เอกซเรย์เพื่อตรวจทางเดินปัสสาวะ

การเอ็กซเรย์เพื่อตรวจทางเดินปัสสาวะมีความสำคัญในการวินิจฉัยนิ่วของทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากนิ่วส่วนใหญ่จะทึบต่อรังสีเอ็กซเรย์ ดังนั้นจะมองเห็นได้ง่ายเป็นสีขาว การเอ็กซเรย์แบบธรรมดาของช่องท้องก็เห็นนิ่วได้ แต่ถ้าจะให้แน่ใจ จะให้มองเห็นรูปร่างของทางเดินปัสสาวะให้ชัดเจนครบทุกส่วน การตรวจก็จะต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าโดยการให้รับประทานยาระบายให้อุจจาระง่ายๆ ให้อุจจาระออกจากลำไส้ให้หมดจะได้ไม่มีการบดบังทางเดินปัสสาวะในภาพเอ็กซเรย์นั้น

          การตรวจจะต้องเตรียมงดน้ำงดอาหาร 8 ชั่วโมง เพื่อให้ทางเดินอาหารโล่งโปร่ง รวมทั้งสวนอุจจาระออกไปด้วย เพราะฉะนั้นในท้องก็จะว่างโล่งมองเห็นอวัยวะของไต และทางเดินปัสสาวะได้ชัดเจน ก่อนการตรวจแพทย์จะฉีดสารทึบแสงเข้าไปทางเส้นเลือด เพื่อให้เส้นเลือดที่ผ่านเข้าไปที่ไตนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น

          ผู้ที่เคยแพ้สารไอโอดีนหรืออาหารทะเลมาก่อน รวมทั้งผู้ป่วยที่มีไตวาย ก็ไม่ควรจะรับการตรวจเอ็กซเรย์ด้วยการฉีดสารชนิดนี้เพราะว่าอาจมีอันตรายได้ นอกจากเอ็กซเรย์จะช่วยการตรวจวินิจฉัยแล้ว ยังช่วยดูว่ามีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ มะเร็ง โรคไต โรคนิ่ว หรือไม่

          การตรวจระบบทางเดินปัสสาวะชนิดไอวีพี เป็นการตรวจพิเศษทางรังสีวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ โดยการตรวจดูการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะเช่นไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ อีกทั้งยังดูความผิดปกติจากการอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วโดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าทางเส้นเลือดดำ พร้อมกับการถ่ายภาพรังสีเป็นระยะจนเสร็จรังสีเอกซ์ค้นพบโดยศาสตราจารย์วิลเฮม คอนราด เรินเก๊นท์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1895 ที่เมืองเวิสเบิกร์ ประเทศเยอรมนี “รังสีเอกซ์” (X-rays) เป็นคลื่นพลังงานที่มีความสามารถทะลุทะลวงผ่านสารต่างๆ ได้ ในอัตราที่แตกต่างกันตามแต่ชนิด และความหนาของสารนั้นๆ คลื่นรังสีเอกซ์ได้รับการศึกษา ถึงผลข้างเคียง และอันตรายจากการใช้รังสี และได้พัฒนามาสู่การคิดค้นวิธีการป้องกันควบคุม และเข้มงวดในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ โดยให้มีผลกระทบกับผู้คนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น แต่ให้ผลดีทางการวินิจฉัย

          การเอกซเรย์นำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์โดยใช้ในการช่วยวินิจฉัยวางแผน และติดตามผลการรักษา นอกจากนี้ยังใช้ในการรักษาอีกด้วย สิ่งที่ผู้ป่วยควรรู้ก่อนตรวจเอ็กซเรย์ รู้ว่าต้องการตรวจดูส่วนไหนของร่างกาย หรือต้องการตรวจหาพยาธิสภาพอะไร รู้จักเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการมีอะไรบ้าง ข้อดี-ข้อเสียเป็นอย่างไรบ้าง การเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนการตรวจมีอะไรบ้าง รายละเอียดของการตรวจเป็นอย่างไร ผลแทรกซ้อนมีอะไรบ้างในกรณีหญิงตั้งครรภ์มีผลต่อทารกในครรภ์หรือเด็กอย่างไร และสุดท้ายคือค่าใช้จ่ายในการตรวจ

