ และสัตว์บางชนิด เช่น ไก่ และหนูตะเภา เกิดปฏิกิริยาเกาะกลุ่ม ซึ่งคุณสมบัตินี้นำมาใช้ตรวจหาไวรัสได้ ฮีแมกกลูตินินของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ พบได้ในนก แต่เชื้อที่พบในมนุษย์ในปัจจุบันมีอยู่ 3 subtypes คือ H1, H2, และ H3 ส่วน subtypes อื่นๆ มีการติดเชื้อในสัตว์ต่างๆ กัน เช่น สุกร ม้า แมวน้ำ และปลาวาฬ ส่วนเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B และ C ยังไม่มีการแบ่งฮีแมกกลูตินินออกเป็น subtype ส่วนแอนติเจนนิวรามินิเดส (neuraminidase, N) เป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยไกลโคโปรตีนซึ่งเป็นตัวรับบนผิวเซลล์ ทำให้ไวรัสหลุดเป็นอิสระจากเซลล์ เนื่องจากโมเลกุลของไกลโคโปรตีนนี้พบได้ในเมือกที่ปกคลุมทางเดินหายใจด้วย ทำให้ไวรัสถูกดักจับติดกับเมือกได้เมื่อเมือกจับไวรัสไว้ ไวรัสจะใช้เอนไซม์นี้ย่อยทำให้เมือกใสขึ้น ไวรัสจึงหลุดออกไปบุกรุกเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจที่อยู่ลึกลงไป ในปัจจุบันนี้นิวรามินิเดสของเชื้อไข้หวัดใหญ่ type A แบ่งออกเป็น 9 subtypes ด้วยกัน คือจาก N1, N2, N3… N9 โดยเชื้อที่พบในมนุษย์เป็น N1 และ N2 ส่วนเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B และ C ยังไม่มีการแบ่งนิวรามินิเดสออกเป็น subtype

          4. ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีรูปร่างหลายแบบ เช่น กลม หรือเป็นสายยาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 นาโนเมตร แต่พวกที่เป็นสายยาวอาจมีความยาวหลายไมโครเมตร สายพันธุกรรมเป็น RNA สายเดี่ยวมี polarity เป็นลบ และแยกเป็นชิ้น โดย types A และ B มี 8 ชิ้น ส่วน type C มี 7 ชิ้น ชั้นนอกของไวรัสเป็นเปลือกหุ้ม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของไขมัน และไกลโคโปรตีน บนเปลือกหุ้ม มี spikes สองชนิดคือฮีแมกกลูตินิน ซึ่งมีรูปร่างเป็นแท่ง และนิวรามินิเดส ซึ่งมีรูปร่างเหมือนดอกเห็ด spikes 2 ชนิด รวมกันมีจำนวนประมาณ 500 ก้าน จำนวนของ H : N มีอัตราส่วนประมาณ 4-5: 1

          5. ไวรัสไข้หวัดใหญ่ถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน ไม่ทนต่อความแห้ง ถูกทำลายได้ง่ายโดยน้ำยาฆ่าเชื้อซึ่งเป็นสารเคมีชนิดต่างๆ ที่ใช้กันแอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เชื้อไวรัสสามารถคงอยู่ได้นานในสิ่งขับถ่ายและสิ่งคัดหลั่ง เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย และเสมหะ สามารถเปลี่ยนแปลงแอนติเจนได้ง่าย โดยการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนเพียงเล็กน้อย หรือมีการเปลี่ยนยีนในกรณีที่เซลล์มีการติดเชื้อ 2 subtypes ที่แตกต่างกัน กลายเป็น subtype ใหม่ ซึ่งทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ และเป็นสาเหตุที่ก่อระบาดวิทยาใหญ่ทั่วโลกบ่อยกว่าไวรัสชนิดอื่น

ไวรัสหัดเยอรมัน

          1. เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เหือด” ก่อให้เกิดโรคที่มีลักษณะอาการที่สำคัญคือ ไข้ ผื่นที่ผิวหนัง และต่อมน้ำเหลืองแถวคอโต ถ้าเป็นในเด็กอาการจะไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก อาจจะทำให้เด็กที่เกิดมาพิการผิดปกติได้ โรคนี้มักพบระบาดในโรงเรียน โรงงาน ที่ทำงาน สถานที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ และมักเกิดการระบาดในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน

