โลหิตจาง (anemia)

เป็นเครื่องบอกเหตุว่ามีโรคหรือสาเหตุซ่อนอยู่ ซึ่งต้องค้นหาดูว่าเป็นอะไร แล้วจึงจะทำการรักษาที่ถูกต้อง โรคที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางพบบ่อยในบ้านเรา แต่หากไม่ได้ใส่ใจ และปล่อยทิ้งไว้จนเป็นมากอาจจะก่อให้เกิดผลเสียได้ ในภาวะโลหิตจางหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ซีด” นั้น ร่างกายจะมีจำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง แต่ละเพศและวัยมีค่านี้แตกต่างกัน เมื่อไรพบว่าค่าต่ำกว่าพิกัดต่ำสุดของประชากรเพศและวัยนั้นก็ถือว่าโลหิตจาง

สาเหตุ

          1.เกิดจากการเสียเลือด เช่น เสียเลือดจากระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากเป็นแผลในกระเพาะอาหาร สังเกตได้จากอุจจาระที่เป็นสีดำ และเหนียวคล้ายยางมะตอย ผู้ที่มีพยาธิปากขออยู่ในลำไส้ หรือสตรีที่เสียเลือดมากผิดปกติจากการมีประจำเดือน
          2.โลหิตจางจากโรคทางพันธุกรรมในบ้านเรามีหลายชนิด แต่ที่พบบ่อย คือ โรคธาลัสซีเมียเกิดจากเม็ดเลือดแดงแตกง่ายผิดปกติ ซึ่งโรคนี้สามารถติดต่อได้ทางพันธุกรรม
          3.โลหิตจางจากภาวะการขาดอาหาร ส่วนมากจะพบในคนไข้ที่รับประทานอาหารไม่ได้ หรือรับประทานได้ แต่ไม่ครบทุกประเภท มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ หรือผู้ที่รับประทานอาหารไม่ครบหมู่
          4.โลหิตจางจากการที่ร่างกายสร้างสารมาทำลายเม็ดเลือดของตัวเอง อาทิ โรคเอสแอลอี โลหิตจางจากปัญหาของมะเร็งเม็ดเลือด
          5.โลหิตจางที่เป็นผลจากโรคอื่น เช่น โรคตับ โรคไต

ภาวะโลหิตจางเกิดได้จากหลายสาเหตุ 

         บางอย่างสามารถรักษาให้หายขาดได้ บางอย่างทำได้แค่ประคับประคองให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติให้มากที่สุด สิ่งที่สำคัญ คือ อย่าละเลยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเนิ่นๆ จะทำให้การรักษาโรคได้ผลดี และมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการรักษาโรคในระยะที่เป็นมาเนิ่นนานแล้ว

อาการ

          ผู้ที่โลหิตจางไม่มากหรือไม่มีโรคหลอดเลือดร่วมด้วยอาจไม่มีอาการก็ได้ อาการจะมีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโลหิตจางและความเฉียบพลันของการเกิดโรค ซึ่งสามารถมีอาการแสดงได้ดังต่อไปนี้

          1.อาการเหนื่อยง่าย เหนื่อย ง่ายหมายถึงรู้สึกเหนื่อยผิดปกติเวลาที่ต้องออกแรง เช่น เคยเดินบันไดได้โดยไม่เหนื่อยแต่กลับเหนื่อย ถ้ามีโลหิตจางรุนแรง แค่เดินในบ้านก็อาจเหนื่อยแล้ว เวลาเหนื่อยอาจมีอาการใจสั่นร่วมด้วย ที่รุนแรงอาการมีอาการของโรคหัวใจวาย คือ เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ เป็นต้น
          2.อาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ
          3.อาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียน
          4.อาการทางสมอง เช่น รู้สึกสมองล้า หลงลืมง่าย ขาดสมาธิในการทำงาน เรียนหนังสือไม่ดีเท่าที่ควร นอนไม่หลับ
          5.อาการหัวใจขาดเลือด มักพบในคนที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โลหิตจาง ทำให้อาการของหัวใจรุนแรงขึ้น เจ็บหน้าอกง่ายขึ้น
          6.อาการขาขาดเลือด พบในคนที่มีโรคหลอดเลือดของขาทำให้ปวดขา เวลาเดินได้ไม่ไกล ต้องหยุดพักบ่อยๆ เวลาเดิน
          7.อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร ท้องอืด

การวินิจฉัย

          โรคนี้สามารถให้การวินิจฉัยได้จาก ลักษณะประวัติอาการ การตรวจร่างกายโดยละเอียด การตรวจลักษณะของเม็ดเลือด รวมทั้งการตรวจพิเศษบางอย่างเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของภาวะโลหิตจาง

การรักษา

          หลักการสำคัญในการรักษาโลหิตจาง คือ รักษาที่สาเหตุของโลหิตจาง แนวทางการรักษาประกอบด้วยการรักษาทั่วไป เป็นการบำบัดอาการของโลหิตจาง ระหว่างที่ทำการรักษาโรคสาเหตุของโลหิตจาง เช่น รักษาภาวะหัวใจวาย ลดการออกแรง ให้ออกซิเจน ให้เลือดทดแทน มักให้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาหลอดเลือด ผู้ป่วยอายุมากหรือเสียเลือดมากเฉียบพลันผู้ป่วยเลือดจางเรื้อรังมักไม่จำ เป็นต้องให้เลือด แม้ว่าความเข้มข้นของเลือดจะต่ำมากๆ ก็ตาม

          ส่วนการรักษาจำเพาะเป็นการรักษาไปที่สาเหตุ กำจัดสาเหตุและให้การรักษาโรคสาเหตุนั้นๆเช่น ถ้าพบว่าเลือดจางเพราะพยาธิปากขอ ก็ให้ยากำจัดพยาธิและให้ยาที่มีธาตุเหล็กควบคู่กันไปเมื่อระดับความเข้มข้นของเลือดกลับสู่ระดับปกติแล้ว ควรให้ยาเสริมธาตุเหล็กต่อไปอีก 3 เดือนจึงจะเพียงพอ

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top