การตรวจไต และทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี

1.การตรวจไต และทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี เรียกว่า intravenous pyelography (IVP) มีประโยชน์อย่างยิ่งในการวินิจฉัยโรคของระบบทางเดินปัสสาวะที่สำคัญได้แก่ โรคนิ่วที่ตำแหน่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิ่วในเนื้อไต นิ่วที่กรวยไต นิ่วทีท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือนิ่วในท่อปัสสาวะ เป็นต้น วินิจฉัยโรคเนื้องอกชนิดต่างๆ ทั้งชนิดเนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกที่เป็นมะเร็งร้าย รวมทั้งวินิจฉัยความผิดปกติในการทำหน้าที่ของระบบขับถ่ายปัสสาวะตั้งแต่ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ จนถึงท่อปัสสาวะ การตรวจ IVP ถือเป็นการตรวจทางรังสีวิทยาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง และช่วยในการวินิจฉัยโรคของระบบทางเดินปัสสาวะได้เป็นอย่างดี
2.การตรวจไต และทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี เป็นการตรวจที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อทำเสร็จแล้วก็สามารถกลับบ้านได้ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องเสียเวลานานพอสมควรกับกระบวนการตรวจซึ่งมีหลายขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนการตรวจ IVP เริ่มต้นด้วยการฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดดำที่บริเวณแขน จากนั้นเมื่อสีที่ฉีดเข้าไปกระจายไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด จะถูกกรองโดยไตเพื่อขับออกมาทางน้ำปัสสาวะ เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าไตเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่กรองสารต่างๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการออกจากร่างกาย โดยขบวนการกรองของไต และระบบทางเดินปัสสาวะเริ่มต้นที่หน่วยไตเข้าสู่ท่อเล็กๆ ภายในไต ผ่านมาทางท่อไตทั้งสองข้าง มาเก็บกักไว้ในกระเพาะปัสสาวะ และขับถ่ายออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะในที่สุด
3.สีที่ใช้ในการตรวจเป็นสารไอโอดีน (iodine dye) ซึ่งเป็นสารทึบแสงที่สามารถถ่ายภาพเอ็กซเรย์โดยจะเห็นปรากฎเป็นสีขาวบนแผ่นฟิล์มเมื่อนำมาล้างแล้ว การที่สีดังกล่าวเป็นสารทึบแสงทำให้รังสีแพทย์สามารถให้การวินิจฉัยทางรังสีวิทยาได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสีที่ใช้ในการตรวจ IVP เป็นสารไอโอดีนซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ที่รุนแรงได้ ดังนั้นแพทย์จำเป็นต้องสอบถามประวัติการแพ้สารไอโอดีน เช่นเคยแพ้อาหารทะเลหรือไม่ ทุกครั้งก่อนทำการตรวจด้วยสารดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้ป่วยควรทราบประการหนึ่ง
4.ในการตรวจไต และทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสีนั้น ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ที่ได้จากการตรวจทั้งหมดจำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีหลายครั้ง และต่อเนื่องกันไปในช่วงเวลาที่ต่างๆกัน อีกทั้งยังจำเป็นต้องถ่ายภาพสุดท้ายหลังจากปัสสาวะออกจนหมด ทั้งนี้พึงระลึกไว้เสมอว่าอัตราการขับถ่ายสีซึ่งเป็นสารไอโอดีนของผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปได้บ้าง กล่าวโดยสรุป หลักสำคัญในการตรวจไต และทางเดินปัสสวาะด้วยการฉีดสี คือพิจารณาลักษณะโครงสร้างของไต และทางเดินปัสสาวะที่ปรากฎบนแผ่นฟิล์มเอ็กซเรย์ และพิจารณาความสามารถในการทำหน้าที่ของไตในการกรองสีซึ่งเป็นสารไอโอดีนได้มากน้อยประการใด การตรวจ IVP จึงมีแผ่นฟิล์มจำนวนมากเพื่อให้รังสีแพทย์วินิจฉัยเมื่อการกระบวนการตรวจทางรังสีวิทยาเสร็จสิ้นลง