          2. สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Rubella virus ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือ หายใจรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัด หรือหัด ระยะฟักตัว 14-21 วัน เชื้อไวรัสรูเบลลาจัดอยู่ใน Rubrivirus genus และ Togavirus family เป็นไวรัสชนิด RNA ระยะติดต่อหนึ่งอาทิตย์ก่อนและหลังออกผื่น

          3. ไวรัสหัดเยอรมันก่อโรคในมนุษย์เท่านั้น โดยระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะสร้างแอนติบอดี้ชนิด IgM อยู่ได้นานประมาณหนึ่งปี นอกนั้นเป็นแอนติบอดี้ชนิด IgG และ IgA ส่วนที่เป็นอาร์เอ็นเอของไวรัสสามารถติดต่อกันได้ โดยระหว่างที่ไวรัสแบ่งตัวจะสร้าง RNAs สองชนิด ทั้งชนิดเต็มความยาว และชนิดย่อส่วน ปัจจุบันตรวจพบว่าไวรัสหัดเยอรมันมีเพียง serotype เดียวเท่านั้น ลำดับเบสของไวรัสจีโนม พบว่ามีโครงสร้างกรดอะมิโนเป็นแบบ high conservation ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ยาก

Coronaviruses

          1. โคโรนาไวรัสเป็นไวรัสที่อยู่ใน family Coronaviridae คำว่า“corona” แปลว่า มงกุฎ หรือดวงอาทิตย์ทรงกลด มีที่มาจากลักษณะของอนุภาคที่มี spike เป็นก้านยื่นออกไปโดยรอบมองคล้ายกับมงกุฎ พบว่ามีการติดเชื้อในคนและสัตว์หลายชนิด เช่น สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

          2. การติดเชื้อมีความจำเพาะต่อโฮสต์ เชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคในมนุษย์ เป็นสาเหตุของโรคหวัดที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ และอาจตรวจพบไวรัสได้ในอุจจาระ โคโรนาไวรัสเป็นไวรัสที่เพาะเลี้ยงได้ยาก แบ่งตามลักษณะแอนติเจนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ group 1 และ group 2

          3. โคโรนาไวรัสเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหวัดในผู้ใหญ่โดยพบได้ร้อยละ 15-30 เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ มีระยะฟักตัว 2-4 วัน อาการที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายกับที่พบในการติดเชื้อไรโนไวรัส อาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่มักไม่มีไข้

          4. โดยทั่วไปแล้วการติดเชื้อจะจำกัดอยู่ภายในทางเดินหายใจส่วนบนโดยไม่ลุกลามไปส่วนล่างยกเว้นนานๆ ครั้ง มีรายงานพบโรคปอดบวมเรื้อรังในผู้ใหญ่ และหอบรุนแรงในเด็กที่เป็นโรคหืดอยู่ก่อนแล้ว

Parainfluenza viruses

          1. พาราอินฟลูเอนซาไวรัสแบ่งออกเป็น 4 ซีโรทัยป์ คือ type 1, 2, 3 และ 4 แต่ละชนิดทำให้เกิดอาการรุนแรงมากน้อยต่างกัน โดยพบว่า type 3 มีความรุนแรงมากที่สุด รองลงมาคือ type 1,2 และ 4 สำหรับ type 4 ก่อการติดเชื้อของระบบหายใจส่วนบนเท่านั้น และมีอาการเพียงเล็กน้อย เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-6 วัน การติดเชื้อเกิดที่เซลล์เยื่อบุของระบบทางเดินหายใจเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานแสดงถึงภาวะที่มีไวรัสในเลือด แต่ยังไม่มีรายงานอาการ หรือโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะอื่นๆ

          2. ลักษณะอาการที่พบได้เป็นการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ อาการไข้หวัด ไข้ ปวดเมื่อยตัว ไอ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และคออักเสบ พบได้ในคนทุกวัย บางรายพบการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ อาการกล่องเสียง หลอดลมคอ และหลอดลมอักเสบ เป็นอาการที่พบบ่อยในเด็กเล็กอายุ 1-4 ปี แอนติบอดีมีความสำคัญในการป้องกันโรคมากกว่าภูมิต้านทานชนิดเซลล์และอินเตอร์เฟอรอน neutralizing antibody ในซีรั่มให้ผลคุ้มกันเพียงบางส่วนเท่านั้น