ข้อปฏิบัติในการเตรียมตัวก่อนตรวจ

  1. ให้รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ในมื้อเย็นของวันก่อนตรวจ
  2. ก่อนวันตรวจให้รับประทานยาระบาย เวลา 20.00 น. ( Castor Oil 30 cc, Dulcolax 2 เม็ด)
  3. งดน้ำ งดอาหาร ก่อนตรวจ 4-6 ชั่วโมง
  4. ถ้ามีฟิล์มเก่า ให้นำมาด้วยทุกครั้ง

ขั้นตอนการตรวจ

ก่อนตรวจ

  1. ผู้ป่วยปฏิบัติตามใบนัดตรวจทุกประการ
  2. ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้อาหารทะเล/โรคภูมิแพ้/หอบหืด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะรับการตรวจ
  3. เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยเซ็นใบยินยอมรับการตรวจด้วยการฉีดสารทึบรังสี

เริ่มตรวจ

  1. เปลี่ยนชุดของโรงพยาบาล และปัสสาวะทิ้งเพื่อเตรียมรับการตรวจ และถ่ายภาพรังสีในท่านอนก่อน 1 ภาพ
  2. ฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในเส้นเลือดดำ: ในระหว่างการฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยอาจรู้สึกร้อนวูบวาบที่ตัว ขมที่ลำคอ ให้ผู้ป่วยหายใจเข้า-ออกลึกๆ อย่าเพิ่งกลืนน้ำลาย อาการดังกล่าวจะค่อยทุเลาลงในเวลา 5-10 นาที
  3. หลังจากฉีดสารทึบรังสีเสร็จ ห้ามผู้ป่วยปัสสาวะ จนกว่าเจ้าหน้าที่จะบอก
  4. ถ่ายภาพรังสีเป็นระยะตามลำดับขั้นตอนการตรวจ และจะรอให้ผู้ป่วยปวดปัสสาวะเต็มที่ อาจจะให้ดื่มน้ำ เพื่อช่วยให้ปวดปัสสาวะได้เร็วขึ้น
  5. ให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกให้หมด และถ่ายภาพรังสีอีก 1 ภาพ

หลังการตรวจ

  1. เปลี่ยนชุด
  2. หลังตรวจผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำ ทานอาหารได้ตามปกติ
  3. ดื่มน้ำมากๆ สารทึบรังสีที่ฉีดเข้าไปจะไม่ตกค้างหรือถูกดูดซึมไว้ในร่างกาย และจะถูกขับออกทางปัสสาวะ