          3. แอนติบอดีที่ช่วยคุ้มโรคได้ดีที่สุดคือ secretory lgA ในระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อซ้ำมักเกิดขึ้นได้เสมอ แม้แต่จากไวรัสชนิดเดิม สำหรับแอนติบอดีจากมารดาอาจไม่ป้องกันการติดเชื้อซ้ำในทารก แต่ช่วยทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง

          4. ในปัจจุบันยังไม่มียารักษา และป้องกันจำเพาะ มีการใช้ ribavirin ในการรักษาโรคติดเชื้อพาราอินฟลูเอนซาไวรัสในเด็กที่มีระบบอิมมูนบกพร่อง แต่ยังไม่สามารถวัดประสิทธิผลของยาอย่างแน่ชัด สำหรับวัคซีนต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา

ไวรัสคางทูม

          1. เป็นการติดเชื้อและมีการอักเสบของต่อมน้ำลายที่อยู่บริเวณกกหูทำให้ที่บริเวณคางบวม จึงได้ชื่อว่าคางทูม พบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ โรคคางทูมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง พบได้ในเด็กตั้งแต่วัยเรียนขึ้นไป ติดต่อกันโดยทางเดินหายใจ โรคคางทูมเกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลาย เนื่องจากเป็นโรคติดต่อจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า epidemic parotitis ต่อมน้ำลายในร่างกายมีหลายต่อม ต่อมที่ถูกเชื้อไวรัสเล่นงานมาที่สุดคือ ต่อมพาโรติด (parotid) ซึ่งอยู่ตรงหน้าหูหรือแก้มส่วนบน ทำให้แก้มโย้ลงมาที่คาง อันเป็นที่มาของชื่อคางทูม อาจเป็นที่ต่อมน้ำลายข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง หรืออาจเป็นที่ต่อมน้ำลายที่ใต้ลิ้น หรือที่ใต้ขากรรไกรก็ได้ ถ้ายิ่งเป็นมากต่อม อาการก็ยิ่งมาก พบมากในเด็กอายุ 6-10 ปี มักไม่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี อาจพบระบาดได้เป็นครั้งคราว

          2. เชื้อไวรัสคางทูม ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Paramyxovirus ติดต่อกันได้โดยตรงทางการหายใจ และสัมผัสกับน้ำลายของผู้ป่วย เช่น การกินน้ำ และอาหารโดยใช้ภาชนะร่วมกัน เป็นกับเด็กได้ทุกอายุ ถ้าเป็นในผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรง และมีโรคแทรกซ้อนได้บ่อยกว่าในเด็ก หลังจากมีวัคซีนป้องกันในประเทศที่พัฒนาแล้วอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้ลดลงมาก

          3. ระยะที่ติดต่อกันได้ง่าย คือจาก 1-2 วัน (หรือถึง 7 วัน) ก่อนมีอาการบวมของต่อมน้ำลาย ไปจนถึง 5-9 วันหลังจากมีอาการบวมของต่อมน้ำลาย ระยะฟักตัวของโรคคือ 16-18 วัน แต่อาจสั้นเพียง 12 วัน และนานถึง 25 วันหลังสัมผัสโรค

Respiratory syncytial virus (RSV)

          1. เชื้อ RSV มีบทบาทสำคัญในการก่อโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เชื้อนี้แยกได้เป็นครั้งแรกจากทางเดินหายใจลิงชิมแปนซีซึ่งป่วยมีอาการเป็นหวัดกันทั้งฝูง ให้ชื่อว่า chimpanzee coryza agent (CCA) ต่อมาแยกเชื้อได้จากเด็กที่เป็นปอดบวม และจากเด็กที่มีอาการ croup เชื้อ RSV มีลักษณะพิเศษคือเมื่อเลี้ยงในเซลล์เพาะเลี้ยงจะให้ CPE เป็น syncytial cell ขนาดใหญ่ จึงได้ชื่อว่า respiratory syncytial viruses หมายถึงว่าเป็นไวรัสที่แยกได้จากทางเดินหายใจ และทำให้เกิด CPE แบบเซลล์หลายเซลล์มาเชื่อมกัน

          2. คุณสมบัติโดยทั่วไปเหมือนกัน paramyxoviruses คุณสมบัติสำคัญที่ต่างไปคือที่เปลือกของไวรัสมีปุ่มขนาดใหญ่ยื่นออกไป แต่ไม่มีคุณสมบัติของทั้งฮีแมกกลูตินินและนิวรามินิเดส ส่วนปุ่มขนาดเล็กมี fusion (F) protein ซึ่งทำให้เซลล์ติดเชื้อมีการเชื่อมรวมตัวกันเป็น syncytial cell