ความผิดปกติที่เกิดกับไต

  1. ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายมีขนาดประมาณกำปั้นของผู้เป็นเจ้าของ รูปร่างคล้ายถั่วแดงอยู่ด้านหลังทั้ง 2 ข้างของลำตัว ในแนวระดับของกระดูกซี่โครงล่าง มีหน้าที่หลักในการขัดกรองของเสีย และน้ำส่วนเกินออกจากเลือด และยังมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมสมดุลของเกลือแร่ และกรดด่างในร่างกาย หลั่งฮอร์โมนช่วยควบคุมความดันโลหิต หลั่งฮอร์โมน ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และสร้างวิตามิน ช่วยควบคุมการเจริญเติบโต
  2. หากไตไม่ทำงาน หรือทำงานไม่เพียงพอ เนื่องจากได้รับบาดเจ็บ หรือมีโรคแทรกจะทำให้ระดับของเสีย และปริมาณน้ำคั่งค้างในร่างกาย หรือในเลือด จะปรากฏอาการเหล่านี้ คือ ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีเลือดในปัสสาวะ โดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีเลือดในปัสสาวะ มีอาการบวมที่มือและเท้า ปวดหลังในระดับชายโครง ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่เกิดภาวะไตวายระยะสุดท้าย มีสาเหตุที่สำคัญมาจากเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ต้องรักษาโดยการล้างไต หรือผ่าตัดเปลี่ยนไต หากรักษาโรคทั้งสองนี้ได้ก็จะทำให้โรคไตที่เกิดขึ้นทุเลา หรือชะลอการเปลี่ยนแปลงได้
  3. การป้องกันมิให้เกิดโรคไตนั้นจะต้องมีการควบคุมความดันโลหิตสูงให้อยู่ในระดับปกติ ด้วยการควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรืออาจใช้ยาร่วมในการควบคุม และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ในผู้ป่วยเบาหวานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สม่ำเสมอ
  4. สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะไตวาย คือ โรคไตอักเสบ ซึ่งจะทำให้เกิดการทำลายของหน่วยกรองไต การเกิดโรคนี้บางรายไม่ทราบสาเหตุ บางรายถ่ายทอดทางพันธุกรรม และบางรายมีการติดเชื้อเป็นสาเหตุเสริม
  5. นอกจากนี้ยังมีโรคไตที่เกิดจานิ่ว โรคถุงน้ำในไต โรคติดเชื้อ สารเคมี เช่น ตะกั่ว ปรอทจากยา เช่น ยาแก้ปวด จากสารเสพติด เช่น เฮโรอีน เป็นต้น
  6. อาการของผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย เกิดขึ้นเมื่อไตสูญเสียการทำงานไปประมาณร้อยละ 90-95 สามารถทราบได้โดยการตรวจเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อม โลหิตจาง เหนื่อยง่าย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

  1. ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบด้วย ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ นิ่วสามารถพบได้ทุกส่วนของระบบทางเดินปัสสาวะ สาเหตุอาจเกิดจากพันธุกรรม เช่น โรคไตชนิด Renal Tubular Acidosis การขาดสารยับยั้งนิ่วในผู้ป่วยโรค Citrate Pyrophosphate Deficiency โดยทั่วไปพบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะมากในเด็ก และผู้สูงอายุ นิ่วในไตและท่อไตมักพบในผู้ใหญ่ มักพบนิ่วในหน้าร้อน และภูมิอากาศแห้งแล้งมากกว่า
  2. ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย จำนวนปัสสาวะน้อยมีโอกาสพบนิ่วมากกว่า อาหารบางชนิดมีส่วนสำคัญในการเกิดนิ่ว เช่น นิ่วยูริค จะพบมากขึ้นในผู้ที่ทานโปรตีนมาก เป็นต้น
  3. อาการโดยทั่วไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง การอุดตัน ทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อ อาการที่พบ อาการปวด เช่น ท้องน้อย ปวดชายโครง มีไข้ ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย
  4. การตรวจวินิจฉัย จากประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ การตรวจอัลตร้าซาวด์ การเอ็กซเรย์ระบบปัสสาวะ ร่วมกับการฉีดสารทึบแสง เป็นต้น บางครั้งต้องใช้การตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องดูระบบปัสสาวะ
  5. การรักษานิ่ว ขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง การอุดตันทางเดินปัสสาวะ รักษาการติดเชื้อ การรักษานิ่วทั่วไป คือ การรักษาทางยา การดื่มน้ำมากๆ การออกกำลังกายชนิดที่มีการเคลื่อนไหว การรักษาด้วยการสลายนิ่ว การรักษาด้วยการส่องกล้อง ผ่านไต ผ่านท่อไต เพื่อสลายนิ่ว คล้องนิ่วออก การผ่าตัดแบบมีบาดแผลเพื่อนำนิ่วออก ยังมีความจำเป็นในบางราย ที่มีนิ่วขนาดใหญ่
  6. การเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งนิ่ว ขนาดนิ่ว การทำงานของไต สภาพของผู้ป่วย ทุกวิธีมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน จึงใช้การพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆ เป็นหลัก

การตรวจหาสภาวะสิ่งผิดปกติของระบบปัสสาวะส่วนล่างในเด็ก

          การตรวจหาสภาวะสิ่งผิดปกติของระบบปัสสาวะส่วนล่างในเด็ก เช่น จากการติดเชื้อ หรือการที่ปัสสาวะมีสีขุ่นข้นผิดปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบปัสสาวะส่วนต้น มีการย้อนกลับของปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะขึ้นสู่ไต มีภาวะของการผิดรูปในอวัยวะบางช่วง เช่น อาจมีการตีบแคบหรือขยายผิดปกติในระบบท่อทางเดินปัสสาวะ หรือมีการเชื่อมต่อของอวัยวะภายในบางส่วนเข้ากับระบบปัสสาวะส่วนล่าง

          แนวทางในการตรวจจะกระทำเหมือนการสวนปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องเตรียมการอะไรก่อนการตรวจ โดยในวันที่นัดตรวจจะต้องให้ผู้ป่วยนอนหงายบนเตียงเอ็กซเรย์ แล้วรังสีแพทย์จะทำการสวนสายสวนปัสสาวะเข้าทางท่อปัสสาวะ และฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นจะให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกมาพร้อมกับการเอ็กซเรย์เป็นช่วงๆ เพื่อสืบค้นหารอยโรคในขณะที่ผู้ป่วยกำลังปัสสาวะออกมา

  1. ระหว่างทำการตรวจอาจจะต้องทำการจับยึดหรือรัดตัวเด็ก และเด็กอาจจะร้องกวนด้วยความตกใจ ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กทั่วไป
  2. ระหว่างการตรวจจะให้ญาติผู้ป่วยเข้าไปในห้องตรวจได้หนึ่งคน ซึ่งญาติจะต้องสวมเสื้อตะกั่วที่ทางเจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ เพื่อป้องกันรังสีในขณะทำการตรวจ
  3. ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าวันนี้แพทย์นัดตรวจปัสสาวะหรือไม่ และนัดให้มาฟังผลในวันเวลาใด