          3. เชื้อ RSV มีปุ่มอีกแบบหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กกว่า F protein คือ G protein วึ่งทำหน้าที่เกาะติดกับเซลล์ของโฮสต์ ทำให้เกิดโรคต่อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ในทารกและเด็กเล็กจะติดเชื้อได้ง่าย และมีอาการรุนแรง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ และมีไข้ แสดงอาการ ไข้ น้ำมูกไหล คออักเสบ พบอาการโรคได้ในทุกวัย แต่ในผู้ใหญ่มักทำให้เกิดเพียงอาการหวัดโดยไม่มีไข้ บางรายพบทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ ได้แก่ กลุ่มอาการ croup บางรายเกิดภาวะหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจมีอาการทั้งทางเดินหายใจ และหูชั้นกลางอักเสบร่วมกัน เนื่องจากเชื้อจากลำคอเข้าช่องหูชั้นกลางได้ทางท่อยูสเทเชียน จากการศึกษาพบว่าเชื้อต้นเหตุของหูชั้นกลางอักเสบเป็น RSV ประมาณร้อยละ 4 แต่ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียอย่างไรก็ตามการติดเชื้อไวรัสอาจช่วยส่งเสริมให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ

          4. ในช่วงมีการระบาดของเชื้อ RSV พบว่าเชื้อ RSV เป็นเชื้อสาเหตุที่พบบ่อยของหูชั้นกลางอักเสบ ในรายที่เกิดภาวะหลอดลมฝอยอักเสบ มักเป็นในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี มีอาการรุนแรง ไข้สูง หายใจหอบ และเหนื่อย ในผู้ป่วยหลอดลมฝอยอักเสบพบว่าเชื้อ RSV เป็นสาเหตุร้อยละ 40 ส่วนในรายที่เกิดภาวะปอดบวม หรือปอดบวมร่วมกับหลอดลมอักเสบ จัดว่าเป็นอาการที่มีความรุนแรงมาก มักเป็นในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี

          5. เชื้อ RSV พบได้ในทุกภูมิภาค เป็นเชื้อสาเหตุที่สำคัญที่สุดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็กเล็กทั่วไป มีการระบาดเป็นฤดูกาล ในแถบประเทศทางตะวันตกพบอุบัติการณ์ของโรคสูงในฤดูหนาว ในประเทศไทยพบเชื้อนี้ได้มากในปลายฤดูฝน โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม การติดเชื้อ RSV เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ป่วยด้วยโรคของระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบน และส่วนล่าง

Adenoviruses

          1. จีโนมของอะดีโนไวรัสเป็น DNA สายคุ่ และเป็นไวรัสที่ไม่มีเปลือกหุ้ม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70-90 นาโนเมตร แคปซิดประกอบขึ้นด้วยแคปโซเมอร์จำนวน 252 หน่วย เรียงตัวกันแบบ icosahedrai symmetry

          2. การติดเชื้อมีความจำเพาะต่อโฮสต์ เชื้อที่ทำให้เกิดโรคในคนจะไม่ติดเชื้อในสัตว์อื่น อะดีโนไวรัสติดเชื้อในอวัยวะหลายระบบ ได้แก่ ตา ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และทางเดินปัสสาวะ เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัส หายใจ และการกิน อาจติดเชื้อได้จากสระน้ำเชื้อค่อนข้างทนทาน การติดเชื้อเกิดในเซลล์เยื่อบุของเยื่อเมือก แล้วแพร่ไปสู่ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง

          3. ระยะฟักตัวของโรคนานประมาณ 5-8 วัน บางชนิดทำให้เกิดการติดเชื้อแอบแฝงในเนื้อเยื่อน้ำเหลืองของลำไส้ การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจร้อยละ 50 เป็นการติดเชื้อแบบไม่ปรากฏอาการ หลังการติดเชื้อครั้งแรกพบไวรัสอยู่นานเป็นปีในต่อมทอนซิล และเนื้อเยื่ออะดีนอยด์ การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากอะดีโนไวรัส พบได้ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีที่เป็นโรคระบาดทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่างมีสาเหตุเกิดจากอะดีโนไวรัสบ่อยเป็นอันดับที่ 3 หรือ 4 การติดเชื้อในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ตลอดปีโดยไม่มีฤดูกาล

          4. วัคซีนในปัจจุบันเป็นวัคซีนเชื้อมีชีวิต ประกอบด้วยเชื้อ AD4 และ 7 เตรียมเป็นแคปซูลให้โดยการกิน การให้โดยวิธีนี้ทำให้ไวรัสผ่านทางเดินหายใจลงไปโดยไม่ก่อโรค วัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ทั้งในทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ

ไวรัสหัด

          1. มีชื่อว่า rubeola virus เป็นไวรัสที่ติดต่อทางลมหายใจ สามารถติดต่อได้ง่ายโดยการไอ จาม หายใจรดกัน อาจกล่าวได้ว่าโรคหัดติดต่อกันทางระบบหายใจเช่นเดียวกับไข้หวัดทั่วไปไวรัสหัดมีขนาด 100–200 นาโนเมตร มีเปลือกหุ้ม แกนกลางเป็น RNA ชนิดสายเดียว จัดอยู่ในพวก paramyxovirus และอยู่ใน genus Morbillivirus

          2. ไวรัสติดต่อได้โดยการสัมผัสกับน้ำมูก สัมผัสถูกมือผู้ป่วย หรือนิ้วมือไปสัมผัสกับสิ่งที่ปนเปื้อน เช่น ลูกบิดประตู รีโมต โทรศัพท์ แก้วน้ำ แล้วใช้นิ้วมือที่สัมผัสถูกเชื้อนั้น แคะจมูก หรือขยี้ตา เชื้อก็จะผ่านเยื่อเมือกเข้าไปในทางเดินหายใจ

          3. ระยะฟักตัวของโรค 9-12 วัน บางรายอาจนานถึง 21 วัน ระยะติดต่อของโรค โรคหัดสามารถติดต่อได้ ตั้งแต่ระยะก่อนผื่นขึ้น 4 วัน จนถึงระยะหลังผื่นขึ้น 4 วัน

Rhinoviruses

          1. ไรโนไวรัสอยู่ในแฟมิลี่ Picornaviridae เช่นเดียวกับ enteroviruses และ hepatitis A virus แตกต่างจากเอนเทอโรไวรัส โดยที่ไรโนไวรัสไม่ทนกรดและจะถูกทำลายที่ pH<6 และที่ pH3 ไวรัสจะถูกทำลายจนหมด นอกจากนี้ไรโนไวรัสค่อนข้างทนต่ออุณหภูมิสิ่งแวดล้อมมากกว่าเอนเทอโรไวรัส และเพิ่มจำนวนได้ดีที่ 33 องศาเซลเซียส ก่อให้เกิดการติดเชื้อในโฮสต์หลายชนิด ได้แก่ ม้า วัว ควาย และมนุษย์ ในปัจจุบันไรโนไวรัสที่ก่อโรคในมนุษย์ มีอยู่อย่างน้อย 100 ชนิด การแบ่งชนิดกระทำโดยวิธี neutralization กับแอนติบอดีที่จำเพาะ

          2. ไรโนไวรัสติดต่อได้ทางการหายใจ หรือทางการสัมผัสโดยตรงกับเยื่อเมือกบุทางเดินหายใจ ไวรัสเพิ่มจำนวนในเซลล์เยื่อบุจมูก อาจตรวจพบไวรัสในสารคัดหลั่งของช่องปาก ลำคอ แต่จะพบในปริมาณน้อยกว่าไวรัสที่อยู่ในน้ำมูก ระยะฟักตัว 1-4 วัน

          3. อาการที่พบบ่อยที่สุดคือโรคหวัด ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม เจ็บคอ ปวดศีรษะ และไอ โดยมักไม่มีไข้ โรคเป็นอยู่นานราว 1 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม อาจเกิดอาการไซนัสอักเสบหรือหูชั้นกลางอักเสบ ในเด็กเล็กบางรายเชื้ออาจลุกลามก่อโรคกับทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

          การติดเชื้อจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันซึ่งมีความจำเพาะต่อไวรัสชนิดที่เป็นต้นเหตุ ความต้านทานนี้ไม่ขึ้นกับแอนติบอดีในเลือด แต่สัมพันธ์กับปริมาณของ secretory IgA ในสารคัดหลั่ง

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์
คำสงวนสิทธิ์

Scroll to Top