อุปนิสัยในการขับถ่ายที่ดี

  1. เราจำเป็นที่จะต้องมีอุปนิสัยที่ดีในการขับถ่ายปัสสาวะ เพราะเหตุว่าอุปนิสัย หรือความเคยชินในการขับถ่ายปัสสาวะที่ผิดปกติ จะนำไปสู่การสูญเสียสมรรถภาพในการควบคุมระบบประสาทกระเพาะปัสสาวะ ทำให้การเก็บ และขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติไปด้วย
  2. ในภาวะปกติ การที่เราจะเก็บ หรือกลั้นปัสสาวะไว้ได้นั้น จะต้องขึ้นอยู่กับสรีระการทำงานของกระเพาะปัสสาวะกล้ามเนื้อหูรูดท่อปัสสาวะ และกล้ามเนื้อช่องเชิงกราน ซึ่งมีระบบประสาทจากแกนประสาทไขสันหลัง ซึ่งได้รับการควบคุมจากศูนย์ขับถ่ายปัสสาวะในสมอง
  3. กระเพาะปัสสาวะโดยทั่วไปในผู้ใหญ่จะเก็บปัสสาวะไว้ได้เต็มที่ประมาณ 300-400 ซีซี โดยที่เราจะเริ่มมีความรู้สึกปวดปัสสาวะเล็กน้อย เมื่อมีปัสสาวะ 150-200 ซีซี ซึ่งจะยังเก็บกลั้นปัสสาวะไว้ได้จนกระทั่งมีความรู้สึกปวดเต็มที่จึงไปปัสสาวะออก ในระหว่างนี้จะไม่มีอาการปัสสาวะเล็ดราด โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะศูนย์ควบคุมปัสสาวะในระดับสมองจะช่วยทำให้เราสามารถเก็บกลั้นปัสสาวะไว้ได้ตามที่เราต้องการ จนกว่าเราจะเลือกถ่ายปัสสาวะออกในเวลา และในสถานที่ หรือห้องน้ำที่เหมาะสม เราจะถ่ายปัสสาวะโดยความรู้สึกหย่อนไม่เกร็งบริเวณกล้ามเนื้อหูรูด หรือกล้าม เนื้อช่องเชิงกราน ไม่ถึงกับต้องออกแรงเบ่งช่องท้อง
  4. กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัว และขับถ่ายปัสสาวะออกได้เป็นสายปัสสาวะที่ไม่ขัด ไม่มีความรู้สึกว่าปัสสาวะเหลือตกค้าง เมื่อถ่ายปัสสาวะเสร็จการสร้างอุปนิสัยที่ดีในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะดังเช่นที่กล่าวมานี้จะช่วยให้เราสามารถเก็บปัสสาวะไว้ได้นาน 2-3 ชั่วโมง และถ่ายปัสสาวะออกได้คล่อง ซึ่งจะสามารถใช้เวลาทำกิจกรรม และภารกิจต่างๆ ได้ตามปกติวิสัย และเป็นอุปนิสัยที่ดีแม้ว่าเราจะมีอายุมากขึ้นก็ตาม
  5. สัญญาณเตือนว่าจะเริ่มมีปัญหาในการขับถ่ายปัสสาวะ อาการเหล่านี้ คือ สิ่งผิดปกติ ปัสสาวะราด ปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จามหรือออกแรงเบ่ง ปวดกลั้นไปห้องน้ำแทบไม่ทัน ปัสสาวะรดที่นอนในเด็ก 4 ขวบขึ้นไป ปัสสาวะบ่อยเก็บได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง แต่ละครั้งออกไม่ถึง 200 ซีซี ปัสสาวะมีสีแดงเป็นเลือด เริ่มปัสสาวะต้องรออยู่นานกว่าจะออก ออกไม่สะดวกต้องเบ่ง สายปัสสาวะเล็ก ขาดตอนเป็นช่วงๆ และมีความรู้สึกว่าปัสสาวะเหลือค้าง
  6. อุปนิสัยที่ดีในการขับถ่ายปัสสาวะ ควรควบคุมปริมาณน้ำดื่มให้พอควร ดื่มน้ำสะอาดวันละประมาณ 6-8 แก้ว (1,500-2,000 ซีซี) ลดปริมาณสารคาเฟอีน โดยไม่ดื่มกาแฟ น้ำอัดลม น้ำชา มากเกินไป ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากทำให้ปัสสาวะมากขึ้น และสมองควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ลำบาก
  7. ฝึกหัดเข้าห้องน้ำอย่างถูกต้อง ใช้เวลาเต็มที่เมื่อถ่ายปัสสาวะ ไม่ต้องรีบร้อน ให้แน่ใจว่าถ่ายปัสสาวะออกจนเกลี้ยงทุกครั้ง ในเพศชายยืน เพศหญิงนั่ง นั่งลึกๆ แยกขาออก ให้ปัสสาวะออกได้สะดวกดีกว่านั่งหนีบขาไว้
  8. หลีกเลี่ยงการเข้าห้องน้ำโดยบังเอิญบ่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่ปวดปัสสาวะ เพราะทำให้กระเพาะปัสสาวะเล็ก เข้าห้องน้ำเมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็มเท่านั้น ยกเว้นก่อนนอน หรือเมื่อจะออกเดินทางไปธุระ เพราะอาจจะพบปัญหาการจราจรติดขัด จะหาห้องน้ำไม่ได้สะดวก ควรถ่ายปัสสาวะทิ้งก่อนเป็นการเตรียมตัวที่ดี และฝึกหัดกล้ามเนื้อหูรูด และกล้ามเนื้อช่องเชิงกรานตามสมควร

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top